ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิตและเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต
(หลักสูตรภาษาอังกฤษ) พ.ศ. ๒๕๔๙
______________________
โดยที่เป็นการสมควรให้มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต และเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) พ.ศ. ๒๕๔๙
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ (๒) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๓๑ สภามหาวิทยาลัย จึงตราข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ชื่อข้อบังคับ
ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต และเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) พ.ศ. ๒๕๔๙”
ข้อ ๒ การใช้ข้อบังคับ
ให้ใช้ข้อบังคับนี้แก่นักศึกษาตามหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิตและเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๙ เป็นต้นไป
บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศอื่นใดที่กำหนดไว้แล้วในข้อบังคับนี้ หรือที่
ขัดหรือแย้งต่อข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
ข้อ ๓ บทนิยาม
ในข้อบังคับนี้
๑. “มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๒. “สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๓. “อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๔. “คณะ” หมายความว่า คณะเศรษฐศาสตร์
๕. “คณบดี” หมายความว่า คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์
๖. “ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา” หมายความว่า ผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณบดี
๗. “คณะกรรมการบัณฑิตศึกษา” หมายความว่า คณะกรรมการบัณฑิตศึกษา
คณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณบดี
ข้อ ๔ หน้าที่ของคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา
ให้คณะกรรมการบัณฑิตศึกษาทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการบัณฑิตศึกษา ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณบดีในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการบัณฑิตศึกษา
ข้อ ๕ ระบบการศึกษา
๕.๑ การศึกษาตามหลักสูตรในข้อบังคับนี้ใช้ระบบทวิภาค โดยแบ่งเวลาศึกษาในปี
หนึ่ง ๆ เป็นสองภาคการศึกษาปกติ คือ ภาคหนึ่งและภาคสอง ภาคการศึกษาหนึ่ง ๆ มีระยะเวลา ๑๖ สัปดาห์
และอาจเปิดภาคฤดูร้อนได้โดยใช้เวลาการศึกษาไม่น้อยกว่า ๘ สัปดาห์ แต่ให้เพิ่มชั่วโมงการศึกษาในแต่ละลักษณะวิชาให้เท่ากับภาคการศึกษาปกติ ภาคฤดูร้อนเป็นภาคการศึกษาที่ไม่บังคับ
๕.๒ การศึกษาในภาคการศึกษาปกติ ต้องเป็นการศึกษาเต็มเวลา
๕.๓ ในกรณีที่ใช้วิธีศึกษาในชั้นเรียน นักศึกษาต้องมีเวลาศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ ของเวลาศึกษาทั้งหมดในชั้นเรียนในแต่ละลักษณะวิชา จึงจะมีสิทธิเข้าสอบไล่ในลักษณะวิชานั้น เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากคณบดี
คณบดีอาจกำหนดให้ใช้วิธีการศึกษาอย่างอื่นแทนวิธีการในวรรคแรกก็ได้ และในกรณีเช่นนี้ นักศึกษาจะต้องทำงานให้ครบตามที่ผู้สอนกำหนด
นักศึกษาที่มีเวลาศึกษาลักษณะวิชาใดไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในวรรคแรก
และมิได้รับอนุมัติจากคณบดีให้เข้าสอบไล่ในลักษณะวิชานั้น ให้ถือว่าสอบไล่ในลักษณะวิชานั้นได้ระดับ F
ข้อ ๖ หลักสูตรการศึกษา
๖.๑ หลักสูตรการศึกษาชั้นปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต เป็นหลักสูตรแผน ก แบบ ก๒ ที่มีการศึกษาลักษณะวิชาและทำวิทยานิพนธ์ และหลักสูตรแผน ข ที่เน้นการศึกษาลักษณะวิชาโดยไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ แต่มีการศึกษาลักษณะวิชาที่เป็นการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ส่วนหลักสูตรเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต เป็นหลักสูตรแบบ ๒ ที่เน้นการวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์และศึกษางานลักษณะวิชาเพิ่มเติม ทั้งนี้ให้มีจำนวนหน่วยกิตและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในแต่ละหลักสูตร
๖.๒ การสอน การศึกษา การสอบ และการทำวิทยานิพนธ์ ให้ทำเป็นภาษาอังกฤษ
๖.๓ หากนักศึกษามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแผนการศึกษาจาก แผน ก เป็น แผน ข หรือในทางกลับกัน ให้นักศึกษายื่นคำร้องพร้อมแสดงเหตุผลต่ออาจารย์ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา เพื่อขออนุมัติจากคณบดี
ข้อ ๗ ระยะเวลาการศึกษา
๗.๑ นับแต่วันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา นักศึกษาในโครงการปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จะต้องศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต ภายในเวลาไม่น้อยกว่า
๔ ภาคการศึกษาปกติ และไม่เกิน ๘ ภาคการศึกษาปกติ
๗.๒ นักศึกษาในโครงการปริญญาเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จะต้องศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรปริญญาเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต ภายใน ๑๐ ภาคการศึกษาปกติ นับแต่วันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาโครงการปริญญาเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต
๗.๓ นักศึกษาโครงการปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิตที่ได้รับอนุมัติจากคณบดีให้โอนเข้าโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิตได้ แต่ต่อมาภายหลังประสงค์ที่จะโอนกลับเข้าโครงการปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จะต้องได้รับอนุมัติจากคณบดีภายในกำหนด ๓ ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้โอนเข้าโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต และจะต้องศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต ภายใน ๑๐
ภาคการศึกษาปกติ นับแต่วันที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาโครงการปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต
ข้อ ๘ การรับเข้าศึกษา
๘.๑ การรับบุคคลเข้าศึกษาให้ใช้วิธีการคัดเลือก ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประจำคณะเศรษฐศาสตร์กำหนด
๘.๒ ผู้สมัครเข้าศึกษาจะต้องยื่นใบสมัครพร้อมทั้งหลักฐานต่าง ๆ ตามที่และภายในระยะเวลาที่คณบดีกำหนด
๘.๓ การรับสมัครและการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา ให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย
๘.๔ ผู้สมัครเข้าศึกษาในโครงการปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิตต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ
ซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองวิทยฐานะ
๘.๕ ผู้สมัครเข้าศึกษาในโครงการปริญญาเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์หรือสาขาวิชาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยเห็นเหมาะสมจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองวิทยฐานะ หรือกำลังศึกษาในโครงการเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาแล้วในลักษณะวิชาไม่ต่ำกว่า ๒๑ หน่วยกิต
๘.๖ ผู้สมัครเข้าศึกษาต้องไม่เป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง หรือเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการศึกษา และไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
๘.๗ ผู้สมัครเข้าศึกษาต้องไม่มีชื่อในทะเบียนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนี้ หรือในสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นในประเทศ
๘.๘ คณบดีตามข้อเสนอของคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาอาจกำหนดให้ผู้ที่สอบคัดเลือกเข้าศึกษาได้แล้วไปศึกษาเพิ่มเติมบางวิชาในชั้นปริญญาตรีเป็นวิชาเสริมหลักสูตรได้โดยไม่นับหน่วยกิตให้
ข้อ ๙ การขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
๙.๑ ผู้ที่สอบคัดเลือกเข้าศึกษาได้แล้วจะมีสถานภาพเป็นนักศึกษาเมื่อได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
๙.๒ ผู้ที่สอบคัดเลือกเข้าศึกษาได้แล้ว ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาด้วยตนเอง ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด พร้อมทั้งชำระเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
๙.๓ ผู้มีสิทธิเข้าศึกษาต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาภายใน ๑๔ วัน นับจากวันเปิดภาคการศึกษา มิฉะนั้นจะถือว่าสละสิทธิ เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและได้รับอนุมัติจากคณบดีเป็นกรณีพิเศษ
ข้อ ๑๐ การจดทะเบียนลักษณะวิชา
๑๐.๑ มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาสำหรับแต่ละภาคการศึกษาให้เสร็จสิ้นก่อนวันเปิดภาคการศึกษานั้น รายละเอียดเกี่ยวกับการจดทะเบียนให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
๑๐.๒ ในกรณีที่มีเหตุสมควร มหาวิทยาลัยอาจประกาศปิดลักษณะวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือจำกัดจำนวนนักศึกษาที่จดทะเบียนในลักษณะวิชาใดวิชาหนึ่งก็ได้
การประกาศปิดลักษณะวิชาที่นักศึกษาจดทะเบียนไปบ้างแล้วจะต้องกระทำภายใน ๗ วันแรกนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือภายใน ๔ วันแรก นับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน
๑๐.๓ ในแต่ละภาคการศึกษาปกติ นักศึกษาต้องจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาไม่ต่ำกว่า ๖ หน่วยกิตและไม่เกิน ๑๒ หน่อยกิต ในภาคฤดูร้อน นักศึกษาจะจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาได้ไม่เกิน ๖ หน่วยกิต แต่ความข้อนี้ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่นักศึกษาจดทะเบียนทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว
การนับจำนวนหน่วยกิตขั้นสูงในการจดทะเบียนลักษณะวิชาตามที่กำหนดในวรรคแรก ให้รวมหน่วยกิตของลักษณะวิชาเสริมหลักสูตรที่ไม่นับเป็นหน่วยกิตในหลักสูตรด้วย ทั้งนี้โดยให้ถือว่าวิชาเสริมหลักสูตรมีหน่วยกิตตามกำหนด แต่ไม่ให้นับหน่วยกิตของวิชาเสริมหลักสูตรในการคำนวณจำนวนหน่วยกิตต่ำสุดที่นักศึกษาต้องจดทะเบียน
การจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาต่ำกว่าจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในวรรคแรกจะกระทำได้เฉพาะแต่ในกรณีเจ็บป่วยและได้รับอนุมัติจากคณบดี หรือในกรณีที่คาดว่าจะเป็นภาคสุดท้ายของการศึกษาลักษณะวิชาของนักศึกษาผู้นั้นเท่านั้น
การจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาสูงกว่าจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในวรรคแรก จะกระทำได้เฉพาะแต่ในกรณีที่มีเหตุผลสมควรและได้รับอนุมัติจากคณบดีแล้ว
๑๐.๔ นักศึกษาแต่ละคนจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้แนะนำและช่วยวางแผนการศึกษา จนกว่านักศึกษาผู้นั้นจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์แล้ว
การจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาและการสอบประมวลวิชาทุกครั้งต้องให้อาจารย์ที่ปรึกษาลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
๑๐.๕ นักศึกษาต้องจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาด้วยตนเอง ตามวัน เวลา
และสถานที่ที่กำหนด ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่อาจจดทะเบียนด้วยตนเองได้ จะมอบหมายให้ผู้อื่นมาจดทะเบียนแทนก็ได้โดยยื่นคำร้องเป็นหนังสือขออนุมัติต่อคณบดีผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาตามลำดับ
มหาวิทยาลัยจะไม่อนุมัติให้นักศึกษาจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาเมื่อพ้นกำหนดเวลา ๑๔ วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาปกติ หรือ ๗ วันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและได้รับอนุมัติจากคณบดี
๑๐.๖ นักศึกษาที่ไม่จดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาตามวันที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ จะต้องชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนล่าช้าเป็นรายวัน ทั้งนี้ไม่นับวันหยุดราชการ
อัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนล่าช้าต่อวันให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย
๑๐.๗ ในภาคการศึกษาปกติใด นักศึกษาไม่ได้จดทะเบียนศึกษาด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม จะต้องขอลาพักการศึกษาสำหรับภาคการศึกษานั้น โดยทำหนังสือผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา เพื่อขออนุมัติต่อคณบดี และนักศึกษาจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพื่อรักษาสถานภาพนักศึกษาภายใน ๓๐ วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา มิฉะนั้นจะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
๑๐.๘ อธิการบดีโดยการเสนอของคณบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาตามข้อ ๑๐.๗ กลับเข้าเป็นนักศึกษาใหม่ได้เมื่อมีเหตุผลอันสมควร โดยให้ถือว่าระหว่างเวลาตั้งแต่ถูกถอนชื่อจนถึงเวลาที่อนุมัติให้กลับเข้าเป็นนักศึกษาเป็นระยะเวลาลาพักการศึกษา ในกรณีเช่นว่านี้ นักศึกษาจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพนักศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ค้างชำระด้วย
การอนุมัติให้กลับเข้าเป็นนักศึกษาอีกตามวรรคแรก เมื่อพ้นกำหนดเวลา ๑ ปีนับจากวันที่นักศึกษาผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาจากกระทำมิได้
๑๐.๙ เมื่อนักศึกษาได้หน่วยกิตสะสมของลักษณะวิชาครบตามเงื่อนไขที่หลักสูตรกำหนดให้ทำวิทยานิพนธ์ได้แล้ว นักศึกษานั้นจะต้องจดทะเบียนทำวิทยานิพนธ์ในทุกภาคการศึกษาต่อเนื่องกัน ภาคละไม่ต่ำกว่า ๖ หน่วยกิต
นักศึกษาที่ได้จดทะเบียนทำวิทยานิพนธ์มีหน่วยกิตครบตามจำนวนที่กำหนดแล้ว แต่ยังทำวิทยานิพนธ์ไม่แล้วเสร็จจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพนักศึกษาทุกภาคการศึกษาจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา
๑๐.๑๐ ในกรณีที่มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษาหรือมีข้อตกลงเฉพาะรายหรือกรณีที่นักศึกษาได้รับความเห็นชอบจากคณบดี อธิการบดีอาจพิจารณาอนุมัติให้นักศึกษาจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาที่เปิดสอนในสถาบันอุดมศึกษาอื่นแทนการจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาตามข้อ ๑๐.๓ ทั้งหมดหรือบางส่วนได้
๑๐.๑๑ ในกรณีที่มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษาหรือมีข้อตกลงเฉพาะรายหรือกรณีที่นักศึกษาได้รับความเห็นชอบจากคณบดี อธิการบดีอาจพิจารณาอนุมัติให้นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เว้นแต่จะมีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นและได้รับความเห็นชอบจากอธิการบดี
ข้อ ๑๑ การเพิ่มและการถอนลักษณะวิชา
๑๑.๑ การขอเพิ่มลักษณะวิชาจะกระทำได้ในภายใน ๑๔ วันแรกจากของภาคการศึกษาปกติ หรือภายใน ๗ วันแรกของภาคฤดูร้อน โดยได้รับอนุมัติจากผู้สอนและอาจารย์ที่ปรึกษา
๑๑.๒ การขอถอนลักษณะวิชาต้องได้รับอนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษา และให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่นักศึกษาขอถอนลักษณะวิชาภายใน ๑๔ วันแรกของภาคการศึกษาปกติ หรือภายใน ๗ วันแรกของภาคฤดูร้อน ให้ลบลักษณะวิชาที่ถอนนั้นออกจากระเบียน
(๒) กรณีที่นักศึกษาขอถอนลักษณะวิชาเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๑) แต่ยังอยู่ภายใน ๑๐ สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาปกติ หรือภายใน ๔ สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน ให้บันทึกอักษร W สำหรับลักษณะวิชาที่ถอนนั้นในระเบียน
(๓) การถอนลักษณะวิชาเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๒) จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะมีเหตุผลอันสมควรและได้รับอนุมัติจากอธิการบดี โดยคำแนะนำของคณบดี ในกรณีเช่นว่านี้ให้บันทึกอักษร W สำหรับลักษณะวิชาที่ถอนนั้นในระเบียน
๑๑.๓ นักศึกษาจะขอถอนลักษณะวิชาจนเหลือจำนวนหน่วยกิตต่ำกว่า ๖ หน่วยกิตไม่ได้ ทั้งนี้ให้นับหน่วยกิตของลักษณะวิชาที่จดทะเบียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือในมหาวิทยาลัยอื่นที่ได้รับอนุมัติตามข้อ ๑๕.๒ รวมเข้าไปในจำนวนหน่วยกิตดังกล่าวด้วย
ข้อ ๑๒ การวัดผลการศึกษา
๑๒.๑ การวัดผลการศึกษาอาจกระทำได้โดยการสอบไล่เมื่อสิ้นภาคการศึกษา
หรือทดสอบระหว่างภาคการศึกษา หรือทำรายงานจากการอ่านและการค้นคว้าเอง หรือการเขียนสารนิพนธ์ หรือเข้าร่วมอภิปรายในชั้นเรียน หรือทุกกรณีที่กล่าวมาข้างต้นรวมกัน
๑๒.๒ การวัดผลการศึกษาแบ่งเป็น ๙ ระดับ มีชื่อและค่าระดับต่อหนึ่งหน่วยกิต ดังนี้
ระดับ A A- B+ B B- C+ C D F
ค่าระดับ ๔.๐๐ ๓.๖๗ ๓.๓๓ ๓.๐๐ ๒.๖๗ ๒.๓๓ ๒.๐๐ ๑.๐๐ ๐
๑๒.๓ การวัดผลการศึกษาสำหรับวิชาที่ไม่นับหน่วยกิต ให้แบ่งเป็น ๒ ระดับ คือระดับ P (สอบผ่าน) และระดับ N (สอบไม่ผ่าน) โดยไม่มีค่าระดับ
นักศึกษาที่ต้องศึกษาบางลักษณะวิชาในหลักสูตรปริญญาตรีตามความในข้อ ๘.๘
ถ้าสอบได้ระดับไม่ต่ำกว่า C ให้ถือว่าสอบได้ระดับ P และถ้าสอบได้ระดับต่ำกว่า C ให้ถือว่าได้ระดับ N ในวิชานั้น ๆ
๑๒.๔ ในกรณีที่หลักสูตรกำหนดให้วัดผลการศึกษาสำหรับลักษณะวิชาที่คิดหน่วยกิตให้เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับ S (ใช้ได้) และระดับ U (ใช้ไม่ได้) หน่วยกิตที่ได้จะไม่นำมาคำนวณค่าระดับเฉลี่ย
๑๒.๕ ในกรณีที่การวัดผลกระทำได้ไม่สมบูรณ์ในลักษณะวิชาที่มีการเขียนรายงาน
การค้นคว้าสารนิพนธ์ การฝึกงานภาคสนามหรือวิทยานิพนธ์ โดยมิใช่ความผิดของนักศึกษา ให้บันทึกอักษร I ไว้ในระเบียนแทนการวัดผลเป็นการชั่วคราว
กรณีต่อไปนี้ไม่ให้มีการบันทึกอักษร I
ก. การขาดสอบไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
ข. การส่งรายงานประจำภาคล่าช้ากว่ากำหนด
ในกรณีที่นักศึกษาได้อักษร I ในลักษณะวิชาใด ยกเว้นวิทยานิพนธ์จะต้องมีการวัดผลในลักษณะวิชานั้นภายใน ๘๐ วัน นับแต่วันปิดภาคการศึกษา หากไม่สามารถวัดผลอย่างสมบูรณ์ได้
ให้อาจารย์ผู้สอนกำหนดระดับการวัดผลลักษณะวิชานั้นจากคะแนนสอบ และ/หรือคะแนนจากการวัดผลโดยวิธีอื่นตามข้อ ๑๒.๑ เท่าที่มีอยู่ โดยถือว่าคะแนนของรายงานการค้นคว้า สารนิพนธ์ หรือการฝึกภาคสนามที่
ยังขาดอยู่นั้นเป็นศูนย์
เมื่อพ้นกำหนดเวลาในวรรคก่อนแล้ว อาจารย์ผู้สอนยังไม่ส่งระดับการวัดผลให้คณะพิจารณากำหนดระดับวัดผลการศึกษาลักษณะวิชานั้นและส่งให้มหาวิทยาลัยโดยมิชักช้า แต่ทั้งนี้ต้อง
ไม่เกิน ๙๐ วัน นับแต่วันปิดภาคการศึกษา
๑๒.๖ การนับหน่วยกิตที่ได้ ให้นับเฉพาะหน่วยกิตของลักษณะวิชาที่นักศึกษาได้ระดับ S หรือระดับไม่ต่ำกว่า C สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต หรือไม่ต่ำกว่า B สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต
การคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสำหรับภาคการศึกษาและค่าระดับเฉลี่ยสะสมลักษณะวิชาตามข้อ ๑๒.๒ ให้นำค่าระดับที่นักศึกษาได้ทุกลักษณะวิชามาคำนวณด้วย
๑๒.๗ นักศึกษาที่ได้ระดับ U ระดับ D หรือระดับ F สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต หรือระดับต่ำกว่า B สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ในลักษณะวิชาใดที่เป็นวิชาบังคับในหลักสูตร จะจดทะเบียนศึกษาซ้ำในลักษณะวิชานั้นได้อีกเพียง ๑ ครั้ง
และครั้งหลังนี้จะต้องได้ระดับ S หรือระดับไม่ต่ำกว่า C สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิตหรือได้ระดับ S หรือ ระดับไม่ต่ำกว่า B สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต มิฉะนั้นจะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
ลักษณะวิชาที่ได้ค่าระดับตามวรรคแรกนั้น หากเป็นลักษณะวิชาเลือก นักศึกษาอาจจะจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชานั้นซ้ำอีก หรืออาจจะจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาเลือกอื่นแทนก็ได้
นักศึกษาที่ได้ศึกษาลักษณะวิชาใดและสอบได้ระดับไม่ต่ำกว่า C สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต หรือได้ค่าระดับไม่ต่ำกว่า B สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต ไม่มีสิทธิจดทะเบียนศึกษาในลักษณะวิชานั้นซ้ำอีก เว้นแต่หลักสูตรจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
๑๒.๘ ให้บันทึกการวัดผลการศึกษาของนักศึกษาทุกลักษณะวิชาทุกครั้งไว้ในระเบียน
๑๒.๙ ในกรณีที่นักศึกษาขาดสอบลักษณะวิชาใดโดยมีเหตุผลอันสมควร ให้นักศึกษาหรือผู้แทนแสดงหลักฐานต่อคณบดีผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาตามลำดับภายใน ๑๐ วัน นับแต่วันสอบที่ปรากฏตามตารางสอบ เพื่อขออนุมัติให้บันทึกอักษร W สำหรับลักษณะวิชานั้น ถ้าคณบดีไม่อนุมัติ ให้ถือว่าได้คะแนนเป็นศูนย์สำหรับการสอบครั้งนั้น แต่ถ้าได้มีการวัดผลการศึกษาในลักษณะวิชานั้นมาบ้างแล้วในระหว่างภาคการศึกษา ให้วัดระดับตามคะแนนเท่าที่มี
ข้อ ๑๓ การศึกษาโดยไม่วัดผล
๑๓.๑ นักศึกษาอาจจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาใดวิชาหนึ่ง เป็นการเสริมความรู้
ไม่ต้องมีการวัดผลในลักษณะวิชานั้นก็ได้ แต่ต้องได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้สอน และได้รับอนุมัติจากคณบดี ทั้งต้องชำระค่าธรรมเนียมตามระเบียบ
การศึกษาโดยไม่วัดผลนี้ หากนักศึกษาผู้นั้นจะต้องได้เข้าฟังคำบรรยาย
และมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ ในชั้นเรียนเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ ของเวลาศึกษาทั้งหมด ให้บันทึกอักษร AUD สำหรับลักษณะวิชานั้นไว้ในระเบียน
๑๓.๒ ให้นับหน่วยกิตของลักษณะวิชาที่จดทะเบียนศึกษาโดยไม่วัดผลรวมเข้าไปในจำนวนหน่วยกิตขั้นสูงสุดที่นักศึกษามีสิทธิจดทะเบียนศึกษาได้ในแต่ละภาคการศึกษา ตามข้อ ๑๐.๓ ด้วย
แต่ไม่ให้นับรวมเข้าไปในจำนวนหน่วยกิตขั้นต่ำสุดที่นักศึกษาจะต้องจดทะเบียนศึกษา
๑๓.๓ หน่วยกิตของลักษณะวิชาที่มีการบันทึกอักษร AUD ไม่นับเป็นหน่วยกิตสะสม
ข้อ ๑๔ สถานภาพทางวิชาการของนักศึกษา
๑๔.๑ ให้นำผลการศึกษาของนักศึกษามาคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสะสมเพื่อพิจารณาสถานภาพทางวิชาการของนักศึกษาทุกภาคการศึกษา รวมทั้งภาคฤดูร้อนด้วย
๑๔.๒ นักศึกษาที่ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๓.๐๐ ในภาคการศึกษาใด ให้อยู่ในภาวะรอพินิจ (Probation) ในภาคการศึกษาถัดไป
๑๔.๓ เมื่อสิ้นภาคการศึกษาที่อยู่ในภาวะรอพินิจ ให้ปฏิบัติดังนี้
(๑) นักศึกษาที่ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๗๐ จะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
(๒) นักศึกษาที่ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๗๐ ก็ให้อยู่ในภาวะรอพินิจ (Probation) ต่อไปอีกหนึ่งภาคการศึกษา
(๓) เมื่ออยู่ในภาวะรอพินิจติดต่อกันสองภาคการศึกษาแล้ว นักศึกษาที่ยังได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๓.๐๐ จะถูกถอนชื่อ (Dismissed) ออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๑๕ การเทียบลักษณะวิชา
คณะกรรมการบัณฑิตศึกษาอาจอนุมัติให้เทียบและ/หรือ โอนลักษณะวิชาตามหลักสูตรให้แก่นักศึกษาโดยไม่ต้องศึกษาลักษณะวิชานั้นได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
๑๕.๑ นักศึกษาอาจขอเทียบลักษณะวิชาที่เคยศึกษามาแล้วในระดับบัณฑิตศึกษา
กับลักษณะวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรได้ โดยไม่นับหน่วยกิตวิทยานิพนธ์ ทั้งนี้จะขอเทียบลักษณะวิชาได้เฉพาะที่มีระดับไม่ต่ำกว่า ๖๐๐ เท่านั้น สามารถเทียบได้ไม่เกินร้อยละ ๒๕ ของจำนวนหน่วยกิตลักษณะวิชาทั้งหมด
๑๕.๒ หากนักศึกษามีความจำเป็นต้องศึกษาลักษณะวิชาที่มิได้เปิดสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาไปจดทะเบียนศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นได้ไม่เกินร้อยละ ๒๕ ของหน่วยกิตลักษณะวิชาทั้งหมด
๑๕.๓ การเทียบลักษณะวิชาตามข้อ ๑๕.๑ และการโอนหน่วยกิตตามข้อ ๑๕.๒
เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ ๒๕ ของจำนวนหน่วยกิตลักษณะวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
ข้อ ๑๖ การสอบประมวลวิชาและการสอบวัดคุณสมบัติ
๑๖.๑ คณะจะจัดให้มีการสอบประมวลวิชาและสอบวัดคุณสมบัติอย่างน้อย
ปีการศึกษาละหนึ่งครั้ง โดยแต่ละครั้งให้คณบดีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบ
การวัดผลการสอบให้แบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับ P (สอบผ่าน) และระดับ N (สอบไม่ผ่าน) โดยไม่มีค่าระดับ
๑๖.๒ ให้นักศึกษาสอบประมวลวิชา และ/หรือสอบวัดคุณสมบัติให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษา
๑๖.๓ นักศึกษาต้องสอบประมวลวิชา และ/หรือสอบวัดคุณสมบัติให้ได้ระดับ P (ผ่าน) ภายใน ๓ ครั้ง สำหรับการสอบแต่ละประเภท มิฉะนั้นจะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
และผลการสอบทุกครั้งจะบันทึกไว้ในระเบียน
ข้อ ๑๗ การทำวิทยานิพนธ์
๑๗.๑ นักศึกษาในหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิตและเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตจะจดทะเบียนทำวิทยานิพนธ์ได้ เมื่อศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ภาคการศึกษาปกติ หรือมีหน่วยกิตสะสม
ไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต และได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ โดยนักศึกษาหลักสูตรเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตต้องสอบวัดคุณสมบัติให้ได้ระดับ P แล้ว
๑๗.๒ เมื่อนักศึกษาจดทะเบียนทำวิทยานิพนธ์แล้ว ให้คณบดีแต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์สำหรับนักศึกษาผู้นั้น เพื่อให้มีหน้าที่แนะนำการทำวิทยานิพนธ์
๑๗.๓ เมื่อนักศึกษาโดยอนุมัติของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เสนอข้อเสนอ
และเค้าโครงวิทยานิพนธ์แล้ว ให้คณบดีแต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่น้อยกว่า ๒ คน เป็นคณะกรรมการกลั่นกรอง
เมื่อข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกลั่นกรองแล้ว คณบดีอาจแต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เพิ่มเติมอีกก็ได้
๑๗.๔ เมื่อนักศึกษาโดยอนุมัติของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เสนอวิทยานิพนธ์แล้ว ให้คณบดีแต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่น้อยกว่า ๒ คน เป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์
คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตจะต้องมีอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ไม่น้อยกว่า ๑ คน เป็นกรรมการ คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตจะต้องมีอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ไม่น้อยกว่า ๑ คนและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกไม่น้อยกว่า ๑ คน เป็นกรรมการ
๑๗.๕ การวัดผลวิทยานิพนธ์ให้แบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับ S (ใช้ได้) และระดับ U (ใช้ ไม่ได้)
๑๗.๖ ในภาคการศึกษาที่นักศึกษาจดทะเบียนวิทยานิพนธ์ไว้แต่ยังเรียบเรียงวิทยานิพนธ์ไม่แล้วเสร็จหรือยังไม่ได้สอบวิทยานิพนธ์แล้วแต่กรณีให้บันทึกอักษร I ไว้ในระเบียน
๑๗.๗ การทำวิทยานิพนธ์ให้ปฏิบัติตามระเบียบที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๑๘ ค่าธรรมเนียม
นักศึกษาจะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามระเบียบที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๑๙ การขอคืนค่าธรรมเนียม
๑๙.๑ นักศึกษาที่ขอถอนลักษณะวิชาเนื่องจากมหาวิทยาลัยประกาศปิดสอนลักษณะวิชานั้น มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชานั้นได้เต็มจำนวน
๑๙.๒ นักศึกษาที่ขอถอนลักษณะวิชาภายใน ๑๔ วันแรกของภาคการศึกษาปกติ
หรือภายใน ๗ วันแรกของภาคฤดูร้อน มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชานั้นได้ครึ่งหนึ่ง
๑๙.๓ นักศึกษาที่ขอถอนลักษณะวิชาเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม ๑๙.๒ ไม่มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชานั้น
๑๙.๔ นักศึกษาที่ลาพักการศึกษาตามข้อ ๒๐.๒ ไม่มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชา แต่ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพนักศึกษาในภาคการศึกษานั้น
๑๙.๕ นักศึกษาต้องยื่นคำร้องขอคืนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาภายใน ๓๐ วันนับจากวันเปิดภาคการศึกษา
ข้อ ๒๐ การพักการศึกษา
๒๐.๑ กรณีมีเหตุผลอันสมควร นักศึกษาอาจยื่นคำร้องขอลาพักการศึกษาในภาคการศึกษาปกติภาคใดภาคหนึ่งต่อคณบดี ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา
นักศึกษาจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพนักศึกษาสำหรับภาคการศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษา
๒๐.๒ การลาพักการศึกษาในระหว่างภาคการศึกษา ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่นักศึกษาขอลาพักการศึกษาภายในระยะเวลา ๑๔ วันแรกของภาคการศึกษาปกติ หรือภายใน ๗ วันแรกของภาคฤดูร้อน ให้ลบลักษณะวิชาที่จดทะเบียนศึกษาไว้ทั้งหมดออกจากระเบียน
(๒) กรณีที่นักศึกษาขอลาพักการศึกษา เมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๑) แต่ยังอยู่ภายใน ๑๐ สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาปกติ หรือยังอยู่ภายใน ๔ สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน ให้บันทึกอักษร W สำหรับลักษณะวิชาที่จดทะเบียนศึกษาในภาคนั้นทุกวิชาไว้ในระเบียน
(๓) การลาพักการศึกษาเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๒) จะกระทำมิได้เว้นแต่จะมีเหตุผลอันสมควรและได้รับอนุมัติจากอธิการบดีโดยคำแนะนำของคณบดี ในกรณีเช่นว่านี้ให้บันทึกอักษร W สำหรับลักษณะวิชาที่จดทะเบียนศึกษาในภาคการศึกษานั้นทุกวิชาไว้ในระเบียน
๒๐.๓ การลาพักการศึกษาติดต่อกันเกิน ๒ ภาคการศึกษาปกติจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะมีเหตุผลอันสมควร และได้รับอนุมัติจากอธิการบดีเป็นกรณีพิเศษ
๒๐.๔ นักศึกษาที่ถูกลงโทษให้พักการศึกษาตามข้อบังคับว่าด้วยวินัยนักศึกษาในภาคการศึกษาใด ให้ลบลักษณะวิชาที่ได้จดทะเบียนไว้ในภาคการศึกษานั้นออกจากระเบียน และให้คืนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชาเต็มจำนวน แต่นักศึกษาต้องชำระค่าธรรมเนียมรักษาสถานภาพนักศึกษา
นักศึกษาที่ถูกลงโทษให้พักการศึกษาด้วยเหตุทุจริตในการสอบไล่ลักษณะวิชาใดให้ถือว่าสอบไล่ลักษณะวิชานั้นได้ระดับ F
๒๐.๕ การพักการศึกษาไม่ว่าเหตุใด ๆ การถูกให้พักการศึกษาและการกลับเข้าศึกษาใหม่ ตามข้อ ๑๐.๘ ไม่อาจถือเป็นเหตุให้ขยายเวลาการศึกษาตามความในข้อ ๗
ข้อ ๒๑ เงื่อนไขการรับปริญญา
๒๑.๑ นักศึกษาที่ประสงค์จะขออนุมัติปริญญาเมื่อสิ้นภาคการศึกษาใดให้ยื่นแจ้งความประสงค์ เช่นว่านั้นเป็นหนังสือต่อมหาวิทยาลัยภายใน ๓๐ วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษานั้น นักศึกษา
ที่แจ้งความประสงค์ขออนุมัติปริญญาเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว จะได้รับการพิจารณาเสนอชื่อเพื่อขออนุมัติปริญญาเมื่อสิ้นภาคการศึกษาถัดไป
๒๑.๒ คณะจะเสนอชื่อนักศึกษาเพื่อขออนุมัติปริญญาจากสภามหาวิทยาลัย เมื่อได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า เป็นไปตามเงื่อนไขดังจะกล่าวต่อไปนี้
(๑) นักศึกษาศึกษาลักษณะวิชาครบตามหลักสูตรและได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐
(๒) นักศึกษาหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (แผน ข) สอบประมวลวิชา และนักศึกษาหลักสูตรเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต สอบวัดคุณสมบัติได้ระดับ P
(๓) นักศึกษาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (แผน ก) สอบวิทยานิพนธ์ได้ระดับ S และผลงานวิทยานิพนธ์ได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ หรือเสนอต่อที่ประชุมวิชาการที่มีรายงานการประชุม (Proceeding) สำหรับนักศึกษาหลักสูตรเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตสอบวิทยานิพนธ์ได้ระดับ S และผลงานวิทยานิพนธ์จะต้องได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการที่มีกรรมการภายนอกมาร่วมกลั่นกรอง (Peer Review) ก่อนการตีพิมพ์ และเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชา และได้นำวิทยานิพนธ์ที่ได้จัดทำขึ้นตามระเบียบที่มหาวิทยาลัยกำหนดมามอบให้คณะเศรษฐศาสตร์แล้ว
(๔) นักศึกษาไม่มีหนี้ที่ต้องชำระต่อมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๒ ผู้รักษาการตามข้อบังคับ
ให้อธิการบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับได้
ประกาศ ณ วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
(ลงนาม) ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
(ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล)
นายกสภามหาวิทยาลัย
งานพัฒนาหลักสูตรและบริหารการศึกษา กองบริการการศึกษา/จัดทำ
โทร. ๐-๒๕๖๔-๔๔๔๐ ต่อ ๑๘๒๒-๑๘๒๔
๘ มีนาคม ๒๕๕๕