ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๔๐
(แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๕)
______________________
โดยที่เป็นการสมควรให้มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๔๐
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘(๒) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๓๑ สภามหาวิทยาลัย จึงตราข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๔๐”
ข้อ ๒ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แก่นักศึกษาทุกคนตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรีของคณะต่าง ๆ ตั้งแต่
ปีการศึกษา ๒๕๔๐ เป็นต้นไป เว้นแต่ในเรื่องใดที่มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีไว้เป็นการเฉพาะของแต่ละคน ก็ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของคณะนั้น ๆ
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี
พ.ศ. ๒๕๑๔ พร้อมทั้งฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับและให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
ข้อ ๔ บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งหรือประกาศอื่นใดที่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
ข้อ ๕ ในข้อบังคับนี้
“คณะ” ให้หมายความรวมถึงแผนกอิสระและหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี
“คณบดี” ให้หมายความรวมถึงหัวหน้าแผนกอิสระและหัวหน้าหน่วยงานของมหาวิทยาลัย
ที่จัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี
“คณะกรรมการประจำคณะ” ให้หมายความรวมถึงคณะกรรมการประจำแผนกอิสระ
และคณะกรรมการประจำหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี
“ภาควิชา” ให้หมายความรวมถึงสาขาวิชา
“สถาบันอุดมศึกษา” ให้หมายความรวมถึง สถาบันการศึกษาที่สภามหาวิทยาลัยรับรองให้มีสถานะเทียบเท่าสถาบันอุดมศึกษา
ข้อ ๖ ระบบการศึกษา
๖.๑ มหาวิทยาลัยอำนวยการศึกษาด้วยวิธีประสานงานด้านวิชาการระหว่างคณะ
หรือภาควิชาต่าง ๆ คณะใดหรือภาควิชาใดมีหน้าที่เกี่ยวกับวิชาการด้านใด ก็จะอำนวยการศึกษาในวิชาการด้านนั้นแก่นักศึกษาทุกคนทั้งมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยส่งเสริมให้นักศึกษาต่างคณะ / ภาควิชาศึกษาร่วมกันในรายวิชาเดียวกัน
๖.๒ การศึกษาในมหาวิทยาลัยใช้ระบบทวิภาค โดยแบ่งเวลาการศึกษาในปีหนึ่ง ๆ เป็นสองภาคการศึกษาปกติ ซึ่งเป็นภาคการศึกษาที่บังคับ คือ ภาคหนึ่งและภาคสอง ภาคการศึกษาหนึ่ง ๆ
มีระยะเวลาสิบหกสัปดาห์และอาจเปิดภาคฤดูร้อนได้ โดยใช้เวลาการศึกษาไม่น้อยกว่าหกสัปดาห์ แต่ให้เพิ่มชั่วโมงการศึกษาในแต่ละรายให้เท่ากับภาคการศึกษาปกติด้วย
๖.๓ ภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดสอนในมหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็นรายวิชา รายวิชาหนึ่ง ๆ กำหนดปริมาณการศึกษาเป็นจำนวน “หน่วยกิต” และทำการสอนรายวิชาหนึ่ง ๆ ในเวลาหนึ่งภาคการศึกษา
คำว่า “หน่วยกิต” หมายถึงหน่วยที่แสดงปริมาณการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยอำนวยให้แก่นักศึกษาตามปกติ หนึ่งหน่วยกิตหมายถึงการบรรยาย ๑ ชั่วโมงหรือการปฏิบัติการหรือการปฏิบัติทดลองไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมงหรือการฝึกงานไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ต่อภาคการศึกษาปกติ ส่วนการสอนแบบอื่น ๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกำหนด
๖.๔ รายวิชาหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยอักษรย่อของสาขาวิชา เลขรหัสประจำรายวิชาชื่อเต็มของรายวิชาจำนวนหน่วยกิตและสาระสำคัญที่จะสอนรายวิชานั้น ๆ
มหาวิทยาลัยอาจกำหนดเงื่อนไขที่นักศึกษาจะศึกษารายวิชาใดวิชาหนึ่งก็ได้
๖.๕ ในกรณีที่ใช้วิธีศึกษาในชั้นเรียน นักศึกษาต้องมีเวลาศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดสิบของเวลาศึกษาทั้งหมดในชั้นเรียนในแต่ละรายวิชาหรือได้ทำงานในรายวิชานั้นจนเป็นที่เพียงพอตามที่ผู้สอนกำหนด จึงจะมีสิทธิเข้าสอบไล่รายวิชานั้น เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากคณบดีเป็นกรณีพิเศษ เมื่อคณบดีเห็นว่าการศึกษาที่ไม่ครบกำหนดนั้นเนื่องมาจากเหตุอันจะโทษนักศึกษาผู้นั้นมิได้
นักศึกษาที่มีเวลาศึกษารายวิชาใดไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในวรรคแรกและมิได้รับอนุมัติจากคณบดีให้เข้าสอบไล่ในรายวิชานั้น ให้ถือว่าสอบตกในรายวิชานั้น
๖.๖ เมื่อได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาในภาคการศึกษาปกติมาครบเจ็ดปีการศึกษา นักศึกษาผู้ใดมีผลการศึกษายังไม่เพียงพอที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญาตรีตามข้อบังคับนี้ นักศึกษา
ผู้นั้นจะต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๗ คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นนักศึกษา
๗.๑ ต้องไม่เป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง โรคที่สังคมรังเกียจหรือโรคสำคัญที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการศึกษา
๗.๒ ต้องไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
๗.๓ ต้องไม่มีชื่อในทะเบียนนักศึกษาหรือนิสิตของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นในประเทศไทย
๗.๔ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรืออาชีวศึกษาชั้นสูง
หรือ ประกาศนียบัตร หรือเทียบเท่า
(๒) สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(๓) สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยอื่น
หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นในประเทศหรือ ต่างประเทศ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง
(๔) มีคุณสมบัติตามที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้เป็นกรณีพิเศษ
ข้อ ๘ การคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษา
การคัดเลือกผู้สมัครเข้าเป็นนักศึกษา ให้เป็นไปตามระเบียบการคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษา
ในสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัย หรือการคัดเลือกตามวิธีการที่มหาวิทยาลัยกำหนดโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย
สำหรับผู้ที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้เข้าศึกษาได้เป็นกรณีพิเศษ สภามหาวิทยาลัยจะกำหนดให้ยกเว้นการคัดเลือกดังกล่าวในวรรคแรก แต่จะให้มีการสอบคุณวุฒิอย่างอื่นแทนก็ได้
ข้อ ๙ การขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
๙.๑ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาได้จะมีสถานภาพเป็นนักศึกษาเมื่อได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
๙.๒ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาได้ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาด้วยตนเอง ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด พร้อมทั้งชำระเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาได้จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาภายในสิบสี่วันนับจากวันเปิดภาคการศึกษา เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและได้รับอนุมัติจากอธิการบดี
ข้อ ๑๐ การจดทะเบียนศึกษารายวิชา
๑๐.๑ มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการจดทะเบียนศึกษารายวิชา สำหรับแต่ละภาคการศึกษาให้เสร็จสิ้นก่อนวันเปิดภาคการศึกษานั้น ๆ
๑๐.๒ ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร มหาวิทยาลัยอาจจำกัดจำนวนนักศึกษาที่จดทะเบียนศึกษาในรายวิชาใดวิชาหนึ่งก็ได้
๑๐.๓ การประกาศเปิดวิชาเพิ่มหรือปิดรายวิชาใดที่มีนักศึกษาจดทะเบียนแล้ว จะต้องกระทำภายในเจ็ดวันทำการแรกนับแต่วันเปิดภาคเรียนการศึกษาปกติ หรือสี่วันทำการแรกนับจากวันเปิดภาคฤดูร้อน
๑๐.๔ การจดทะเบียนรายวิชา ซึ่งรวมทั้งการเพิ่ม-ถอนแล้วให้กระทำได้ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
ในแต่ละภาคการศึกษาปกติ นักศึกษาต้องจดทะเบียนศึกษารายวิชาไม่ต่ำกว่า ๙ หน่วยกิต และไม่เกิน ๒๒ หน่วยกิต
การจดทะเบียนศึกษารายวิชาต่ำกว่าจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในวรรคสองจะกระทำได้เฉพาะแต่ในกรณีเจ็บป่วยและได้รับอนุมัติจากคณบดี หรือในกรณีที่คาดว่าจะเป็นภาคสุดท้ายของการศึกษารายวิชาของนักศึกษาผู้นั้น เท่านั้น
การจดทะเบียนศึกษารายวิชาสูงกว่าจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในวรรคสองจะกระทำได้เฉพาะแต่ในกรณีที่เป็นนักศึกษาที่มีฐานะชั้นปีที่ ๔ โดยได้รับอนุมัติจากอธิการบดี
สำหรับการศึกษาภาคฤดูร้อน นักศึกษาอาจจดทะเบียนศึกษารายวิชาได้ไม่เกิน ๖ หน่วยกิต การจดทะเบียนศึกษาภาคฤดูร้อนเกินกว่า ๖ หน่วยกิต แต่ไม่เกิน ๙ หน่วยกิต จะกระทำได้เฉพาะกรณีเป็นนักศึกษาที่คาดว่าจะจบการศึกษาได้ในภาคการเรียนศึกษานั้นและได้รับอนุมัติจากคณบดี
ไม่ว่านักศึกษาจะจดทะเบียนในปีการศึกษาใด การกำหนดจำนวนหน่วยกิตในการจดทะเบียนดังกล่าวข้างต้น ให้รวมถึงวิชาเสริมหลักสูตรพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยไม่นับหน่วยกิตให้ โดยถือเสมือนว่าวิชาเสริมหลักสูตรพื้นฐานมีหน่วยกิตตามกำหนด
นักศึกษาที่อยู่ในสังกัดคณะใด จะต้องจดทะเบียนรายวิชาในคณะที่ตนสังกัดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งในทุกภาคการศึกษา ยกเว้นนักศึกษาที่อยู่ในภาวะรอพินิจ หรือนักศึกษาที่ได้ศึกษาวิชาเอกครบถ้วนแล้ว หรือจะครบหลักสูตรในภาคการศึกษานั้น หรือเพราะเหตุอื่นซึ่งได้รับอนุมัติจากคณบดีเป็นกรณีพิเศษ
๑๐.๕ นักศึกษาต้องจดทะเบียนศึกษารายวิชาด้วยตนเอง ตามวัน เวลาและสถานที่ที่กำหนดพร้อมทั้งชำระเงินค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ฯ เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจจดทะเบียนด้วยตนเองได้ อาจมอบหมายให้ผู้อื่นมาจดทะเบียนแทนได้โดยได้รับอนุมัติจากคณบดีเป็นกรณีพิเศษ
หากนักศึกษามีหนี้สินใด ๆ กับมหาวิทยาลัย จะต้องชำระให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะมีสิทธิจดทะเบียนศึกษารายวิชาได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมายเป็นราย ๆ ไป
มหาวิทยาลัยจะไม่อนุมัติให้นักศึกษาจดทะเบียนศึกษารายวิชาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาสิบสี่นับแต่วันเปิดภาคการศึกษาปกติหรือสามวันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นและได้รับอนุมัติจากคณบดี หรือกรณีนักศึกษาไม่สามารถจดทะเบียนศึกษารายวิชาภายในกำหนดเวลา เนื่องจากอยู่ในระหว่างได้รับทุนไปศึกษาต่างประเทศ ให้นักศึกษาผู้นั้นมาจดทะเบียนศึกษารายวิชาด้วยตนเองภายในสี่สัปดาห์นับจากวันเปิดภาคการศึกษาปกติ
๑๐.๖ นักศึกษาแต่ละคนจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้แนะนำการวางแผนการศึกษาและในการจดทะเบียนศึกษารายวิชาทุกครั้งต้องให้อาจารย์ที่ปรึกษาลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
๑๐.๗ นักศึกษาที่ไม่จดทะเบียนศึกษารายวิชาตามวันที่มหาวิทยาลัยกำหนด ไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษาปกติหรือภาคฤดูร้อน จะต้องชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนล่าช้าเป็นรายวัน ทั้งนี้ไม่นับวันหยุดราชการ
อัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนล่าช้าต่อวัน ให้เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยอัตรา ค่าธรรมเนียมการศึกษาชั้นปริญญาตรี
๑๐.๘ ในภาคการศึกษาปกติใด หากนักศึกษาไม่จดทะเบียนศึกษารายวิชาด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามจะต้องขอลาพักการศึกษาสำหรับภาคการศึกษานั้น โดยยื่นคำร้องเป็นหนังสือขออนุมัติต่อคณบดี
และจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพนักศึกษาภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา มิฉะนั้นจะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
๑๐.๙ อธิการบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาที่ถูกถอนชื่อจากทะเบียนนักศึกษาตามข้อ ๑๐.๘ กลับเข้าเป็นนักศึกษาใหม่ได้เมื่อมีเหตุผลอันสมควร โดยให้ถือว่าระหว่างเวลาตั้งแต่ถูกถอนชื่อจนถึงเวลาที่ได้รับอนุมัติกลับเข้าเป็นนักศึกษาเป็นระยะเวลาลาพักการศึกษา ในกรณีเช่นนี้นักศึกษาจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพนักศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ค้างชำระด้วย
อธิการบดีไม่อาจอนุมัติให้กลับเข้าเป็นนักศึกษาอีกตามวรรคแรก เมื่อพ้นกำหนดเวลาสองปีนับจากวันที่นักศึกษาผู้นั้นถูกถอนชื่อจากทะเบียนนักศึกษา
๑๐.๑๐ ในกรณีที่มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษา หรือมีข้อตกลงเฉพาะรายหรือกรณีที่นักศึกษาได้รับความเห็นชอบจากคณบดีคณะที่ตนสังกัด อธิการบดีอาจพิจารณาอนุมัติให้นักศึกษาจดทะเบียนศึกษารายวิชาที่เปิดสอนในสถาบันอุดมศึกษาอื่นแทนการจดทะเบียนศึกษารายวิชาตามข้อ ๑๐.๔ ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้
๑๐.๑๑ ในกรณีที่มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษา หรือมีข้อตกลงเฉพาะรายหรือกรณีที่นักศึกษาได้รับความเห็นชอบจากคณบดีคณะที่รับผิดชอบสอนรายวิชานั้น ๆ อธิการบดีอาจพิจารณาอนุมัติให้นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นจดทะเบียนศึกษารายวิชา ที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ ทั้งนี้ โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนศึกษารายวิชาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
๑๐.๑๒ ให้อธิการบดีมีอำนาจพิจารณาเรื่องการจดทะเบียนศึกษารายวิชา ซึ่งเกินกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เฉพาะกรณีที่มีเหตุอันควร อันเนื่องมาจากการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๑ การเพิ่มและการถอนรายวิชา
๑๑.๑ การขอเพิ่มรายวิชาจะกระทำได้ภายในสิบสี่วันแรกของภาคการศึกษาปกติ
หรือภายในเจ็ดวันแรกของภาคฤดูร้อน โดยได้รับอนุมัติจากผู้สอนและอาจารย์ที่ปรึกษา
การขอเพิ่มรายวิชาเมื่อพ้นระยะเวลาตามวรรคแรกจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุผลสมควรและได้รับอนุมัติจากคณบดี
๑๑.๒ การขอถอนรายวิชาต้องได้รับอนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษา และให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่นักศึกษาขอถอนรายวิชาภายในสิบสี่วันแรกของภาคการศึกษาปกติหรือภายในเจ็ดวันแรกของภาคฤดูร้อนให้ลบรายวิชาที่ถอนนั้นออกจากระเบียน
(๒) กรณีที่นักศึกษาขอถอนรายวิชาเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๑) แต่ยังอยู่ภายในสิบสัปดาห์แรกจอวภาคการศึกษาปกติหรือยังอยู่ภายในสี่สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน ให้บันทึกอักษร W สำหรับรายวิชาที่ถอนนั้นในระเบียน
