ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙
………………………………………………..
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน พ.ศ. ๒๕๕๙
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ ประกอบมาตรา ๑๐ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๖
มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘
และโดยมติสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙
เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ชื่อข้อบังคับ
ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙”
ข้อ ๒ เวลาที่มีผลใช้บังคับ
ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ผู้รักษาการ
ให้อธิการบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๔ การยกเลิกความในข้อบังคับและกำหนดให้ใช้ความใหม่แทน
ให้ยกเลิกความในลักษณะ ๓ การดำเนินงานภายในสำนักงานและศูนย์ซึ่งขึ้นตรงต่ออธิการบดี
ข้อ ๗๔ คุณสมบัติของผู้อำนวยการและการแต่งตั้ง ถึงข้อ ๘๕ อำนาจหน้าที่คณะกรรมการบริหารศูนย์
ลักษณะ ๔ สำนักงานสภามหาวิทยาลัย ข้อ ๘๖ คุณสมบัติผู้อำนวยการ การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่ง และข้อ ๘๗ การแบ่งหน่วยงานภายใน ลักษณะ ๕ สำนักงานที่มีหน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุน
การบริหารมหาวิทยาลัย ข้อ ๘๘ การแบ่งส่วนงานภายใน ถึงข้อ ๙๐ คุณสมบัติ การแต่งตั้ง
และการพ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการกอง และบทเฉพาะกาล ข้อ ๙๑ การปฏิบัติกรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย และข้อ ๙๒ การสรรหาผู้บริหารที่กำลังดำเนินการอยู่ก่อนข้อบังคับฉบับนี้ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน
พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน
ลักษณะ ๓
การดำเนินงานภายในสำนักงาน
หมวด ๑
การดำเนินงานภายในสำนักงานสภามหาวิทยาลัย
และสำนักงานตรวจสอบภายใน
——————————————–
ข้อ ๗๔ คุณสมบัติของผู้อำนวยการ การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่ง
ในสำนักงานสภามหาวิทยาลัยและสำนักงานตรวจสอบภายใน ให้มีผู้อำนวยการคนหนึ่ง
เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสำนักงาน
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ การแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๒
การดำเนินงานภายใน
สำนักงานที่มีหน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุนการบริหารมหาวิทยาลัย
——————————————–
ข้อ ๗๕ คุณสมบัติ การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการสำนักงาน
ในสำนักงานที่มีหน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุนการบริหารมหาวิทยาลัย
ให้มีผู้อำนวยการสำนักงานคนหนึ่งรับผิดชอบงานของสำนักงาน และปฏิบัติงานตามที่อธิการบดีมอบหมาย
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ การแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการสำนักงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๗๖ คุณสมบัติ การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการกอง
ในกองที่เป็นส่วนงานในสำนักงานที่มีหน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุนการบริหารมหาวิทยาลัยให้มีผู้อำนวยการคนหนึ่ง เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของกอง
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ การแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการกอง
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนด
โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๓
การดำเนินงานภายในสำนักงานและส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงาน
ที่หน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุนการศึกษา
ส่วนที่ ๑
ผู้อำนวยการสำนักงาน
——————————————–
ข้อ ๗๗ คุณสมบัติของผู้อำนวยการและการแต่งตั้ง
ในสำนักงานให้มีผู้อำนวยการคนหนึ่งที่อธิการบดีแต่งตั้ง เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสำนักงาน
ผู้อำนวยการต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัย
หรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง
(๒) มีความรู้ความสามารถในด้านที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของสำนักงาน หรือด้านการบริหารงาน
(๓) สามารถปฏิบัติงานในสำนักงานได้เต็มเวลา
ข้อ ๗๘ อำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ
ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือนโยบาย
ของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
(๒) บริหารงานบุคคล การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
ที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของสำนักงาน ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
(๓) จัดทำแผนพัฒนาสำนักงานเพื่อเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาและนำเสนอ
สภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๔) ดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานของสำนักงานที่ได้รับการพิจารณา
ให้ความเห็นชอบหรือได้รับการอนุมัติจากอธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยแล้ว
(๕) ดำเนินการเพื่อจัดหารายได้และทรัพยากรอื่นจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุน
การดำเนินงานของสำนักงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
(๖) จัดทำงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานเสนอต่ออธิการบดี
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๗) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของสำนักงานเสนอต่ออธิการบดี
เพื่อพิจารณาและนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่ง
หรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
ข้อ ๗๙ วาระการดำรงตำแหน่ง
ผู้อำนวยการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้
แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
ข้อ ๘๐ การพ้นจากตำแหน่ง
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยสั่งให้ออก
เพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ
หรือมีการกระทำใดอันขัดต่อปณิธานของมหาวิทยาลัยตามาตรา ๗ วรรคสอง หรือบริหารงานสำนักงาน
ในทางที่ขัดกับหลักการบริหารมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๘ อย่างร้ายแรง
ส่วนที่ ๒
คณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน
——————————————–
ข้อ ๘๑ องค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน
ในสำนักงานให้มีคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน ประกอบด้วย
(๑) อธิการบดีเป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่อธิการบดีแต่งตั้งจากผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
และบุคคลภายนอก อีกไม่น้อยกว่าสิบคน แต่ไม่เกินสิบสี่คน
ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และอาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
ของสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้อีกไม่เกินสองคน
ข้อ ๘๒ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน
คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) วางนโยบายและแผนงานของสำนักงานให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย
เสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
(๒) พิจารณางบประมาณของสำนักงานเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
(๓) กำกับดูแลการบริหาร การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของสำนักงาน
ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศมหาวิทยาลัย
(๔) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นแก่ผู้อำนวยการสำนักงาน
(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย
ข้อ ๘๓ การดำเนินงานของสำนักงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
ในการดำเนินงานของสำนักงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน หรือมีความจำเป็นที่จะต้องประสานหรือบูรณาการให้การดำเนินงานสอดคล้องตามนโยบายของมหาวิทยาลัย หรือต้องใช้ทรัพยากรร่วมกัน
อาจให้มีคณะกรรมการที่ประกอบด้วย อธิการบดีเป็นประธานกรรมการ รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมาย ผู้อำนวยการสำนักงานที่เกี่ยวข้อง และกรรมการอื่นที่อธิการบดีแต่งตั้ง เพื่อทำหน้าที่พิจารณากำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแผนการดำเนินงานของสำนักงานร่วมกันหรือหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
จากสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีก็ได้
หมวด ๔
สำนักงานที่มีหน้าที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยเพื่อความเป็นเลิศ
ส่วนที่ ๑
ผู้อำนวยการสำนักงาน
——————————————–
ข้อ ๘๔ คุณสมบัติของผู้อำนวยการและการแต่งตั้ง
ในสำนักงานให้มีผู้อำนวยการคนหนึ่งที่อธิการบดีแต่งตั้ง เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสำนักงาน
ผู้อำนวยการต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัย
หรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง
(๒) มีความรู้ความสามารถในด้านที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของสำนักงาน หรือด้านการบริหารงาน
(๓) สามารถปฏิบัติงานในสำนักงานได้เต็มเวลา
ข้อ ๘๕ อำนาจหน้าที่ผู้อำนวยการ
ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบบริหารงานสำนักงาน และสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ที่จัดตั้งขึ้น
ในสำนักงาน
(๒) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของสำนักงานเสนอต่ออธิการบดี
เพื่อพิจารณาและนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๓) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่ง
หรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
ข้อ ๘๖ วาระการดำรงตำแหน่ง
ผู้อำนวยการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้
แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
ข้อ ๘๗ การพ้นจากตำแหน่ง
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการสำนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยสั่งให้ออก
เพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ
หรือมีการกระทำใดอันขัดต่อปณิธานของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗ วรรคสอง หรือบริหารงานในทางที่ขัดกับหลักการบริหารมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๘ อย่างร้ายแรง
ส่วนที่ ๒
คณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน
——————————————–
ข้อ ๘๘ องค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน
ในสำนักงานให้มีคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน ประกอบด้วย
(๑) อธิการบดีเป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้อำนวยการศูนย์ซึ่งเป็นหน่วยงานในสำนักงาน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่อธิการบดีแต่งตั้งอีกไม่เกิน ๕ คน
ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเป็นกรรมการและเลขานุการ และอาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงาน
ในมหาวิทยาลัยของสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้อีกไม่เกินสองคน
ข้อ ๘๙ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน
คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) วางนโยบายและแผนงานของสำนักงานและศูนย์ให้สอดคล้องกับนโยบาย
ของมหาวิทยาลัยเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
(๒) พิจารณางบประมาณของสำนักงานและศูนย์เสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
(๓) กำกับดูแลการบริหาร การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของสำนักงานและศูนย์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาวิทยาลัย
(๔) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นแก่ผู้อำนวยการสำนักงานและผู้อำนวยการศูนย์
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย
ส่วนที่ ๓
หน่วยงานภายในสำนักงาน
——————————————–
ข้อ ๙๐ การแบ่งหน่วยงานภายในสำนักงาน
ในสำนักงานอาจแบ่งหน่วยงานเป็นศูนย์
การจัดตั้ง การรวม การเปลี่ยนแปลง การยุบเลิก และอำนาจหน้าที่ของศูนย์
ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๙๑ คุณสมบัติของผู้อำนวยการศูนย์และการแต่งตั้ง
ในศูนย์ให้มีผู้อำนวยการศูนย์ที่อธิการบดีแต่งตั้งคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของศูนย์
ผู้อำนวยการศูนย์ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัย
หรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง
(๒) มีความรู้ความสามารถในด้านที่เกี่ยวกับข้องกับหน้าที่ของศูนย์
(๓) สามารถปฏิบัติงานในศูนย์ได้เต็มเวลา
ข้อ ๙๒ อำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการศูนย์
ผู้อำนวยการศูนย์ เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของศูนย์และโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของศูนย์ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย
ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
(๒) บริหารงานบุคคล การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
ที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของศูนย์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ
หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
(๓) จัดทำแผนพัฒนาศูนย์เพื่อเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาและนำเสนอสภามหาวิทยาลัย
เพื่อพิจารณา
(๔) ดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานของศูนย์ที่ได้รับการพิจารณา
ให้ความเห็นชอบหรือได้รับการอนุมัติจากอธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยแล้ว
(๕) ดำเนินการเพื่อจัดหารายได้และทรัพยากรอื่นจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุน
การดำเนินงานของศูนย์ให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
(๖) จัดทำงบประมาณรายรับและรายจ่ายของศูนย์เสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณา
ให้ความเห็นชอบ และนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๗) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของศูนย์เสนอต่ออธิการบดี
เพื่อพิจารณาและนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่ง
หรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
ข้อ ๙๓ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง
ผู้อำนวยการศูนย์มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้
แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการศูนย์พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยสั่งให้ออก
เพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ
หรือมีการกระทำใดอันขัดต่อปณิธานของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗ วรรคสอง หรือบริหารงานในทางที่ขัดกับหลักการบริหารมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๘ อย่างร้ายแรง
ข้อ ๙๔ คณะกรรมการบริหารศูนย์
ในศูนย์ให้มีคณะกรรมการบริหารศูนย์ที่อธิการบดีแต่งตั้ง ประกอบด้วยผู้อำนวยการศูนย์
เป็นประธาน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินแปดคน
ให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการอีก
ไม่เกิน ๒ คน
ข้อ ๙๕ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารศูนย์
คณะกรรมการบริหารศูนย์ มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่ผู้อำนวยการศูนย์
ในการบริหารศูนย์ และหน้าที่อื่นที่อธิการบดีหรือผู้อำนวยการศูนย์มอบหมาย
หมวด ๕
ส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงาน ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการหรือจัดหารายได้
ซึ่งมีการบริหารแบบวิสาหกิจ
——————————————–
ข้อ ๙๖ โครงสร้างและการบริหารภายในส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงานที่มีหน้าที่ให้บริการหรือจัดหารายได้ซึ่งมีการบริหารงานแบบวิสาหกิจ
โครงสร้างและการบริหารภายในส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงาน
ที่มีหน้าที่ให้บริการหรือจัดหารายได้ซึ่งมีการบริหารงานแบบวิสาหกิจ ให้เป็นไปตามที่อธิการบดี
โดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๙๗ การปฏิบัติกรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย
เพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย ให้หัวหน้างานประชุมปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัยตามข้อบังคับนี้
ไปพลางก่อน
ข้อ ๙๘ การสรรหาผู้บริหารที่กำลังดำเนินการอยู่ก่อนข้อบังคับฉบับนี้
การดำเนินการสรรหาคณบดี ผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก หรือหัวหน้าภาควิชา
ที่ได้ดำเนินการก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับและยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับที่ว่าด้วยการสรรหาคณบดี ผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก หรือหัวหน้าภาควิชาที่มีอยู่เดิมไปจนการสรรหาเสร็จสิ้น
ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย