ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการ
และระดับชำนาญการพิเศษ ของพนักงานมหาวิทยาลัย สายสนับสนุนวิชาการ พ.ศ. ๒๕๖๓
………………………………………………………
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการและระดับชำนาญการพิเศษ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อ ๒๐ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลในคราวประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๖๒
เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๒ อธิการบดีจึงออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการและระดับชำนาญการพิเศษของพนักงานมหาวิทยาลัย สายสนับสนุนวิชาการ พ.ศ. ๒๕๖๓”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ส่วนงาน” หมายความว่า ส่วนงานตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัย
“พนักงานมหาวิทยาลัย” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ
“ผู้ขอรับการประเมิน” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ขอรับการประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการ
“ระดับชำนาญการ” หมายความว่า ระดับตำแหน่งชำนาญการของพนักงานมหาวิทยาลัย
ที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง
“ระดับชำนาญการพิเศษ” หมายความว่า ระดับตำแหน่งชำนาญการพิเศษของพนักงานมหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง
“หัวหน้าส่วนงาน” หมายความว่า รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนักงาน หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณบดีหรือผู้อำนวยการสถาบัน
“ผลงาน” หมายความว่า ผลงานที่แสดงความเป็นผู้ชำนาญการ หรือ ผู้ชำนาญการพิเศษ
“ผู้ทรงคุณวุฒิ” หมายความว่า ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับแต่งตั้งให้พิจารณาประเมินคุณภาพผลงาน
และตรวจสอบจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ
หมวด ๑
คุณสมบัติของผู้ขอรับการประเมิน
ข้อ ๔ ผู้ขอรับการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งระดับชำนาญการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำรงตำแหน่งระดับปฏิบัติการ
(๒) มีระยะเวลาการปฏิบัติงานมาแล้ว ดังต่อไปนี้
(๒.๑) กรณีวิธีที่ ๑
(๒.๑.๑) ต้องดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่ปีสำหรับตำแหน่งที่บรรจุ
และแต่งตั้งด้วยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เว้นแต่กรณีเป็นตำแหน่งที่บรรจุและแต่งตั้งด้วยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีระยะเวลาศึกษาตามหลักสูตรหกปีการศึกษา ให้มีระยะเวลาปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าสามปี
(๒.๑.๒) ต้องดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีสำหรับตำแหน่งที่บรรจุและแต่งตั้งด้วยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท
(๒.๑.๓) ต้องดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีสำหรับตำแหน่งที่บรรจุและแต่งตั้งด้วยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก
(๒.๒) กรณีวิธีที่ ๒
(๒.๒.๑) ต้องปฏิบัติงานจนครบระยะเวลาตามสัญญาระยะที่หนึ่งและได้รับการต่อสัญญาปฏิบัติงานระยะที่สองสำหรับตำแหน่งที่บรรจุและแต่งตั้งด้วยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี
เว้นแต่กรณีเป็นตำแหน่งที่บรรจุและแต่งตั้งด้วยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีระยะเวลาศึกษาตามหลักสูตรหกปีการศึกษาให้ขอได้ตั้งแต่อยู่ในสัญญาระยะที่หนึ่ง แต่ต้องมีระยะเวลาปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีและต้องผ่านการทดลองงานแล้ว
(๒.๒.๒) ต้องปฏิบัติงานจนผ่านการทดลองการปฏิบัติงานแล้วสำหรับตำแหน่งที่บรรจุและแต่งตั้งด้วยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก
(๓) มีผลการประเมินการปฏิบัติงานประจำปีในรอบปีที่ผ่านมาได้ร้อยละ ๗๕ ขึ้นไป เว้นแต่กรณีตาม (๒.๒.๒)
(๔) เป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพเหมาะสม
ข้อ ๕ ผู้ขอรับการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑) ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการ
(๒) มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งชำนาญการ ดังต่อไปนี้
(๒.๑) กรณีวิธีที่ ๑ ต้องดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี
(๒.๒) กรณีวิธีที่ ๒ ต้องดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
(๓) มีผลการประเมินการปฏิบัติงานประจำปีในรอบปีที่ผ่านมาได้ร้อยละ ๘๐ ขึ้นไป
(๔) เป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพเหมาะสม
ข้อ ๖ ในกรณีที่ผู้ขอรับการประเมินในตำแหน่งระดับชำนาญการได้รับการปรับวุฒิ ให้นำระยะเวลาการปฏิบัติงานก่อนและหลังการปรับวุฒิมาคิดคำนวณรวมกันเป็นเวลาตาม ข้อ ๔ (๒) (๒.๑)
ได้ ตามอัตราส่วนของระยะเวลาที่ได้ปฏิบัติงานก่อนและหลังการปรับวุฒิ
ข้อ ๗ พนักงานมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนตำแหน่ง ต้องปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เปลี่ยนมาแล้ว
ไม่น้อยกว่าหนึ่งปีจึงจะขอรับการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการหรือชำนาญการพิเศษในตำแหน่งที่เปลี่ยนได้
เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
(๑) เป็นการเปลี่ยนตำแหน่งไปปฏิบัติงานในตำแหน่งที่มีมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง หน้าที่
และลักษณะงานที่สอดคล้องกัน
(๒) ได้ปฏิบัติงานที่มีลักษณะงานตรงหรืออยู่ในกลุ่มตำแหน่งเดียวกับลักษณะงานของตำแหน่งที่เปลี่ยน ไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบ
ข้อ ๘ พนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ไม่มีสิทธิยื่นขอรับการประเมิน และไม่ให้นำเวลาระหว่างการลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติงานวิจัยนั้นมานับเป็นเวลาการปฏิบัติงานตามข้อ ๔ (๒) และข้อ ๕ (๒)
หมวด ๒
เกณฑ์การประเมิน ผลงาน
และจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ
ส่วนที่ ๑
องค์ประกอบการประเมิน
ข้อ ๙ การประเมินความเหมาะสมของบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการ และ ระดับชำนาญการพิเศษ ให้พิจารณาในองค์ประกอบดังนี้
(๑) ความรู้ความสามารถ และทักษะการทำงาน
(๒) สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง
(๓) ผลงาน
(๔) จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ
ส่วนที่ ๒
การประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะการทำงาน
และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง
ข้อ ๑๐ การประเมินความรู้ ความสามารถ ทักษะการทำงาน และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง ให้พิจารณาในองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้
(๑) ความรับผิดชอบต่อหน้าที่
(๒) ความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์
(๓) ความเป็นผู้นำ
(๔) ทัศนคติและแรงจูงใจ
(๕) อุปนิสัยและความประพฤติ
ส่วนที่ ๓
ผลงาน
ข้อ ๑๑ ผู้ขอรับการประเมินระดับชำนาญการ ต้องเสนอผลงานประกอบการประเมินอย่างน้อยจำนวน ๒ รายการ ได้แก่ เอกสารแสดงวิธีการปฏิบัติงานหรือคู่มือ หรือผลงานเชิงวิเคราะห์ หรือผลงาน เชิงสังเคราะห์ หรืองานวิจัย หรือผลงานในลักษณะอื่นที่แสดงความเป็นผู้ชำนาญการในตำแหน่งหน้าที่
ข้อ ๑๒ ผู้ขอรับการประเมินระดับชำนาญการพิเศษ ต้องเสนอผลงาน จำนวน ๓ รายการ จากผลงาน ดังต่อไปนี้
(๑) งานวิจัยหรือโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ
(๒) ผลงานเชิงวิเคราะห์หรือผลงานเชิงสังเคราะห์ หนังสือ คู่มือ เอกสาร สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม การออกแบบ ผลงานศิลปะ หรืองานสร้างสรรค์อื่นซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้ชำนาญการพิเศษของ
ผู้ขอรับการประเมิน
ทั้งนี้ ต้องมีผลงานตาม (๑) อย่างน้อยหนึ่งเรื่อง
ข้อ ๑๓ เอกสารแสดงวิธีการปฏิบัติงาน อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(๑) หลักการสำคัญหรือวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติงาน
(๒) กระบวนการและขั้นตอนการปฏิบัติงานตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ
(๓) รายละเอียดของแต่ละกระบวนการปฏิบัติงาน
(๔) สาระสำคัญของกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ การปฏิบัติงาน
(๕) ปัญหา อุปสรรค ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาปรับปรุง การทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อ ๑๔ ผลงานเชิงวิเคราะห์ ต้องเป็นผลงานที่จัดทำขึ้นโดยมีสาระสำคัญที่แสดงแยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์กันขององค์ประกอบต่าง ๆ นั้นอย่างมีระบบเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่องานตามภารกิจของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน
ผลงานเชิงสังเคราะห์ ต้องเป็นผลงานที่แสดงการรวบรวมเนื้อหาสาระต่าง ๆ
หรือองค์ประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างรูปแบบหรือโครงสร้างเบื้องต้นเพื่อให้เกิดแนวทางหรือเทคนิควิธีการใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่องานในภารกิจของมหาวิทยาลัย
หรือส่วนงาน
งานวิจัย ต้องมีลักษณะเป็นผลงานศึกษาหรืองานค้นคว้าอย่างมีระบบด้วยวิธีวิทยาการวิจัย
ที่เป็นที่ยอมรับและมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล คำตอบ หรือผลสรุปรวมที่เป็นประโยชน์
และนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในงานตามภารกิจของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน
ผลงานในลักษณะอื่นตามข้อ ๑๑ และข้อ ๑๒ อาจเป็นผลงานที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ การออกแบบ นวัตกรรม กรรมวิธี ผลงานศิลปะ งานสร้างสรรค์ หรือผลงานที่เป็นประโยชน์ต่องานตามภารกิจ
ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นผลงานที่ผ่านการพิสูจน์หรือมีหลักฐานที่แสดงถึงคุณค่า
ของผลงานประกอบด้วย
ข้อ ๑๕ ผลงานของผู้ขอรับการประเมิน ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) มีความถูกต้อง ทันสมัยในเวลาที่ทำผลงาน
(๒) เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน
(๓) มีสัดส่วนการทำผลงานไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้า
(๔) ไม่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและการฝึกอบรมของผู้ขอรับการประเมิน
(๕) ในกรณีที่มีการอ้างอิงผลงานของผู้อื่นหรือของตนเอง หรือประมวลความคิดของผู้อื่นมาไว้ในผลงานของตนเอง ต้องระบุอ้างอิงแหล่งที่มาให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การอ้างอิงที่เป็นหลักสากล และต้องใช้รูปแบบการอ้างอิงแบบเดียวกันตลอดทั้งเรื่องหรือเล่ม
ส่วนที่ ๔
จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ
ข้อ ๑๖ การเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพในการสร้างสรรค์ผลงานของ
ผู้ขอรับการประเมินให้พิจารณาดังนี้
(๑) ต้องมีความซื่อสัตย์ทางวิชาชีพ ไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น รวมทั้งไม่นำผลงานของตนเองในเรื่องเดียวกันไปเผยแพร่ในวารสารวิชาการหรือวิชาชีพมากกว่าหนึ่งฉบับในลักษณะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลงานใหม่
(๒) ต้องให้เกียรติและอ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้ในผลงานวิชาชีพของตนเองและแสดงหลักฐานของการค้นคว้า
(๓) ต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางวิชาชีพจนละเลยหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น
และสิทธิมนุษยชน
(๔) ต้องเป็นผลงานที่ได้มาจากการศึกษาโดยหลักวิชาชีพเป็นเกณฑ์ ไม่มีอคติมาเกี่ยวข้อง และเสนอผลงานตามความเป็นจริง ไม่จงใจเบี่ยงเบนผลการศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือวิจัย โดยหวังผลประโยชน์ส่วนตัว หรือต้องการสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น และเสนอผลงานตามความเป็นจริงไม่ขยาย ข้อค้นพบโดยปราศจากการตรวจสอบยืนยันในทางวิชาชีพ
(๕) ต้องนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบด้วยกฎหมาย
(๖) ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผลงานที่เสนอขอรับการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งสูงขึ้น
มีการละเมิดจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ให้คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการดำเนินการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะสามารถดำเนินการพิจารณาในส่วนอื่นได้ต่อไป
หมวด ๓
คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการ และผู้ทรงคุณวุฒิ
ส่วนที่ ๑
คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการ
ข้อ ๑๗ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการ ประกอบด้วย
(๑) หัวหน้าส่วนงานที่ผู้ขอรับการประเมินสังกัดอยู่เป็นประธานกรรมการ
(๒) พนักงานมหาวิทยาลัยที่มีระดับตำแหน่งชำนาญการขึ้นไป จำนวน ๒ คน เป็นกรรมการ
(๓) ผู้อำนวยการกอง เลขานุการคณะ สถาบัน หรือส่วนงาน หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า เป็นกรรมการและเลขานุการ
ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นทำให้ไม่อาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบตามวรรคหนึ่งได้ ให้หัวหน้าส่วนงานชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบแตกต่างจากองค์ประกอบตามวรรคหนึ่งก็ได้
ข้อ ๑๘ ให้คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาตรวจสอบและกลั่นกรองคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ ทักษะการทำงาน
และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง และจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพของผู้ขอรับการประเมิน
(๒) พิจารณากลั่นกรองและประเมินคุณภาพเอกสารและผลงานของผู้ขอรับการประเมิน
(๓) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินผลงานและตรวจสอบจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพของผู้ขอรับการประเมิน
(๔) ดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการ
ส่วนที่ ๒
ผู้ทรงคุณวุฒิ
ข้อ ๑๙ ผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในมหาวิทยาลัย
จำนวนสามคน โดยต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการขึ้นไปหรือเทียบเท่า
(๒) เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ หรือมีประสบการณ์การทำงานในเรื่องที่ตรงหรือใกล้เคียง
กับผลงานของผู้ขอรับการประเมิน
(๓) ไม่อยู่ในสังกัดของส่วนงานเดียวกันกับผู้ขอรับการประเมิน
หากไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิภายในมหาวิทยาลัยที่สามารถประเมินผลงานได้ ให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัยได้ โดยต้องมีคุณสมบัติเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการขึ้นไปหรือเทียบเท่าและเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ หรือมีประสบการณ์การทำงานในเรื่องที่ตรงหรือใกล้เคียงกับผลงานของผู้ขอรับการประเมิน
ในกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีองค์ประกอบตามวรรคหนึ่ง หรือตามวรรคสองได้
ให้คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการเสนอชื่อคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย หรือผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ หรือมีประสบการณ์ในเรื่องที่ตรงหรือใกล้เคียงกับผลงานของผู้ขอรับการประเมิน
ข้อ ๒๐ ให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาประเมินคุณภาพผลงาน และตรวจสอบการเป็นผู้มีจริยธรรม
และจรรยาบรรณทางวิชาชีพเหมาะสมของผู้ขอรับการประเมิน
หมวด ๔
คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ และผู้ทรงคุณวุฒิ
ส่วนที่ ๑
คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ
ข้อ ๒๑ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ประกอบด้วย
(๑) รองอธิการบดีที่รับผิดชอบงานด้านทรัพยากรมนุษย์ เป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้ช่วยอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) กรรมการที่อธิการบดีแต่งตั้งจากพนักงานมหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ ระดับชำนาญการพิเศษขึ้นไป จำนวนสองคน
(๔) กรรมการที่อธิการบดีแต่งตั้งจากพนักงานมหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ ระดับชำนาญการพิเศษขึ้นไป จำนวนสองคน
ผู้อำนวยการกองทรัพยากรมนุษย์ เป็นเลขานุการ และหัวหน้างานของกองทรัพยากรมนุษย์คนหนึ่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ให้กรรมการตาม (๓) และ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
ข้อ ๒๒ ให้คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบความรู้ความสามารถทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง
(๒) พิจารณาตรวจสอบผลงานของผู้ขอรับการประเมินที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากส่วนงาน
(๓) พิจารณาตรวจสอบการเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพของผู้ขอรับ
การประเมินที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากส่วนงาน
(๔) พิจารณาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินผลงาน
(๕) ดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ
ในกรณีที่กรรมการในคณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ว่างลง
และยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
ส่วนที่ ๒
ผู้ทรงคุณวุฒิ
ข้อ ๒๓ การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินผลงาน แบ่งเป็น ๒ กรณี ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีวิธีที่ ๑
(๑.๑) กรรมการที่แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย จำนวนสองคน
(๑.๒) กรรมการที่แต่งตั้งจากบุคคลภายในมหาวิทยาลัย แต่ไม่อยู่ในสังกัดของส่วนงานเดียวกันกับผู้ขอรับการประเมิน จำนวนหนึ่งคน
(๒) กรณีวิธีที่ ๒
(๒.๑) กรรมการที่แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย จำนวนสามคน
(๒.๒) กรรมการที่แต่งตั้งจากบุคคลภายในมหาวิทยาลัย แต่ไม่อยู่ในสังกัดของส่วนงานเดียวกันกับผู้ขอรับการประเมิน จำนวนสองคน
ข้อ ๒๔ ผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวข้องกับตำแหน่งในด้านเดียวกับตำแหน่งของผู้ขอรับ
การประเมิน
(๒) เป็นผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐอื่น หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่ง
ไม่ ต่ำกว่าระดับชำนาญการพิเศษ
ข้อ ๒๕ ให้ผู้ทรงคุณวุฒิมีหน้าที่พิจารณาประเมินคุณภาพผลงานของผู้ขอรับการประเมิน
และดำเนินการตรวจสอบการเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพเหมาะสมของผู้ขอรับการประเมิน
หมวด ๕
คะแนนการประเมินและเกณฑ์การตัดสิน
ข้อ ๒๖ การให้คะแนนการประเมินความรู้ความสามารถและทักษะการทำงาน
และการประเมินคุณภาพผลงาน ให้มีคะแนนเต็มเท่ากับ ๕ คะแนน
ข้อ ๒๗ พนักงานมหาวิทยาลัยที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการ
ต้องได้คะแนนและผลการประเมิน ดังนี้
(๑) ต้องได้คะแนนการประเมินความรู้ความสามารถและทักษะการทำงาน ไม่น้อยกว่าระดับ ๓ ในทุกองค์ประกอบ
(๒) ต้องได้คะแนนประเมินสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งในระดับไม่ต่ำกว่า
ที่คณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนด
(๓) ต้องได้คะแนนการประเมินผลงาน ดังนี้
(๓.๑) กรณีวิธีที่ ๑ ต้องได้คะแนนระดับดีขึ้นไปจากผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าสองคนใน
สามคน
(๓.๒) กรณีวิธีที่ ๒ ต้องได้คะแนนอยู่ในระดับดีขึ้นไปจากผู้ทรงคุณวุฒิสามคน
(๔) มีผลการประเมินจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
ข้อ ๒๘ พนักงานมหาวิทยาลัยที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษ ต้องได้คะแนนและผลการประเมิน ดังนี้
(๑) ต้องได้คะแนนการประเมินความรู้ความสามารถและทักษะการทำงาน ไม่น้อยกว่า
๓.๕ คะแนนในทุกองค์ประกอบ
(๒) ต้องได้คะแนนการประเมินผลงาน ดังนี้
(๒.๑) กรณีวิธีที่ ๑ ต้องได้คะแนน ๓.๕ ขึ้นไปทุกเรื่องจากผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าสองคนในสามคน
(๒.๒) กรณีวิธีที่ ๒ ต้องได้คะแนน ๓.๕ ขึ้นไปจากผู้ทรงคุณวุฒิห้าคนและต้องเป็น
เอกฉันท์
(๓) มีผลการประเมินจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
หมวด ๖
วิธีการ และขั้นตอนการขอรับการประเมิน ระดับชำนาญการ
ข้อ ๒๙ พนักงานมหาวิทยาลัยที่ประสงค์จะขอรับการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งระดับชำนาญการ
ให้ยื่นแบบขอรับการประเมินพร้อมผลงานผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อทราบและนำเสนอต่อ
หัวหน้าส่วนงานเพื่อพิจารณาดำเนินการ
เมื่อส่วนงานได้รับแบบขอรับการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งพร้อมผลงานแล้ว ให้ประทับตรา
รับคำขอโดยระบุวันที่ เดือนและปีที่ได้รับคำขอให้ชัดเจน และให้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับ
การประเมิน หากผู้ขอรับการประเมินมีคุณสมบัติหรือไม่มีคุณสมบัติ ให้หัวหน้าส่วนงานแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งระดับชำนาญการ แต่หากผู้ขอรับการประเมินไม่มีคุณสมบัติให้แจ้งผลการพิจารณาเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับการประเมินทราบ ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแบบคำขอพร้อมผลงานครบถ้วน
ข้อ ๓๐ ให้คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับการประเมิน
(๒) ประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะประจำตำแหน่งของผู้ขอรับการประเมิน
(๓) พิจารณากลั่นกรองผลงานของผู้ขอรับการประเมิน
(๔) ตรวจสอบการเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ
ให้คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จ
ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นอาจขยายเวลาได้
อีกไม่เกินสิบห้าวัน
ข้อ ๓๑ คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการจะแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินคุณภาพผลงานของผู้ขอรับการประเมินได้ เมื่อปรากฏผลการตรวจสอบ
และผลการประเมิน ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ขอรับการประเมินมีคุณสมบัติ ตามข้อ ๔
(๒) ผลงานของผู้ขอรับการประเมินมีคุณภาพ มีความถูกต้อง ทันสมัยในเวลาที่ทำผลงาน
และเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน
(๓) ผู้ขอรับการประเมินได้คะแนนการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะการทำงาน
และสมรรถนะของตำแหน่ง ไม่น้อยกว่า ๓ คะแนนในทุกองค์ประกอบ
(๔) ผู้ขอรับการประเมินเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ
คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการอาจขอให้ผู้ขอรับการประเมินดำเนินการแก้ไขปรับปรุงผลงานก็ได้ ทั้งนี้ ผู้ขอรับการประเมินต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน หากพ้นกำหนดดังกล่าวให้ถือว่าคำขอรับการประเมินครั้งนี้ตกไป
ข้อ ๓๒ ในกรณีที่ผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการ ไม่เป็นไปตามข้อ ๓๑ ให้ส่วนงานแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการ เป็นหนังสือให้ผู้ขอรับการประเมินทราบภายในสิบห้าวัน
ข้อ ๓๓ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ส่วนงานดำเนินการแจ้งคำสั่งและจัดส่งผลงานของผู้ขอรับการประเมินพร้อมกับชี้แจงหลักเกณฑ์การพิจารณาผลงานให้ผู้ทรงคุณวุฒิทราบ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ
เมื่อผู้ทรงคุณวุฒิดำเนินการประเมินผลงานและแจ้งผลการประเมินให้คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการทราบแล้ว หากผลการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิเป็นไปตามข้อ ๒๗ ให้ส่วนงานรายงานพร้อมจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเสนอกองทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำเสนออธิการบดีพิจารณา
และอนุมัติแต่งตั้งผู้ขอรับการประเมินให้ดำรงตำแหน่งชำนาญการต่อไป
หากผลการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิไม่เป็นไปตามข้อ ๒๗ ให้ส่วนงานแจ้งผลการพิจารณาเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับการประเมินทราบภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิจารณาแล้วเสร็จ
หมวด ๗
วิธีการ และขั้นตอนการขอรับการประเมิน ระดับชำนาญการพิเศษ
ส่วนที่ ๑
การดำเนินการของส่วนงาน
ข้อ ๓๔ พนักงานมหาวิทยาลัยที่ประสงค์จะขอรับการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษ ให้ยื่นแบบขอรับการประเมินพร้อมผลงานเพื่อทราบและนำเสนอต่อหัวหน้าส่วนงาน
ข้อ ๓๕ เมื่อส่วนงานได้รับแบบขอรับการประเมินพร้อมผลงานของผู้ขอรับการประเมินครบถ้วนแล้ว ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ให้ประทับตรารับคำขอโดยระบุวันที่ เดือนและปีที่ได้รับคำขอให้ชัดเจน และให้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับการประเมิน หากผู้ขอรับการประเมินมีคุณสมบัติและไม่มีคุณสมบัติ ให้ส่วนงานแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ แต่หากผู้ขอรับการประเมินไม่มีคุณสมบัติ ให้แจ้งผลการพิจารณาเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับการประเมินทราบ ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแบบคำขอพร้อมผลงานครบถ้วน
(๒) คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษระดับส่วนงาน ประกอบด้วย
(๒.๑) หัวหน้าส่วนงานที่ผู้ขอรับการประเมินสังกัดอยู่เป็นประธานกรรมการ
(๒.๒) กรรมการอื่นที่หัวหน้าส่วนงานแต่งตั้งอีกจำนวนไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกิน
สามคน
(๒.๓) ผู้อำนวยการกองหรือที่มีฐานะเทียบเท่า หรือเลขานุการสำนักงานเลขานุการ
ส่วนงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ
ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นทำให้ไม่อาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบตาม
วรรคหนึ่งได้ ให้หัวหน้าส่วนงานชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบแตกต่างจากองค์ประกอบตามวรรคหนึ่งก็ได้
(๓) ให้คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษระดับส่วนงาน มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๓.๑) ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับการประเมิน
(๓.๒) ประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะการทำงาน และสมรรถนะประจำตำแหน่ง
ของผู้ขอรับการประเมิน
(๓.๓) กลั่นกรองผลงานของผู้ขอรับการประเมิน โดยมีอำนาจให้ผู้ขอรับการประเมิน ทำการปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติมเนื้อหาของผลงานให้ถูกต้องครบถ้วนหรือมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นก็ได้ ทั้งนี้คณะกรรมการอาจกำหนดเวลาการแก้ไขปรับปรุงหรือเพิ่มเติมนั้นด้วยก็ได้
(๓.๔) ตรวจสอบและประเมินการเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพของผู้ขอรับการประเมิน
ข้อ ๓๖ เมื่อดำเนินการตามข้อ ๓๕ แล้ว ให้ส่วนงานส่งแบบขอรับการประเมินผลงาน
และผลการพิจารณาส่งให้กองทรัพยากรมนุษย์ได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ขอรับการประเมินมีคุณสมบัติครบตามข้อ ๕
(๒) ผู้ขอรับการประเมินมีผลงานครบถ้วนเป็นไปตามข้อ ๑๒ และมีคุณภาพดีพอที่จะส่งให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงาน
(๓) ผู้ขอรับการประเมินมีผลการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะประจำตำแหน่ง ไม่น้อยกว่า ๓.๕ คะแนนในทุกองค์ประกอบ
(๔) ผู้ขอรับการประเมินเป็นผู้มีจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ
ข้อ ๓๗ ในกรณีที่ผลการพิจารณาของส่วนงานไม่เป็นไปตามข้อ ๓๖ ให้ส่วนงานดำเนินการแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเหตุผลประกอบการพิจารณาเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับการประเมินทราบภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษระดับส่วนงานพิจารณาแล้วเสร็จ
ส่วนที่ ๒
การดำเนินการของกองทรัพยากรมนุษย์
ข้อ ๓๘ เมื่อกองทรัพยากรมนุษย์ได้รับแบบขอรับการประเมินพร้อมผลงานของผู้ขอรับ
การประเมิน และผลการพิจารณาของส่วนงานตามข้อ ๓๖ แล้วให้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณา
การเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับการประเมิน
(๒) ตรวจสอบผลประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะประจำตำแหน่งของ
ผู้ขอรับการประเมินของส่วนงาน
(๓) ตรวจสอบจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพของผู้ขอรับการประเมิน
(๔) พิจารณากลั่นกรองผลงานของผู้ขอรับการประเมิน
ข้อ ๓๙ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษพิจารณาแล้วเห็น
ว่า ผู้ขอรับการประเมินมีคุณสมบัติตามข้อ ๕ และผลงานมีคุณภาพ ให้กองทรัพยากรมนุษย์แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ ๒๔ และให้กองทรัพยากรมนุษย์จัดส่งคำสั่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิและผลงานของผู้ขอรับการประเมินให้ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาประเมินคุณภาพผลงานและความเป็นผู้มีจริยธรรม
และจรรยาบรรณทางวิชาชีพของผู้ขอรับการประเมิน
ข้อ ๔๐ เมื่อผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาประเมินคุณภาพผลงานและความเป็นผู้มีจริยธรรม
และจรรยาบรรณทางวิชาชีพของผู้ขอรับการประเมินเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่ง ชำนาญการพิเศษพิจารณาตรวจสอบผลการประเมินและให้พิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ผู้ขอรับการประเมินมีผลการประเมินผลงานเป็นไปตาม ข้อ ๓๖ (๓) ให้นำเสนออธิการบดีเพื่อพิจารณาและอนุมัติแต่งตั้งผู้ขอรับการประเมินให้ดำรงตำแหน่งชำนาญการพิเศษ
(๒) ในกรณีที่ผู้ขอรับการประเมินมีผลการประเมินไม่เป็นไปตามข้อ ๓๖ (๓) ให้แจ้งผลการประเมินเป็นหนังสือให้ส่วนงานทราบและแจ้งผู้ขอรับการประเมินทราบภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากกองทรัพยากรมนุษย์
หมวด ๘
การแต่งตั้ง
ข้อ ๔๑ การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งชำนาญการ ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่ส่วนงานได้รับแบบ
คำขอรับการประเมินและผลงานของผู้ขอรับการประเมิน เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิขอให้ผู้ขอรับ
การประเมินแก้ไขปรับปรุงผลงานให้ถูกต้องครบถ้วน ให้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งได้ตั้งแต่วันที่ผู้ขอรับ
การประเมินส่งผลงานที่แก้ไขปรับปรุงฉบับสมบูรณ์แล้ว ทั้งนี้ ผู้ขอรับการประเมินต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน หากพ้นกำหนดดังกล่าวให้ถือคำขอรับการประเมินครั้งนี้ตกไป
ข้อ ๔๒ การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ให้แต่งตั้งได้ตั้งแต่วันที่กองทรัพยากรมนุษย์ได้รับแบบคำขอรับการประเมินและผลงานของผู้ขอรับการประเมิน เว้นแต่ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษพิจารณาผลงานของผู้ขอรับการประเมินแล้ว ให้ผู้ขอรับ
การประเมินแก้ไขปรับปรุงผลงานให้ถูกต้องครบถ้วน หรือให้ส่งผลงานเพิ่มเติม ให้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งได้ตั้งแต่วันที่ผู้ขอรับการประเมินส่งผลงานที่แก้ไขปรับปรุงฉบับสมบูรณ์แล้ว ทั้งนี้ ผู้ขอรับการประเมินต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน หากพ้นกำหนดดังกล่าวให้ถือคำขอรับการประเมินครั้งนี้ตกไป
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๔๓ การดำเนินการเพื่อขอรับการประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งชำนาญการ
และชำนาญการพิเศษที่ได้มีการยื่นไว้แล้วก่อนที่ประกาศนี้จะมีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับการขอรับการประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งชำนาญการและชำนาญการพิเศษที่มีอยู่ในขณะที่ยื่นคำขอนั้นต่อไปจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓
(รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี