ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการเปลี่ยนสถานภาพของข้าราชการมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๘
โดยที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้บัญญัติให้โอนข้าราชการ
ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ มาเป็นข้าราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘
และข้าราชการดังกล่าว สามารถแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ตามข้อบังคับ มหาวิทยาลัย
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๓ และมาตรา ๙๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ และโดยมติสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๘/๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการเปลี่ยนสถานภาพของข้าราชการมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๘
ข้อ ๒ ข้อบังคับฉบับนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“พระราชบัญญัติ” หมายความว่า พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ส่วนงาน” หมายความว่า ส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ข้าราชการ” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด
ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“พนักงานมหาวิทยาลัย” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“การเปลี่ยนสถานภาพ” หมายความว่า การเปลี่ยนสถานภาพของข้าราชการมาเป็น
พนักงานมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอํานาจออกประกาศกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๕ ข้าราชการที่จะแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้
(๑) อยู่ระหว่างถูกดําเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง
(๒) เคยได้รับการพิจารณาไม่ให้เลื่อนขั้นหรือขึ้นเงินเดือนในรอบสองปีที่ผ่านมา
เว้นแต่การไม่เลื่อนขั้นเงินเดือน หรือขึ้นเงินเดือนจากเหตุได้รับอนุญาตให้ลาศึกษา ฝึกอบรม
และปฏิบัติงานวิจัย
ข้อ ๖ ข้าราชการที่ประสงค์จะเปลี่ยนสถานภาพ ต้องแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษร
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้ในข้อบังคับนี้ และตามกําหนดเวลาที่อธิการบดีกําหนด
โดยทําเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้าราชการที่ยื่นแบบแสดงเจตนาแล้ว จะถอนมิได้
ข้อ ๗ ผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนสถานภาพ ให้ได้รับเงินเดือนไม่น้อยกว่าหนึ่งจุดสี่ (๑.๔)
ของเงินเดือนที่ได้รับขณะเป็นข้าราชการ
ข้อ ๘ ผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนสถานภาพ ให้มีสิทธิได้รับเงินประจําตําแหน่ง
และเงินค่าตอบแทนอื่น นอกเหนือจากเงินเดือน ในอัตราตามที่สภามหาวิทยาลัยกําหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า
ที่เคยได้รับอยู่ในขณะเป็นข้าราชการ
ข้อ ๙ ในการแสดงเจตนาเพื่อขอเปลี่ยนสถานภาพ ให้ผู้แสดงเจตนาระบุเลือกวันที่ประสงค์
จะเปลี่ยนสถานภาพเพื่อให้มีผลเป็นวันพ้นสภาพการเป็นข้าราชการ และวันเริ่มต้นของการบรรจุ
เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ดังนี้
(๑) วันที่ ๒ ตุลาคม เป็นวันพ้นสภาพการเป็นข้าราชการและเป็นวันเริ่มต้น
การเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
(๒) วันที่ ๒ เมษายน เป็นวันพ้นสถานภาพเป็นข้าราชการและเป็นวันเริ่มต้น
การเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ในกรณีที่วันเริ่มต้นการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่งตรงกับวันหยุดราชการ
ให้วันแรกของการทํางานเป็นวันเริ่มต้นการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๐ ในกรณีที่ข้าราชการซึ่งมหาวิทยาลัยรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามข้อบังคับนี้
อยู่ระหว่างการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานชดใช้ตามสัญญาของข้าราชการที่ลาไปศึกษา ฝึกอบรม
และปฏิบัติการวิจัย ภายในประเทศหรือต่างประเทศ หรือสัญญารับทุนอื่นใด ให้ยังต้องผูกพันตามสัญญานั้น
อยู่ต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานชดใช้ครบกําหนดเวลาตามสัญญา โดยให้นับระยะเวลา
การปฏิบัติงานในตําแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานชดใช้ตามสัญญานั้นต่อไปได้
ข้อ ๑๑ ให้ข้าราชการซึ่งมหาวิทยาลัยรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามข้อบังคับนี้
ทําสัญญาปฏิบัติงานที่มีกำหนดเวลาจ้างจนถึงเกษียณอายุ โดยไม่ต้องทดลองงาน แต่ทั้งนี้ ให้มีการประเมิน
ผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๑๒ ให้อธิการบดีรายงานการเปลี่ยนสถานภาพและผลการเปลี่ยนสถานภาพ
ของข้าราชการตามข้อบังคับนี้ต่อสภามหาวิทยาลัยปีละครั้ง จนครบกําหนดสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้
มีผลใช้บังคับ
ข้อ ๑๓ การบริหารบุคคลในเรื่องที่มิได้มีกําหนดไว้ในข้อบังคับนี้ ให้บังคับตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
หมวด ๒
การแสดงเจตนาเพื่อขอเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ
ข้อ ๑๔ ข้าราชการที่แสดงเจตนาเพื่อขอเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ ให้เปลี่ยนสถานภาพได้โดยไม่จําต้องดําเนินการประเมินความรู้ความสามารถ
ข้อ ๑๕ การแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพตามความในหมวดนี้ให้ดําเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ข้าราชการที่ประสงค์จะแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพยื่นหนังสือแสดงเจตนา
เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยต่อส่วนงานที่ตนสังกัดตามแบบ ปสพ.๑ แนบท้ายข้อบังคับนี้
(๒) ให้ส่วนงานดําเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้แสดงเจตนาขอเปลี่ยนสถานภาพ
หากไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามข้อ ๕ ให้ดําเนินการส่งแบบแสดงเจตนาของผู้นั้นไปที่กองการเจ้าหน้าที่
เพื่อรวบรวมนําเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
(๓) เมื่ออธิการบดีอนุมัติให้รับข้าราชการผู้นั้นเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว
ให้ทําสัญญาจ้างปฏิบัติงานตามแบบที่อธิการบดีกําหนด
หมวด ๓
การแสดงเจตนาเพื่อขอเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
เมื่อพ้น ๑ ปีแต่ไม่เกิน ๓ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ
ข้อ ๑๖ ข้าราชการที่แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งปีแต่ไม่เกินสามปี
นับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ ให้มีการประเมินความรู้ความสามารถของข้าราชการผู้นั้น
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกําหนด
โดยทําเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ในกรณีที่ไม่ผ่านการประเมิน ผู้แสดงเจตนาอาจแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพได้อีก
เมื่อพ้นกําหนด ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการประเมินดังกล่าว
ข้อ ๑๗ การแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพตามความในหมวดนี้ให้ดําเนินการตามหลักเกณฑ์
และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ข้าราชการที่ประสงค์จะแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพ ยื่นหนังสือแสดงเจตนา
เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามแบบ ปสพ.๒ ต่อหัวหน้าส่วนงานที่ต้นสังกัด
หรือต่อรองอธิการบดีที่กํากับดูแลและบังคับบัญชาส่วนงานที่ตนสังกัด
(๒) ให้ส่วนงานหรือกองแล้วแต่กรณี ดําเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้แสดงเจตนา
ขอเปลี่ยนสถานภาพ หากไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามข้อ ๕ ให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินความรู้ความสามารถ ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนงานที่ผู้นั้นสังกัดอยู่
หรือรองอธิการบดีที่กํากับดูแลหรือบังคับบัญชา กองที่ผู้นั้นสังกัดอยู่เป็นประธานกรรมการ
และกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินสามคนและให้เลขานุการส่วนงานหรือผู้อํานวยการกอง
เป็นกรรมการและเลขานุการ
(๓) ให้คณะกรรมการประเมินความรู้ความสามารถ ดําเนินการประเมินความรู้ความสามารถของผู้แสดงเจตนาขอเปลี่ยนสถานภาพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบ
ของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยทําเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
(๔) ให้ส่วนงานดําเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและจัดให้มีการประเมินความรู้ความสามารถ
ให้แล้วเสร็จ ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันยื่นแบบแสดงเจตนา หากผลการประเมินปรากฏว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ให้ส่วนงานดําเนินการส่งหนังสือแสดงเจตนา
เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและผลการประเมินความรู้ความสามารถของผู้นั้นไปที่
กองการเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตรวจสอบและเสนอต่ออธิการบดีพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพ
และรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยต่อไป
(๕) เมื่ออธิการบดีอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพและรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว
ให้ส่วนงานหรือกองจัดทําสัญญาจ้างปฏิบัติงานตามแบบที่อธิการบดีกําหนด
หมวด ๔
การแสดงเจตนาเพื่อขอเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
เมื่อพ้นกำหนด ๓ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ
ข้อ ๑๘ เมื่อพ้นกําหนด ๓ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ มหาวิทยาลัยอาจให้ข้าราชการที่ยังไม่เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แสดงเจตนาขอเปลี่ยนสถานภาพ
ได้ตามความจําเป็นเพื่อประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย และมีอัตราตําแหน่งพนักงานรองรับ
ผู้ที่จะขอเปลี่ยนสถานภาพ
ข้อ ๑๙ การเปลี่ยนสถานภาพเมื่อพ้นกําหนด ๓ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ
ให้กระทําได้เมื่อได้มีการประเมินความรู้ความสามารถของข้าราชการผู้ขอเปลี่ยนสถานภาพ
ตามหลักเกณฑ์ที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนด
โดยทําเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๐ ในกรณีที่ผู้แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพไม่ผ่านการประเมินความรู้ความสามารถ
ให้ผู้นั้นคงเป็นข้าราชการอยู่ต่อไป และอาจแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพได้อีก เมื่อพ้นกําหนด ๑๘๐ วัน
นับแต่วันที่ได้รับการแจ้งผลการประเมิน
ข้อ ๒๑ ให้นําความในข้อ ๑๗ มาใช้กับกรณีการแสดงเจตนาเพื่อขอเปลี่ยนสถานภาพ
ในหมวดนี้ โดยอนุโลม
หมวด ๕
การอุทธรณ์
ข้อ ๒๒ ข้าราชการที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจํามหาวิทยาลัย ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ผลการพิจารณา
หมวด ๖
การแสดงเจตนาเพื่อขอเปลี่ยนสถานภาพของอธิการบดี
ข้อ ๒๓ ในกรณีที่อธิการบดีมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนสถานภาพมาเป็น
พนักงานมหาวิทยาลัย ให้แสดงเจตนาขอเปลี่ยนสถานภาพเป็นหนังสือต่อสภามหาวิทยาลัย
เมื่อสภามหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติให้อธิการบดีเปลี่ยนสถานภาพแล้ว ให้มหาวิทยาลัยดําเนินการเปลี่ยนสถานภาพของอธิการบดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแสดงเจตนา
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๔ สําหรับผู้ที่ดํารงตําแหน่งคณบดี ผู้อํานวยการสถาบัน สํานัก หรือหัวหน้าหน่วยงาน
ที่มีฐานะ เทียบเท่า หรือข้าราชการที่จะเกษียณอายุในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ ที่มีความประสงค์
ที่จะเปลี่ยนสถานภาพ ให้ยื่นแบบแสดงเจตนา แบบ ปสพ.๑ ต่อส่วนงานที่ตนสังกัดได้
ภายในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ โดยไม่ต้องระบุวันพ้นสภาพเป็นข้าราชการ
และวันเริ่มต้นการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และเมื่อส่วนงานได้ตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว
ไม่พบลักษณะต้องห้ามตาม ข้อ ๕ ให้ส่วนงานดําเนินการส่งแบบแสดงเจตนาของผู้นั้นไปที่กองการเจ้าหน้าที่เพื่อนําเสนอต่ออธิการบดีพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพและรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ภายในวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๘
ให้วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๘ เป็นวันสิ้นสุดการเป็นข้าราชการและเป็นวันเริ่มต้นการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนสถานภาพตามวรรคหนึ่ง
เมื่ออธิการบดีได้อนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพและรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว
ให้ผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนสถานภาพทําสัญญาปฏิบัติงานตามแบบที่อธิการบดีกําหนด
ผู้ดํารงตําแหน่งคณบดี ผู้อํานวยการสถาบัน สํานัก หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่า
ที่มิได้ยื่นแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ยังคงสามารถที่จะแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพตามที่กําหนดไว้
ในหมวด ๒ หมวด ๓ หรือ หมวด ๔ แล้วแต่กรณี
ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย