ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑
……………………………………………..
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษา
ระดับบัณฑิตศึกษา
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๙/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๑
ให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษา
ระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับกับนักศึกษาซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
ในปีการศึกษา ๒๕๖๑ เป็นต้นไป
ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” ให้หมายความรวมถึงวิทยาลัย สถาบัน หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น
ของมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
“คณบดี” ให้หมายความรวมถึงผู้อํานวยการสถาบัน หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น
ที่จัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
“คณะกรรมการประจําคณะ” ให้หมายความรวมถึงคณะกรรมการประจําวิทยาลัย
สถาบัน หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่จัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
“ผู้อํานวยการบัณฑิตศึกษา” หมายความว่า ผู้อํานวยการบัณฑิตศึกษาหรือผู้อํานวยการ
โครงการบริการการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในแต่ละคณะ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณบดี
“กรรมการบัณฑิตศึกษา” หมายความว่า กรรมการบัณฑิตศึกษาของแต่ละคณะ
ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณบดี
“การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา” หมายความว่า การศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
หลักสูตรระดับปริญญาโท และหลักสูตรระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัย
“หลักสูตร” หมายความว่า หลักสูตรการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
“ภาคการศึกษา” หมายความว่า ภาคการศึกษาในระบบทวิภาค หรือในระบบไตรภาค
แต่ไม่รวมภาคฤดูร้อน
“สถาบันอุดมศึกษาอื่น” หมายความว่า มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่ได้รับ
การจัดตั้งตามกฎหมายของไทย หรือเป็นมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาของต่างประเทศ
“ข้อกําหนดหลักสูตร” หมายความว่า ข้อกําหนดหลักสูตรบัณฑิตศึกษาที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการศึกษาของหลักสูตรตามที่ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย
“นายทะเบียน” หมายความว่า ผู้อํานวยการสํานักงานทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๕ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอํานาจออกประกาศ
ของมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ได้
หมวด ๑
ระบบการจัดการศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษาประจำตัว
ข้อ ๖ มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาด้วยหลักการประสานงานด้านวิชาการระหว่างคณะ
คณะใดมีหน้าที่จัดการศึกษาในวิชาการด้านใดให้จัดการศึกษาในวิชาการด้านนั้นแก่นักศึกษา
ของมหาวิทยาลัยทุกคณะ คณะอื่นใดที่ไม่มีหน้าที่จัดการเรียนการสอนวิชานั้น หากมีเหตุผลจําเป็น
ที่จะต้องจัดการสอนรายวิชานั้นเอง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๗ การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมี ๒ ระบบ ดังนี้
(๑) ระบบทวิภาคเป็นการจัดการศึกษาที่ ๑ ปีการศึกษา มี ๒ ภาคการศึกษา
คือ ภาคการศึกษาที่ ๑ และภาคการศึกษาที่ ๒ และอาจมีภาคฤดูร้อนเป็นภาคการศึกษาที่ไม่บังคับ
ต่อจากภาคการศึกษาที่ ๒ ด้วยก็ได้
(๒) ระบบไตรภาคเป็นการจัดการศึกษาที่ ๑ ปีการศึกษา มี ๓ ภาคการศึกษา
คือ ภาคการศึกษาที่ ๑ ภาคการศึกษาที่ ๒ และภาคการศึกษาที่ ๓
การจัดการศึกษาตามวรรคหนึ่งอาจออกแบบวิธีการเรียนการสอน โดยแบ่งช่วงการศึกษา
ตามหัวข้อการศึกษาที่มีปริมาณการเรียนรู้เทียบเท่าระบบทวิภาคหรือระบบไตรภาคแล้วแต่กรณี
หลักสูตรการศึกษาใดจะจัดการศึกษาในระบบตามวรรคหนึ่งให้เป็นอํานาจ
ของสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
ข้อ ๘ ระบบทวิภาคในภาคการศึกษาให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๕ สัปดาห์
และในภาคฤดูร้อนให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๖ สัปดาห์ แต่ให้เพิ่มชั่วโมงการศึกษาในแต่ละรายวิชาให้เท่ากับ
ภาคการศึกษา
ระบบไตรภาคในภาคการศึกษาให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๒ สัปดาห์
และไม่เกิน ๑๔ สัปดาห์
ในแต่ละรายวิชาที่เปิดสอนอาจใช้ระยะเวลาศึกษาแตกต่างจากวรรคหนึ่งหรือวรรคสองก็ได้
แต่ต้องมีปริมาณการศึกษาต่อ ๑ หน่วยกิต ไม่น้อยกว่าที่กําหนดไว้ในข้อ ๑๐
ข้อ ๙ การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาอาจจัดการศึกษาแบบเต็มเวลา หรือไม่เต็มเวลาก็ได้
ทั้งนี้ ตามที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดหลักสูตร
ข้อ ๑๐ หน่วยกิตของรายวิชาในหลักสูตรให้คํานวณตามปริมาณการศึกษา โดย ๑ หน่วยกิต เท่ากับปริมาณการศึกษา ดังต่อไปนี้
(ก) ระบบทวิภาค
(๑) ในรายวิชาภาคทฤษฎีให้มีเวลาการบรรยายหรือการอภิปรายปัญหาไม่น้อยกว่า
๑ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่า ๑๕ ชั่วโมง ต่อภาคการศึกษา
(๒) ในรายวิชาภาคปฏิบัติให้มีเวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมง ต่อสัปดาห์
หรือไม่น้อยกว่า ๓๐ ชั่วโมง ต่อภาคการศึกษา
(๓) การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนามให้มีเวลาฝึกไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง ต่อสัปดาห์
หรือไม่น้อยกว่า ๔๕ ชั่วโมง ต่อภาคการศึกษา
(๔) การทําโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย ให้มีเวลา
ทําโครงงานหรือกิจกรรมไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่า ๔๕ ชั่วโมง ต่อภาคการศึกษา
(๕) การทําวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ ให้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้า
ไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่า ๔๕ ชั่วโมง ต่อภาคการศึกษา
(ข) ระบบไตรภาค
(๑) ในรายวิชาภาคทฤษฎีให้มีเวลาการบรรยาย หรือการอภิปรายปัญหาไม่น้อยกว่า
๑ ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่า ๑๒ ชั่วโมง ต่อภาคการศึกษา
(๒) ในรายวิชาภาคปฏิบัติให้มีเวลาฝึกหรือทดลองไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมง ต่อสัปดาห์
หรือไม่น้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมง ต่อภาคการศึกษา
(๓) การฝึกงานหรือการฝึกภาคสนามให้มีเวลาฝึกไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง ต่อสัปดาห์
หรือไม่น้อยกว่า ๓๖ ชั่วโมง ต่อภาคการศึกษา
(๔) การทําโครงงานหรือกิจกรรมการเรียนอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย ให้มีเวลา
ทําโครงงานหรือกิจกรรมไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่า ๓๖ ชั่วโมง ต่อภาคการศึกษา
(๕) การทําวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ ให้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้า
ไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่า ๓๖ ชั่วโมง ต่อภาคการศึกษา
ข้อ ๑๑ การกําหนดจํานวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ระบบทวิภาคต้องไม่น้อยกว่า ๒๔ หน่วยกิต
หรือระบบไตรภาคต้องไม่น้อยกว่า ๓๐ หน่วยกิต
(๒) หลักสูตรระดับปริญญาโทระบบทวิภาคต้องไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต หรือระบบไตรภาค
ต้องไม่น้อยกว่า ๔๕ หน่วยกิต
(๓) หลักสูตรปริญญาเอกสําหรับผู้สําเร็จการศึกษาปริญญาโทต้องมีจํานวนหน่วยกิต
รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า ๔๘ หน่วยกิต
(๔) หลักสูตรปริญญาเอกสําหรับผู้สําเร็จการศึกษาปริญญาตรีต้องมีจํานวนหน่วยกิต
รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า ๗๒ หน่วยกิต
ข้อ ๑๒ การศึกษาระดับปริญญาโท จัดการศึกษาได้เป็น ๒ แผน
(ก) แผน ก
(๑) แบบ ก ๑ เป็นแผนการศึกษาที่ทําเฉพาะวิทยานิพนธ์ซึ่งมีค่าเทียบได้ระบบทวิภาค
ต้องไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต หรือระบบไตรภาคต้องไม่น้อยกว่า ๔๕ หน่วยกิต โดยคณะอาจ
กําหนดให้เรียนรายวิชาเพิ่มเติมหรือทํากิจกรรมทางวิชาการอื่นเพิ่มขึ้นก็ได้ โดยไม่นับหน่วยกิตแต่จะต้อง
มีผลสัมฤทธิ์ตามที่หลักสูตรกําหนด
(๒) แบบ ก ๒ เป็นแผนการศึกษาที่ทําวิทยานิพนธ์ซึ่งมีค่าเทียบได้ระบบทวิภาค
ต้องไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต และศึกษางานรายวิชา (course Work) อีกไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต
หรือระบบไตรภาค ต้องทําวิทยานิพนธ์ซึ่งมีค่าเทียบได้ไม่น้อยกว่า ๑๕ หน่วยกิต และศึกษางานรายวิชา (course work) อีกไม่น้อยกว่า ๑๕ หน่วยกิต
(ข) แผน ข เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการศึกษารายวิชา โดยไม่ต้องทําวิทยานิพนธ์ระบบ
ทวิภาค ต้องกําหนดให้มีการศึกษารายวิชาที่เป็นการค้นคว้าอิสระไม่น้อยกว่า ๓ หน่วยกิต แต่ไม่เกิน
๖ หน่วยกิต หรือระบบไตรภาคต้องไม่น้อยกว่า ๔ หน่วยกิต แต่ไม่เกิน ๗ หน่วยกิต
ข้อ ๑๓ การศึกษาระดับปริญญาเอก จัดการศึกษาได้เป็น ๒ แบบ
(ก) แบบ ๑ การศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยที่ก่อให้เกิด
ความรู้ใหม่ โดยมีการทําวิทยานิพนธ์ โดยคณะอาจกําหนดให้ศึกษารายวิชาเพิ่มเติมหรือทํากิจกรรม
ทางวิชาการอื่นเพิ่มขึ้นก็ได้ โดยไม่นับหน่วยกิตแต่ต้องมีผลสัมฤทธิ์ตามข้อกําหนดหลักสูตร
แบ่งเป็น ๒ แบบ ดังนี้
(๑) แบบ ๑.๑ การศึกษาระดับปริญญาเอกสําหรับผู้สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท
จะต้องทําวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า ๔๘ หน่วยกิต
(๒) แบบ ๑.๒ การศึกษาระดับปริญญาเอกสําหรับผู้สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
จะต้องทําวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า ๗๒ หน่วยกิต
(ข) แบบ ๒ การศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยที่มีคุณภาพสูง
และก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ และจัดให้มีการศึกษารายวิชาเพิ่ม แบ่งเป็น ๒ แบบ ดังนี้
