ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยโครงการบริการสังคมของหน่วยงานในมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๒
—————————–
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบว่าด้วย โครงการบริการสังคมของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยให้เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินโครงการบริการสังคมของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยยิ่งขึ้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๓๑ สภามหาวิทยาลัยจึงตราระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ชื่อระเบียบ
ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยโครงการบริการสังคมของหน่วยงานในมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๒”
ข้อ ๒ การมีผลบังคับใช้
ระเบียบนี้ให้มีผลใช้บังคับกับโครงการบริการสังคมที่หน่วยงานเสนอขออนุมัติโครงการและอนุมัติประมาณการรายรับรายจ่ายของโครงการต่อมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ การยกเลิกระเบียบเดิม
ให้ยกเลิก
(๑) ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยโครงการบริการสังคมของหน่วยงานในมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐
(๒) ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยโครงการบริการสังคมของหน่วยงานในมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑
ข้อ ๔ คำนิยาม
ในระเบียบนี้
“หน่วยงาน” หมายความว่า หน่วยงานตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการเงิน
และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
“หัวหน้าหน่วยงาน” หมายความว่า หัวหน้าหน่วยงานตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
“โครงการ” หมายความว่า โครงการบริการสังคม ซึ่งหน่วยงานในมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดขึ้นตามหลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ที่กำหนดในระเบียบนี้
“โครงการย่อย” หมายความว่า โครงการต่าง ๆ ทั้งโครงการบริการการศึกษา (เพื่อรับปริญญา) และโครงการบริการวิชาการที่หน่วยงานในมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริการสังคมของหน่วยงานนั้น
“เจ้าหน้าที่การเงิน” หมายความว่า ผู้ที่หัวหน้าหน่วยงานแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รับจ่ายเงินของโครงการบริการสังคมและ/หรือโครงการย่อยในหน่วยงานนั้น
“เจ้าหน้าที่บัญชี” หมายความว่า ผู้ที่หัวหน้าหน่วยงานแต่งตั้งให้มีหน้าที่จัดทำบัญชีและงบการเงินของโครงการบริการสังคมและ/หรือโครงการย่อยในหน่วยงานนั้น
“สำนักงานตรวจสอบภายใน” หมายความว่า สำนักงานตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อ ๕ ผู้รักษาการตามระเบียบ
ให้อธิการบดีรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศมหาวิทยาลัยกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้ได้
หมวดที่ ๑
บททั่วไป
ข้อ ๖ วัตถุประสงค์ของโครงการ
โครงการจะต้องเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการทางการศึกษา บริการทางวิชาการ การสาธารณประโยชน์ หรือการบริการชุมชน รวมตลอดถึงโครงการที่หน่วยงานจัดร่วมกับสมาคม สถาบัน มูลนิธิ หรือหน่วยงานภายนอก ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัย
โครงการจะต้องมีรายได้เพียงพอสำหรับการดำเนินโครงการ โดยไม่ต้องของบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย และจะต้องได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยก่อนการดำเนินการ ตามที่กำหนดในระเบียบนี้
