ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ
ประเภทครูกระบวนการ พ.ศ. ๒๕๖๔
——————————-
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทครูกระบวนการ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบข้อ ๒๒ แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการบริหารบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๕๙ และอธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๓ เห็นชอบให้ออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทครูกระบวนการ พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” หมายความว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
“คณบดี” หมายความว่า คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
“ครูกระบวนการ” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทครูกระบวนการ
“คณะกรรมการกลั่นกรอง” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองเพื่อบรรจุแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทครูกระบวนการ
“ก.บ.ม.” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย
“ก.บ.ค.” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารบุคคล
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๕ การดำเนินการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นครูกระบวนการ ให้ยึดหลักความรู้ความสามารถ ความเท่าเทียมในโอกาสและประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและคณะ และให้กระทำโดยกระบวนการ
ที่ได้มาตรฐาน ยุติธรรมและโปร่งใส
หมวด ๒
คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองเพื่อบรรจุแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ
ประเภทครูกระบวนการ
ข้อ ๖ ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรอง ประกอบด้วย
(๑) รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ
(๒) ประธานสภาอาจารย์ หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่อธิการบดีแต่งตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่าสองคน เป็นกรรมการ
(๔) คณบดี หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
ให้ผู้อำนวยการกองทรัพยากรมนุษย์เป็นเลขานุการ และอาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กองทรัพยากรมนุษย์เป็นผู้ช่วยเลขานุการได้อีกไม่เกินสองคน
ข้อ ๗ ให้คณะกรรมการกลั่นกรองมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามตรวจสอบกลั่นกรองความเหมาะสมในการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูกระบวนการ โดยให้พิจารณาจากผล
การทดสอบหรือประเมินความรู้ความสามารถตามข้อ ๙ คุณวุฒิ ความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ สุขภาพกายและสุขภาพจิต จริยธรรม คุณธรรม ความฉลาดทางอารมณ์ตามข้อ ๑๒ ผลการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน และคุณลักษณะความเหมาะสมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของครูกระบวนการ เช่น ความมีใจรักในการเป็นครูกระบวนการ ความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และจัดทำรายงานความเห็นเสนอต่ออธิการบดี
เพื่อพิจารณานำเสนอ ก.บ.ม.
หมวด ๓
วิธีการสรรหา
ข้อ ๘ การสรรหาครูกระบวนการอาจดำเนินการคัดเลือกได้ ๒ วิธี ได้แก่
(๑) วิธีการคัดเลือกโดยการประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไป
(๒) วิธีการคัดเลือกโดยเรียกผู้มีความรู้ความสามารถดีเด่นเฉพาะรายมาเข้ารับการคัดเลือก
การสรรหาโดยวิธีตามวรรคหนึ่ง (๒) ให้กระทำได้เฉพาะแต่กรณีสาขาขาดแคลน
หรือมีลักษณะเฉพาะด้านที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิต
แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำคณะ
ข้อ ๙ การดำเนินการคัดเลือกตามข้อ ๘ ให้คณะจัดให้มีการทดสอบหรือประเมินความรู้ความสามารถอย่างน้อย ๒ วิธี จากวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) การสอบข้อเขียน
(๒) การสอบสัมภาษณ์
(๓) การสาธิตการสอน
(๔) การนำเสนอผลงานทางวิชาการ
(๕) การทดสอบกระบวนการกลุ่ม
ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องได้คะแนนการทดสอบ หรือประเมินความรู้ความสามารถในแต่ละวิธี
ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ ของคะแนนเต็ม และต้องได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของคะแนนรวมทั้งหมด
ข้อ ๑๐ การสรรหาครูกระบวนการโดยวิธีการคัดเลือกโดยการประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไป
ให้ออกเป็นประกาศคณะรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเป็นครูกระบวนการ โดยให้นำหลักเกณฑ์ที่ใช้
กับพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวด ๔
การพิจารณาคัดเลือก
ข้อ ๑๑ ให้คณะแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ประกอบด้วย
(๑) คณบดี หรือผู้แทน เป็นประธานกรรมการ
(๒) รองคณบดีที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านวิชาการ เป็นกรรมการ
(๓) ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
(๔) ผู้แทนคณาจารย์ในคณะ หรือผู้แทนครูกระบวนการ จำนวนสองคน เป็นกรรมการ
ให้ผู้จัดการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือเจ้าหน้าที่ด้านบุคคล เป็นเลขานุการ
ให้คณะกรรมการคัดเลือก มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการประกาศรับสมัคร ตรวจสอบคุณวุฒิ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม กำหนดและจัดให้มีการสอบ พิจารณาคัดเลือก จัดลำดับผู้ผ่านการคัดเลือก รายงานผลการคัดเลือกต่อคณบดี จัดทำประกาศผลการคัดเลือกระดับคณะ และให้คณบดีนำเสนอผู้มีอำนาจ
สั่งบรรจุพิจารณา โดยผ่านความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรอง
การประกาศรับสมัครให้มีการระบุข้อกำหนดและเงื่อนไขตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งด้วย
การพิจารณาคัดเลือกบุคคล ให้พิจารณาจากผลการทดสอบหรือประเมินความรู้ความสามารถตามข้อ ๙ คุณวุฒิ ความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ สุขภาพกายและสุขภาพจิต จริยธรรม คุณธรรม
ความฉลาดทางอารมณ์ ตามข้อ ๑๒ ผลการศึกษา ประสบการณ์ทำงานและคุณลักษณะความเหมาะสมอื่น ๆ
ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของครูกระบวนการ เช่น ความมีใจรักในการเป็นครูกระบวนการ ความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
ข้อ ๑๒ นอกจากการทดสอบหรือประเมินความรู้ความสามารถตามข้อ ๙ แล้ว คณะกรรมการคัดเลือกต้องพิจารณาภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ประกอบด้วย
(ก) เกณฑ์การพิจารณาคุณวุฒิของผู้เข้ารับการคัดเลือก
(๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัย
หรือสถาบันอุดมศึกษาที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
ในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) รับรองในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสอนในโรงเรียนสาธิต
แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(๒) ผลการศึกษา
๒.๑) กรณีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี มีผลการศึกษาในระดับปริญญาตรี ได้คะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๒๕
๒.๒) กรณีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท มีผลการศึกษาในระดับปริญญาโท ได้คะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๒๕
(๓) กรณีคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก ต้องมีวิทยานิพนธ์
หรือประสบการณ์ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับรายวิชาในกลุ่มประสบการณ์เรียนรู้ที่จะมอบหมายให้สอน
(ข) เกณฑ์เกี่ยวกับความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ ดังต่อไปนี้
(๑) วุฒิปริญญาตรีหรือปริญญาโท ต้องมีคะแนนผลการทดสอบภาษาอังกฤษ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้
(๒) วุฒิปริญญาเอก ให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับเกณฑ์การพิจารณาความสามารถด้านภาษาต่างประเทศของการพิจารณาคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำ
ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
คะแนนผลการทดสอบภาษาอังกฤษของผู้สมัครเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกเพื่อรับการบรรจุแต่งตั้งเป็นครูกระบวนการตามข้อ ๑๒ (ข) (๑) และ (๒) จะต้องมีอายุไม่เกินสองปี นับจากวันที่ประกาศผล
การทดสอบจนถึงวันปิดรับสมัคร หากเป็นชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของภาษา (Native speaker) หรือเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ต้องส่งผลการทดสอบนี้
กรณีที่ผู้เข้ารับการคัดเลือกมีผลการสอบภาษาอังกฤษต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตามข้อ ๑๒ (ข) (๑) แต่คณะพิจารณาในเบื้องต้นว่า ผู้ได้รับการคัดเลือกรายนั้นมีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศอยู่ในระดับ
ที่จะสอบให้ได้คะแนนไม่น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ อาจเสนอขอให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุมัติการบรรจุแต่งตั้งผู้เข้ารับการคัดเลือกนั้นเป็นรายกรณีไปก่อน ในการนี้หากคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่คณะเสนอ อาจเสนอความเห็นให้อนุมัติการบรรจุแต่งตั้งผู้เข้ารับ
การคัดเลือกรายนั้น โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องไปเข้ารับการทดสอบภาษาต่างประเทศให้ได้คะแนนไม่น้อยกว่าที่กำหนดตามเกณฑ์ที่กำหนดภายในระยะเวลาไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง หากไม่เข้ารับการทดสอบหรือสอบได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และให้คณะมีหน้าที่กำกับดูแลการทดสอบและแจ้งผลการทดสอบให้มหาวิทยาลัยทราบภายในเวลาที่กำหนด
(ค) เกณฑ์การพิจารณาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับเกณฑ์
การพิจารณาคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำ ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
(ง) เกณฑ์การพิจารณาจริยธรรม คุณธรรมและความฉลาดทางอารมณ์ ให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจำ
ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี
เอกสารแนบท้ายประกาศ
เกณฑ์เกี่ยวกับการทดสอบความสามารถทางด้านภาษาต่างประเทศ
ประเภทการทดสอบ เกณฑ์คะแนน
๑) TOEFL
Paper Based ๕๒๕ คะแนนขึ้นไป
Computer Based ๑๘๗ คะแนนขึ้นไป
Internet Based ๖๖ คะแนนขึ้นไป
๒) IELTS ระดับ ๕.๕ ขึ้นไป
๓) TU – GET ๔๕๐ คะแนนขึ้นไป
๔) CU – TEP ๖๗ คะแนนขึ้นไป