(๑) แบบ ๒.๑ การศึกษาระดับปริญญาเอกสําหรับผู้สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท
จะต้องทําวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต และศึกษารายวิชาอีกไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต
(๒) แบบ ๒.๒ การศึกษาระดับปริญญาเอกสําหรับผู้สําเร็จระดับปริญญาตรี จะต้องทํา วิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า ๔๘ หน่วยกิต และศึกษารายวิชาอีกไม่น้อยกว่า ๒๔ หน่วยกิต
วิทยานิพนธ์ในการศึกษาระดับปริญญาเอกตาม (ก) และ (ข) ต้องมีมาตรฐานและคุณภาพ
ไม่แตกต่างกันในแต่ละแบบการศึกษา
ข้อ ๑๔ คณะอาจกําหนดให้นักศึกษามีอาจารย์ที่ปรึกษาประจําตัวนักศึกษาเพื่อทําหน้าที่
แนะนํา หรือให้คําปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนการเรียน และการดําเนินการอื่นเพื่อดูแลความประพฤติ
และการติดตามผลการเรียนของนักศึกษา
หมวด ๒
การเปลี่ยนแผนการศึกษา และการเปลี่ยนระดับการศึกษา
ข้อ ๑๕ ในกรณีที่คณะจัดการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งสองแผน
การศึกษาควบคู่กัน นักศึกษาอาจขอเปลี่ยนแผนการศึกษา โดยยื่นคําร้องพร้อมเหตุผลผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา ประจําตัวนักศึกษาหรือผู้อํานวยการบัณฑิตศึกษาต่อคณบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยนักศึกษาที่ศึกษา
ในแผน ก ต้องยื่นคําร้องก่อนการสอบวิทยานิพนธ์ และนักศึกษาที่ศึกษาในแผน ข ต้องยื่นคําร้อง
ก่อนการสอบการค้นคว้าอิสระ
ข้อ ๑๖ นักศึกษาที่ศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิชาใดอาจเปลี่ยนไปศึกษา
ระดับปริญญาเอกในสาขาวิชาเดียวกัน หรือนักศึกษาที่ศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาวิชาใด
อาจเปลี่ยนไปศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิชาเดียวกันได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดหลักสูตร
ที่จะขอเปลี่ยนเข้าศึกษานั้น
การขอเปลี่ยนระดับการศึกษาตามวรรคหนึ่งให้นักศึกษายื่นคําร้อง
ต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรที่จะขอเปลี่ยนเข้าศึกษาเพื่อเสนอความเห็นต่อคณบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยให้นับระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาในหลักสูตรเดิมก่อนเปลี่ยนระดับการศึกษา
หมวด ๓
ระยะเวลาการศึกษา
ข้อ ๑๗ ระยะเวลาที่ใช้ศึกษาต้องไม่เกินเวลาที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดหลักสูตร แต่ทั้งนี้
ในข้อกําหนดหลักสูตรต้องกําหนดไว้ไม่เกินระยะเวลาดังต่อไปนี้
(๑) หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ไม่เกิน ๖ ภาคการศึกษา
(๒) หลักสูตรระดับปริญญาโทที่จัดการศึกษาในระบบทวิภาคแบบเต็มเวลา
ไม่เกิน ๑๐ ภาคการศึกษา และแบบไม่เต็มเวลาไม่เกิน ๑๔ ภาคการศึกษา
(๓) หลักสูตรระดับปริญญาโทที่จัดการศึกษาในระบบไตรภาคแบบเต็มเวลา
ไม่เกิน ๑๕ ภาคการศึกษา และแบบไม่เต็มเวลาไม่เกิน ๒๑ ภาคการศึกษา
(๔) หลักสูตรระดับปริญญาเอกสําหรับผู้สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท
ไม่เกิน ๑๒ ภาคการศึกษา
(๕) หลักสูตรระดับปริญญาเอกสําหรับผู้สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
ไม่เกิน ๑๖ ภาคการศึกษา
ข้อ ๑๘ ในกรณีที่นักศึกษาโอนจากหลักสูตรเต็มเวลาไปยังหลักสูตรไม่เต็มเวลาหรือโอน
จากหลักสูตรไม่เต็มเวลาไปยังหลักสูตรเต็มเวลา ให้นับเวลาการศึกษาในหลักสูตรเดิมเป็นเวลา
การศึกษาของหลักสูตรที่โอนเข้าศึกษาด้วย โดยการคิดระยะเวลาศึกษาที่ใช้ศึกษาตามข้อ ๑๗
ให้คํานวณระยะเวลาที่ศึกษาให้คิดเป็นสัดส่วนเวลาของหลักสูตรเดิมกับระยะเวลาสูงสุด
ของภาคที่ศึกษาอยู่ก่อน และนําสัดส่วนนี้ไปใช้กับระยะเวลาสูงสุดของภาคที่จะเข้าศึกษาใหม่
ข้อ ๑๙[๑] ในกรณีที่โครงสร้างหลักสูตรบังคับหรือกรณีที่มีเงื่อนไขให้นักศึกษาระดับ
ปริญญาเอกต้องตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ โดยศึกษาครบตามโครงสร้าง
หลักสูตรและสอบผ่านวิทยานิพนธ์เรียบร้อยแล้ว แต่จําเป็นต้องรอการตอบรับการตีพิมพ์บทความวิจัย
ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอาจขอขยายระยะเวลาการศึกษาตามข้อ ๑๗ เพื่อรอผลการตอบรับ
การตีพิมพ์ต่อไปได้คราวละสองภาคการศึกษาและต้องไม่เกินสี่ภาคการศึกษา
การขอขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นักศึกษายื่นคําร้องพร้อมส่งหลักฐาน
การส่งผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ หรือหนังสือตอบรับการตีพิมพ์ต่อคณบดี เพื่อพิจารณาและนําเสนอความเห็น
ต่ออธิการบดีล่วงหน้า ก่อนครบกําหนดระยะเวลาศึกษา โดยนักศึกษาจะต้องรักษาสถานภาพการเป็นนักศึกษา
ในภาคการศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการศึกษาด้วย
ข้อ ๒๐ นักศึกษาที่ใช้เวลาศึกษาเกินกว่าระยะเวลาตามข้อ ๑๗ และไม่ได้รับการขยายเวลา
ตามข้อ ๑๙ ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
หมวด ๔
การรับเข้าศึกษา
ข้อ ๒๑ การคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษาในหลักสูตรวิชาใดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
การคัดเลือกเข้าศึกษาที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดหลักสูตรวิชานั้น
หลักเกณฑ์และวิธีการรับสมัครและคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัย
กําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
นอกจากการคัดเลือกตามวรรคหนึ่งและวรรคสองแล้ว คณะอาจรับบุคคลเข้าศึกษา
โดยวิธีการอื่นที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิการบดี
ข้อ ๒๒ นักศึกษาต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
(๑) สําเร็จการศึกษาขั้นต่ำตามที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดหลักสูตร
(๒) ไม่เป็นผู้ป่วยหรืออยู่ในสภาวะที่จะเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อการศึกษา
(๓) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดศีลธรรมอันดีหรือมีพฤติกรรมเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
(๔) ต้องไม่เคยถูกคัดชื่อออกจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นเพราะมีความผิด
ทางวินัย ภายในระยะเวลา ๑๐ ปี ก่อนการสมัครเข้าเป็นนักศึกษา
นอกจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง ผู้ซึ่งจะเข้าศึกษา
ในหลักสูตรการศึกษาใด ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตามข้อกําหนดหลักสูตรที่เข้าศึกษา
และตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยการรับเข้าศึกษาด้วย
ข้อ ๒๓ การกําหนดคุณสมบัติตามข้อ ๒๒ (๑) ในข้อกําหนดหลักสูตรให้เป็นไปตามเกณฑ์ มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
ข้อ ๒๔ นักศึกษาที่อยู่ระหว่างศึกษาในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยจะเข้าศึกษาในอีก
หลักสูตรของมหาวิทยาลัยมิได้ เว้นแต่การศึกษาในหลักสูตรเดิมจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
ในหลักสูตรที่จะเข้าศึกษา อธิการบดีอาจอนุมัติให้เข้าศึกษาได้อีกหลักสูตรหนึ่ง
หมวด ๕
การขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
ข้อ ๒๕ ผู้ที่ผ่านการรับเข้าศึกษาต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ที่นายทะเบียนกําหนด ภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันเปิดภาคการศึกษา เว้นแต่กรณีมีเหตุผลความจําเป็น
นายทะเบียนอาจอนุญาตผ่อนผันการขึ้นทะเบียนได้ แต่ต้องไม่เกินภาคการศึกษาที่ ๑ ของปีการศึกษาแรก
ผู้ที่ผ่านการรับเข้าศึกษาโดยใช้วุฒิการศึกษาจากต่างประเทศต้องยื่นใบสําคัญ
แสดงวุฒิการศึกษาต่อคณะในวันขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาด้วย แต่หากยังไม่สามารถนําส่งได้
นายทะเบียนอาจผ่อนผันให้นํามาส่งในภายหลัง แต่ต้องไม่เกินภาคการศึกษาที่ ๑ ของปีการศึกษาแรก
หากพ้นกําหนดเวลาที่ผ่อนผันให้แล้ว ยังไม่อาจนําส่งได้ให้นายทะเบียนเพิกถอนการขึ้นทะเบียน
การเป็นนักศึกษา
ข้อ ๒๖ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาสังกัดหลักสูตรใดแล้วจะย้ายหลักสูตรมิได้ เว้นแต่จะมี เหตุผลและความจําเป็น ให้นักศึกษายื่นคําร้องพร้อมแสดงเหตุผลต่อคณบดีเพื่อขออนุมัติจาก
คณะกรรมการประจําคณะ
การขอย้ายหลักสูตรจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจําคณะของหลักสูตร
ที่จะขอย้ายไปศึกษา และให้นับระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่การศึกษาในหลักสูตรเดิมด้วย
เมื่อได้รับความเห็นชอบตามวรรคสองแล้วให้นับระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่เป็นนักศึกษา
ในหลักสูตรเดิมด้วย
ข้อ ๒๗ หากมีการตรวจพบว่าผู้ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามตามข้อ ๒๒ หรือได้ใช้เอกสารหลักฐานประกอบการขึ้นทะเบียนอันเป็นเท็จ ให้นายทะเบียน
เสนอต่ออธิการบดีเพิกถอนการขึ้นทะเบียนการเป็นนักศึกษาผู้นั้น
หากมีกรณีตามวรรคหนึ่งปรากฏขึ้นกับผู้ที่สําเร็จการศึกษาไปแล้ว ให้อธิการบดีเสนอต่อ
สภามหาวิทยาลัยเพิกถอนปริญญาบัตรของผู้นั้น
หมวด ๖
การลงทะเบียนเรียน
ข้อ ๒๘ มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการลงทะเบียนศึกษารายวิชาและวิทยานิพนธ์
สําหรับแต่ละภาคการศึกษาให้เสร็จก่อนวันเปิดภาคการศึกษานั้น
ในกรณีที่มีเหตุผลสมควร คณบดีอาจออกประกาศคณะงดการสอนในรายวิชาใดวิชาหนึ่ง
หรือจํากัดจํานวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนในรายวิชาใดวิชาหนึ่งก็ได้
การงดการสอนในรายวิชาที่มีนักศึกษาลงทะเบียนไว้แล้ว ต้องกระทําภายใน ๗ วัน
นับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือ ๔ วัน นับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน
ข้อ ๒๙ การลงทะเบียนเรียนในวิชาต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อกําหนดของหลักสูตร โดยอาจมี เงื่อนไขที่ต้องผ่านก่อนสําหรับการลงทะเบียนบางรายวิชาในกรณีมีเหตุจําเป็นอันสมควร มีข้อยกเว้น
ได้ตามประกาศของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ให้นักศึกษาดําเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีกําหนดโดยออกเป็น
ประกาศของมหาวิทยาลัย
หากนักศึกษามีหนี้สินใด ๆ กับมหาวิทยาลัย จะต้องชําระให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะมีสิทธิ ลงทะเบียนเรียนได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิการบดี
ภายหลังจากนักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียนแล้ว นักศึกษาต้องดําเนินการตรวจสอบผล
การลงทะเบียนของตนเองด้วยภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาไม่ทันกําหนดการตามวรรคหนึ่งอาจขอลงทะเบียนเรียน
ล่าช้าได้ภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือ ๓๗ วัน นับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน
การลงทะเบียนเรียนล่าช้าต้องชําระเบี้ยปรับเป็นรายวันในอัตราตามประกาศมหาวิทยาลัย
ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา เว้นแต่กรณีที่มิใช่ความผิดของนักศึกษา นักศึกษาอาจยื่นคําร้อง
ต่อคณบดีเพื่อเสนออธิการบดีอนุมัติให้ยกเว้นเบี้ยปรับการลงทะเบียนล่าช้า
ข้อ ๓๐ นักศึกษาหลักสูตรแบบเต็มเวลาให้ลงทะเบียนเรียน ในแต่ละภาคการศึกษาได้
ไม่ต่ำกว่า ๖ หน่วยกิต และไม่เกิน ๑๕ หน่วยกิต หรือในแต่ละภาคฤดูร้อนได้ไม่เกิน ๖ หน่วยกิต
ยกเว้นวิชาฝึกภาคปฏิบัติให้ลงทะเบียนได้ไม่เกิน ๙ หน่วยกิต
นักศึกษาหลักสูตรแบบไม่เต็มเวลาให้ลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคการศึกษาได้ไม่ต่ำกว่า
๓ หน่วยกิต และไม่เกิน ๑๒ หน่วยกิต หรือในแต่ละภาคฤดูร้อนได้ไม่เกิน ๓ หน่วยกิต เว้นแต่ได้รับอนุมัติ
จากคณบดีเป็นกรณีพิเศษอาจลงทะเบียนเรียนเกินกว่า ๓ หน่วยกิต แต่ต้องไม่เกิน ๖ หน่วยกิต ก็ได้
การนับจํานวนหน่วยกิตตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้
(๑) มิให้นับจํานวนหน่วยกิตของรายวิชาที่นักศึกษาได้รับการยกเว้นโดยผ่านการทดสอบ
การวัดผล หรือการเทียบโอนรายวิชา
(๒) จํานวนหน่วยกิตที่จะลงทะเบียนเรียนได้สูงสุด ให้นับหน่วยกิตของรายวิชาในหลักสูตร วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ การค้นคว้าอิสระ ฝึกภาคปฏิบัติ ตลอดจนรายวิชาเสริมหลักสูตรพื้นฐาน
ที่มหาวิทยาลัยกําหนดให้ศึกษาโดยไม่นับหน่วยกิต รายวิชาเสริมความรู้โดยไม่วัดผลการศึกษา
วิชาภาษาอังกฤษตามเงื่อนไขการรับปริญญาและข้อกําหนดของหลักสูตร และรายวิชาที่ลงทะเบียน
ในสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่ได้รับอนุมัติตามข้อ ๓๖ ด้วย
(๓) จํานวนหน่วยกิตที่จะลงทะเบียนเรียนได้ต่ำสุดมิให้นับหน่วยกิตของรายวิชา
เสริมหลักสูตรพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยกําหนดให้ศึกษาโดยไม่นับหน่วยกิต รายวิชาเสริมความรู้โดยไม่วัดผล
การศึกษา และวิชาภาษาอังกฤษเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการรับปริญญาและข้อกําหนดของหลักสูตร
ข้อ ๓๑ นักศึกษาอาจลงทะเบียนเรียนรายวิชาน้อยกว่าจํานวนตามข้อ ๓๐ ในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษาจนเหลือจํานวนหน่วยกิตของรายวิชาตามหลักสูตรน้อยกว่าจํานวนตามข้อ ๓๐
(๒) เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรงและจําเป็นต้องใช้เวลาเพื่อการรักษาพยาบาล
หรือฟื้นฟูร่างกาย โดยได้รับอนุมัติจากคณบดี
ข้อ ๓๒ ในกรณีที่นักศึกษาสอบผ่านข้อเขียนทั้งหมดแล้ว นักศึกษาสามารถลงทะเบียน วิทยานิพนธ์หรือฝึกภาคปฏิบัติตามจํานวนหน่วยกิตที่กําหนดไว้ในหลักสูตรได้ทั้งหมด
ข้อ ๓๓ นักศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตและระดับปริญญาโทที่ศึกษา
ในรายวิชาที่เป็นรายวิชาบังคับของหลักสูตร ได้อักษรไม่ต่ำกว่า C หรือ S จะลงทะเบียนในรายวิชานั้นอีกไม่ได้ เว้นแต่ข้อกําหนดหลักสูตรกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น
นักศึกษาได้อักษรต่ำกว่า C หรือ U ในรายวิชาที่เป็นรายวิชาบังคับของหลักสูตร
ให้ลงทะเบียนเรียนในรายวิชานั้นได้อีกหนึ่งครั้ง หากในการลงทะเบียนเรียนครั้งหลังยังได้อักษรต่ำกว่า C
หรือ U อีก ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
นักศึกษาที่ได้อักษรต่ำกว่า C หรือ U ในรายวิชาเลือกของหลักสูตร ให้ลงทะเบียนเรียน
รายวิชานั้นซ้ำอีกจนกว่าจะได้อักษร C ขึ้นไป หรือ S หรืออาจลงทะเบียนเรียนในรายวิชาอื่นที่เป็นรายวิชาเลือกของหลักสูตรแทนก็ได้
ข้อ ๓๔ นักศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาเอกที่ศึกษาในรายวิชาที่เป็นรายวิชาบังคับ
ของหลักสูตร ได้อักษรไม่ต่ำกว่า B หรือ S จะลงทะเบียนในรายวิชานั้นอีกไม่ได้ เว้นแต่ข้อกําหนด
หลักสูตรกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น
นักศึกษาได้อักษรต่ำกว่า B หรือ U ในรายวิชาที่เป็นรายวิชาบังคับของหลักสูตร
ให้ลงทะเบียนเรียนในรายวิชานั้นได้อีกเพียง ๑ ครั้ง หากในการลงทะเบียนเรียนครั้งหลังยังได้อักษรต่ำกว่า B หรือ U อีก ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
นักศึกษาที่ได้อักษรต่ำกว่า B หรือ U ในรายวิชาเลือกของหลักสูตร ให้ลงทะเบียนเรียน
รายวิชานั้นซ้ำอีกจนกว่าจะได้อักษร B ขึ้นไป หรือ S หรืออาจลงทะเบียนเรียนในรายวิชาอื่นที่เป็น
รายวิชาเลือกของหลักสูตรแทนก็ได้
ข้อ ๓๕ นักศึกษาผู้ใดไม่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาใดและไม่ได้ขอลาพักการศึกษา
ตามข้อ ๘๖ ให้ถอนชื่อนักศึกษาผู้นั้นออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๓๖ อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาไปลงทะเบียนเรียน
ในรายวิชาที่สถาบันอุดมศึกษาอื่นเปิดสอนโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรของนักศึกษาผู้นั้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) มหาวิทยาลัยมีข้อตกลงในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับสถาบันอุดมศึกษา
ที่นักศึกษาไปศึกษา
(๒) นักศึกษามีข้อตกลงรับทุนเพื่อไปศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาอื่นจากส่วนราชการ
หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคประชาชน หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากําไร
(๓) นักศึกษามีความประสงค์จะไปศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาอื่น
ข้อ ๓๗ ในกรณีที่มหาวิทยาลัยมีข้อตกลงในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับสถาบัน
อุดมศึกษาอื่น หรือมีข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานอื่นที่มีวัตถุประสงค์ให้มหาวิทยาลัย
หรือคณะรับบุคคลเข้าศึกษาในรายวิชาของมหาวิทยาลัยหรือคณะ อธิการบดีอาจอนุมัติให้ผู้ซึ่งมิได้เป็น นักศึกษาของมหาวิทยาลัยลงทะเบียนเรียนในรายวิชาของมหาวิทยาลัยก็ได้
ผู้ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาของมหาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่ง ต้องชําระค่าธรรมเนียม
ในอัตราตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อ ๓๘ ให้อธิการบดีมีอํานาจพิจารณาเรื่องการลงทะเบียนเรียนซึ่งเกินกว่าเงื่อนไข
ที่กําหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เฉพาะกรณีที่มีเหตุอันเนื่องมาจากการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
หมวด ๗
การเพิ่มและการถอนรายวิชา
ข้อ ๓๙[๒] การขอเพิ่มรายวิชาภายหลังจากที่ได้ลงทะเบียนเรียนแล้ว ให้กระทําได้ภายใน
๑๔ วัน นับแต่วันเปิดภาคการศึกษาหรือภายใน ๗ วัน นับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน เว้นแต่ในกรณี
ที่มีเหตุผลอันสมควร คณบดีอาจอนุมัติให้เพิ่มรายวิชาเมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่เกิน ๑๔ วันก่อนวันปิดภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อนแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ต้องมีเวลาเรียนครบตามที่กําหนดไว้ในข้อ ๘๑
การขอเพิ่มรายวิชาตามวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุมัติจากอาจารย์ผู้สอนในรายวิชานั้นก่อน
และกรณีการลงทะเบียนเพิ่มรายวิชาเมื่อพ้นกําหนดเวลาต้องชําระค่าปรับการลงทะเบียนเพิ่มรายวิชาล่าช้า เป็นรายวันในอัตราตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อ ๔๐ การขอถอนรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้แล้วให้กระทําได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การขอถอนรายวิชาภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือภายใน ๗ วัน
นับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน เพื่อการนี้ให้ลบรายวิชานั้นออก
(๒) การขอถอนรายวิชาเมื่อพ้นกําหนดเวลาตาม (๑) แต่ไม่เกิน ๑๐ สัปดาห์แรก
ของภาคการศึกษาหรือ ๔ สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน เพื่อการนี้ให้บันทึกอักษร W สําหรับรายวิชานั้น
(๓) การขอถอนรายวิชาเมื่อพ้นกําหนดเวลาตาม (๒) แต่ไม่เกิน ๑๔ วัน ก่อนปิดภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อน ทั้งนี้ จะกระทําได้เมื่อมีเหตุผลความจําเป็น โดยได้รับอนุมัติจากอาจารย์ ผู้สอน
และคณบดีเพื่อการนี้ให้บันทึกอักษร W สําหรับรายวิชานั้น
การขอถอนรายวิชาจนเหลือหน่วยกิตของภาคการศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนนั้นน้อยกว่า
จํานวนหน่วยกิตต่ำสุดตามข้อ ๓๐ จะกระทํามิได้ เว้นแต่มีเหตุผลความจําเป็นและได้รับอนุมัติจากคณบดี
ข้อ ๔๑ ให้อธิการบดีมีอํานาจพิจารณาเรื่องการเพิ่มและถอนรายวิชาซึ่งเกินกว่าเงื่อนไข
ที่กําหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เฉพาะกรณีที่มีเหตุอันเนื่องมาจากการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
หมวด ๘
การเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต และการเทียบโอนความรู้
ข้อ ๔๒[๓] การเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต หมายถึง การเทียบโอนรายวิชา
ในกรณีที่นักศึกษาได้ศึกษารายวิชามาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น โดยนักศึกษาอาจขอเทียบโอนรายวิชา
และหน่วยกิตที่มีเนื้อหาของรายวิชาเทียบเท่าและมีเกณฑ์การประเมินผลหรือวัดผลได้มาตรฐานเทียบเท่า
กับรายวิชาในหลักสูตรที่ศึกษาอยู่ได้ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ให้เทียบโอนได้ไม่เกินหนึ่งในสามของจํานวนหน่วยกิตรวมทั้งหลักสูตร และต้องมีเวลา
ศึกษาในหลักสูตรที่รับเทียบโอนไม่น้อยกว่าหนึ่งปีการศึกษาจึงจะมีสิทธิ์สําเร็จการศึกษา
(๒) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องมิใช่รายวิชาในหลักสูตรที่นักศึกษาผู้นั้นถูกถอนชื่อ
จากทะเบียนนักศึกษา
(๓) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องศึกษามาแล้วไม่เกินแปดปีนับจากปีที่ลงทะเบียนเรียน
