ระเบียบโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในพระอุปถัมภ์ของ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ว่าด้วยกองทุนเพื่อสวัสดิการ และการกู้ยืมของผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน
(ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. ๒๕๖๔
เพื่อให้ ระเบียบโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่าด้วยกองทุนเพื่อสวัสดิการ และการกู้ยืมของผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน พ.ศ. ๒๕๕๕ มีความเหมาะสม และความคล่องตัวในการปฏิบัติงานในปัจจุบัน
อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยมติของ คณะกรรมการบริหารโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในคราวประชุม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน๒๕๖๔ จึงให้ยกเลิกระเบียบโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่าด้วยกองทุนเพื่อสวัสดิการ และการกู้ยืมของผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน พ.ศ. ๒๕๕๕ และใช้ระเบียบดังต่อไปนี้แทน
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่าด้วยกองทุนเพื่อสวัสดิการ และการกู้ยืมของผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. ๒๕๖๔
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้ ตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
“โรงเรียน” หมายถึงโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
“กรรมการ” หมายถึงกรรมการกองทุนเพื่อสวัสดิการ และการกู้ยืมของผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน” หมายถึง บุคลากรที่ปฏิบัติงานให้กับโรงเรียน ผู้ดำรงตำแหน่งทั้งในระดับบริหาร และระดับปฏิบัติการในสังกัดของโรงเรียน ทุกตำแหน่ง ที่ผ่านการทดลองปฏิบัติหน้าที่แล้ว
“เงินสวัสดิการ” หมายถึง เงินสวัสดิการที่จัดสรรให้กับผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน ที่ประสบอุบัติภัย
“เงินกู้ยืมฉุกเฉิน” หมายถึง เงินที่ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนผู้ขอกู้ยืมมีความจำเป็นต้องใช้อย่างเร่งด่วน ในด้านสุขภาพ การศึกษา ที่พักอาศัย และเหตุอื่นที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร
หน้า ๒
“เงินกู้ยืม เพื่อค่ารักษาพยาบาล” หมายถึง เงินที่ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนผู้ขอกู้ยืมมีความจำเป็นต้องกู้ยืม เพื่อชดเชยเงินค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากการเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุที่สำรองจ่ายไปก่อน โดยมีหน่วยงาน ที่รับผิดชอบจ่ายคืนให้
ข้อ ๔ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนเพื่อสวัสดิการและการกู้ยืมของผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) เพื่อจัดสรรเป็นเงินสวัสดิการแก่ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนที่ประสบอุบัติภัย
(๒) เพื่อจัดสรรเป็นเงินกู้ยืมฉุกเฉินแก่ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน
(๓) เพื่อจัดสรรเป็นเงินกู้ยืมสำหรับค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน
(๔) เพื่อจัดสรรเงินสวัสดิการตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค
ข้อ ๕ รายได้และทรัพย์สินของกองทุน
(๑) รายได้ที่จัดสรรจากงบประมาณรายได้ของโรงเรียน
(๒) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
(๓) รายได้หรือผลประโยชน์จากการลงทุนหรือจากผลประโยชน์อื่น ๆ
(๔) รายได้จากการดำเนินการหรือกิจกรรมเพื่อสนับสนุนกองทุน
ข้อ ๖ รายจ่ายของกองทุน มีดังนี้
- เงินสวัสดิการแก่ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนกรณีประสบอุบัติภัย
- เงินกู้ยืมฉุกเฉินแก่ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน
(๓) เงินกู้ยืมสำหรับค่ารักษาพยาบาล
(๔) ค่าใช้จ่ายอื่นตามที่กรรมการพิจารณาเห็นสมควรและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์กองทุน
(๕) ค่าใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค
ข้อ ๗ กรรมการกองทุน
ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อสวัสดิการ และการกู้ยืมของผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” แต่งตั้งโดยประธานกรรมการบริหารโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นประธาน ผู้จัดการโรงเรียนเป็นกรรมการ ตัวแทนผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน ๑ คน เป็นกรรมการ และเจ้าหน้าที่การเงิน เป็นเลขานุการ
ให้คณะกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ ๒ ปี เมื่อครบกำหนดตามวาระหากยังมิได้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ ให้คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น รักษาการในตำแหน่งต่อไปจนกว่าคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
หน้า ๓
ในกรณีที่กรรมการตัวแทนผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน ลาออก หรือมีเหตุอื่นที่ทำให้ต้องพ้นวาระ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนดำเนินการคัดเลือกกรรมการแทน ภายใน ๑ เดือน โดยกรรมการที่ได้รับการคัดเลือก ดำรงตำแหน่งจนสิ้นสุดวาระ
ข้อ ๘ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(๑) พิจารณาวงเงินที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานของกองทุน เสนอต่อคณะกรรมการบริหารโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
(๒) กำหนดหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติในการขอรับการช่วยเหลือของผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนจากกองทุน
(๓) พิจารณาจัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน กรณีประสบอุบัติภัย ในกรณีที่วงเงินที่ขอเกินกว่าที่กำหนดในระเบียบนี้
(๔) พิจารณาจัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนเพื่อเป็นเงินกู้ยืมฉุกเฉิน ในกรณีที่วงเงินที่ขอเกินกว่าที่กำหนดในระเบียบนี้
(๕) กำกับการติดตามการคืนเงินของผู้กู้ยืม
(๖) รายงานผลการดำเนินงานแก่คณะกรรมการบริหารโรงเรียนทุกสิ้นปีงบประมาณ
ข้อ ๙ วงเงินสวัสดิการในกรณีประสบอุบัติภัย ครั้งละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท โดยผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน ผู้มีสิทธิขอรับเงินสวัสดิการนี้ต้องมีผลการปฏิบัติงานอยู่ระดับดีในรอบสุดท้ายที่ประเมิน
ข้อ ๑๐ วงเงินกู้ยืมฉุกเฉิน
(๑) เงินกู้ยืมฉุกเฉินเพื่อสุขภาพ ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท
(๒) เงินกู้ยืมฉุกเฉินเพื่อการศึกษา ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท
(๓) เงินกู้ยืมฉุกเฉินเพื่อที่พักอาศัย ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท
(๔) เงินกู้ยืมฉุกเฉินจากเหตุอื่น ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท
ข้อ ๑๑ เงินกู้ยืมสำหรับค่ารักษาพยาบาล วงเงินไม่เกินค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุที่เบิกจ่ายได้จริงตามใบเสร็จรับเงิน
ข้อ ๑๒ คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนผู้มีสิทธิขอกู้ยืมเงิน
(๑) ผลการปฏิบัติงานอยู่ระดับดี ในรอบสุดท้ายที่ประเมิน
(๒) ไม่มีหนี้ค้างชำระกับกองทุนอยู่เดิม.
หน้า ๔
ข้อ ๑๓ การอนุมัติเงินกู้ยืม
(๑) ในกรณีการกู้ยืมอยู่ในวงเงินตามที่กำหนด ใน ข้อ ๑๐ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนพิจารณาอนุมัติ
(๒) ในกรณีการกู้ยืมเงินเกินจำนวนที่กำหนดใน ข้อ ๑๐ และ/หรือมีหนี้ค้างชำระกับกองทุนอยู่เดิม ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้อนุมัติ ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ทั้งนี้ผู้กู้ยืม ตามข้อ ๑๐ และ ๑๑ ต้องทำสัญญากับโรงเรียน
ข้อ ๑๔ การชดใช้เงินกู้ยืม
(๑) การชดใช้เงินกู้ยืมฉุกเฉิน
การจ่ายคืนเงินกู้ยืมฉุกเฉิน หากผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนชำระคืนได้ ภายในระยะเวลา ๓ เดือน นับจากวันที่กู้ยืม ไม่ต้องชำระดอกเบี้ย หากผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนชำระคืนในระยะเวลา เกินกว่า ๓ เดือน นับจากวันที่กู้ยืมจะต้องชำระดอกเบี้ย ร้อยละ ๑ ต่อปี ทั้งนี้การจ่ายคืนเงินกู้ยืม จะต้องชำระให้หมดภายใน ๑ ปี นับจากวันที่กู้ยืม
ในกรณีการจ่ายคืนเงินกู้ยืมให้จ่ายคืนเป็นงวด ต้องจ่ายคืนในระยะเวลา ไม่เกิน ๑ ปี นับจากวันกู้ยืม โดยผู้กู้ยืมต้องยินยอมให้หักจากเงินเดือน/ค่าจ้างที่ได้รับจากโรงเรียน หรือผู้ยืมอาจจ่ายจากเงินส่วนอื่นได้ตามจำนวนที่กำหนด โดยให้ผู้กู้ยืมทำสัญญากับโรงเรียน
(๒) การชดใช้เงินกู้ยืมสำหรับค่ารักษาพยาบาล
การจ่ายคืนเงินกู้ยืมสำหรับค่ารักษาพยาบาล ผู้กู้ยืมต้องจ่ายคืนเงินกู้ยืมทั้งหมดในคราวเดียว ภายใน ๕ วันทำการ นับจากวันที่ได้รับเงินคืนจากหน่วยงาน
ข้อ ๑๕ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ มิถุนายน ๒๕๖๔
(ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์)
ประธานกรรมการบริหารโรงเรียน