ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการจ่ายเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ พ.ศ. ๒๕๕๖
—————————–
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัย และพนักงานเงินรายได้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนิติกรที่มีคุณสมบัติ มีความรู้ความสามารถ ทักษะและพฤติกรรมที่เหมาะสมเป็นตำแหน่ง
ที่มีเหตุพิเศษ สมควรได้รับเงินเพิ่มตามแนวทางการบริหารบุคคลภาครัฐ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาบุคลากร
และสนับสนุนให้การปฏิบัติภาระงานด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ (๒) และ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ สภามหาวิทยาลัยจึงตราระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ชื่อระเบียบ
ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจ่ายเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ พ.ศ. ๒๕๕๖”
ข้อ ๒ การมีผลใช้บังคับ
ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ บทนิยาม
ในระเบียบนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ก.พ.อ.” หมายความว่า คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
“หน่วยงาน” หมายความว่า คณะ สำนัก สถาบัน หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ทั้งที่มีสถานะเป็นส่วนราชการ และที่จัดตั้งโดยมติสภามหาวิทยาลัย
“นิติกร” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานเงินรายได้ ที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนิติกร ในสังกัดสำนักงานนิติการ
ข้อ ๔ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่ม
ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนิติกรที่มีคุณสมบัติ มีความรู้ความสามารถ ทักษะ และพฤติกรรมที่เหมาะสม ตามผลการเมินตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ และให้ได้รับเงินเพิ่มตามอัตราที่กำหนดใน ข้อ ๕
(๑) ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งนิติกรตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและตามลักษณะงาน
ด้านกฎหมาย ลักษณะงานอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างใน ๑๔ ลักษณะงานที่ ก.พ.อ. กำหนดตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตำแหน่งนิติกร ให้แก่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
(๒) ผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านกฎหมาย หรือการบริหารงาน
ในมหาวิทยาลัย นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนิติกร โดยต้องมีสัดส่วนผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านกฎหมายไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
(๓) ผ่านกระบวนการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามข้อ ๖
ข้อ ๕ อัตราการจ่ายเงินเพิ่ม
ให้จ่ายเงินเพิ่มแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนิติกรที่มีคุณสมบัติและผ่านการประเมินให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตาม ข้อ ๔ ในอัตรา ดังต่อไปนี้
(๑) นิติกรที่ปฏิบัติงานด้านกฎหมายไม่น้อยกว่า ๒ ปี และผ่านการอบรมตามข้อ ๔ (๒) ไม่น้อยกว่า ๒๐ ชั่วโมง ให้ได้รับเงินเพิ่มในอัตราเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท
(๒) นิติกรที่ปฏิบัติงานด้านกฎหมายไม่น้อยกว่า ๔ ปี และผ่านการอบรมตามข้อ ๔ (๒) ไม่น้อยกว่า ๔๐ ชั่วโมง ให้ได้รับเงินเพิ่มในอัตราเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท
(๓) นิติกรที่ปฏิบัติงานด้านกฎหมายไม่น้อยกว่า ๙ ปี และผ่านการอบรมตามข้อ ๔ (๒) ไม่น้อยกว่า ๘๐ ชั่วโมง ให้ได้รับเงินเพิ่มในอัตราเดือนละ ๔,๕๐๐ บาท
(๔) นิติกรที่ปฏิบัติงานด้านกฎหมายไม่น้อยกว่า ๑๒ ปี และผ่านการอบรมตามข้อ ๔ (๒) ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ชั่วโมง ให้ได้รับเงินเพิ่มในอัตราเดือนละ ๖,๐๐๐ บาท
ข้อ ๖ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก
ให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนิติกร เพื่อให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตามข้อ ๔ (๓) ดังนี้
(๑) การประเมินความรู้ความสามารถของบุคคล
กำหนดให้มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานนิติการเป็นประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายภายนอกมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานนิติการ เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ หรือหัวหน้างานในสังกัดกองการเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นเลขานุการ
ให้ผู้ขอรับการคัดเลือกจัดทำผลงานหรือผลสำเร็จของงานด้านกฎหมายที่ได้จัดทำขึ้นในระหว่างดำรงตำแหน่งนิติกร หรือข้อเสนอการปรับปรุง หรือพัฒนางานด้านกฎหมายพร้อมทั้งเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงหรือพัฒนางานดังกล่าวให้ดีขึ้นอย่างน้อยจำนวน ๑ เรื่อง นำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ด้านกฎหมาย เพื่อพิจารณาประเมินโดยในการประเมินให้พิจารณาจากระดับความรู้ ความเข้าใจ รวมไปถึงทักษะ ความชำนาญ และประสบการณ์ในการร่างกฎหมาย การปรับใช้กฎหมายและตีความกฎหมายของผู้ขอรับการคัดเลือกอันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีระดับความยาก
ที่แตกต่างกันในแต่ละระดับตำแหน่ง และให้กำหนดระดับผลการประเมินเป็น ๒ ระดับได้แก่ ผ่านและไม่ผ่าน
(๒) การประเมินคุณลักษณะและพฤติกรรมของบุคคล
ให้กำหนดองค์ประกอบการประเมินคุณลักษณะและพฤติกรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนิติกร เพื่อคัดเลือกให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ดังปรากฏตามเอกสารแนบท้ายระเบียบนี้ และให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ขอรับการคัดเลือกและผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เป็นผู้ประเมินคุณลักษณะและพฤติกรรมของบุคคล
ผู้ที่ผ่านการประเมินคุณลักษณะและพฤติกรรมของบุคคลต้องได้คะแนนตั้งแต่ร้อยละ ๗๐ ขึ้นไป
(๓) เมื่อได้ดำเนินการประเมินตามข้อ ๖ (๑) และ (๒) แล้ว ให้เสนอรายงานผลการประเมินต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณา
ข้อ ๗ การออกคำสั่ง
ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรที่มีคุณสมบัติครบถ้วนผ่านการประเมินความรู้ความสามารถของบุคคล และผ่านการประเมินคุณลักษณะและพฤติกรรมของบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและอธิการบดีได้พิจารณาเห็นชอบให้ “ผ่านการคัดเลือก” แล้ว ให้อธิการบดีมีคำสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรผู้นั้นได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตามอัตราที่กำหนดในข้อ ๕ โดยให้มีผลย้อนหลังไปไม่ก่อนวันที่มหาวิทยาลัยได้รับแบบสรุปคุณสมบัติและผลงานของผู้ดำรงตำแหน่งนิติกร ซึ่งมีรายละเอียดครบถ้วน สมบูรณ์ โดยไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ
ข้อ ๘ การอนุโลมใช้หลักเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด
การดำเนินการใดที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ซึ่งมิได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ (พ.ต.ก.) ของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุมดมศึกษาที่ ก.พ.อ. กำหนดโดยอนุโลม
ข้อ ๙ การนำระเบียบนี้ไปใช้กับหน่วยงาน
ในกรณีที่หน่วยงานใดของมหาวิทยาลัยมีผู้ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนิติกร
และไม่มีการเบิกจ่ายเงินเพิ่มในลักษณะนี้ให้ หากหัวหน้าหน่วยงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำหน่วยงานเห็นสมควรให้มีการเบิกจ่ายเงินเพิ่มในลักษณะนี้ให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนิติกรประจำหน่วยงานนั้น ให้สามารถนำระเบียบนี้มาอนุโลมใช้ โดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณของหน่วยงานได้
ข้อ ๑๐ ผู้รักษาการตามระเบียบ
ให้อธิการบดีรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งมหาวิทยาลัย รวมตลอดถึงการวินิจฉัย ตีความ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖
(ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย