ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิตสำหรับบุคลากร สายสนับสนุนวิชาการ พ.ศ. ๒๕๖๐
……………………………………….…………………
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์
และวิธีการจ่ายเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิตสำหรับบุคลากร สายสนับสนุนวิชาการ ในการศึกษาต่อระดับปริญญาโท หลักสูตรที่จัดการศึกษานอกเวลาราชการ เพื่อเป็นการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและนำความรู้
มาพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓(๒) และมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ และตามความในข้อ ๔๐(๔) แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๙ คณะกรรมการบริหารบุคคล โดยอธิการบดี
จึงออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิตสำหรับบุคลากร สายสนับสนุนวิชาการ พ.ศ. ๒๕๖๐”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสวัสดิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“บุคลากร” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพมาจากข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน สายสนับสนุนวิชาการ
“สวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิต” หมายความว่า สวัสดิการที่มหาวิทยาลัยจัดสรรจากเงินงบประมาณรายจ่ายจากรายได้พิเศษของมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยเหลือค่าหน่วยกิตให้แก่บุคลากรสายสนับสนุนวิชาการที่ศึกษาต่อระดับปริญญาโทภายในประเทศ ซึ่งเป็นหลักสูตรนอกเวลาราชการ และในสาขาวิชาที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานตามตำแหน่งของบุคลากรและหน่วยงาน
ข้อ ๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการสวัสดิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย
(๑) รองอธิการบดีที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารบุคคล เป็นประธานกรรมการ
(๒) ประธานสภาอาจารย์ ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการกองคลัง
และผู้อำนวยการกองทรัพยากรมนุษย์ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
(๓) กรรมการอื่นที่อธิการบดีแต่งตั้งอีกจำนวนไม่เกินห้าคน
(๔) หัวหน้างานสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ กองทรัพยากรมนุษย์ เป็นกรรมการ
และเลขานุการและอาจให้มีผู้ช่วยเลขานุการได้อีกไม่เกินสองคน
โดยให้คณะกรรมการ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี
ข้อ ๕ ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิต
(๒) ตรวจสอบและพิจารณากลั่นกรองการขอรับเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิต
(๓) พิจารณาจัดลำดับ และคัดเลือกผู้รับเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิตให้อยู่ภายในวงเงินที่ได้รับการจัดสรร
(๔) ให้คำปรึกษาและเสนอแนะความเห็นเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิต
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ อธิการบดีมอบหมาย
ข้อ ๖ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิให้ได้รับสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิต
(๑) เป็นข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพมาจากข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน สายสนับสนุนวิชาการสังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอายุไม่เกิน ห้าสิบปี นับถึงวันที่ขอรับสวัสดิการ และปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
(๒) ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยหรือถูกฟ้องคดีอาญา
(๓) เป็นผู้ที่หน่วยงานต้นสังกัดได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี ตั้งใจ ปฏิบัติหน้าที่และมีความรู้ความสามารถ
ข้อ ๗ หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิต
(๑) ต้องเป็นการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหลักสูตรนอกเวลาราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เว้นแต่มหาวิทยาลัยไม่มีสาขาที่ผู้ยื่นขอรับสวัสดิการประสงค์จะศึกษา หรือผู้ขอรับสวัสดิการ
ไม่สามารถสอบผ่านเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ คณะกรรมการอาจพิจารณาให้ศึกษาต่อ
ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแห่งอื่นที่สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยเดิมได้
(๒) สาขาที่จะศึกษาต้องเป็นสาขาวิชาที่ตรงตามคุณวุฒิสำหรับตำแหน่งที่ครองอยู่ในปัจจุบันหรือตำแหน่งที่หน่วยงานมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนตำแหน่งให้ตรงตามภาระงานที่รับผิดชอบอยู่และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานโดยรวมของหน่วยงาน
(๓) เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องมีเวลาปฏิบัติงานชดใช้ทุนจนครบถ้วนก่อนเกษียณอายุ
ข้อ ๘ แนวทางในการขอรับเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิต ให้ผู้ประสงค์ขอรับสวัสดิการ
ยื่นใบสมัครเสนอเรื่องผ่านผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดตามแบบฟอร์มที่มหาวิทยาลัยกำหนด เมื่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและให้ความเห็นแล้ว ให้ส่งใบสมัครพร้อมแผนการศึกษาของคณะที่จะศึกษาไปที่งานสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ กองทรัพยากรมนุษย์ ภายในกำหนดเพื่อนำเสนอคณะกรรมการสวัสดิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิจารณาคัดเลือก
ข้อ ๙ การจ่ายเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิตให้แก่บุคลากร ให้จ่ายดังนี้
(๑) ให้จ่ายเงินช่วยเหลือค่าหน่วยกิตตามหลักฐานค่าใช้จ่ายในการศึกษาเฉพาะค่าหน่วย
กิตแต่ละภาคการศึกษาจนครบหลักสูตร
(๒) ให้จ่ายค่าหน่วยกิตได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหน่วยกิตละ ๓,๕๐๐ บาท
(๓) ผู้ที่ได้รับสวัสดิการที่กำลังศึกษาอยู่ในแต่ละภาคการศึกษาแล้ว หากมีการศึกษาซ้ำวิชาเดิมจะขอรับการช่วยเหลือค่าหน่วยกิตสำหรับวิชาที่ศึกษาซ้ำอีกไม่ได้
(๔) กรณีหน่วยงานต้นสังกัดของผู้มีสิทธิคนใดได้จัดสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิตให้แล้ว
ผู้นั้นจะขอรับเงินช่วยเหลือค่าหน่วยกิตตามประกาศนี้อีกมิได้
ข้อ ๑๐ ให้ผู้ที่ได้รับสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิตทำสัญญาผูกพันให้ไว้กับมหาวิทยาลัย
โดยตกลงปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยชดใช้เป็นระยะเวลาเท่ากับระยะเวลาที่ศึกษา โดยให้นับระยะเวลาการปฏิบัติงานชดใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่สิ้นภาคการศึกษาภาคสุดท้าย
ในกรณีที่ผู้ได้รับสวัสดิการไม่ปฏิบัติงานชดใช้หรือปฏิบัติงานชดใช้ไม่ครบกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับสวัสดิการต้องรับผิดชอบชดใช้เงินที่รับไปคืนให้แก่มหาวิทยาลัย กับใช้เงินอีกหนึ่งเท่าของเงิน
ที่จะต้องชดใช้ดังกล่าวให้เป็นเบี้ยปรับแก่มหาวิทยาลัย โดยลดลงตามส่วนจำนวนเวลาที่ได้ปฏิบัติงานชดใช้ไปแล้ว
การทำสัญญาผูกพันให้ไว้กับมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนดโดยให้มีผู้ค้ำประกันด้วย
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๑๑ ผู้ที่ได้รับสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิตอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ให้ได้รับเงินสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิตเท่าที่ได้รับอยู่เดิมจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา
ข้อ ๑๒ ในกรณีที่คณะ สำนัก สถาบัน ศูนย์ หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ไม่มีสวัสดิการช่วยเหลือค่าหน่วยกิตลักษณะนี้หรือกำหนดจ่ายในอัตราที่ต่างจากนี้ จะนำประกาศนี้มาใช้โดยอนุโลม โดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายจากรายได้ของส่วนงานนั้นก็ได้ ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณบดี ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการศูนย์ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
(ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์