ข้อ ๗ ประเภทของโครงการ
โครงการจำแนกได้ ๒ ประเภท คือ
๗.๑ โครงการบริการการศึกษา (เพื่อรับปริญญา) ได้แก่ โครงการซึ่งมีลักษณะเป็นการจัดการเรียนการสอนเพื่อรับปริญญา หรือประกาศนียบัตรบัณฑิต ที่สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้อนุมัติ
๗.๒ โครงการบริการวิชาการ แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ
(๑) โครงการอบรมสัมมนา ได้แก่ โครงการที่มีวัตถุประสงค์หลักในการจัดการฝึกอบรม
จัดสัมมนาทางวิชาการให้แก่สังคม หรือให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัย
(๒) โครงการบริการทดสอบ วิเคราะห์ตัวอย่าง พัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โครงการที่มีวัตถุประสงค์หลักในการให้บริการวิชาการโดยใช้อุปกรณ์ เครื่องมือในห้องปฏิบัติการและใช้ความรู้ทางวิชาการและ/หรือวิชาชีพของบุคลากรของหน่วยงานนั้นในการให้บริการแก่สังคม และให้หมายความรวมถึงโครงการที่มีวัตถุประสงค์หลักในทำนองเดียวกันดังกล่าวแต่เรียกชื่ออย่างอื่นด้วย
(๓) โครงการบริการสถานที่ ได้แก่ โครงการที่มีวัตถุประสงค์หลักในการให้บริการการใช้สถานที่ที่หน่วยงาน/มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงและตกแต่ง ติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้เพื่อให้สถานที่นั้นสามารถใช้ได้เป็นการเฉพาะทางโดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทางวิชาการเฉพาะทางนั้นแก่สังคม
ทั้งนี้ อุปกรณ์ เครื่องมือในห้องปฏิบัติการ หรือสถานที่ ที่หน่วยงานจะนำมาใช้ในการให้บริการวิชาการ สำหรับโครงการตาม (๒) และ (๓) หน่วยงานจะต้องแจ้งรายการหรือทะเบียนทรัพย์สินไว้กับมหาวิทยาลัยและให้คำรับรองว่า การนำอุปกรณ์ เครื่องมือในห้องปฏิบัติการ หรือสถานที่เหล่านั้นมาให้บริการสังคมจะไม่กระทบต่อการเรียนการสอนของหน่วยงาน เพื่อประกอบในการขออนุมัติโครงการด้วย
ข้อ ๘ คณะกรรมการบริการสังคมของหน่วยงาน
ให้หน่วยงานที่มีการดำเนินโครงการแต่งตั้งคณะกรรมการของหน่วยงานขึ้นคณะหนึ่ง ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองก่อนนำเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติจากมหาวิทยาลัยและดูแลรับผิดชอบในการบริหารงานโครงการทุกโครงการของหน่วยงาน ตลอดทั้งดำเนินการจัดทำประมาณการรายรับรายจ่ายของโครงการย่อย
ทุกโครงการและประมาณการรายรับรายจ่ายรวมของโครงการของหน่วยงานเพื่อเสนอต่ออธิการบดีก่อนเริ่มต้นปีงบประมาณ หรือก่อนเริ่มดำเนินโครงการย่อย
ข้อ ๙ รายได้สุทธิจากการดำเนินงาน
ให้หน่วยงานจัดเก็บรายได้สุทธิที่ได้จากการดำเนินโครงการไว้ใช้จ่ายภายในหน่วยงานได้ โดยไม่ต้องนำส่งมหาวิทยาลัย และให้ถือเป็นรายได้ของหน่วยงานนั้น ๆ ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๐ การดำเนินการโครงการ
การอนุมัติโครงการและการควบคุมตรวจสอบของมหาวิทยาลัยสำหรับโครงการบริการการศึกษา (เพื่อรับปริญญา) และโครงการบริการวิชาการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างเดียวกัน เว้นแต่ในระเบียบนี้จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
การดำเนินงานโครงการภายในหน่วยงานให้เป็นไปตามที่หัวหน้าหน่วยงานกำหนดตามข้อเสนอของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการบริหารงานโครงการของหน่วยงานนั้น
หมวด ๒
การอนุมัติโครงการ
ข้อ ๑๑ การขออนุมัติโครงการ
ให้หัวหน้าหน่วยงานที่ประสงค์จะดำเนินการโครงการ ขออนุมัติดำเนินโครงการต่อมหาวิทยาลัย โดยชี้แจงหลักการและเหตุผลของโครงการ ผลที่คาดว่าจะได้รับตลอดทั้งแสดงประมาณการรายรับรายจ่ายของโครงการ ทั้งนี้ตามแบบที่กำหนดตามประกาศมหาวิทยาลัย
