ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๑
——————————————
โดยที่เห็นเป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการมีสิทธิในทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๑
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ทรัพย์สินทางปัญญา” หมายความว่า ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร รวมตลอดถึงการประดิษฐ์ กรรมวิธี และแบบผลิตภัณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร ความลับทางการค้า
ตามกฎหมายว่าด้วยความลับทางการค้า แบบผังภูมิของวงจรรวมตามกฎหมายว่าด้วยแบบผังภูมิของวงจรรวม
พันธุ์พืชตามกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองพันธุ์พืช และทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาหรือ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอื่นที่มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของหรือเป็นเจ้าของร่วม หรือได้รับอนุญาต
ให้บริหารจัดการหรือหาประโยชน์
“บุคลากร” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานเงินรายได้ และลูกจ้าง
ของมหาวิทยาลัย
“นักศึกษา” หมายความว่า นักศึกษาของมหาวิทยาลัย
“ผู้ได้รับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย
“ผลประโยชน์ตอบแทน” หมายความว่า เงิน หุ้น หรือผลประโยชน์ต่างตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีรักษาการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศมหาวิทยาลัย
เพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
ทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๕ ผลงานอันเกิดจากการสร้างสรรค์ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ หรือการออกแบบแบบผังภูมิตามกฎหมายว่าด้วยแบบผังภูมิของวงจรรวม อันเกิดขึ้นโดยการจ้าง หรือตามคำสั่งหรือในความควบคุม
ของมหาวิทยาลัยให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์ หรือเป็นผู้มีสิทธิขอรับความคุ้มครอง
ในแบบผังภูมินั้น เว้นแต่จะได้ตกลงไว้เป็นอย่างอื่น
หลักเกณฑ์ วิธีการ เกี่ยวกับการจ้าง การสั่ง การควบคุมการสร้างสรรค์ผลงานหรือการออกแบบ
และการทำความตกลงตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย ทั้งนี้
โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความเป็นธรรม และประโยชน์ของมหาวิทยาลัยประกอบด้วย
ข้อ ๖ ให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้มีสิทธิขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรและมีสิทธิได้รับการระบุชื่อว่าเป็น
ผู้ประดิษฐ์ในสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรในการประดิษฐ์หรือคิดค้นที่มหาวิทยาลัยหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัย
ได้กระทำขึ้นในระหว่างเวลาปฏิบัติงาน ในการปฏิบัติหน้าที่ ได้รับทุน หรือได้ใช้งบประมาณ ข้อมูล สถิติ รายงาน วิธีการ กรรมวิธี องค์ความรู้ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือทรัพยากรของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๗ ให้สิทธิในผลงานสร้างสรรค์ การออกแบบแบบผังภูมิ การประดิษฐ์ การคิดค้น
หรือการปรับปรุงพันธุ์พืชอันเกิดขึ้นร่วมกันระหว่างนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ได้กระทำในหน้าที่
อันมีลักษณะเป็นงานอันเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาหรือเพื่อการสำเร็จการศึกษาตกเป็นทรัพย์สินทางปัญญา
ของมหาวิทยาลัย โดยการทำข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างมหาวิทยาลัย นักศึกษา และบุคลากร
อธิการบดีอาจมอบอำนาจให้คณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานเป็นผู้มีอำนาจลงนามทำความตกลง
หรือสัญญาตามวรรคหนึ่ง หลักเกณฑ์และวิธีการมอบอำนาจให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วย
การรักษาการแทนและการมอบอำนาจให้ปฏิบัติการแทน
ข้อ ๘ ทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นผลงานที่มหาวิทยาลัยหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้กระทำ
ในหน้าที่ที่เป็นการกระทำร่วมกับบุคคลอื่นให้เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของมหาวิทยาลัยกับบุคคลนั้นตามสัดส่วนที่ได้มี
การตกลงกันไว้เป็นหนังสือ
ข้อ ๙ บุคลากรอาจโอนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของตนให้แก่มหาวิทยาลัย หรือมอบอำนาจ
ให้มหาวิทยาลัยบริหารจัดการและหาประโยชน์ตามข้อบังคับนี้ก็ได้
ข้อ ๑๐ นอกจากทรัพย์สินทางปัญญาตาม ข้อ ๕ ข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๘ และข้อ ๙ แล้ว มหาวิทยาลัยอาจได้ทรัพย์สินทางปัญญาโดยการรับโอน การรับมรดกสิทธิ หรือรับการอุทิศให้ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาของผู้โอน ทายาทของผู้ทรงสิทธิ หรือผู้อุทิศให้
ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีผู้อุทิศให้ ให้ดำเนินการจัดการตามวัตถุประสงค์ของผู้อุทิศให้
หมวด ๒
การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา
ข้อ ๑๑ ให้มีคณะกรรมการบริหารทรัพย์สินทางปัญญาประกอบด้วย อธิการบดีหรือรองอธิการบดี
ที่อธิการบดีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ และกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอื่นที่อธิการบดีแต่งตั้ง อีกจำนวน
ไม่เกิน ๕ คน
ให้ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจเป็นกรรมการและเลขานุการ
และให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้อีกจำนวนไม่เกินสองคน
กรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งแทน กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน
ข้อ ๑๒ ให้คณะกรรมการบริหารทรัพย์สินทางปัญญา มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเสนอ
ต่ออธิการบดีเพื่อออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
(๒) พิจารณาว่าทรัพย์สินทางปัญญาใดที่จะได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สิน
ทางปัญญา
(๓) ประเมินคุณค่าทางพาณิชย์ หรือธุรกิจของทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยเพื่อกำหนด
แนวทางการดำเนินการหาประโยชน์หรือทำความตกลงกับบุคลากรและผู้ขออนุญาตใช้ทรัพย์สินทางปัญญา
ของมหาวิทยาลัย
(๔) พิจารณาดำเนินการเพื่อเผยแพร่และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย
(๕) พิจารณาข้อตกลงหรือสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่มหาวิทยาลัยทำกับบุคคล
หรือหน่วยงานอื่น
(๖) จัดสรรประโยชน์อันเกิดจากทรัพย์สินทางปัญญาตามข้อบังคับนี้
(๗) ให้คำปรึกษาแก่บุคลากรในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
(๘) จัดทำรายงานประจำปีที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยเสนอต่ออธิการบดี
ข้อ ๑๓ ให้ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) ดำเนินการเพื่อการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยหรือบุคลากร
ของมหาวิทยาลัย
(๒) รวบรวมและจัดให้มีข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย
(๓) ดำเนินการเพื่อเผยแพร่และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา
(๔) ดำเนินการเจรจาต่อรอง ทำข้อตกลง หรือสัญญาที่เกี่ยวกับการบริหารหรือการหาประโยชน์
จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย
(๕) กำกับ ดูแล และติดตามการดำเนินการตามข้อตกลงหรือสัญญาที่เกี่ยวกับการบริหาร
หรือการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย
(๖) หน้าที่อื่น ๆ ที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย
หมวด ๓
การหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๔ ในการหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย ผู้ได้รับอนุญาตอาจให้ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
(๑) เงินค่าตอบแทน
(๒) ผลประโยชน์จากรายได้หรือรายได้สุทธิจากการประกอบการของผู้ได้รับอนุญาต
(๓) หุ้นชนิดที่ใช้เงินเต็มค่าหุ้นแล้วในบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด
(๔) ผลประโยชน์อื่นที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารทรัพย์สินทางปัญญาเห็นสมควร
ข้อ ๑๕ มหาวิทยาลัยอาจจัดตั้งหรือร่วมกับบุคลากรหรือบุคคลอื่นจัดตั้งนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยก็ได้
หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการจัดตั้ง หรือร่วมกับบุคคลอื่นในการจัดตั้งองค์กรที่เป็นนิติบุคคล
ข้อ ๑๖ เงินหรือผลประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยให้เป็นเงินรายได้
ของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง
ข้อ ๑๗ อธิการบดีอาจมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ
เป็นผู้มีอำนาจทำสัญญาโอนหรือรับโอนสิทธิ อนุญาตหรือรับอนุญาตให้ใช้สิทธิ จ้างหรือรับจ้างเป็นผู้ดำเนินการ
จดทะเบียนคุ้มครองสิทธิ หรือดำเนินการอื่นใดในการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้
หลักเกณฑ์และวิธีการมอบอำนาจให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการรักษาการแทน
และการมอบอำนาจให้ปฏิบัติการแทน
หมวด ๔
การจัดสรรหรือแบ่งปันผลประโยชน์
ข้อ ๑๘ การจัดสรรหรือแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างมหาวิทยาลัย
ส่วนงานที่บุคลากรสังกัด และบุคลากร ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศมหาวิทยาลัยที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารทรัพย์สินทางปัญญากำหนด
ข้อ ๑๙ การจัดสรรหรือแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์สินทางปัญญาตามข้อ ๗ ระหว่างมหาวิทยาลัย นักศึกษา และบุคลากรให้เป็นไปตามสัญญาหรือข้อตกลง
ข้อ ๒๐ การจัดสรรหรือแบ่งปันผลประโยชนที่ได้จากทรัพย์สินทางปัญญาตามข้อ ๘ ระหว่างมหาวิทยาลัยและผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมให้เป็นไปตามสัญญาหรือข้อตกลง
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๑ การดำเนินการเพื่อจัดหาประโยชน์ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการตามระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัยที่ใช้อยู่ในวันที่ดำเนินการเพื่อจัดหาประโยชน์นั้นต่อไป จนกว่า
จะดำเนินการแล้วเสร็จ
ประกาศ ณ วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย