ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓
แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๕๙
______________________
โดยที่เป็นการสมควรให้มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ (๒) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๓๑ สภามหาวิทยาลัย จึงตราข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ชื่อข้อบังคับ
ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓”
ข้อ ๒ การใช้ข้อบังคับ
ให้ใช้ข้อบังคับนี้แก่นักศึกษาซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาตามหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตหลักสูตรระดับปริญญาโท และหลักสูตรระดับปริญญาเอก ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๓ เป็นต้นไป ยกเว้น
๒.๑ นักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนและศึกษาตามหลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต
(ศึกษาเป็นภาษาอังกฤษ) หลักสูตรเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ศึกษาเป็นภาษาอังกฤษ) และหลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต (โครงการร่วมผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอก สาขาบริหารธุรกิจ)
๒.๒ หลักสูตรที่มีลักษณะพิเศษ และจำเป็นต้องกำหนดข้อบังคับไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ ๓ ความสัมพันธ์กับข้อบังคับ กฎ และระเบียบอื่น
บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งหรือประกาศอื่นใดที่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
ข้อ ๔ บทนิยาม
ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” หมายความรวมถึง วิทยาลัย สำนัก สถาบัน หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ซึ่งมีภารกิจหลักในการจัดการเรียนการสอน ทั้งที่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือจัดตั้งโดยสภามหาวิทยาลัย
“คณบดี” หมายความรวมถึง หัวหน้าหน่วยงานของ วิทยาลัย สำนัก สถาบัน
หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ซึ่งมีภารกิจหลักในการจัดการเรียนการสอน ทั้งที่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือจัดตั้งโดยสภามหาวิทยาลัย
“คณะกรรมการประจำคณะ” หมายความรวมถึงคณะกรรมการประจำวิทยาลัย
สำนัก สถาบัน หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ซึ่งมีภารกิจหลักในการจัดการเรียนการสอน ทั้งที่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือจัดตั้งโดยสภามหาวิทยาลัย
“ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา” หมายความว่า ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา
หรือผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตศึกษาพิเศษต่าง ๆ ในแต่ละคณะซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณบดี
“กรรมการบัณฑิตศึกษา” หมายความว่า กรรมการบัณฑิตศึกษาของแต่ละคณะ
ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณบดี
“ภาควิชา” ให้หมายความรวมถึงสาขาวิชา
“สถาบันอุดมศึกษา” ให้หมายความรวมถึง สถาบันการศึกษาที่สภามหาวิทยาลัยรับรองให้มีสถานะเทียบเท่าสถาบันอุดมศึกษา
หมวด ๑
ระบบการศึกษา
_____________________
ข้อ ๕ ระบบการศึกษา
๕.๑ มหาวิทยาลัยอำนวยการศึกษาด้วยวิธีประสานงานด้านวิชาการระหว่างคณะ
หรือภาควิชาต่าง ๆ คณะใดหรือภาควิชาใดมีหน้าที่เกี่ยวกับวิชาการด้านใดก็จะอำนวยการศึกษาในวิชาการด้านนั้นแก่นักศึกษาทุกคนทั้งมหาวิทยาลัย เว้นแต่มีเหตุผลจำเป็นและได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยส่งเสริมให้นักศึกษาต่างคณะ/ภาควิชาศึกษาร่วมกันในรายวิชาเดียวกัน
๕.๒ มหาวิทยาลัย มีการจัดการศึกษา ดังนี้
๕.๒.๑ การศึกษาในระบบทวิภาค ปีการศึกษาหนึ่ง ๆ ให้แบ่งเป็น ๒ ภาคการศึกษาปกติ ซึ่งเป็นภาคการศึกษาที่บังคับ คือ ภาคหนึ่งและภาคสอง ภาคการศึกษาหนึ่ง ๆ มีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า ๑๕ สัปดาห์ และอาจเปิดภาคฤดูร้อนได้ โดยใช้เวลาการศึกษาไม่น้อยกว่า ๘ สัปดาห์ แต่ให้เพิ่มชั่วโมงการศึกษาในแต่ละรายวิชาให้เท่ากับภาคการศึกษาปกติ ภาคฤดูร้อนเป็นภาคการศึกษาที่ไม่บังคับ ในกรณีที่มีเหตุผลจำเป็นคณะอาจกำหนดให้ภาคฤดูร้อนเป็นการศึกษาภาคบังคับ โดยได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย
๕.๒.๒ การศึกษาในระบบไตรภาค ปีการศึกษาหนึ่ง ๆ ให้แบ่งเป็น ๓ ภาคการศึกษาปกติ โดยในภาคการศึกษาหนึ่ง ๆ มีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า ๑๒ สัปดาห์ และไม่เกิน ๑๔ สัปดาห์
๕.๓ ในกรณีที่ใช้วิธีศึกษาในห้องเรียน นักศึกษาต้องมีเวลาศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ ของเวลาศึกษาทั้งหมดในแต่ละรายวิชา จึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบไล่ในรายวิชานั้นเว้นแต่คณบดีจะพิจารณาอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ
นักศึกษาผู้ใดมีเวลาศึกษาในรายวิชาใดไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในวรรคแรก
และมิได้รับอนุมัติจากคณบดีเป็นกรณีพิเศษ ให้ถือว่าสอบตกในรายวิชานั้น
๕.๔ การศึกษาตามหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก อาจจัดการเรียนการสอนแบบเต็มเวลา หรือแบบไม่เต็มเวลา โดยจะต้องมีระยะเวลาศึกษาเป็นไปตามที่กำหนดในข้อ ๕.๒
ข้อ ๖ การกำหนดหน่วยกิตสำหรับแต่ละรายวิชา
๖.๑ หลักสูตรต่าง ๆ ที่จัดสอนในมหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็นรายวิชา รายวิชาหนึ่ง ๆ กำหนดปริมาณการศึกษาเป็นจำนวน “หน่วยกิต” และทำการสอนรายวิชาหนึ่ง ๆ ในเวลาหนึ่งภาคการศึกษา
การกำหนดปริมาณการศึกษา ๑ หน่วยกิตสำหรับแต่ละรายวิชาให้ถือเกณฑ์ดังต่อไปนี้
๖.๑.๑ รายวิชาภาคทฤษฎี ให้ใช้เวลาบรรยาย หรืออภิปรายปัญหา ๑ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ต่อภาคการศึกษาปกติ
๖.๑.๒ รายวิชาภาคปฏิบัติ ให้ใช้เวลาฝึกหรือทดลอง ไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ต่อภาคการศึกษาปกติ
๖.๑.๓ การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนาม ให้ใช้เวลาฝึกไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ต่อภาคการศึกษาปกติ
๖.๑.๔ การทำโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย ให้ใช้เวลาฝึกไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ต่อภาคการศึกษาปกติ
๖.๑.๕ วิทยานิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ ให้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ต่อภาคการศึกษาปกติ
ส่วนการสอนแบบอื่น ๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่คณะกำหนด
๖.๒ รายวิชาหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยอักษรย่อของสาขาวิชา เลขรหัสประจำรายวิชา
ชื่อเต็มของรายวิชา จำนวนหน่วยกิตและสาระสำคัญที่จะสอนในรายวิชานั้น เมื่อมีเหตุผลจำเป็นคณะอาจกำหนดอักษรย่อของสาขาวิชา เลขรหัสประจำรายวิชา ไว้เป็นอย่างอื่น โดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยอาจกำหนดเงื่อนไขที่นักศึกษาจะศึกษารายวิชาใดวิชาหนึ่งก็ได้
หมวด ๒
การรับเข้าศึกษา และการขึ้นทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๗ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครเข้าเป็นนักศึกษา
๗.๑ ต้องไม่เป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงซึ่งจะเบียดเบียนหรือเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการศึกษา
๗.๒ ต้องไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
๗.๓ ต้องไม่เคยถูกคัดชื่อออกจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นเพราะ
มีความผิดทางวินัยภายในระยะเวลา ๑๐ ปีก่อนการสมัครเข้าเป็นนักศึกษา
๗.๔ คุณสมบัติอย่างอื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดไว้ในหลักสูตร หรือตามที่
สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้เป็นกรณีพิเศษ
การกำหนดคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศอย่างชัดเจนในการรับสมัครเข้าศึกษา
๗.๕ ต้องมีคุณวุฒิทางการศึกษาดังต่อไปนี้
(๑) ประกาศนียบัตรบัณฑิต จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
หรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองวิทยฐานะ
(๒) ปริญญาโท จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองเป็นวิทยฐานะ
(๓) ปริญญาเอก จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีผลการเรียนดีมากในสาขาวิชาเดียวกันกับหลักสูตรที่จะศึกษาต่อ หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทที่มีผลการเรียนดีจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองวิทยฐานะ
ข้อ ๘ การคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษา
๘.๑ จำนวนนักศึกษาที่จะรับเข้าให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
๘.๒ การรับบุคคลเข้าศึกษาให้ใช้วิธีการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกโดยวิธีการอื่น ๆ แทนการสอบคัดเลือกก็ได้ การสอบคัดเลือกหรือการคัดเลือกให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย
ในกรณีที่เห็นสมควรคณะอาจดำเนินการโดยวิธีการพิเศษอย่างอื่น โดยได้รับความเห็นชอบจากอธิการบดี
๘.๓ การรับบุคคลเข้าศึกษาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่มิใช่เพื่อรับปริญญา ให้คณบดีดำเนินการได้ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรแล้วแจ้งให้มหาวิทยาลัยและสำนักทะเบียนและประมวลผลทราบ
๘.๔ คณะอาจกำหนดให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาไปศึกษารายวิชาบางวิชาเพิ่มเติมซึ่งถือเป็นวิชาเสริมหลักสูตรโดยไม่นับหน่วยกิตให้ก็ได้
ข้อ ๙ การขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
๙.๑ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาได้ และมีคุณสมบัติเป็นนักศึกษาครบถ้วนตามข้อ ๗ จะมีสถานภาพเป็นนักศึกษาเมื่อได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
๙.๒ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาได้ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาตามเวลา
ที่มหาวิทยาลัยกำหนด พร้อมทั้งชำระเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทั้งนี้ จะขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เกินกว่า ๑ หลักสูตรในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่จะมีเหตุผลอันสมควรและได้รับอนุมัติจากอธิการบดี
๙.๓ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาได้จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาภายในสิบสี่วันนับจากวันเปิดภาคการศึกษา เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและได้รับอนุมัติจากคณบดี โดยจะต้องแจ้งเหตุจำเป็นให้มหาวิทยาลัยทราบเป็นลายลักษณ์อักษร
๙.๔ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาสังกัดสาขาวิชาใดแล้ว จะย้ายสาขาวิชามิได้ เว้นแต่จะมีเหตุผลและความจำเป็น ให้นักศึกษายื่นคำร้องพร้อมแสดงเหตุผลต่ออาจารย์ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาเพื่อขออนุมัติจากคณะกรรมการประจำคณะ
ทั้งนี้ การขอย้ายสาขาวิชาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสาขาวิชาที่จะขอย้ายไปศึกษาและให้นับระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่ภาคที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาในสาขาวิชาเดิม
หมวด ๓
หลักสูตรและระยะเวลาการศึกษา
ข้อ ๑๐ หลักสูตรการศึกษา
หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
๑๐.๑ เป็นสาขาวิชาเฉพาะของรายวิชาชีพ หรือสาขาวิชาที่ประมวลวิชาการ
หลายแขนงเข้าด้วยกัน เน้นการพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพให้มีความชำนาญในสาขาวิชาเฉพาะ เพื่อให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญสามารถปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น และต้องเป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จ
ในตัวเอง
๑๐.๒ ไม่เป็นสาขาวิชาประเภทพื้นฐานหรือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในระดับที่สูงกว่าหรือมีลักษณะเป็นการจัดตั้งขึ้น เพื่อทดแทนให้แก่ผู้ที่ไม่สามารถสำเร็จในหลักสูตรระดับที่สูงกว่าของสาขาวิชานั้น ๆ
๑๐.๓ หลักสูตรต้องมีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า ๒๔ หน่วยกิต
หลักสูตรระดับปริญญาโท
๑๐.๔ หลักสูตรระดับปริญญาโท เป็นหลักสูตรที่มีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต ในกรณีที่เป็นการศึกษาระบบทวิภาค และไม่น้อยกว่า ๔๕ หน่วยกิต ในกรณีที่เป็นการศึกษาระบบไตรภาค โดยอาจจัดการศึกษาเป็น ๒ แผนคือ
๑๐.๔.๑ แผน ก เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์ การศึกษาตามแผน ก มี ๒ แบบ คือ
แบบ ก ๑ เป็นแผนการศึกษาที่ทำเฉพาะวิทยานิพนธ์ซึ่งมีค่าเทียบได้ไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต ในกรณีที่เป็นการศึกษาระบบทวิภาค และไม่น้อยกว่า ๔๕ หน่วยกิต ในกรณีที่เป็นการศึกษาระบบไตรภาค โดยคณะอาจกำหนดให้เรียนรายวิชาเพิ่มเติมหรือทำกิจกรรมทางวิชาการอื่นเพิ่มขึ้น
ก็ได้โดยไม่นับหน่วยกิต แต่จะต้องมีผลสัมฤทธิ์ตามที่หลักสูตรกำหนด
แบบ ก ๒ เป็นแผนการศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ซึ่งมีค่าเทียบได้ไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิตและศึกษางานรายวิชา (course work) อีกไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต โดยมีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต ในกรณีที่เป็นการศึกษาระบบทวิภาค และทำวิทยานิพนธ์ซึ่งมีค่าเทียบได้ไม่น้อยกว่า ๑๕ หน่วยกิต และศึกษางานรายวิชา (course work) อีกไม่น้อยกว่า ๑๕ หน่วยกิต โดยมีจำนวนหน่วยกิตรวม ไม่น้อยกว่า ๔๕ หน่วยกิต ในกรณีที่เป็นการศึกษาระบบไตรภาค
๑๐.๔.๒ แผน ข เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการศึกษารายวิชาโดยไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ แต่ต้องกำหนดให้มีการศึกษารายวิชาที่เป็นการค้นคว้าอิสระไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิต แต่ไม่เกิน ๖ หน่วยกิต โดยมีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต ในกรณีที่เป็นการศึกษาระบบทวิภาค และไม่น้อยกว่า ๔ หน่วยกิตแต่ไม่เกิน ๗ หน่วยกิต โดยมีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า ๔๕ หน่วยกิต ในกรณีที่เป็นการศึกษาระบบไตรภาค
หากคณะจัดการศึกษาสาขาวิชาใดควบคู่กันทั้งสองแผนการศึกษา นักศึกษามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแผนการศึกษาจากแผน ก เป็น แผน ข หรือในทางกลับกัน ให้นักศึกษายื่น คำร้องพร้อมแสดงเหตุผลต่ออาจารย์ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา เพื่อขออนุมัติจากคณบดี ทั้งนี้ นักศึกษาจะต้องยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแผนการศึกษาก่อนการสอบวิทยานิพนธ์
หลักสูตรระดับปริญญาเอก
๑๐.๕ หลักสูตรระดับปริญญาเอก เป็นหลักสูตรที่มีหน่วยกิตการศึกษาไม่น้อยกว่า ๔๘ หน่วยกิต ในกรณีที่เป็นผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาโท และไม่น้อยกว่า ๗๒ หน่วยกิต ในกรณีที่ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาตรี โดยแบ่งการศึกษาเป็น ๒ แบบ คือ
๑๐.๕.๑ แบบ ๑ เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ คณะอาจกำหนดให้ศึกษารายวิชาเพิ่มเติมหรือทำกิจกรรมทางวิชาการอื่นเพิ่มขึ้นก็ได้โดยไม่นับหน่วยกิต แต่จะต้องมีผลสัมฤทธิ์ตามที่หลักสูตรกำหนด ดังนี้
แบบ ๑.๑ ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาโท จะต้องทำวิทยานิพนธ์
ไม่น้อยกว่า ๔๘ หน่วยกิต
แบบ ๑.๒ ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาตรี จะต้องทำวิทยานิพนธ์
ไม่น้อยกว่า ๗๒ หน่วยกิต
ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ตามแบบ ๑.๑ และแบบ ๑.๒ จะต้องมีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกัน
๑๐.๕.๒ แบบ ๒ เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์ ที่มีคุณภาพสูงและก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ และศึกษางานรายวิชาเพิ่มเติม ดังนี้
แบบ ๒.๑ ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาโท จะต้องทำวิทยานิพนธ์
ไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต และศึกษางานรายวิชาอีกไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต
แบบ ๒.๒ ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาตรี จะต้องทำวิทยานิพนธ์
ไม่น้อยกว่า ๔๘ หน่วยกิต และศึกษางานรายวิชาอีกไม่น้อยกว่า ๒๔ หน่วยกิต
ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ตามแบบ ๒.๑ และแบบ ๒.๒ จะต้องมีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกัน
ข้อ ๑๑ ระยะเวลาการศึกษาของแต่ละหลักสูตร
ระยะเวลาการศึกษาตามหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
๑๑.๑ นับแต่วันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต จะต้องศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรภายในเวลาไม่น้อยกว่า ๒ ภาคการศึกษาปกติ และไม่เกิน ๖ ภาคการศึกษาปกติ
๑๑.๒ เมื่อครบระยะเวลา ๖ ภาคการศึกษาปกติ นักศึกษาผู้ใดมีผลการศึกษายัง
ไม่เพียงพอที่จะได้รับประกาศนียบัตร นักศึกษาผู้นั้นจะต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา และหน่วยกิตที่ได้สะสมไว้ทั้งหมดจะนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาในมหาวิทยาลัยต่อไปอีกมิได้
ระยะเวลาการศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาโท
๑๑.๓ นับแต่วันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา นักศึกษาระดับปริญญาโท จะต้องศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรภายในระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ดังนี้
๑๑.๓.๑ ในกรณีที่เป็นการศึกษาตามระบบทวิภาค นักศึกษาหลักสูตรแบบเต็มเวลา ต้องศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรภายในเวลาไม่เกิน ๑๐ ภาคการศึกษาปกติ สำหรับนักศึกษาหลักสูตรแบบไม่เต็มเวลาต้องศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรภายในเวลาไม่เกิน ๑๔ ภาคการศึกษาปกติ หรือภายในระยะเวลาที่สั้นกว่านี้ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้
๑๑.๓.๒ ในกรณีที่เป็นการศึกษาตามระบบไตรภาค นักศึกษาหลักสูตรแบบเต็มเวลาต้องศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรภายในเวลาไม่เกิน ๑๕ ภาคการศึกษาปกติ สำหรับนักศึกษาหลักสูตรแบบไม่เต็มเวลาต้องศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรภายในเวลาไม่เกิน ๒๑ ภาคการศึกษาปกติ หรือภายในระยะเวลาที่สั้นกว่านี้ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้
ระยะเวลาการศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาเอก
๑๑.๔ นับแต่วันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา นักศึกษาระดับปริญญาเอก จะต้องศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรภายในระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ดังนี้
๑๑.๔.๑ นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีต้องศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรภายในเวลาไม่เกิน ๑๖ ภาคการศึกษาปกติ หรือภายในระยะเวลาที่สั้นกว่านี้ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้
๑๑.๔.๒ นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทต้องศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรภายในเวลาไม่เกิน ๑๒ ภาคการศึกษาปกติ หรือภายในระยะเวลาที่สั้นกว่านี้ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้
ในกรณีที่นักศึกษาได้ศึกษาครบตามโครงสร้างหลักสูตรและสอบผ่านวิทยานิพนธ์ผ่านภายในระยะเวลาตามข้อ ๑๑.๔.๑ และข้อ ๑๑.๔.๒ เรียบร้อยแล้ว แต่จำเป็นต้องรอการตอบรับการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ นักศึกษาอาจขอขยายระยะเวลาการศึกษาต่อไปได้อีกไม่เกิน ๔ ภาคการศึกษา โดยยื่นคำขอต่ออธิการบดีเพื่อให้อธิการบดีอนุมัติแล้วรายงานสภามหาวิทยาลัยทราบ และในกรณีที่เกินกว่า ๔ ภาคการศึกษาแล้วยังไม่ได้รับการตอบรับตีพิมพ์บทความวิจัย นักศึกษาอาจขอขยายเวลาเพิ่มเติมได้โดยเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยอนุมัติเป็นการเฉพาะราย
ในการขอขยายระยะเวลาในวรรคก่อน นักศึกษาต้องมีหลักฐานการส่งผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ประกอบคำขอและต้องรักษาสถานภาพการเป็นนักศึกษาในภาคการศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการศึกษาด้วย
๑๑.๕ หากนักศึกษาโอนจากหลักสูตรเต็มเวลาไปยังหลักสูตรไม่เต็มเวลาหรือในทางกลับกัน ก็ให้คำนวณระยะเวลาที่ศึกษาไปแล้ว เป็นสัดส่วนกับระยะเวลาสูงสุดของภาคที่ศึกษาอยู่ก่อน
และนำสัดส่วนนี้ไปใช้กับระยะเวลาสูงสุดของภาคที่จะศึกษาเข้าใหม่
หมวด ๔
การลงทะเบียนศึกษารายวิชา
ข้อ ๑๒ การลงทะเบียนศึกษารายวิชาและวิทยานิพนธ์
๑๒.๑ มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการลงทะเบียนศึกษารายวิชาและวิทยานิพนธ์ สำหรับ
แต่ละภาคการศึกษาให้เสร็จก่อนวันเปิดภาคการศึกษานั้น รายละเอียดเกี่ยวกับการลงทะเบียนให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
๑๒.๒ ในกรณีที่มีเหตุสมควร มหาวิทยาลัยอาจประกาศงดการสอน ในรายวิชาใดวิชาหนึ่งหรือจำกัดจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนในรายวิชาใดวิชาหนึ่งได้
การงดการสอนในรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนไปบ้างแล้ว จะต้องกระทำใน ๗ วันแรกนับจากวันเปิดภาคการศึกษาปกติ หรือ ๔ วันแรกนับจากวันเปิดภาคฤดูร้อน
๑๒.๓ นักศึกษาหลักสูตรแบบเต็มเวลา ภาคการศึกษาปกติต้องลงทะเบียนศึกษารายวิชาและ/หรือวิทยานิพนธ์ไม่ต่ำกว่า ๖ หน่วยกิต และไม่เกิน ๑๕ หน่วยกิต สำหรับในภาคฤดูร้อน สามารถลงทะเบียนศึกษารายวิชา และ/หรือวิทยานิพนธ์ได้ไม่เกิน ๖ หน่วยกิต ยกเว้นวิชาฝึกภาคปฏิบัติสามารถลงทะเบียนได้ไม่เกิน ๙ หน่วยกิต
๑๒.๔ นักศึกษาหลักสูตรแบบไม่เต็มเวลา ภาคการศึกษาปกติต้องลงทะเบียนศึกษารายวิชา และ/หรือวิทยานิพนธ์ ไม่ต่ำกว่า ๓ หน่วยกิต และไม่เกิน ๑๒ หน่วยกิต สำหรับในภาคฤดูร้อน สามารถลงทะเบียนศึกษารายวิชา และ/หรือวิทยานิพนธ์ได้ไม่เกิน ๓ หน่วยกิต เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากคณบดีเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ จะต้องไม่เกิน ๖ หน่วยกิต
การกำหนดจำนวนหน่วยกิตสูงสุดในการลงทะเบียนตามข้อ ๑๒.๓ และ ๑๒.๔ ให้รวมถึงจำนวนหน่วยกิตวิทยานิพนธ์ หรือฝึกภาคปฏิบัติ หรือรายวิชาเสริมหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยไม่นับหน่วยกิตให้ด้วย โดยถือเสมือนว่าวิชาเสริมหลักสูตรมีหน่วยกิตตามกำหนด และให้รวมถึงการลงทะเบียนศึกษาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการรับปริญญาและข้อกำหนดของหลักสูตร
๑๒.๕ ในกรณีที่นักศึกษาสอบผ่านข้อเขียนทั้งหมดแล้ว นักศึกษาสามารถลงทะเบียนวิทยานิพนธ์หรือฝึกภาคปฏิบัติ ตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในหลักสูตรได้ทั้งหมด
๑๒.๖ การลงทะเบียนศึกษารายวิชาต่ำกว่าที่กำหนดไว้จะกระทำได้ในกรณีเจ็บป่วยและได้รับอนุมัติจากคณบดีเป็นกรณีพิเศษ หรือกรณีที่เป็นภาคสุดท้ายของการศึกษารายวิชาของนักศึกษาผู้นั้น เท่านั้น
๑๒.๗ กำหนดวัน เวลา และวิธีการลงทะเบียนศึกษา ให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย
๑๒.๘ นักศึกษาต้องลงทะเบียนตามประกาศของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งชำระเงินค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ
๑๒.๙ มหาวิทยาลัยจะไม่อนุมัติให้นักศึกษาลงทะเบียนศึกษาพ้นกำหนดระยะเวลา ๑๔ วันนับจากวันเปิดภาคการศึกษาปกติ หรือ ๗ วันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและได้รับอนุมัติจากคณบดีเป็นกรณีพิเศษ
๑๒.๑๐ นักศึกษาที่ไม่ลงทะเบียนศึกษารายวิชาตามวันที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษาปกติหรือภาคฤดูร้อน จะต้องชำระค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนล่าช้าเป็นรายวัน ทั้งนี้ไม่นับวันหยุดราชการ เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและได้รับอนุมัติจากคณบดีเป็นกรณีพิเศษ
อัตราค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนล่าช้าต่อวัน ให้เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
๑๒.๑๑ ในภาคการศึกษาปกติใด หากนักศึกษาไม่ได้ลงทะเบียนศึกษาด้วยเหตุใด ๆ
ก็ตามจะต้องขอลาพักการศึกษาสำหรับภาคการศึกษานั้น โดยทำหนังสือผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาเพื่อขออนุมัติต่อคณบดีและนักศึกษาจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพื่อรักษาสถานภาพนักศึกษาภายใน ๓๐ วัน นับจากวันเปิดภาคการศึกษา มิฉะนั้นจะพ้นสภาพนักศึกษาโดยทันที
๑๒.๑๒ อธิการบดีโดยการเสนอของคณบดี อาจอนุมัติให้นักศึกษาที่ถูกพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา ตามข้อ ๑๒.๑๑ กลับเข้าเป็นนักศึกษาใหม่ได้เมื่อมีเหตุผลอันสมควร โดยให้ถือระยะเวลาที่
พ้นสภาพการเป็นนักศึกษานั้นเป็นระยะเวลาลาพักการศึกษา ในกรณีเช่นนี้นักศึกษาจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเสมือนเป็น ผู้ลาพักการศึกษา รวมทั้งค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ค้างชำระด้วย
การอนุมัติให้กลับเข้าเป็นนักศึกษาอีกตามวรรคแรก เมื่อพ้นกำหนดเวลา ๑ ปีนับจากวันที่นักศึกษาผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาจากกระทำมิได้
๑๒.๑๓ การลาพักการศึกษาตามในข้อ ๑๒.๑๑ และ ๑๒.๑๒ รวมทั้งการลา
ไปต่างประเทศ ไม่ถือเป็นเหตุให้ได้รับการยกเว้นจากกำหนดเวลาที่นักศึกษาจะต้องเรียนให้สำเร็จตามข้อ ๑๑
๑๒.๑๔ ภายใต้ข้อบังคับข้อ ๑๒.๓ และข้อ ๑๒.๔ เมื่อนักศึกษาที่ศึกษาตามแผน
การศึกษาแบบมีวิทยานิพนธ์ ได้หน่วยกิตสะสมของรายวิชาและวิทยานิพนธ์ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแล้ว แต่ยังทำวิทยานิพนธ์ไม่เสร็จ หรือเมื่อนักศึกษาได้หน่วยกิตสะสมของรายวิชาครบถ้วนตามหลักสูตรแล้ว แต่ยังลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ไม่ได้ เพราะยังสอบประมวลความรู้ไม่ผ่าน ในกรณีที่หลักสูตรกำหนดให้มีการสอบประมวลความรู้ นักศึกษาเหล่านี้ต้องทำหนังสือผ่านผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา เพื่อรักษาสถานภาพนักศึกษา และชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพนักศึกษาทุกภาคการศึกษาที่ไม่มี
การลงทะเบียนจนกว่าจะสอบไล่วิทยานิพนธ์แล้วเสร็จ
๑๒.๑๕ ในกรณีที่มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษาหรือ
มีข้อตกลงเฉพาะราย หรือกรณีที่นักศึกษาได้รับความเห็นชอบจากคณบดีคณะที่ตนสังกัด อธิการบดีอาจพิจารณาอนุมัติให้นักศึกษาลงทะเบียนศึกษารายวิชาที่เปิดสอนในสถาบันอุดมศึกษาอื่นแทนการลงทะเบียนศึกษารายวิชาตามข้อ ๑๒.๓ และข้อ ๑๒.๔ ทั้งหมดหรือบางส่วนได้
๑๒.๑๖ ในกรณีที่มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษาหรือมีข้อตกลงเฉพาะรายหรือกรณีที่นักศึกษาได้รับความเห็นชอบจากคณบดีคณะที่รับผิดชอบสอนรายวิชานั้น ๆ อธิการบดีอาจพิจารณาอนุมัติให้นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น ลงทะเบียนศึกษารายวิชาที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยได้ ทั้งนี้ โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมลงทะเบียนศึกษารายวิชาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เว้นแต่จะมีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นและได้รับความเห็นชอบจากอธิการบดี
๑๒.๑๗ ให้อธิการบดีมีอำนาจพิจารณาเรื่องการลงทะเบียนศึกษารายวิชา ซึ่งเกินกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เฉพาะกรณีที่มีเหตุผลอันสมควร อันเนื่องมาจากการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๓ การเพิ่มและการถอนวิชา
๑๓.๑ การขอเพิ่มรายวิชาจะกระทำได้ภายใน ๑๔ วันแรกของภาคการศึกษาปกติ
หรือภายใน ๗ วันแรกของภาคฤดูร้อน โดยได้รับอนุมัติจากผู้สอนและอาจารย์ที่ปรึกษา
๑๓.๒ การขอถอนรายวิชาต้องได้รับอนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษา และให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่นักศึกษาขอถอนรายวิชาภายใน ๑๔ วันแรกของภาคการศึกษาปกติ หรือภายใน ๗ วันแรกของภาคฤดูร้อน ให้ลบรายวิชาที่ถอนนั้นออกจากระเบียน
(๒) กรณีที่นักศึกษาขอถอนรายวิชาเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๑) แต่ยังอยู่ภายใน ๑๐ สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาปกติ หรือภายใน ๔ สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน ให้บันทึกอักษร W สำหรับรายวิชาที่ถอนนั้นในระเบียน
(๓) กรณีถอนรายวิชาเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๒) จะกระทำมิได้เว้นแต่จะมีเหตุผลอันสมควร และได้รับอนุมัติจากคณบดี ถ้าคณบดีอนุมัติแล้วให้บันทึกอักษร W สำหรับรายวิชาที่ได้รับอนุมัติให้ถอน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินวันสุดท้ายของการเรียนการสอน
๑๓.๓ นักศึกษาจะขอถอนรายวิชา จนเหลือจำนวนหน่วยกิตต่ำกว่า ๖ หน่วยกิต
ในการศึกษาแบบเต็มเวลา และต่ำกว่า ๓ หน่วยกิต ในการศึกษาแบบไม่เต็มเวลาไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุผลอันสมควรและได้รับอนุมัติจากคณบดี
๑๓.๔ ให้อธิการบดีมีอำนาจพิจารณาเรื่องการเพิ่มและการถอนรายวิชา ซึ่งเกินกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เฉพาะกรณีที่มีเหตุผลอันสมควร อันเนื่องมาจากการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๔ ค่าธรรมเนียม
นักศึกษาจะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
ข้อ ๑๕ การขอคืนค่าธรรมเนียม
๑๕.๑ นักศึกษาที่ขอถอนรายวิชา เนื่องจากมหาวิทยาลัยประกาศงดการสอนรายวิชานั้น หรือเพราะผลกระทบจากการประกาศเปลี่ยนแปลงการสอนรายวิชาหนึ่ง ที่มีต่อการลงทะเบียนศึกษารายวิชาอื่น มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมลงทะเบียนศึกษารายวิชาและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษาได้เต็มจำนวน
๑๕.๒ นักศึกษาที่ขอถอนรายวิชาภายใน ๑๔ วันแรกของภาคการศึกษาปกติหรือภายใน ๗ วันแรกของภาคฤดูร้อน มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมลงทะเบียนศึกษารายวิชาและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษาได้ครึ่งหนึ่ง
๑๕.๓ นักศึกษาที่ขอถอนรายวิชาเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม ๑๕.๒ ไม่มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมลงทะเบียนรายวิชาและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษา
๑๕.๔ นักศึกษาที่ลาพักการศึกษาตามข้อ ๒๐.๒ ไม่มีสิทธิ์ขอคืนค่าธรรมเนียมลงทะเบียนรายวิชาและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษา แต่ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพนักศึกษาในภาคการศึกษานั้น
๑๕.๕ นักศึกษาจะต้องยื่นคำร้องขอคืนค่าธรรมเนียมลงทะเบียนรายวิชา
และค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษาภายใน ๓๐ วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา
หมวด ๕
การวัดผลการศึกษาและสถานภาพทางวิชาการของนักศึกษา
ข้อ ๑๖ การวัดผลการศึกษา
๑๖.๑ มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการวัดผลการศึกษาสำหรับรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนไว้ในภาคการศึกษาหนึ่ง ๆ ตามที่คณะและอาจารย์ผู้สอนเห็นสมควร
๑๖.๒ การวัดผลการศึกษาแบ่งเป็น ๙ ระดับ มีชื่อและค่าระดับต่อหนึ่งหน่วยกิต ดังต่อไปนี้
ระดับ A A- B+ B B- C+ C D F
ค่าระดับ ๔.๐๐ ๓.๖๗ ๓.๓๓ ๓.๐๐ ๒.๖๗ ๒.๓๓ ๒.๐๐ ๑.๐๐ ๐
๑๖.๓ วัดผลการศึกษาสำหรับรายวิชาที่ไม่นับหน่วยกิตให้แบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับ P (ผ่าน) และระดับ N (ไม่ผ่าน) โดยไม่มีค่าระดับ
ในกรณีที่นักศึกษาต้องศึกษาวิชาเสริมหลักสูตรตามความในข้อ ๘.๔
ถ้านักศึกษา ผู้นั้นสอบได้ ตั้งแต่ระดับ C ให้ถือว่าสอบได้ในระดับ P ถ้าได้ต่ำกว่าระดับ C ให้ถือว่าได้ระดับ N ในวิชานั้น ๆ
๑๖.๔ ในบางกรณีหลักสูตรอาจกำหนดให้วัดผลการศึกษาสำหรับรายวิชาที่คิดหน่วยกิตให้เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับ S (ใช้ได้) และระดับ U (ใช้ไม่ได้) หน่วยกิตที่ได้จะไม่นำมาคำนวณค่าระดับเฉลี่ย
๑๖.๕ ในกรณีที่คณะไม่ต้องการให้ค่าระดับสำหรับการวัดผลรายวิชาที่นักศึกษาไปศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นทั้งในและต่างประเทศ ให้บันทึกอักษร ACC (Accreditation) ไว้ในระเบียนสำหรับรายวิชาที่ได้ค่าระดับไม่ต่ำกว่า B หรือเทียบเท่า
๑๖.๖ ในกรณีที่การวัดผลกระทำได้ไม่สมบูรณ์ในรายวิชาที่มีการเขียนรายงานหรือ
มีการเขียนรายงานประกอบวิชานั้น ๆ หรือการฝึกงานภาคสนามหรือสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ โดยไม่ใช่ความผิดของนักศึกษา ให้บันทึกอักษร I ไว้ในระเบียนเป็นการชั่วคราวแทนการวัดผล
กรณีต่อไปนี้ไม่ให้มีการบันทึกอักษร I
ก. การขาดสอบไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
ข. การส่งรายงานประจำภาคล่าช้ากว่ากำหนด
ในกรณีที่นักศึกษาได้อักษร I ในรายวิชาใด จะต้องมีการวัดผลการศึกษาในรายวิชานั้นภายใน ๘๐ วัน นับแต่วันปิดภาคการศึกษา หากไม่สามารถวัดผลการศึกษาอย่างสมบูรณ์ได้
ให้อาจารย์ผู้สอนกำหนดระดับการวัดผลการศึกษารายวิชานั้นจากคะแนนสอบ และ/หรือคะแนนจากการวัดผลการศึกษาโดยวิธีอื่นตามข้อ ๑๖.๑ เท่าที่มีอยู่ โดยถือว่าคะแนนของรายงานการค้นคว้าอิสระหรือสารนิพนธ์
หรือการฝึกภาคสนามที่ยังขาดอยู่นั้นเป็นศูนย์
เมื่อพ้นกำหนดเวลาในวรรคก่อนแล้ว อาจารย์ผู้สอนยังไม่ส่งระดับการวัดผลการศึกษา ให้คณะนั้น ๆ พิจารณากำหนดระดับวัดผลการศึกษารายวิชานั้นและส่งให้มหาวิทยาลัยโดยมิชักช้า แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน ๙๐ วัน นับตั้งแต่วันปิดภาคการศึกษา
๑๖.๗ การนับหน่วยกิตที่ได้ให้นับรวมเฉพาะหน่วยกิตของรายวิชา ที่นักศึกษาได้
ค่าระดับ S หรือระดับไม่ต่ำกว่า C สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และระดับปริญญาโท หรือไม่ต่ำกว่า B สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาเอก วิชาที่นักศึกษาได้ค่าระดับต่ำกว่า C สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และระดับปริญญาโท หรือได้ค่าระดับต่ำกว่า B สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาเอก ไม่ว่าจะเป็นรายวิชาบังคับหรือรายวิชาเลือก ให้นำมาคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสำหรับภาคการศึกษานั้นและค่าระดับเฉลี่ยสะสมทุกครั้งไป
๑๖.๘ นักศึกษาที่ได้ระดับ U หรือค่าระดับต่ำกว่า C สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และระดับปริญญาโท หรือระดับต่ำกว่า B สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับ ปริญญาเอก ในรายวิชาใดที่เป็นวิชาบังคับในหลักสูตร จะลงทะเบียนศึกษาซ้ำในรายวิชานั้นได้เพียง ๑ ครั้ง และครั้งหลังนี้จะต้องได้ระดับ S หรือระดับไม่ต่ำกว่า C สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และระดับปริญญาโท หรือได้ระดับ S หรือระดับไม่ต่ำกว่า B สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาเอก มิฉะนั้นจะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
รายวิชาที่ได้ค่าระดับตามความในวรรคแรกนั้น หากเป็นรายวิชาเลือก
นักศึกษาอาจจะลงทะเบียนศึกษาซ้ำในรายวิชานั้นอีก หรืออาจจะลงทะเบียนศึกษารายวิชาเลือกอื่นแทนก็ได้
นักศึกษาที่ได้ค่าระดับไม่ต่ำกว่า C สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และระดับปริญญาโท หรือได้ค่าระดับไม่ต่ำกว่า B สำหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาเอก ในรายวิชาใดไม่มีสิทธิจดทะเบียนศึกษาซ้ำในรายวิชานั้นอีก เว้นแต่หลักสูตรจากกำหนดไว้เป็น อย่างอื่น
๑๖.๙ การวัดผลการศึกษาของนักศึกษาทุกรายวิชาทุกครั้งจะบันทึกไว้ในระเบียน ยกเว้นวิชาภาษาต่างประเทศซึ่งจะบันทึกเมื่อนักศึกษาสอบอยู่ในระดับ P (ผ่าน) หรือเมื่อการสอบครั้งนั้นเป็นการสอบครั้งสุดท้ายของนักศึกษาเท่านั้น
๑๖.๑๐ เมื่อสิ้นภาคการศึกษาหนึ่ง ๆ มหาวิทยาลัยจะคำนวณค่าระดับเฉลี่ยของรายวิชาที่นักศึกษาแต่ละคนได้ลงทะเบียนไว้สำหรับภาคการศึกษานั้น เรียกว่า “ค่าระดับเฉลี่ยสำหรับภาค” และคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสำหรับทุกรายวิชาทุกภาคการศึกษา นับตั้งแต่เริ่มสถานภาพนักศึกษาจนถึง
ภาคการศึกษานั้น เรียกว่า “ค่าระดับเฉลี่ยสะสม”
๑๖.๑๑ ในการคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสะสม ให้คูณค่าระดับของทุกรายวิชาที่ลงทะเบียนตั้งแต่เริ่มสถานภาพนักศึกษาด้วยหน่วยกิตของแต่ละรายวิชา แล้วหารผลรวมด้วยหน่วยกิตทั้งหมดที่ลงทะเบียนไว้นั้น
ในการหารเมื่อได้ทศนิยมสองตำแหน่งแล้ว ถ้าปรากฏว่าทศนิยมตำแหน่ง
ที่สามเป็นจำนวนตั้งแต่ห้าขึ้นไป ก็ให้ปัดเศษขึ้นมา
๑๖.๑๒ ในกรณีที่นักศึกษาขาดสอบรายวิชาใดโดยมีเหตุสุดวิสัย ให้นักศึกษาหรือผู้แทนยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่ออาจารย์ผู้สอน อาจารย์ที่ปรึกษา และผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา และให้อาจารย์ ผู้สอนอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา วินิจฉัยขั้นต้นว่ามีเหตุสมควรหรือไม่ หากมีเหตุผลสมควรให้นำเรื่องขออนุมัติคณบดีภายใน ๑๐ วัน นับตั้งแต่วันสอบที่ปรากฏตามตารางสอบ เพื่อขออนุมัติให้บันทึกอักษร W สำหรับรายวิชานั้น ถ้าคณบดีไม่อนุมัติให้ถือว่าส่วนที่ขาดสอบนั้นได้คะแนนเป็นศูนย์ และให้อาจารย์ผู้สอนให้ระดับตามคะแนนระหว่างภาค
ในกรณีที่นักศึกษาทำเรื่องขออนุมัติคณบดี เมื่อพ้นระยะเวลาตามวรรคแรก ถ้าคณบดีเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรอนุมัติ ให้คณบดีทำความเห็นประกอบคำขอของนักศึกษาเสนอต่อธิการบดี
เพื่อพิจารณาอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ
ข้อ ๑๗ การศึกษาโดยไม่วัดผลการศึกษา
๑๗.๑ ในกรณีจำเป็นนักศึกษาจะลงทะเบียนศึกษารายวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นการเสริมความรู้โดยมิต้องมีการวัดผลในรายวิชานั้นก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการโครงการหรือผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา โดยความเห็นชอบของอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ผู้สอน และต้องชำระค่าธรรมเนียมตามระเบียบมหาวิทยาลัย
เมื่อนักศึกษาได้ลงทะเบียนศึกษารายวิชาใดโดยไม่วัดผลการศึกษาแล้ว
การเปลี่ยน การลงทะเบียนศึกษาวิชานั้นเป็นการศึกษาโดยวัดผลจะกระทำมิได้ เมื่อพ้นกำหนด ๑๔ วันแรกนับจากวันเปิดภาคการศึกษาปกติหรือ ๗ วันแรกนับจากวันเปิดภาคฤดูร้อน
การศึกษาโดยไม่วัดผลการศึกษานี้ ให้บันทึกอักษร AUD (Audit) สำหรับรายวิชานั้นไว้ในระเบียน ทั้งนี้ นักศึกษาผู้นั้นจะต้องได้เข้าฟังคำบรรยายและมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ ในชั้นเรียนเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐ ของเวลาทั้งหมด
๑๗.๒ จำนวนหน่วยกิตสูงสุด ที่นักศึกษามีสิทธิลงทะเบียนศึกษาได้ในแต่ละภาคการศึกษา ตามข้อ ๑๒.๓ และข้อ ๑๒.๔ นั้น ให้นับรายวิชาที่ลงทะเบียนศึกษาโดยไม่วัดผลการศึกษารวมเข้าไปด้วย แต่จะไม่นับรวมเข้าในจำนวนหน่วยกิตต่ำสุดที่นักศึกษาจะต้องลงทะเบียนศึกษาในแต่ละภาคการศึกษา
๑๗.๓ หน่วยกิตของรายวิชาที่มีการบันทึกอักษร AUD ดังกล่าวไม่นับเป็นหน่วยกิตสะสม
นักศึกษาผู้ใดได้ลงทะเบียนศึกษารายวิชาใดโดยไม่วัดผลการศึกษาแล้ว จะลงทะเบียนศึกษารายวิชานั้นซ้ำเพื่อเป็นการวัดผลการศึกษาในภายหลังมิได้ เว้นแต่ในกรณีที่มีการย้ายคณะหรือเปลี่ยนภาควิชา และรายวิชานั้นเป็นวิชาที่กำหนดให้มีการศึกษาและวัดผลในหลักสูตรของคณะหรือภาควิชานั้น
ข้อ ๑๘ สถานภาพทางวิชาการของนักศึกษา
๑๘.๑ มหาวิทยาลัยจะนำผลการศึกษาของนักศึกษาแต่ละคนมาคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสะสม เพื่อพิจารณาสถานภาพทางวิชาการทุกภาคการศึกษา รวมทั้งภาคฤดูร้อน
นักศึกษาผู้ใดได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๓.๐๐ ในภาคการศึกษาใด นักศึกษาผู้นั้นจะอยู่ในภาวะรอพินิจ (Probation) ในภาคการศึกษาถัดไป
๑๘.๒ เมื่อสิ้นภาคการศึกษาที่อยู่ในภาวะรอพินิจ หากนักศึกษาได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๗๐ นักศึกษาผู้นั้นจะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา หากค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๗๐ ก็ให้อยู่ในภาวะรอพินิจ (Probation) ต่อไปอีกหนึ่งภาคการศึกษา เมื่อสิ้นภาคการศึกษาที่อยู่ในภาวะรอพินิจครั้งที่สอง หากค่าระดับเฉลี่ยสะสมยังคงต่ำกว่า ๓.๐๐ นักศึกษาผู้นั้นจะถูกถอนชื่อ (Dismissed) ออกจากทะเบียนนักศึกษา
หมวด ๖
การเทียบและการโอนหน่วยกิต
ข้อ ๑๙ การเทียบและการโอนหน่วยกิต
นักศึกษาอาจขอเทียบโอนหน่วยกิตได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชา และต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการประจำคณะ โดยถือเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติดังต่อไปนี้
๑๙.๑ รายวิชาที่ขอเทียบโอนหน่วยกิตได้
๑๙.๑.๑ เป็นรายวิชาที่เรียนในระดับบัณฑิตศึกษา และเทียบได้เฉพาะหน่วย
กิตรายวิชา (course work) เท่านั้น
๑๙.๑.๒ เป็นรายวิชาที่มีเนื้อหาเทียบเคียงกันได้ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของรายวิชาที่ขอเทียบ
๑๙.๑.๓ เป็นรายวิชาที่เรียนมาแล้วไม่เกินกว่า ๕ ปีการศึกษา นับจากปีการศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชานั้น
๑๙.๑.๔ เป็นรายวิชาที่นักศึกษาได้ค่าระดับไม่ต่ำกว่า B หรือเทียบเท่า
๑๙.๒ จำนวนหน่วยกิตที่สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้
๑๙.๒.๑ หากเป็นรายวิชาที่เคยศึกษามาแล้วในระดับบัณฑิตศึกษา ให้เทียบโอนได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตรที่รับโอน ยกเว้นการเทียบวิชาระหว่างหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับหลักสูตรปริญญาโทที่มีเนื้อหาต่อยอดกัน สามารถเทียบได้ไม่เกินร้อยละ ๔๐ ของจำนวนหน่วยกิตรายวิชาทั้งหมด โดยวิชาที่ได้รับการเทียบจะได้รับการบันทึกอักษร ACC
๑๙.๒.๒ หากเป็นรายวิชาที่ไปศึกษาสถาบันอุดมศึกษาอื่นในหรือต่างประเทศ ด้วยตนเองให้เทียบโอนได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตรที่รับโอน
๑๙.๒.๓ หากเป็นรายวิชาที่ไปศึกษาสถาบันอุดมศึกษาอื่นในหรือต่างประเทศตามโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการของคณะหรือมหาวิทยาลัย ให้เทียบโอนได้ไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตรที่รับโอน
๑๙.๒.๔ การบันทึกผลการศึกษาสำหรับรายวิชาที่โอนหน่วยกิตตาม
ข้อ ๑๙.๒.๒ และข้อ ๑๙.๒.๓ ให้คณะเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้บันทึกอักษร ACC หรือให้นำผลการศึกษาทุกรายวิชามาคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสะสม ทั้งนี้แต่ละคณะจะต้องใช้ระบบการวัดผลและการบันทึกอักษรเป็นระบบเดียวกันทั้งคณะ
การจะเทียบหรือโอนหน่วยกิตโดยบันทึกอักษร ACC นั้น จะต้องเป็นรายวิชาที่นักศึกษาได้ค่าระดับไม่ต่ำกว่า B หรือเทียบเท่า
๑๙.๒.๕ การเทียบโอนรายวิชาตามข้อ ๑๙.๒.๑ และการโอนหน่วยกิตตามข้อ ๑๙.๒.๒ และข้อ ๑๙.๒.๓ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตรที่รับโอนหรือไม่เกินร้อยละ ๔๐ ของจำนวนหน่วยกิตรายวิชาทั้งหมด กรณีการเทียบวิชาระหว่างหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัย กับหลักสูตรปริญญาโทที่มีเนื้อหาต่อยอดกัน
๑๙.๓ การเทียบโอนหน่วยกิตให้นักศึกษาที่ถูกถอนชื่อจากทะเบียนนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาใดจะกระทำมิได้ ยกเว้นกรณีนักศึกษาระดับปริญญาโทและระดับปริญญาเอกที่ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาของมหาวิทยาลัย อันเนื่องมาจากครบระยะเวลาการศึกษา แต่มีผลการศึกษายังไม่ครบเงื่อนไขที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญา หน่วยกิตที่ได้สะสมไว้ทั้งหมดจะนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาในมหาวิทยาลัยต่อไปอีกได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตรที่รับโอน ทั้งนี้จะต้องสอบผ่านรายวิชานั้น ๆ และได้ค่าระดับวิชาดังกล่าวมาไม่ต่ำกว่า B หรือเทียบเท่า และรายวิชาที่ได้รับการยกเว้นให้บันทึกอักษร ACC (Accreditation)
หมวด ๗
การลาพักการศึกษา และการพักการศึกษา
ข้อ ๒๐ การลาพักการศึกษา และการพักการศึกษา
๒๐.๑ ในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควร นักศึกษาอาจยื่นคำร้องขอลาพักการศึกษาในภาคการศึกษาปกติภาคใดภาคหนึ่งได้ โดยได้รับอนุมัติจากคณบดี ตามคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา
และผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา
นักศึกษาจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพสำหรับภาคการศึกษา
ที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษา
๒๐.๒ การลาพักการศึกษาในระหว่างภาคการศึกษาให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่นักศึกษาขอลาพักการศึกษาภายในระยะเวลา ๑๔ วันแรกของภาคการศึกษาปกติหรือภายใน ๗ วันแรกของภาคฤดูร้อน ให้ลบรายวิชาที่ลงทะเบียนศึกษาไว้ทั้งหมดออกจากระเบียน
(๒) กรณีที่นักศึกษาขอลาพักการศึกษา เมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๑) แต่ยังอยู่ภายใน๑๐ สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาปกติ หรือยังอยู่ภายใน ๔ สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน ให้บันทึกอักษร W สำหรับรายวิชาที่ลงทะเบียนศึกษาในภาคนั้นทุกวิชาไว้ในระเบียน
(๓) การลาพักการศึกษาเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๒) จะกระทำได้ในกรณีที่มีความจำเป็นอันมิอาจคาดหมายได้ นักศึกษาหรือผู้แทนจะต้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่อคณบดีผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา หากคณบดีพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุจำเป็นจริงก็ให้เสนออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
เมื่ออธิการบดีอนุมัติให้ลาพักการศึกษาได้แล้ว ให้บันทึกอักษร W ไว้ในระเบียนของนักศึกษา
๒๐.๓ การลาพักการศึกษาติดต่อกันเกินกว่าสองภาคการศึกษาปกติจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุผลอันสมควร และได้รับอนุมัติจากอธิการบดีเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ไม่นับภาคฤดูร้อน
๒๐.๔ นักศึกษาที่ถูกลงโทษให้พักการศึกษา ตามข้อบังคับว่าด้วยวินัยนักศึกษาในภาคการศึกษาใด ให้บันทึกโทษนั้นไว้ในระเบียน ซึ่งจะปรากฏในใบแจ้งผลการศึกษาด้วย ในกรณีนี้ให้ถือว่านักศึกษาผู้นั้นไม่ได้รับค่าระดับหรือจำนวนหน่วยกิตใด ๆ ในภาคการศึกษานั้น
หากนักศึกษาถูกลงโทษให้พักการศึกษา ด้วยเหตุทุจริตในการสอบไล่ให้ถือว่าได้
ค่าระดับ F ในรายวิชาที่ทุจริตในการสอบไล่นั้น
ในกรณีที่ได้มีการประกาศคำสั่งของมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษาพักการศึกษาภายหลังวันลงทะเบียนศึกษารายวิชาของภาคถัดไป ให้ถือว่าการลงทะเบียนวิชาทั้งหมดเป็นโมฆะ ในกรณีนี้ มหาวิทยาลัยจะคืนเงินค่าลงทะเบียนศึกษารายวิชาให้เต็มจำนวน แต่นักศึกษาต้องเสียค่าธรรมเนียมเพื่อรักษาสถานภาพ
๒๐.๕ การลาพักการศึกษาไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ การถูกให้พักการศึกษาและการกลับเข้าศึกษาใหม่ ไม่เป็นเหตุให้ขยายระยะเวลาที่นักศึกษาต้องศึกษาให้สำเร็จ ตามหลักสูตรตามที่ได้ระบุไว้ในข้อ ๑๑
หมวด ๘
การสอบประมวลความรู้ การสอบวัดคุณสมบัติ และการสอบภาษาต่างประเทศ
ข้อ ๒๑ การสอบประมวลความรู้ (Comprehensive Examination) สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโท
๒๑.๑ นักศึกษาระดับปริญญาโทที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขในหลักสูตรที่จะสอบประมวลความรู้จะต้องยื่นความจำนงต่อคณะเพื่อขอสอบประมวลความรู้
๒๑.๒ การสอบประมวลความรู้อาจเป็นการสอบข้อเขียนหรือสอบปากเปล่าหรือทั้งสองอย่าง หลักเกณฑ์การสอบให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและหลักสูตรของแต่ละคณะ
๒๑.๓ คณะจะเปิดสอบประมวลความรู้ไม่เกินปีการศึกษาละ ๓ ครั้งโดยคณะจะแต่งตั้งกรรมการขึ้นสอบผลการสอบประมวลความรู้จะได้ P (ผ่าน)หรือ N (ไม่ผ่าน)
๒๑.๔ ในหลักสูตรสาขาวิชาใดที่กำหนดให้มีการสอบประมวลความรู้ นักศึกษาต้องสอบประมวลความรู้ให้ได้ระดับ P (ผ่าน) ภายใน ๓ ครั้ง มิฉะนั้นจะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
และผลการสอบทุกครั้งจะบันทึกไว้ในระเบียน
ข้อ ๒๒ การสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก
๒๒.๑ นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขในหลักสูตรที่จะสอบวัดคุณสมบัติจะต้องยื่นความจำนงต่อคณะเพื่อขอสอบวัดคุณสมบัติ
๒๒.๒ การสอบวัดคุณสมบัติจะประกอบด้วยการสอบข้อเขียนและสอบปากเปล่า หลักเกณฑ์การสอบให้เป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและหลักสูตรของแต่ละคณะ
๒๒.๓ นักศึกษาต้องสอบวัดคุณสมบัติให้ได้ระดับ P (ผ่าน) ภายใน ๓ ครั้ง มิฉะนั้น
จะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาและผลการสอบทุกครั้งจะบันทึกไว้ในระเบียน
ข้อ ๒๓ การสอบภาษาต่างประเทศ
๒๓.๑ นักศึกษาระดับปริญญาโทและระดับปริญญาเอก ต้องสอบภาษาต่างประเทศอย่างน้อยหนึ่งภาษาตามหลักสูตรที่คณะกำหนดล่วงหน้าไว้ โดยสอบให้ได้ระดับ P (ผ่าน) ก่อนการสอบวิทยานิพนธ์ สำหรับนักศึกษาต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นการสอบภาษาต่างประเทศดังกล่าว และให้ถือว่าได้
P (ผ่าน) ตั้งแต่เข้าศึกษา
๑. นักศึกษาต่างชาติที่ใช้ภาษาทางการเป็นภาษาเดียวกับภาษาที่หลักสูตรกำหนดให้สอบผ่านต้องสำเร็จการศึกษา
๒. นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่สอนโดยใช้ภาษาเดียวกับภาษาที่หลักสูตรกำหนดให้สอบผ่านก่อนสำเร็จการศึกษา ในระยะเวลาที่ไม่เกิน ๒ ปี นับจากวันที่สำเร็จการศึกษาถึงวันที่สมัครเข้าศึกษา
การสอบภาษาต่างประเทศตามหลักสูตรระดับปริญญาโท
๒๓.๒ หลักเกณฑ์การสอบภาษาต่างประเทศตามหลักสูตรระดับปริญญาโท ให้เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการสอบภาษาต่างประเทศสำหรับการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา
หากคะแนนภาษาต่างประเทศในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาของนักศึกษาผู้ใดอยู่ในระดับสูงจนเป็นที่พอใจของคณะกรรมการประจำหลักสูตร นักศึกษาผู้นั้นจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบภาษาต่างประเทศเพื่อสำเร็จการศึกษา
การสอบภาษาต่างประเทศตามหลักสูตรระดับปริญญาเอก
๒๓.๓ นักศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาเอก อาจขอสอบภาษาต่างประเทศได้ตั้งแต่ภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษา
๒๓.๔ การสอบภาษาต่างประเทศตามหลักสูตรระดับปริญญาเอกให้หมายความรวมถึงการสอบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
๒๓.๔.๑ การสอบภาษาต่างประเทศ ตามที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลที่เหมาะสมไม่น้อยกว่า ๓ คน โดยจะต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านภาษาเพื่อดำเนินการและควบคุมการสอบให้ได้มาตรฐาน
๒๓.๔.๒ ผลการสอบตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการสอบภาษาต่างประเทศสำหรับการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา
หากคะแนนภาษาต่างประเทศในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาของนักศึกษาผู้ใดอยู่ในระดับสูงจนเป็นที่พอใจของคณะกรรมการประจำหลักสูตร นักศึกษาผู้นั้นจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบภาษาต่างประเทศเพื่อสำเร็จการศึกษา เว้นแต่หลักสูตรจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
หมวด ๙
การทำวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ การค้นคว้าอิสระ
และการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ การค้นคว้าอิสระ
ข้อ ๒๔ การทำวิทยานิพนธ์
๒๔.๑ นักศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาโทแบบ ก ๑ ตามข้อ ๑๐.๔.๑
และนักศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาเอก แบบ ๑ ตามข้อ ๑๐.๕.๑ สามารถจะลงทะเบียนทำวิทยานิพนธ์ได้ตั้งแต่ภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษา
๒๔.๒ นักศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาโทแบบ ก ๒ ตามข้อ ๑๐.๔.๑
และนักศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาเอก แบบ ๒ ตามข้อ ๑๐.๕.๒ จะลงทะเบียนทำวิทยานิพนธ์ได้เมื่อมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ภาคการศึกษาปกติหรือมีหน่วยกิตสะสมได้น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต โดยได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ และมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขของหลักสูตร
(๒) ในกรณีที่หลักสูตรกำหนดให้มีการสอบประมวลความรู้ นักศึกษาต้องสอบประมวลความรู้ให้ได้ระดับ P (ผ่าน)
(๓) สำหรับนักศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาเอก นักศึกษาจะต้องสอบวัดคุณสมบัติให้ได้ระดับ P (ผ่าน)
๒๔.๓ การสอบวิทยานิพนธ์ ให้คณบดีแต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เพื่อ
ทำหน้าที่แนะนำการเขียนวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษา
เมื่อนักศึกษาจัดทำเค้าโครงวิทยานิพนธ์เสร็จแล้ว ให้คณบดีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ อย่างน้อย ๓ คน ในกรณีที่เป็นหลักสูตรระดับปริญญาโท และอย่างน้อย ๕ คน ในกรณีที่เป็นหลักสูตรระดับปริญญาเอก ซึ่งจะต้องประกอบด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์
เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เห็นว่านักศึกษาพร้อมที่จะเสนอวิทยานิพนธ์ ให้คณบดีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์จากบุคคลในวรรคก่อน
การแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ตามความในวรรคก่อนจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น
๒๔.๔ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
๒๔.๕ การสอบวิทยานิพนธ์ จะต้องมีกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ครบทุกคนจึงจะถือว่าการสอบนั้นมีผลสมบูรณ์ ถ้ากรรมการไม่ครบให้เลื่อนการสอบออกไป ในกรณีที่มีความจำเป็นอาจเปลี่ยนกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ใหม่หรือแต่งตั้งเพิ่มเติมได้
๒๔.๖ นักศึกษาต้องเสนอเค้าโครงวิทยานิพนธ์และโครงร่างวิทยานิพนธ์ต่อคณะตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยวิทยานิพนธ์
๒๔.๗ รูปแบบการเขียนวิทยานิพนธ์ให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ในหนังสือคู่มือการพิมพ์วิทยานิพนธ์ โดยให้ระบุปีการศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไว้ด้วย
๒๔.๘ การวัดผลวิทยานิพนธ์ให้แบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับ S (ใช้ได้) และระดับ U (ใช้ไม่ได้) โดยวิทยานิพนธ์ที่ได้รับระดับ S จะต้องได้มติเป็นเอกฉันท์จากกรรมการสอบ/คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์
ข้อ ๒๕ การทำสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ
๒๕.๑ นักศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาโท แผน ข ตามข้อ ๑๐.๔.๒ จะลงทะเบียนทำสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระได้เมื่อศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ภาคการศึกษาปกติโดยมีหน่วยกิตสะสมไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต โดยได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ และมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขของหลักสูตร
๒๕.๒ การสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ให้คณบดีแต่ตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ เพื่อทำหน้าที่แนะนำการเขียนสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระให้แก่นักศึกษา
เมื่อนักศึกษาจัดทำเค้าโครงสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระเสร็จแล้ว ให้คณบดีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ อย่างน้อย ๒ คน ซึ่งจะต้องประกอบด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย และ/หรือผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันสอบเค้าโครงสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ
เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระเห็นว่านักศึกษาพร้อมที่จะเสนอสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ให้คณบดีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระจากบุคคลในวรรคก่อน
การแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงกรรมการสอบสารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระตามความในวรรคก่อนจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น
๒๕.๓ อาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ และคณะกรรมการสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
๒๕.๔ การสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ จะต้องมีกรรมการสอบครบทุกคนจึงจะถือว่าการสอบนั้นมีผลสมบูรณ์ ถ้ากรรมการไม่ครบให้เลื่อนการสอบออกไป ในกรณีที่มีความจำเป็นอาจเปลี่ยนกรรมการสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระใหม่หรือแต่งตั้งเพิ่มเติมได้
๒๕.๕ นักศึกษาต้องเสนอเค้าโครงสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ และโครงร่างสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระต่อคณะตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนตามที่คณะกำหนดไว้
๒๕.๖ รูปแบบการเขียนสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ให้ใช้รูปแบบเดียวกับ
การเขียนวิทยานิพนธ์ หรือตามที่คณะกำหนด โดยให้ระบุปีการศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไว้ด้วย
๒๕.๗ การวัดผลสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ของหลักสูตรของแต่ละคณะ
ข้อ ๒๕/๑ การประเมินความก้าวหน้าในการทำวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ
(๑) ให้ประเมินความก้าวหน้าในการทำวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือ
การค้นคว้าอิสระของนักศึกษาทุกภาคการศึกษาที่มีการลงทะเบียน และรายงานผลการประเมินต่อคณบดี
และส่งผลการประเมินความก้าวหน้าให้สำนักทะเบียนและประมวลผลบันทึกไว้ในระเบียน โดยผู้มีหน้าที่ใน
การประเมิน ได้แก่ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ
ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นคณบดีอาจแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ประเมินร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาก็ได้
(๒) ผลการประเมินความก้าวหน้า มี ๔ ระดับ ให้ประเมินด้วยสัญลักษณ์ “NP” หรือ “U”/ “F” หรือ “SP” หรือ “S” ซึ่งมีความหมายดังนี้
“NP” (No Progress) หมายถึง ไม่มีความก้าวหน้า จำนวนหน่วยกิตที่ได้มีค่าเป็น ๐ (ศูนย์)
“U” (Unsatisfactory) หมายถึง นักศึกษาได้รับหน่วยกิตครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดในหลักสูตร แต่ผลการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ คือ “ใช้ไม่ได้”
“F” (Failure) หมายถึง นักศึกษาได้รับหน่วยกิตครบตามจำนวนหน่วยกิต
ที่กำหนดในหลักสูตรที่มีเกณฑ์การประเมินเป็นค่าระดับคะแนน แต่ผลการสอบสารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ คือ“สอบตก”
“SP” (Satisfactory and Progress) หมายถึง มีความก้าวหน้า โดยระบุจำนวนหน่วยกิตของนักศึกษาแต่ละคนตามความก้าวหน้าของผลงานในแต่ละภาคการศึกษา แต่ไม่เกินจำนวนหน่วยกิตที่ลงทะเบียน
“S” (Satisfactory) หมายถึง นักศึกษาได้รับหน่วยกิตครบตามจำนวน หน่วยกิตที่กำหนดในหลักสูตร และผลการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ คือ “ใช้ได้”
(๓) เกณฑ์การประเมินความก้าวหน้าในการทำวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ เพื่อให้ค่าหน่วยกิตของความก้าวหน้าเป็นไปตามประกาศของแต่ละคณะ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ต้องประกาศให้นักศึกษาทราบล่วงหน้า
(๔) นักศึกษาที่ลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระแล้ว ได้รับ
การประเมินผลความก้าวหน้าเป็น NP คณะกรรมการสอบ ต้องพิจารณาหาสาเหตุ ซึ่งอาจให้นักศึกษาผู้นั้นได้รับการพิจารณาให้เปลี่ยนหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ หรือเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา หรืออื่น ๆ แล้วแต่กรณี และต้องรายงานสาเหตุและผลการพิจารณาต่อคณบดีเพื่อหาข้อยุติ
(๕) กรณีที่นักศึกษาได้รับผลการประเมินความก้าวหน้าเป็น NP ติดต่อกันสองครั้ง
ในการลงทะเบียนครั้งต่อไปจะต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษา ในกรณีที่มีการลาพักการศึกษาคั่นกลางให้ถือว่าการได้สัญลักษณ์ NP สองครั้งนั้นเป็นการได้สัญลักษณ์ NP สองครั้งติดต่อกัน
(๖) กรณีที่นักศึกษาได้รับผลการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระเป็นสัญลักษณ์ “U” หรือ “F” นักศึกษาผู้นั้นจะถูกถอนชื่อ (Dismissed) ออกจากทะเบียนนักศึกษา
ในกรณีที่เห็นสมควรอธิการบดีอาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการประเมินความก้าวหน้า โดยทำเป็นประกาศของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๖ ลิขสิทธิ์วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ เป็นของมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๐
การพ้นสภาพนักศึกษา
ข้อ ๒๗ การพ้นสภาพนักศึกษา
การพ้นสภาพนักศึกษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
๒๗.๑ ได้รับอนุมัติปริญญา
๒๗.๒ ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นนักศึกษา
๒๗.๓ ลาออก นักศึกษาผู้ใดประสงค์จะลาออกจากสถานภาพนักศึกษา ให้ยื่นคำร้องแสดงเหตุผลต่ออาจารย์ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา เพื่อเสนอให้คณบดีพิจารณาอนุมัติต่อไป
๒๗.๔ ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาการศึกษาที่กำหนดไว้ในแต่ละหลักสูตรตามข้อ ๑๑
๒๗.๕ ถูกให้ออกหรือไล่ออกเนื่องจากความผิดทางวินัย
๒๗.๖ ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา ในกรณีต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
๒๗.๗ ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา ในกรณีต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
๒๗.๘ ตาย
หมวด ๑๑
การสำเร็จการศึกษา
ข้อ ๒๘ เกณฑ์การสำเร็จการศึกษา นักศึกษาจะต้องปฏิบัติ ดังนี้
๒๘.๑ ประกาศนียบัตรบัณฑิต
๒๘.๑.๑ ต้องศึกษาครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
๒๘.๑.๒ ต้องได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐
๒๘.๑.๓ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกำหนด
๒๘.๑.๔ ชำระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
๒๘.๒ ปริญญาโท
๒๘.๒.๑ แผน ก แบบ ก ๑
(๑) เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่คณะแต่งตั้ง
(๒) ต้องได้ระดับ P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามเกณฑ์เดียวกับที่กำหนดในข้อ ๒๓.๑ ทุกกรณี
(๓) ต้องได้ระดับ S ในการสอบวิทยานิพนธ์ และนำส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ ตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ
(๔) ผลงานวิทยานิพนธ์จะต้องได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ หรือเสนอต่อที่ประชุมวิชาการที่มีรายงานการประชุม (Proceeding)
(๕) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกำหนด
(๖) ชำระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
๒๘.๒.๒ แผน ก แบบ ก ๒
(๑) ต้องศึกษารายวิชาครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
(๒) ต้องได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐
(๓) สอบผ่านการสอบประมวลความรู้ (Comprehensive Examination) (ถ้ามี)
(๔) เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่คณะแต่งตั้ง
(๕) ต้องได้ระดับ P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามหลักเกณฑ์เดียวกับที่กำหนดในข้อ ๒๓.๑ ทุกกรณี
(๖) ต้องได้ระดับ S ในการสอบวิทยานิพนธ์ และนำส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ ตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ
(๗) ผลงานวิทยานิพนธ์จะต้องได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ หรือเสนอต่อที่ประชุมวิชาการที่มีรายงานการประชุม (Proceeding)
(๘) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกำหนด
(๙) ชำระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
๒๘.๒.๓ แผน ข
(๑) ต้องศึกษารายวิชาครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
(๒) ต้องได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐
(๓) สอบผ่านการสอบประมวลความรู้ (Comprehensive Examination)
(๔) เสนอสารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่คณะแต่งตั้ง
(๕) ต้องได้ระดับ P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามเกณฑ์เดียวกับ
ที่กำหนดในข้อ ๒๓.๑ ทุกกรณี
(๖) นักศึกษาต้องส่งบทความสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระให้คณะเพื่อพิจารณาส่งไปตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ หรือเสนอต่อที่ประชุมวิชาการที่มีรายงานการประชุม (Proceeding)
(๗) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกำหนด
(๘) ชำระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
๒๘.๓ ปริญญาเอก
๒๘.๓.๑ แบบ ๑
(๑) สอบผ่านการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) เพื่อเป็นผู้มีสิทธิขอทำวิทยานิพนธ์ เสนอวิทยานิพนธ์
(๒) เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่คณะแต่งตั้ง
(๓) ต้องได้ระดับ P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามเกณฑ์เดียวกับที่กำหนดในข้อ ๒๓.๑ ทุกกรณี
(๔) ต้องได้ระดับ S ในการสอบวิทยานิพนธ์ และนำส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ ตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ
(๕) ผลงานวิทยานิพนธ์จะต้องได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการที่มีกรรมการภายนอกมาร่วมกลั่นกรอง (Peer Review) ก่อนการตีพิมพ์ และเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น
(๖) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกำหนด
(๗) ชำระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
๒๘.๓.๒ แบบ ๒
(๑) ต้องศึกษารายวิชาครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
(๒) ต้องได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐
(๓) สอบผ่านการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) เพื่อเป็นผู้มีสิทธิขอทำวิทยานิพนธ์ เสนอวิทยานิพนธ์
(๔) เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่คณะแต่งตั้ง
(๕) ต้องได้ระดับ P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามเกณฑ์เดียวกับที่กำหนดในข้อ ๒๓.๑ ทุกกรณี
(๖) ต้องได้ระดับ S ในการสอบวิทยานิพนธ์ และนำส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ ตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ
(๗) ผลงานวิทยานิพนธ์จะต้องได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการที่มีกรรมการภายนอกมาร่วมกลั่นกรอง (Peer Review) ก่อนการตีพิมพ์ และเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น
(๘) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกำหนด
(๙) ชำระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
๒๘.๔ เมื่อสิ้นภาคการศึกษาภาคหนึ่ง ๆ มหาวิทยาลัยจะเสนอชื่อนักศึกษาที่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับประกาศนียบัตรหรือปริญญาในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อขออนุมัติประกาศนียบัตรหรือปริญญาจากสภามหาวิทยาลัย
สำหรับภาคการศึกษาที่คาดว่าจะเป็นภาคสุดท้ายที่จะสำเร็จการศึกษา ให้นักศึกษาทำหนังสือยื่นต่อมหาวิทยาลัยภายใน ๓๐ วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา เพื่อขอให้มหาวิทยาลัยเสนอชื่อนักศึกษาและขออนุมัติประกาศนียบัตรหรือปริญญาต่อสภามหาวิทยาลัย เมื่อเสร็จสิ้นภาคการศึกษานั้น ผู้ที่มิได้ยื่นหนังสือดังกล่าวอาจจะได้รับการพิจารณาเสนอชื่อในภาคการศึกษาถัดไปก็ได้
ข้อ ๒๙ ผู้รักษาการตามข้อบังคับ
ให้อธิการบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือการอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติการตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๓๐ บทเฉพาะกาล
การดำเนินการใด ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ และยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จในขณะที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการหรือปฏิบัติการต่อไป ตามข้อบังคับที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓
(ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล)
นายกสภามหาวิทยาลัย
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๕
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๖
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๗
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๘
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๙
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
งานพัฒนาหลักสูตรฯ กองบริการการวิชาการ/ผู้จัดทำ