ในกรณีที่โครงการประกอบด้วยการดำเนินโครงการย่อยหลายโครงการให้หน่วยงานชี้แจงรายละเอียดของโครงการย่อยแต่ละโครงการประกอบด้วย
ข้อ ๑๒ ผู้มีอำนาจอนุมัติ
การอนุมัติให้ดำเนินการโครงการบริการการศึกษา (เพื่อรับปริญญา) ตามข้อ ๗.๑ ให้เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย
การอนุมัติให้ดำเนินการโครงการบริการวิชาการตามข้อ ๗.๒ ให้เป็นอำนาจของอธิการบดี
ข้อ ๑๓ อัตราส่วนของเงินค่าหน่วยกิตและเงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องนำส่งให้แก่มหาวิทยาลัย
โครงการบริการการศึกษา (เพื่อรับปริญญา) ที่หน่วยงานเสนอขออนุมัติดำเนินการ จะต้องกำหนดอัตราส่วนของเงินที่จะต้องนำส่งให้แก่มหาวิทยาลัย ดังนี้
(๑) โครงการบริการการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
ให้นำส่งเงินให้แก่มหาวิทยาลัยในอัตราร้อยละ ๑๐ ของเงินค่าหน่วยกิตและเงินค่าธรรมเนียมอื่นที่จัดเก็บได้ในแต่ละภาคการศึกษา
(๒) โครงการบริการการศึกษาระดับตั้งแต่ปริญญาโทขึ้นไป
ให้นำส่งเงินให้แก่มหาวิทยาลัยในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินค่าหน่วยกิตและเงินค่าธรรมเนียมอื่นที่จัดเก็บได้ในแต่ละภาคการศึกษา
เงินค่าธรรมเนียมอื่นตามความในวรรคก่อน หมายความว่า เงินรายรับทั้งหมดที่โครงการจัดเก็บได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากค่าหน่วยกิต และค่าธรรมเนียมการศึกษาตามข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ มิให้นำเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาตามข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะต้องนำส่งมหาวิทยาลัยทั้งจำนวนมารวมคำนวณเงินรายรับที่จะต้องนำส่งตามวรรคหนึ่งด้วย
ข้อ ๑๔ รายได้จากการจำหน่ายใบสมัคร
ในการดำเนินโครงการบริการการศึกษา (เพื่อรับปริญญา) ที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว ให้จัดรายได้จากการจำหน่ายใบสมัครในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรของโครงการ ดังนี้
(๑) เป็นรายได้ของโครงการในกรณีที่โครงการเป็นผู้จัดทำใบสมัคร หรือ
(๒) เป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยในกรณีที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดทำใบสมัคร แล้วแต่กรณี
ข้อ ๑๕ รายได้จากค่าสมัครสอบคัดเลือก
สำหรับค่าสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรของโครงการ ให้หน่วยงานนำเงินรายรับ
ค่าสมัครสอบในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษานำส่งให้เป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย และให้มหาวิทยาลัยจัดสรรเงินในอัตราร้อยละ ๔๐ ของรายได้ค่าสมัครสอบตามจำนวนผู้มีสิทธิเข้าสอบ หรือจัดสรรตามอัตราที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด คืนให้แก่หน่วยงานเพื่อนำไปเบิกจ่ายเป็นค่าออกข้อสอบ ค่าตรวจกระดาษคำตอบ ค่าตอบแทนกรรมการสอบสัมภาษณ์หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสอบ
ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นพิเศษอย่างยิ่งสำหรับโครงการบริการการศึกษา (เพื่อรับปริญญา) ที่ขออนุมัติดำเนินการใหม่ สภามหาวิทยาลัยอาจยกเว้นการนำส่งเงินให้แก่มหาวิทยาลัยตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด หรืออาจผ่อนผันการนำส่งเงินที่ต้องนำส่งตามระยะเวลาที่กำหนดในระเบียบนี้ ก็ได้
ข้อ ๑๖ อัตราส่วนของเงินรายรับที่จะต้องนำส่งให้แก่มหาวิทยาลัย
โครงการบริการวิชาการ ที่หน่วยงานเสนอขออนุมัติดำเนินการ จะต้องกำหนดอัตราส่วนของเงินที่จะต้องนำส่งให้แก่มหาวิทยาลัย ในโครงการประเภทต่าง ๆ ดังนี้
(๑) โครงการอบรม สัมมนา ตามข้อ ๗.๒(๑) ให้นำส่งให้แก่มหาวิทยาลัยในอัตราร้อยละ ๕ ของรายรับที่จัดเก็บไว้ก่อนหักค่าใช้จ่าย
ในกรณีที่เห็นสมควร ให้อธิการบดีมีอำนาจเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนของเงินที่ต้องนำส่งให้แก่มหาวิทยาลัยได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น โดยทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย แล้วรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบ
ในกรณีที่โครงการอบรม สัมมนาใดมีเหตุผลพิเศษอย่างยิ่งในทางการเงินที่ไม่อาจนำเงินส่งให้มหาวิทยาลัยตามที่กำหนดได้ เมื่อปรากฏว่า โครงการอบรม สัมมนานั้นมีลักษณะเป็นโครงการที่มุ่งให้บริการแก่สังคมหรือแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยแท้จริงและประมาณการรายรับรายจ่ายของโครงการแสดงว่าโครงการนั้นจะไม่มีรายได้เหลือพอเพียงสำหรับการส่งให้แก่มหาวิทยาลัยตามอัตราที่กำหนด หากหน่วยงานซึ่งดำเนินโครงการร้องขอในขณะขออนุมัติดำเนินการอธิการบดีมีอำนาจพิจารณายกเว้นหรือเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนของเงินที่ต้องนำส่งมหาวิทยาลัยให้แก่โครงการใดโครงการหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร
สำหรับโครงการอบรม สัมมนาที่หน่วยงานจัดร่วมกับสมาคม หรือชมรมศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย โดยที่สมาคมหรือชมรมศิษย์เก่าเป็นผู้ดำเนินงานโครงการเองทั้งหมด หากหน่วยงานซึ่งดำเนินโครงการร้องขอในขณะขออนุมัติดำเนินการ อธิการบดีมีอำนาจพิจารณายกเว้นหรือเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนของเงินที่ต้องนำส่งมหาวิทยาลัยได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขการยกเว้นหรือเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนของเงินที่ต้องนำส่งมหาวิทยาลัยตามวรรคก่อน
(๒) โครงการบริการทดสอบ วิเคราะห์ตัวอย่าง พัฒนาผลิตภัณฑ์ ตามข้อ ๗.๒(๒) ให้หน่วยงานจัดสรรเงินร้อยละ ๑๐ ของรายรับก่อนหักค่าใช้จ่ายเข้าบัญชีสำรองของหน่วยงานที่จัดไว้โดยเฉพาะสำหรับ
การบำรุงรักษาหรือการซื้อครุภัณฑ์ทดแทน และนำส่งมหาวิทยาลัยร้อยละ ๘ ของรายรับหลังจากหักค่าบำรุงรักษา หรือการซื้อครุภัณฑ์ทดแทน
(๓) โครงการบริการสถานที่ ตามข้อ ๗.๒(๓) ให้หน่วยงานจัดสรรเงินร้อยละ ๑๐ ของรายรับก่อนหักค่าใช้จ่ายเข้าบัญชีสำรองของหน่วยงานที่จัดไว้โดยเฉพาะสำหรับการบำรุงรักษาหรือการซื้อครุภัณฑ์ทดแทน และนำส่งมหาวิทยาลัยร้อยละ ๔๐ ของรายรับหลักจากหักค่าบำรุงรักษา หรือการซื้อครุภัณฑ์ทดแทน
ข้อ ๑๗ การขออนุมัติประมาณการรายรับรายจ่ายของโครงการประจำปี
ภายใต้บังคับวรรคสอง ก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ให้หน่วยงานเสนอขออนุมัติประมาณการรายรับรายจ่ายของโครงการของหน่วยงานทั้งโครงการบริการการศึกษา (เพื่อรับปริญญา) ที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว และโครงการบริการวิชาการ ที่ประสงค์จะดำเนินการในปีงบประมาณถัดไปต่ออธิการบดี
โครงการบริการการศึกษา (เพื่อรับปริญญา) ที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ อัตราและ/หรือเงื่อนไขในการดำเนินโครงการแตกต่างไปจากที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด จะต้องขออนุมัติต่อสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๘ การดำเนินงานตามโครงการ
เมื่อโครงการได้รับอนุมัติแล้ว ให้หน่วยงานดำเนินโครงการได้ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ได้รับอนุมัติอย่างเคร่งครัด