(๓) การถอนรายวิชาเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๒) จะกระทำมิได้เว้นแต่จะมีเหตุผลอันสมควรและได้รับอนุมัติจากคณบดี ในกรณีเช่นว่านี้ให้บันทึกอักษร W สำหรับรายวิชาที่ถอนนั้นในระเบียน
๑๑.๓ นักศึกษาจะขอถอนรายวิชาจนเหลือจำนวนหน่วยกิตต่ำกว่าเก้าหน่วยกิตในการศึกษาภาคการศึกษาปกติไม่ได้เว้นแต่มีเหตุผลอันสมควรและได้รับอนุมัติจากคณบดี ทั้งนี้ให้นับ
หน่วยกิตของรายวิชาที่จดทะเบียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อื่นที่ได้รับอนุมัติตามข้อ ๑๐.๑๐ รวมเข้าในหน่วยกิตดังกล่าวด้วย
๑๑.๔ ให้อธิการบดีมีอำนาจพิจารณาเรื่องการเพิ่มและถอนรายวิชาซึ่งเกินกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เฉพาะกรณีที่มีเหตุอันควร เนื่องมาจากการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๒ การวัดผลการศึกษา
๑๒.๑ มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการวัดผลการศึกษาสำหรับรายวิชาที่นักศึกษาจดทะเบียนไว้ในภาคการศึกษาหนึ่ง ๆ
การวัดผลการศึกษาอาจกระทำได้ระหว่างภาคการศึกษา ด้วยวิธีรายงานจากหนังสือที่กำหนดให้อ่านงานที่แบ่งกันทำเป็นหมู่คณะการทดสอบระหว่างภาค การเขียนสารนิพนธ์ประจำรายวิชาหรืออื่น ๆ และเมื่อสิ้นภาคการศึกษาจะมีการสอบไล่สำหรับแต่ละรายวิชาที่ศึกษาในภาคนั้น
รายวิชาใดที่ไม่มีการสอบไล่เมื่อสิ้นภาคการศึกษา คณบดีจะประกาศให้ทราบ
ในบางกรณี มหาวิทยาลัยอาจใช้วิธีทดสอบเทียบความรู้แทนการวัดผลการศึกษาตามความในวรรคแรกก็ได้
๑๒.๒ การวัดผลการศึกษาแบ่งเป็น ๘ ระดับ มีชื่อและค่าระดับต่อหนึ่งหน่วยกิตดังนี้
ระดับ A B+ B C+ C D+ D F
ค่าระดับ ๔.๐๐ ๓.๕ ๓.๐ ๒.๕ ๒.๐ ๑.๕ ๑.๐ ๐
รายวิชาที่นักศึกษาได้ค่าระดับไม่ว่าค่าระดับใดตามวรรคแรกและไม่ว่าจะเป็นรายวิชาบังคับหรือรายวิชาเลือก ให้นำมาคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสำหรับภาคและค่าระดับเฉลี่ยสะสมทุกครั้งไป
ในกรณีที่นักศึกษาจดทะเบียนศึกษารายวิชาภาคฤดูร้อน ให้ถือว่าผลการศึกษาฤดูร้อนเป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาในภาคสอง และให้นำค่าระดับของทุกรายวิชาที่ศึกษาไปคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสำหรับภาครวมกับค่าระดับของรายวิชาที่ศึกษาในภาคสองและให้ถือว่าเป็นค่าระดับเฉลี่ยสำหรับภาคสอง อย่างไรก็ดี หากนักศึกษาถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาเนื่องจากผลการศึกษาในภาคสอง ให้การจดทะเบียนศึกษารายวิชาในภาคฤดูร้อนนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
๑๒.๓ ในบางกรณีแต่ละหลักสูตรอาจกำหนดให้วัดผลการศึกษาบางรายวิชาเป็น
๒ ระดับ คือ ระดับใช้ได้ (S) และระดับยังใช้ไม่ได้ (U)
ระดับใช้ได้ (S) และระดับยังใช้ไม่ได้ (U) ไม่มีค่าระดับและหน่วยกิตที่ได้ จะไม่นำมาคำนวณค่าระดับเฉลี่ย
๑๒.๔ การใช้วิธีทดสอบเทียบความรู้แทนการวัดผลการศึกษา ตามปกติมหาวิทยาลัยอาจยกเว้นให้นักศึกษาไม่ต้องศึกษาบางรายวิชาโดยนักศึกษาอาจได้หน่วยกิตสำหรับรายวิชาดังกล่าว ในกรณีได้หน่วยกิตให้บันทึกอักษร ACC (Accreditation) ไว้ในระเบียน แต่ในกรณีไม่ได้หน่วยกิตให้บันทึกอักษร EXE (Exempted) ไว้ในระเบียน อักษร ACC และ EXE ดังกล่าวไม่มีค่าระดับและหน่วยกิตที่ได้ไม่ให้นำไปคำนวณค่าระดับเฉลี่ย
๑๒.๕ ในกรณีที่การวัดผลการศึกษากระทำได้ไม่สมบูรณ์ในรายวิชาใดโดยไม่ใช่ความผิดของนักศึกษาให้บันทึกอักษร I ไว้ในระเบียนแทนการวัดผลการศึกษาเป็นการชั่วคราวแต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้
ก. สารนิพนธ์ยังไม่เสร็จ ทั้งนี้ต้องเป็นสารนิพนธ์สำหรับรายวิชาระดับ ๔๐๐ ขึ้นไป และต้องเป็นสารนิพนธ์ในภาคการศึกษาปกติมิใช่ภาคฤดูร้อน
ข. การฝึกงานภาคสนามตามหลักสูตรยังไม่ครบถ้วน ทั้งนี้ ต้องเป็นการฝึกงานใน
ภาคปกติเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการฝึกงานในภาคฤดูร้อนจะต้องเป็นการฝึกงานที่มิอาจกระทำได้ในภาคการศึกษาปกติ
กรณีต่อไปนี้ไม่ให้มีการบันทึกอักษร I
ก. การขาดสอบไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
ข. การส่งรายงานประจำภาคล่าช้ากว่ากำหนด
ในกรณีที่นักศึกษาได้อักษร I ในรายวิชาใด จะต้องมีการวัดผลการศึกษาในรายวิชานั้นภายในแปดสิบวันนับแต่วันปิดภาคการศึกษาหากไม่สามารถวัดผลการศึกษาอย่างสมบูรณ์ได้ให้ผู้สอนกำหนดระดับการวัดผลการศึกษารายวิชานั้นจากคะแนนสอบ และ/หรือคะแนนจากการวัดผลการศึกษาโดยวิธีอื่นตาม
ข้อ ๑๒.๑ เท่าที่มีอยู่ โดยถือว่าคะแนนของรายงานการค้นคว้าหรือสารนิพนธ์หรือการฝึกภาคสนามที่ยังขาดอยู่นั้นเป็นศูนย์
เมื่อพ้นกำหนดเวลาในวรรคสามแล้ว ผู้สอนยังไม่ส่งระดับการวัดผลการศึกษาให้คณะ/แผนกอิสระพิจารณากำหนดระดับวัดผลการศึกษารายวิชานั้นส่งให้มหาวิทยาลัยโดยมิชักช้า แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินเก้าสิบวัน นับแต่วันปิดภาคการศึกษา
ในกรณีที่คณะไม่ปฏิบัติตามในวรรคก่อน ให้บันทึกอักษร W ไว้ในระเบียนสำหรับรายวิชาดังกล่าว