ในกรณีที่โครงการประกอบด้วยโครงการย่อยหลายโครงการ หากมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการประมาณการรายรับรายจ่าย หรือมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของโครงการย่อยใดในระหว่างปีงบประมาณ หน่วยงานจะต้องเสนอขออนุมัติโครงการย่อยนั้นเป็นการเฉพาะก่อนการดำเนินการ ทั้งนี้การขออนุมัติดังกล่าวให้รวมตลอดถึงการยกเลิกการดำเนินโครงการย่อยที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการแล้วด้วย
หมวด ๓
การดำเนินงานโครงการ
ข้อ ๑๙ รายรับของโครงการ
รายรับของโครงการมีดังนี้
(๑) รายรับจากการดำเนินงานของโครงการ
(๒) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้โครงการ
(๓) เงินผลประโยชน์อันเกิดจากการลงทุนของโครงการซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
(๔) รายรับอื่น ๆ
เงินรายรับทุกรายการให้นำฝากธนาคาที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตจากสภามหาวิทยาลัย หรือสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด อย่างช้าในวันทำการถัดไป
ข้อ ๒๐ รายจ่ายของโครงการ
รายจ่ายของโครงการมีดังนี้
(๑) รายจ่ายในการดำเนินงานของโครงการตามที่ปรากฏในประมาณการรายรับรายจ่ายของโครงการนั้น ๆ
(๒) รายจ่ายในการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้ในการดำเนินงานของโครงการตามที่ปรากฏในประมาณการรายรับรายจ่ายของโครงการ
(๓) รายจ่ายอื่น ที่คณะกรรมการของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการบริหารงานโครงการ เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยได้รับความเห็นชอบจากอธิการบดี
การจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันสำหรับรายการรายจ่ายตาม (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๑ กำหนดเวลานำส่งเงินแก่มหาวิทยาลัย
ให้หน่วยงานส่งเงินตามที่กำหนดในข้อ ๑๓ และข้อ ๑๖ ให้แก่มหาวิทยาลัย ตามกำหนดเวลา ดังนี้
(๑) โครงการบริการการศึกษา (เพื่อรับปริญญา) ตามข้อ ๗.๑ ให้นำส่งภายใน ๓๐ วันนับแต่วันสิ้นสุดการลงทะเบียนของแต่ละภาคการศึกษา
(๒) โครงการบริการวิชาการ ประเภทโครงการอบรม สัมมนา ตามข้อ ๗.๒ (๑) และโครงการบริการสถานที่ ตามข้อ ๗.๒ (๓) ให้นำส่งภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่การดำเนินโครงการนั้น ๆ เสร็จสิ้น
(๓) โครงการบริการวิชาการ ประเภทโครงการบริการทดสอบ วิเคราะห์ตัวอย่าง พัฒนาผลิตภัณฑ์ ตามข้อ ๗.๒ (๒) ให้นำส่งภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่การดำเนินโครงการนั้น ๆ เสร็จสิ้น หรือในกรณีที่หน่วยงานได้รับอนุมัติโครงการในลักษณะเป็นโครงการประจำปี ให้นำส่งภายใน ๓๐ วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
ข้อ ๒๒ การอนุมัติการจ่ายเงินในการดำเนินงานโครงการ
อำนาจในการอนุมัติการจ่ายเงินในการดำเนินงานโครงการเป็นของหัวหน้าหน่วยงาน หรือผู้ที่หัวหน้าหน่วยงานมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร
การจ่ายเงินทุกรายการให้จ่ายเป็นเช็คระบุชื่อผู้มีสิทธิรับเงินโดยขีดคร่อมเข้าบัญชีเฉพาะ (A/C PAYEE ONLY) และขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินสดย่อย
ข้อ ๒๓ เงินสดย่อยของโครงการ
ให้โครงการมีเงินสดย่อยไว้ใช้จ่ายได้ตามความเหมาะสม ตามจำนวนที่คณะกรรมการของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการบริหารโครงการกำหนด แต่ต้องไม่เกินโครงการย่อยละ ๓๐,๐๐๐ บาท
ข้อ ๒๔ การเบิกเงินทดรองจ่าย
การเบิกเงินทดรองจ่ายให้เบิกล่วงหน้าได้ก่อนที่จะเกิดรายจ่ายนั้นไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ และให้ทำใบสำคัญจ่ายหักล้างเงินทดรองจ่ายภายในสองสัปดาห์หลักจากเกิดรายจ่ายนั้น
ข้อ ๒๕ การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของโครงการ
ในกรณีที่โครงการของหน่วยงานใดประกอบด้วยโครงการบริการการศึกษา (เพื่อรับปริญญา) และ/หรือโครงการบริการวิชาการหลายโครงการ ให้แยกบัญชีรายรับรายจ่ายของแต่ละโครงการไว้ให้ชัดเจน และให้ถือว่ารายได้ หรือรายจ่ายของโครงการย่อยทั้งหมดนั้น เป็นรายได้หรือรายจ่ายรวมของโครงการของหน่วยงาน
ให้หัวหน้าหน่วยงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการบริหารโครงการทั้งหมดของหน่วยงาน มีอำนาจจัดสรรเงินรายได้สุทธิของโครงการของหน่วยงาน เป็นรายได้ของหน่วยงานตามจำนวนที่เห็นสมควร เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานได้
หมวด ๔
การควบคุมการดำเนินงาน
ข้อ ๒๖ หน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงาน
ให้หัวหน้าหน่วยงานที่มีการดำเนินโครงการควบคุม กำกับ และดูแลการดำเนินการให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ของโครงการที่ได้รับอนุมัติอย่างเคร่งครัด
ข้อ ๒๗ เจ้าหน้าที่การเงินของโครงการ
ให้หัวหน้าหน่วยงานที่มีการดำเนินโครงการแต่งตั้ง เจ้าหน้าที่การเงินของโครงการขึ้นเป็นการเฉพาะ
ให้เจ้าหน้าที่การเงินจัดทำรายงานการรับจ่ายเงิน เสนอต่อหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่หัวหน้าหน่วยงานมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการบริหารโครงการกำหนด
๒๘ เจ้าหน้าที่บัญชีของโครงการ
เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบให้หัวหน้าหน่วยงานแต่งตั้งเจ้าหน้าที่บัญชีเพื่อจัดทำบัญชีของโครงการตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๒๙ การตรวจสอบภายใน
ภายใต้บังคับวรรคสอง ให้สำนักงานตรวจสอบภายในเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีโครงการบริการสังคมของหน่วยงานทุกหน่วยงาน
เพื่อให้การตรวจสอบการดำเนินงานของโครงการของหน่วยงานเป็นไปอย่างถูกต้อง ให้สำนักงานตรวจสอบภายใน และรองอธิการบดีฝ่ายการคลังเสนอต่ออธิการบดีให้แต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายในคนหนึ่งหรือ
หลายคนเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีโครงการของหน่วยงานตามที่กำหนดในระเบียบนี้เป็นรายปี
ข้อ ๓๐ การจัดทำรายงานและงบการเงินของโครงการบริการวิชาการ
เมื่อการดำเนินการโครงการย่อยสำหรับโครงการบริการวิชาการในละโครงการเสร็จสิ้นลง ให้หัวหน้าหน่วยงานรับผิดชอบจัดทำรายงานผลการดำเนินงานโดยเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ตามรายละเอียดที่คณะกรรมการโครงการบริการสังคมของมหาวิทยาลัยกำหนดรวมทั้งจัดทำงบการเงินของโครงการย่อยหรือของโครงการแล้วแต่กรณี เสนอต่อมหาวิทยาลัยภายใน ๖๐ วันนับแต่วันสิ้นสุดโครงการ
งบการเงินดังกล่าวให้จัดทำขึ้นเป็น ๒ ชุด และให้ส่งให้แก่สำนักงานตรวจสอบภายในหรือ
ผู้ตรวจสอบภายในที่อธิการบดีแต่งตั้ง แล้วแต่กรณี กับ ส่งให้แก่กองคลัง
ให้สำนักงานตรวจสอบภายในหรือผู้ตรวจสอบภายในที่อธิการบดีแต่งตั้ง แล้วแต่กรณี ตรวจสอบงบการเงินและเสนอความเห็นต่ออธิการบดีภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันได้รับงบการเงิน
ข้อ ๓๑ การจัดทำรายงานและงบการเงินประจำปีของโครงการ
ให้หน่วยงานจัดทำรายงานผลการดำเนินงานโดยเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ตามรายละเอียดที่คณะกรรมการโครงการบริการสังคมของมหาวิทยาลัยกำหนด รวมทั้งการจัดทำงบการเงินประจำปีของโครงการ ซึ่งจะต้องประกอบด้วยงบการเงินของโครงการบริการการศึกษา
(เพื่อรับปริญญา) และ/หรือโครงการบริการวิชาการ กับงบการเงินรวมของโครงการของหน่วยงานเสนอต่อมหาวิทยาลัยภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย
งบการเงินดังกล่าวให้จัดทำขึ้นเป็น ๒ ชุด และให้ส่งให้แก่สำนักงานตรวจสอบภายในหรือ
ผู้ตรวจสอบภายในที่อธิการบดีแต่งตั้ง แล้วแต่กรณีกับส่งให้แก่กองคลัง
ข้อ ๓๒ การตรวจสอบงบการเงิน
ให้สำนักงานตรวจสอบภายในหรือผู้ตรวจสอบภายในที่อธิการบดีแต่งตั้ง แล้วแต่กรณี ตรวจสอบงบการเงินและเสนอความเห็นต่ออธิการบดี ภายใน ๑๕๐ วัน นับแต่วันได้รับงบการเงิน
ให้อธิการบดีรายงานผลการดำเนินการโครงการของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยให้สภามหาวิทยาลัยทราบทุกสิ้นปีงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๓๓ การกำหนดอัตราการจ่ายเงินของโครงการ
ภายใต้บังคับวรรคสองและวรรคสาม ในกรณีที่อธิการบดีเห็นเป็นการสมควร อธิการบดีมีอำนาจออกประกาศมหาวิทยาลัย กำหนดอัตราการจ่ายเงินของโครงการของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยและอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่โครงการจะเรียกเก็บได้
ภายหลังจากที่โครงการบริการการศึกษา (เพื่อรับปริญญา) ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการแล้วการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงรายการ อัตราค่าหน่วยกิตหรืออัตราค่าธรรมเนียมอื่นที่เรียกเก็บจากนักศึกษาให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ส่วนค่าธรรมเนียมการศึกษาที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยการนั้น
ภายหลังจากที่โครงการบริการวิชาการได้รับอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงรายการหรืออัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิการบดี
ข้อ ๓๔ คณะกรรมการโครงการบริการสังคมของมหาวิทยาลัย
เพื่อประโยชน์ในการประสานงาน และการควบคุมดูแลให้เป็นไปตามระเบียบนี้ อธิการบดีอาจแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการบริการสังคมของมหาวิทยาลัยขึ้น เพื่อเป็นคณะทำงานกลั่นกรองให้คำปรึกษาและให้ความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการต่ออธิการบดีก็ได้
ข้อ ๓๕ การอนุโลมระเบียบอื่นมาใช้
ในกรณีที่ระเบียบนี้มิได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะให้นำระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวด ๕
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๓๖ การมีผลใช้บังคับของระเบียบ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัยและ/หรือหน่วยงานเดิม
ให้ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัยและ/หรือหน่วยงานซึ่งได้ออกหรือสั่งโดยอาศัยอำนาจตามความในระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยโครงการบริการสังคมของหน่วยงานในมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยโครงการบริการสังคมของหน่วยงานในมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ และยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความในระเบียบนี้ และให้ถือเสมือนเป็นประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัยและ/หรือหน่วยงานที่ออกตามความในระเบียบนี้
ข้อ ๓๗ โครงการเดิมที่ได้รับอนุมัติแล้ว
บรรดาโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้ตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงการบริการสังคมของหน่วยงานในมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยโครงการบริการสังคมของหน่วยงานในมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
(ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล)
นายกสภามหาวิทยาลัย