๑๒.๖ นักศึกษาที่ได้ค่าระดับตั้งแต่ ๑.๐ ขึ้นไป หรือสอบได้ระดับใช้ได้ (S) ในรายวิชาใดไม่มีสิทธิจดทะเบียนศึกษารายวิชานั้นอีกเว้นแต่จะเป็นรายวิชาซึ่งตามหลักสูตรกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
๑๒.๗ รายวิชาที่ได้ระดับ F หรือระดับยังใช้ไม่ได้ (U) นั้นหากเป็นรายวิชาบังคับในหลักสูตรนักศึกษาต้องจดทะเบียนศึกษารายวิชานั้นจนกว่าจะได้ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้
รายวิชาที่ได้ระดับ F หรือระดับยังใช้ไม่ได้ (U) นั้น หากเป็นรายวิชาเลือกในหลักสูตร นักศึกษาอาจจดทะเบียนศึกษาซ้ำในรายวิชานั้น หรืออาจจดทะเบียนศึกษารายวิชาอื่นแทนก็ได้
๑๒.๘ การนับจำนวนหน่วยกิตที่ได้ให้นับเฉพาะหน่วยกิตของรายวิชาที่นักศึกษาได้ระดับตั้งแต่ D ขึ้นไป ระดับใช้ได้ (S) หรือระดับ ACC เท่านั้น
ในกรณีที่นักศึกษาต้องศึกษารายวิชาใดซ้ำหรือแทนกันตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ ให้นับจำนวนหน่วยกิตของรายวิชานั้นได้เพียงครั้งเดียว
๑๒.๙ ในกรณีที่นักศึกษาจดทะเบียนรายวิชาที่ได้ระบุไว้ว่าเป็นรายวิชาที่เทียบเท่ากัน ซึ่งหลักสูตรไม่อาจอนุญาตให้ศึกษาซ้ำ ให้นับหน่วยกิตและค่าระดับของรายวิชาที่ได้ก่อนเท่านั้นเป็นหน่วยกิตสะสมและค่าระดับเฉลี่ยสะสม เว้นแต่หลักสูตรจะกำหนดให้เป็นพื้นฐานความรู้ของรายวิชาอื่น ๆ ในระดับสูงขึ้นไป ในกรณีเช่นนี้ให้บันทึกอักษร ACK (Acknowledge) ไว้เป็นการชั่วคราว และยังไม่นับหน่วยกิตให้จนกว่าจะศึกษารายวิชาในระดับสูงขึ้นไป จึงจะเปลี่ยนอักษร ACK ให้เป็นค่าระดับตามข้อ ๑๒.๒ และนับหน่วยกิตให้ด้วย
๑๒.๑๐ เมื่อสิ้นภาคการศึกษาหนึ่ง ๆ มหาวิทยาลัยจะคำนวณค่าระดับเฉลี่ยของรายวิชาที่นักศึกษาแต่ละคนได้จดทะเบียนไว้สำหรับภาคการศึกษานั้น เรียกว่า ค่าระดับเฉลี่ยสำหรับภาค
และคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสำหรับทุกรายวิชาทุกภาคการศึกษา ตั้งแต่เริ่มสถานภาพนักศึกษาจนถึงภาคการศึกษานั้นเรียกว่า ค่าระดับเฉลี่ยสะสม
๑๒.๑๑ ในการคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสำหรับภาค ให้คูณค่าระดับของแต่ละรายวิชาด้วยหน่วยกิตของรายวิชานั้น แล้วหารผลรวมด้วยหน่วยกิตทั้งหมดที่จดทะเบียนในภาคการศึกษานั้น
ในการคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสะสม ให้คูณค่าระดับของรายวิชาที่จดทะเบียน ตั้งแต่เริ่มสถานภาพนักศึกษาด้วยหน่วยกิตของแต่ละรายวิชา แล้วหารผลรวมด้วยหน่วยกิตทั้งหมดที่จดทะเบียนไว้นั้น
ในการหารเมื่อได้ทศนิยมสองตำแหน่งแล้ว ถ้าปรากฏว่าทศนิยมตำแหน่งที่สามเป็นจำนวนตั้งแต่ห้าขึ้นไป ก็ให้ปัดเศษขึ้นมา
๑๒.๑๒ ในกรณีที่นักศึกษาขาดสอบรายวิชาใด โดยมีเหตุสุดวิสัย ให้นักศึกษาหรือผู้แทนยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่อผู้สอนและอาจารย์ที่ปรึกษา ให้ผู้สอนและอาจารย์ที่ปรึกษาวินิจฉัยขั้นต้นว่ามีเหตุผลอันสมควรหรืไม่หากมีเหตุผลอันสมควรให้นำเรื่องขออนุมัติต่อคณบดีภายในสิบวันนับแต่วันที่สอบที่ปรากฏตามตารางสอบ เพื่อขออนุมัติให้บันทึกอักษร W หรือให้มีการวัดผลการศึกษาสำหรับรายวิชานั้นตามข้อเสนอของผู้สอนถ้าคณบดีไม่อนุมัติให้ถือว่าส่วนที่ขาดสอบนั้นได้คะแนนเป็นศูนย์ แต่ถ้าได้มีการวัดผลการศึกษาในรายวิชานั้นมาบ้างแล้วในระหว่างภาคการศึกษา ให้วัดระดับตามคะแนนเท่าที่มี
ในกรณีที่นักศึกษาทำเรื่องขออนุมัติคณบดีเมื่อพ้นระยะเวลาตามวรรคแรก ถ้าคณบดีเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรอนุมัติ ให้คณบดีทำความเห็นประกอบคำขอของนักศึกษา เสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ
ข้อ ๑๓ การศึกษาโดยไม่วัดผลการศึกษา
นักศึกษาอาจจดทะเบียนศึกษารายวิชาใดวิชาหนึ่งเพื่อการเสริมความรู้โดยไม่ต้องมีการวัดผลการศึกษาในรายวิชานั้นก็ได้ แต่ต้องได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาและได้รับอนุญาตจากผู้สอน ทั้งนี้ต้องชำระค่าธรรมเนียมตามระเบียบมหาวิทยาลัย
เมื่อนักศึกษาได้จดทะเบียนศึกษารายวิชาใด โดยไม่วัดผลการศึกษาแล้ว การเปลี่ยนการจดทะเบียนศึกษาวิชานั้นเป็นการศึกษาโดยวัดผลจะกระทำมิได้ เมื่อพ้นกำหนดสิบสี่วันแรกนับจากวันเปิดภาคการศึกษาปกติหรือเจ็ดวันแรกจากวันเปิดภาคฤดูร้อน
การศึกษาโดยไม่วัดผลการศึกษานี้ หากนักศึกษาผู้นั้นได้เข้าฟังคำบรรยายและมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ ให้บันทึกอักษร AUD (Audit) สำหรับรายวิชานั้นไว้ในระเบียนเมื่อได้มีเวลาศึกษาครบตามข้อ ๖.๕
จำนวนหน่วยกิตสูงสุดที่นักศึกษามีสิทธิจดทะเบียนศึกษาได้ ในแต่ละภาคการศึกษา ตามข้อ ๑๐.๔ นั้นให้นับรายวิชาที่จดทะเบียนโดยไม่ต้องวัดผลการศึกษารวมเข้าไปด้วย แต่จะไม่นับรวมเข้าในจำนวนหน่วยกิตที่ต่ำสุดที่นักศึกษาจะต้องจดทะเบียนศึกษาในแต่ละภาคการศึกษา
หน่วยกิตของรายวิชาที่มีการบันทึกอักษร AUD ดังกล่าวไม่นับรวมเป็นหน่วยกิตสะสม
นักศึกษาผู้ใดได้จดทะเบียนศึกษารายวิชาใดโดยไม่วัดผลการศึกษาแล้วจะจดทะเบียนศึกษารายวิชานั้นซ้ำเพื่อเป็นการวัดผลการศึกษาในภายหลังมิได้ เว้นแต่ในกรณีที่มีการย้ายคณะหรือเปลี่ยนภาควิชา และรายวิชานั้นเป็นวิชาที่กำหนดให้มีการศึกษาและวัดผลในหลักสูตรของคณะหรือภาควิชานั้น
ข้อ ๑๔ สถานภาพทางวิชาการของนักศึกษา
๑๔.๑ มหาวิทยาลัยจะนำผลการศึกษาของนักศึกษาแต่ละคนมาคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสะสมเพื่อพิจารณาสถานภาพทางวิชาการของนักศึกษาทุกภาคการศึกษาปกติ นักศึกษาจะต้องได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมถึงภาคการศึกษานั้น ๆ ไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ มิฉะนั้นจะได้รับการเตือน (Warning ๑ หรือ Warning ๒) หรืออยู่ในภาวะรอพินิจ (Probation) ในต้นภาคการศึกษาถัดไปหรือถูกถอนชื่อ (Dismissed) ออกจากทะเบียนนักศึกษาแล้วแต่กรณี
๑๔.๒ ในภาคการศึกษาแรกที่ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย นักศึกษาผู้ใดได้ค่าระดับเฉลี่ยสำหรับภาคการศึกษานั้นต่ำกว่า ๑.๕๐ จะได้รับการเตือนพิเศษ (Warning) จากมหาวิทยาลัยซึ่งไม่นับเป็นการเตือนตามข้อ ๑๔.๑
๑๔.๓ นักศึกษาต้องได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมเมื่อสิ้นสองภาคการศึกษาแรก ที่ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยซึ่งไม่นับรวมภาคฤดูร้อนไม่ต่ำกว่า ๑.๕๐ มิฉะนั้นจะต้องถูกถอนชื่อ (Dismissed) ออกจากทะเบียนนักศึกษา
๑๔.๔ หากนักศึกษาได้รับการเตือนสองภาคการศึกษาติดต่อกันและยังได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๐๐ อยู่ นักศึกษาผู้นั้นจะอยู่ในภาวะรอพินิจ (Probation) ในภาคการศึกษาถัดไปและให้บันทึกภาวะรอพินิจ (Probation) ไว้ในระเบียน
๑๔.๕ ในภาคการศึกษาที่อยู่ในภาวะรอพินิจ (Probation) หากนักศึกษายังได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมจนถึงภาคการศึกษานั้นต่ำกว่า ๒.๐๐ อยู่อีก นักศึกษาผู้นั้นจะถูกถอนชื่อ (Dismissed) ออกจากทะเบียนนักศึกษายกเว้นกรณีตามข้อ ๑๔.๖
๑๔.๖ ในกรณีที่นักศึกษาได้ศึกษารายวิชาต่าง ๆ ครบจำนวนหน่วยกิตสะสมตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรและได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๑.๘๐ แต่ไม่ถึง ๒.๐๐ อธิการบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาผู้นั้นศึกษาต่อไป ตามที่เห็นสมควร โดยจะให้ศึกษาต่อในคณะเดิมหรือเปลี่ยนคณะหรือภาควิชาก็ได้ แต่นักศึกษาต้องศึกษาให้ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมถึง ๒.๐๐ ภายในระยะเวลาสามภาคการศึกษาถัดไป ทั้งนี้ต้องไม่เกินเจ็ดปีการศึกษา นับแต่วันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
๑๔.๗ ภายใต้บังคับแห่งข้อ ๑๔.๖ การย้ายคณะ การเปลี่ยนภาควิชา หรือการพักการศึกษาไม่มีผลทำให้การเตือนและภาวะรอพินิจเปลี่ยนแปลง
ข้อ ๑๕ การเทียบโอนหน่วยกิต
๑๕.๑ นักศึกษาอาจขอเทียบโอนหน่วยกิตได้ ตามเงื่อนไขต่อไปนี้
๑๕.๑.๑ กรณีการเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นักศึกษาที่เคยศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในหรือต่างประเทศมาแล้วจะได้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัย-ธรรมศาสตร์ สามารถขอเทียบโอนหน่วยกิตได้
๑๕.๑.๒ กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปศึกษาที่สถาบันอุดมศึกษาอื่น
(๑) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไปศึกษาสถาบันอุดมศึกษาอื่นในหรือต่างประเทศตามโครงการความร่วมมือในการผลิตบัณฑิตร่วมกัน สามารถนำรายวิชาและหน่วยกิตที่ไปศึกษามาเทียบโอนเป็นรายวิชาและหน่วยกิตในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้
(๒) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้ศึกษาที่สถาบันอุดมศึกษาอื่นในหรือต่างประเทศตามโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ตามข้อ ๑๐.๑๐ หรือ นักศึกษาที่ไปศึกษาด้วยตนเองโดยได้รับอนุมัติจากคณะสามารถนำรายวิชาและหน่วยกิตที่ไปศึกษามาเทียบโอนเป็นรายวิชาและหน่วยกิตในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้
๑๕.๒ ให้คณะกรรมการประจำคณะมีอำนาจในการพิจารณาเทียบโอนหน่วยกิตได้โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
(๑) หน่วยกิตที่เทียบโอนรวมแล้วต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของหลักสูตร
(๒) การเทียบโอนหน่วยกิต ให้นักศึกษาที่ถูกถอนชื่อจากทะเบียนนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาใดจะกระทำมิได้
(๓) หลักเกณฑ์และรายละเอียดอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประจำคณะกำหนด
๑๕.๓ การบันทึกผลการศึกษา
(๑) กรณีนักศึกษาตามข้อ ๑๕.๑.๑ และนักศึกษาตามข้อ ๑๕.๑.๒ (๑) ให้บันทึกอักษร ACC ในรายวิชาที่ได้รับอนุมัติให้เทียบโอนไว้ในระเบียน
(๒) กรณีนักศึกษาตามข้อ ๑๕.๑.๒ (๒) ให้คณะเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้บันทึกอักษร ACC หรือให้นำผลการศึกษาทุกรายวิชามาคำนวณค่าระดับเฉลี่ยสะสม ทั้งนี้ แต่ละคณะจะต้องใช้ระบบการวัดผลและการบันทึกผลการศึกษาเป็นระบบเดียวกันทั้งคณะ
การจะเทียบโอนหน่วยกิตโดยบันทึกอักษร ACC นั้น จะต้องเป็นรายวิชาที่นักศึกษาได้ค่าระดับไม่ต่ำกว่า C หรือเทียบเท่า เว้นแต่คณะกรรมการประจำคณะจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ ๑๖ การพักการศึกษา
๑๖.๑ ในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควร นักศึกษาอาจยื่นคำร้องขอลาพักการศึกษาในภาคการศึกษาปกติภาคใดภาคหนึ่งได้โดยได้รับอนุมัติจากคณบดี เว้นแต่สองภาคการศึกษาแรกที่ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยจะลาพักการศึกษาไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากอธิการบดีเป็นกรณีพิเศษ
นักศึกษาจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพสำหรับภาคการศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษา
๑๖.๒ การลาพักการศึกษาในระหว่างภาคการศึกษา ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่นักศึกษาขอลาพักการศึกษาภายในระยะเวลาสิบสี่วันแรกของภาคการศึกษาปกติหรือภายในเจ็ดวันแรกของภาคฤดูร้อน ให้ลบรายวิชาที่จดทะเบียนศึกษาไว้ทั้งหมดออกจากระเบียน
(๒) กรณีที่นักศึกษาขอลาพักการศึกษา เมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๑) แต่ยังอยู่ภายในสิบสัปดาห์แรกนับจากวันเปิดภาคการศึกษาปกติ หรือยังอยู่ภายในสี่สัปดาห์แรกนับจากวันเปิดภาคฤดูร้อน ให้บันทึกอักษร W สำหรับรายวิชาที่จดทะเบียนศึกษาในภาคการศึกษานั้นทุกวิชาไว้ในระเบียน
(๓) การลาพักการศึกษาเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๒) จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะมีเหตุผลอันสมควรและได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจอนุมัติตามข้อ ๑๖.๑ หรือ ๑๖.๓ แล้วแต่กรณี ในกรณีเช่นว่านี้ให้บันทึกอักษร W สำหรับรายวิชาที่จดทะเบียนศึกษาในภาคการศึกษานั้นทุกวิชาไว้ในระเบียน
๑๖.๓ การลาพักการศึกษาติดต่อกันเกินกว่าสองภาคการศึกษาปกติจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุผลอันสมควร และได้รับอนุมัติจากอธิการบดี ทั้งนี้ไม่นับภาคฤดูร้อน
๑๖.๔ นักศึกษาที่ถูกลงโทษให้พักการศึกษาตามข้อบังคับว่าด้วยวินัยนักศึกษาในภาคการศึกษาใดจะต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพ ทั้งนี้
(๑) ถ้าเป็นการลงโทษให้พักการศึกษาในระหว่างภาคการศึกษา ให้ลบรายวิชาที่ได้จดทะเบียนศึกษาไว้ในภาคการศึกษานั้นออกจากระเบียน
(๒) ถ้าเป็นการลงโทษให้พักการศึกษาในภาคการศึกษาถัดไป โดยนักศึกษาได้ชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้วให้คืนเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนศึกษารายวิชาเต็มจำนวน แต่นักศึกษาต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพนักศึกษา
๑๖.๕ การพักการศึกษาไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ไม่อาจถือเป็นเหตุขยายเวลาการศึกษาตามความในข้อ ๖.๖
ข้อ ๑๗ ค่าธรรมเนียม
นักศึกษาจะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาชั้นปริญญาตรี
ข้อ ๑๘ การขอคืนค่าธรรมเนียม
๑๘.๑ นักศึกษาที่ขอถอนรายวิชา เนื่องจากมหาวิทยาลัยประกาศปิดการสอนรายวิชานั้น มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนศึกษารายวิชาและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษาได้เต็มจำนวน
๑๘.๒ นักศึกษาที่ขอถอนรายวิชาภายในสิบสี่วันแรกของภาคการศึกษาปกติ
หรือภายในเจ็ดวันแรกของภาคฤดูร้อน มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนศึกษารายวิชาและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษาได้กึ่งหนึ่ง
๑๘.๓ นักศึกษาที่ขอถอนรายวิชา เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามข้อ ๑๘.๒ ไม่มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนศึกษารายวิชา และค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษา
๑๘.๔ นักศึกษาที่ลาพักการศึกษาตามข้อ ๑๖.๒ ไม่มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียม
จดทะเบียนศึกษารายวิชาและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษา โดยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพนักศึกษาในภาคการศึกษานั้น
๑๘.๕ นักศึกษาจะต้องยื่นคำร้องขอคืนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนศึกษารายวิชา
และค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษาภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษานั้น
ข้อ ๑๙ การย้ายคณะ
นักศึกษาที่ศึกษาในคณะใดจะขอย้ายไปศึกษาคณะอื่นมิได้ เว้นแต่คะแนนสอบเข้าของนักศึกษาผู้นั้นสูงกว่าคะแนนสอบเข้าของนักศึกษาลำดับสุดท้ายของคณะที่ขอย้ายไป ซึ่งจะต้องเป็นคะแนนสอบเข้าในสายเดียวกันและปีเดียวกันด้วย
การย้ายคณะในกรณีอื่นให้อยู่ในดุลพินิจของคณบดีที่เกี่ยวข้องว่าจะอนุมัติให้ย้ายได้หรือไม่
การย้ายคณะตามวรรคแรกและวรรคสองให้เป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้
๑๙.๑ นักศึกษาจะต้องศึกษาอยู่ในคณะเดิมไม่น้อยกว่าสองภาคการศึกษาปกติ ทั้งนี้ไม่นับภาคการศึกษาที่ลาพัก ถูกให้พัก ถูกถอนชื่อหรือถูกลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
๑๙.๒ ในการยื่นคำขอย้ายคณะ นักศึกษาต้องแสดงเหตุผลประกอบ การจะอนุมัติหรือไม่นั้นให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการประจำคณะที่เกี่ยวข้อง
๑๙.๓ รายวิชาต่าง ๆ ที่ได้ศึกษามาแม้ไม่ตรงกับหลักสูตรของคณะใหม่ก็ตาม ให้นำมาคำนวณหาค่าระดับเฉลี่ยสะสมด้วย
ข้อ ๒๐ การพ้นสภาพนักศึกษา
การพ้นสภาพนักศึกษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
๒๐.๑ ตาย
๒๐.๒ ลาออก
๒๐.๓ ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นนักศึกษา
๒๐.๔ ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา ในกรณีต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
ข้อ ๒๑ การให้อนุปริญญา
นักศึกษาผู้ใดศึกษาครบตามข้อกำหนดของหลักสูตรสำหรับชั้นอนุปริญญา โดยมีหน่วยกิตสะสมไม่ต่ำกว่าที่หลักสูตรกำหนด ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาแล้วไม่น้อยกว่าห้าภาคการศึกษาปกติมีสิทธิขอรับอนุปริญญา
ข้อ ๒๒ การเสนอชื่อเพื่อรับปริญญา
๒๒.๑ นักศึกษาต้องศึกษารายวิชาต่าง ๆ ให้ครบตามโครงสร้าง องค์ประกอบและข้อกำหนดของหลักสูตรสำหรับสาขาวิชานั้น ๆ โดยมีหน่วยกิตสะสมไม่ต่ำกว่าที่หลักสูตรกำหนดไว้ ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดภาคการศึกษาปกติ จึงจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญาตรีในสาขาวิชานั้น
ระยะเวลาเจ็ดภาคการศึกษาปกติตามความในวรรคแรก ไม่ใช้บังคับแก่นักศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้เทียบโอนหน่วยกิตตามข้อ ๑๕
๒๒.๒ นักศึกษาที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญาตรีเกียรตินิยม ต้องมีผลการศึกษาครบถ้วนตามหลักสูตร เว้นแต่นักศึกษาที่ได้รับการเทียบโอนหน่วยกิตตามข้อ ๑๕ จะต้องได้หน่วยกิตสะสมตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนหน่วยกิตทั้งหมดและเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
๒๒.๒.๑ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ให้แก่นักศึกษาที่
(๑) ได้ศึกษารายวิชาต่าง ๆ ครบตามหลักสูตรภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
(๒) ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมสำหรับทุกรายวิชาไม่ต่ำกว่า ๓.๕๐
(๓) ไม่เคยได้รับระดับยังใช้ไม่ได้ (U) หรือต่ำกว่าระดับ C ในรายวิชาใดและ
(๔) ไม่เคยศึกษาซ้ำในรายวิชาใด
๒๒.๒.๒ เกียรตินิยมอันดับสอง ให้แก่นักศึกษาที่
(๑) ได้ศึกษารายวิชาต่าง ๆ ครบตามหลักสูตรภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
(๒) ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมสำหรับทุกรายวิชาไม่ต่ำกว่า ๓.๕๐
(๓) ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมสำหรับวิชาเอกทั้งหมดไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ และ
(๔) ไม่เคยศึกษาซ้ำหรือได้ระดับ F หรือระดับยังใช้ไม่ได้ (U) ในรายวิชาใด
หรือให้แก่นักศึกษาที่
(๑) ได้ศึกษารายวิชาต่าง ๆ ครบตามหลักสูตรภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
(๒) ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมสำหรับทุกรายวิชาไม่ต่ำกว่า ๓.๒๕
(๓) ไม่เคยได้ต่ำกว่าระดับ C สำหรับวิชาเอกแต่ละวิชา และ
(๔) ไม่เคยศึกษาหรือได้รับ F หรือระดับยังใช้ไม่ได้ (U) ในรายวิชาใด
ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรตามข้อ ๒๒.๒.๑ หรือข้อ ๒๒.๒.๒ นั้น ไม่ให้นับระยะเวลาที่นักศึกษาลาพักการศึกษา ตามข้อ ๑๖.๑ หรือข้อ ๑๖.๒ หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่อธิการบดีเห็นสมควร
๒๒.๓ เมื่อสิ้นภาคการศึกษาภาคหนึ่ง ๆ มหาวิทยาลัยจะเสนอรายชื่อนักศึกษาที่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับปริญญาตรีในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อขออนุมัติปริญญาจากสภามหาวิทยาลัย
สำหรับภาคการศึกษาที่คาดว่าจะเป็นภาคสุดท้ายที่จะได้รับปริญญาของนักศึกษา ให้นักศึกษาทำหนังสือยื่นต่อมหาวิทยาลัย ภายในสิบสี่วันแรกของภาคการศึกษาปกติ หรือเจ็ดวันแรกของภาคฤดูร้อน
เพื่อขอให้มหาวิทยาลัยเสนอชื่อนักศึกษานั้น ขออนุมัติปริญญาต่อสภามหาวิทยาลัยเมื่อเสร็จสิ้นภาคการศึกษานั้น ผู้ที่มิได้ยื่นหนังสือดังกล่าวอาจจะได้รับการพิจารณาเสนอชื่อในภาคการศึกษาถัดไปก็ได้
๒๓ การอนุมัติปริญญา
สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะพิจารณาอนุมัติปริญญาปีละสามครั้ง คือ เมื่อสิ้นภาคหนึ่ง ภาคสอง และภาคฤดูร้อน และจะจัดให้มีพิธีประสาทปริญญาบัตรปีละครั้ง
๒๔ ให้อธิการบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศของมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ได้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐
(ศาสตราจารย์ คุณหญิง นงเยาว์ ชัยเสรี)
นายกสภามหาวิทยาลัย
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