จนถึงวันที่ขอเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต
(๔) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องมีผลการศึกษาระดับ B ขึ้นไป หรือเทียบเท่า หรือได้
อักษร S (ใช้ได้) ยกเว้นกรณีของนักศึกษาซึ่งไปศึกษาที่มหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่น
ในโครงการความร่วมมือผลิตบัณฑิตร่วมกัน หรือโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการให้เทียบโอนรายวิชา
และหน่วยกิตตามผลการศึกษาที่ได้
(๕) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องเป็นรายวิชาที่เรียนในระดับบัณฑิตศึกษา
และเทียบได้เฉพาะหน่วยกิตรายวิชา (course work) เท่านั้น
นอกจากหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะ อาจกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตเพิ่มเติม
จากความในวรรคหนึ่งก็ได้ โดยทําเป็นประกาศคณะและรายงานให้อธิการบดีเพื่อทราบ
ข้อ ๔๓[๔] ให้คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะเป็นผู้มีอํานาจอนุมัติ
การเทียบโอนและการโอนรายวิชาและหน่วยกิตตามหมวดนี้
ข้อ ๔๔ ให้บันทึกผลการศึกษาในรายวิชาที่ได้รับการอนุมัติให้เทียบโอนรายวิชา
และหน่วยกิต ดังต่อไปนี้
(๑) สําหรับกรณีนักศึกษาที่ไปศึกษาตามโครงการความร่วมมือผลิตบัณฑิตร่วมกัน
หรือโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ หรือไปศึกษาด้วยตนเองโดยได้รับอนุมัติจากอธิการบดี ให้บันทึกผล
การศึกษาตามที่ได้ หรือในรายวิชาที่มีผลการศึกษาได้อักษร B ขึ้นไป อาจบันทึกอักษร ACC ก็ได้
ตามหลักเกณฑ์ที่คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะกําหนดโดยทําเป็นประกาศคณะ
(๒) สําหรับกรณีนักศึกษาอื่นนอกจาก (๑) ให้บันทึกอักษร ACC
ข้อ ๔๕[๕] การเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิตจากการศึกษานอกระบบหรือการศึกษา
ตามอัธยาศัย หรือการฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยให้เทียบ โอนได้รวมกันไม่เกินหนึ่งในสามของจํานวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่ขอเทียบ และต้องมี เวลาศึกษาในหลักสูตรที่รับเทียบโอนไม่น้อยกว่าหนึ่งปีการศึกษาจึงจะมีสิทธิ์สําเร็จการศึกษา อาจทําได้ตาม หลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกําหนด
โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัยและให้บันทึกอักษร ACC ในรายวิชาที่ได้รับอนุมัติให้เทียบโอนความรู้นั้น
คณะอาจดําเนินการตามวรรคหนึ่งโดยจัดให้มีการทดสอบข้อเขียนหรือสอบปฏิบัติ
เพื่อการเทียบโอน หรือพิจารณาโดยใช้ผลการประเมินของหน่วยงานฝึกปฏิบัติงานก็ได้
หมวด ๘/๑
การโอนรายวิชาและหน่วยกิต[๖]
ข้อ ๔๕/๑[๗] นักศึกษาอาจขอโอนรายวิชาและหน่วยกิตที่ได้จากการศึกษาในหลักสูตรดังต่อไปนี้
มาเป็นรายวิชาของหลักสูตรที่กำลังศึกษา
(๑) หลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดการศึกษา หรือจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงานอื่น
(๒) หลักสูตรปริญญาโทต่อยอดจากการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต
ของมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาเดียวกัน
ข้อ ๔๕/๒[๘] การโอนรายวิชาและหน่วยกิตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) การโอนรายวิชาและหน่วยกิตที่ได้จากการศึกษาตามข้อ ๔๕/๑ (๑) ให้โอนได้
ไม่จํากัดจํานวน และโอนได้เฉพาะรายวิชา (course work)
(๒) การโอนรายวิชาและหน่วยกิตที่ได้จากการศึกษาตามข้อ ๔๕/๑ (๒) ให้โอนได้
ไม่เกินร้อยละสี่สิบของจํานวนหน่วยกิตในหลักสูตรที่กําลังศึกษา
(๓) กรณีการโอนมาเป็นรายวิชาบังคับและหน่วยกิตของหลักสูตรต้องศึกษามาแล้ว
ไม่เกินแปดปี
(๔) กรณีการโอนมาเป็นรายวิชาเลือกและหน่วยกิตของหลักสูตรต้องศึกษามาแล้วไม่เกินสิบปี
(๕) กรณีการศึกษาระดับปริญญาโทและระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตรายวิชาและหน่วยกิต
ที่จะโอนต้องมีผลการศึกษาระดับ C ขึ้นไปหรือเทียบเท่า หรืออักษร S
(๖) กรณีการศึกษาระดับปริญญาเอก รายวิชาและหน่วยกิตที่จะโอนต้องมีผลการศึกษา
ระดับ B ขึ้นไป หรือเทียบเท่า หรืออักษร S
นอกจากหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งคณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะ
อาจกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการโอนรายวิชาและหน่วยกิตเพิ่มเติมจากความในวรรคหนึ่ง
ก็ได้ โดยทําเป็นประกาศคณะและรายงานให้อธิการบดีเพื่อทราบ
ข้อ ๔๕/๓[๙] ให้บันทึกผลการศึกษาในรายวิชาที่ได้รับอนุมัติให้โอนรายวิชาและหน่วยกิต ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีการโอนรายวิชาตามข้อ ๔๕/๑ (๑) ให้บันทึกตามผลการศึกษาที่ได้
(๒) กรณีการโอนรายวิชาตามข้อ ๔๕/๑ (๒) ให้บันทึกด้วยอักษร ACC
ข้อ ๔๖[๑๐] การสอบประมวลความรู้ (Comprehensive Examination) สําหรับนักศึกษาระดับปริญญาโทให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) การสอบประมวลความรู้อาจทําได้โดยการสอบข้อเขียน หรือสอบปากเปล่า
หรือทั้งสองอย่าง ทั้งนี้ ตามที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดหลักสูตร
(๒) นักศึกษาต้องมีคุณสมบัติที่จะเข้าสอบประมวลความรู้ตามข้อกําหนดหลักสูตร
และยื่นความจํานงต่อคณะเพื่อขอสอบ
(๓) การจัดสอบประมวลความรู้ให้กระทําได้ไม่เกินปีการศึกษาละ ๓ ครั้ง
(๔) ให้มีคณะกรรมการสอบประมวลความรู้ที่คณบดีแต่งตั้ง มีหน้าที่ดําเนินการสอบประมวลความรู้และกําหนดผลการสอบประมวลความรู้
(๕) ผลการสอบให้ได้อักษร P (ผ่าน) หรือ N (ไม่ผ่าน)
(๖) นักศึกษาต้องสอบประมวลความรู้ให้ได้ระดับ P (ผ่าน) ภายในจํานวนไม่เกิน ๓ ครั้ง
เว้นแต่ข้อกําหนดหลักสูตรกําหนดไว้น้อยกว่า ๓ ครั้ง ให้เป็นไปตามข้อกําหนดของหลักสูตรนั้น ทั้งนี้
หากไม่สามารถสอบผ่านได้ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาและผลการสอบทุกครั้งต้องบันทึก
ไว้ในใบแสดงผลการศึกษา
ข้อ ๔๗ การสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) สําหรับนักศึกษา
ระดับปริญญาเอก ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) การสอบต้องกระทําโดยการสอบข้อเขียนและสอบปากเปล่า ตามหลักเกณฑ์การสอบ
ที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดของหลักสูตร
(๒) นักศึกษาต้องมีคุณสมบัติที่จะเข้าสอบวัดคุณสมบัติตามข้อกําหนดหลักสูตร
และยื่นความจํานงต่อคณะเพื่อขอสอบ
(๓) นักศึกษาต้องสอบวัดคุณสมบัติให้ได้ระดับ P (ผ่าน) ภายในจํานวนไม่เกิน ๓ ครั้ง
เว้นแต่ข้อกําหนดหลักสูตรกําหนดไว้น้อยกว่า ๓ ครั้ง ให้เป็นไปตามข้อกําหนดของหลักสูตรนั้น
ทั้งนี้ หากไม่สามารถสอบผ่านได้ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาและผลการสอบทุกครั้งต้อง
บันทึกไว้ในใบแสดงผลการศึกษา
ข้อ ๔๘ ก่อนการสอบวิทยานิพนธ์ นักศึกษาระดับปริญญาโทและระดับปริญญาเอก
ต้องได้อักษร P (ผ่าน) ในความรู้ด้านภาษาต่างประเทศที่กําหนดไว้ในหลักสูตร จากกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง
ดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษาในรายวิชาภาษาต่างประเทศตามที่หลักสูตรกําหนดจนได้ค่าระดับ P (ผ่าน)
ตามหลักเกณฑ์ที่อธิการบดีกําหนดโดยทําเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
(๒) ยื่นผลการสอบภาษาต่างประเทศตามหลักเกณฑ์ที่อธิการบดีกําหนดโดยทําเป็น
ประกาศมหาวิทยาลัย
(๓) เป็นนักศึกษาผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ใช้ภาษาทางการเป็นภาษาเดียวกับภาษาที่กําหนดไว้
ในข้อกําหนดหลักสูตร
(๔) เป็นนักศึกษาที่สําเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่สอนโดยใช้ภาษาเดียวกับภาษาที่
หลักสูตรกําหนดให้สอบผ่านก่อนการสําเร็จการศึกษา ในระยะเวลาไม่เกิน ๒ ปี นับจากวันที่สําเร็จการศึกษา
ถึงวันที่สมัครเข้าศึกษา
หมวด ๑๐
การทำและการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ การค้นคว้าอิสระ
ข้อ ๔๙ นักศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาโท แผน ก ๑ ตามข้อ ๑๒ (๑)
สามารถลงทะเบียนทําวิทยานิพนธ์ได้ตั้งแต่ภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษา
นักศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาโท แผน ก ๒ ตามข้อ ๑๒ (๒) จะลงทะเบียน
ทําวิทยานิพนธ์ได้เมื่อมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ภาคการศึกษา หรือมีหน่วยกิตสะสมไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต โดยได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ และมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขของหลักสูตร
(๒) ในกรณีที่หลักสูตรกําหนดให้มีการสอบประมวลความรู้ นักศึกษาต้องสอบประมวลความรู้
ให้ได้ระดับ P (ผ่าน)
ข้อ ๕๐ นักศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาเอกแบบ ๑ ตามข้อ ๑๓ (ก)
สามารถลงทะเบียนทําวิทยานิพนธ์ได้ตั้งแต่ภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษา
นักศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาเอกแบบ ๒ ตามข้อ ๑๓ (ข) จะลงทะเบียน
ทําวิทยานิพนธ์ได้เมื่อมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ภาคการศึกษา หรือมีหน่วยกิตสะสมไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต โดยได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ และมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขของหลักสูตร
(๒) สอบวัดคุณสมบัติให้ได้ระดับ P (ผ่าน)
ข้อ ๕๑ กรณีที่นักศึกษาได้หน่วยกิตสะสมของรายวิชาครบถ้วนตามหลักสูตรแล้ว
แต่ยังลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระไม่ได้ เพราะยังมีคุณสมบัติไม่ครบตามข้อ ๔๙ และข้อ ๕๐ นักศึกษาผู้นั้นต้องรักษาสถานภาพนักศึกษา และชําระค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพ
นักศึกษาทุกภาคการศึกษาที่ไม่มีการลงทะเบียน
การรักษาสถานภาพให้นักศึกษาทําเป็นหนังสือยื่นต่อคณะ
ข้อ ๕๒ การสอบวิทยานิพนธ์ ให้คณบดีแต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เพื่อทําหน้าที่
แนะนําการเขียนวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษา
เมื่อนักศึกษาจัดทําเค้าโครงวิทยานิพนธ์เสร็จแล้ว ให้คณบดีแต่งตั้งคณะกรรมการ
สอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ อย่างน้อย ๓ คน ในกรณีที่เป็นหลักสูตรระดับปริญญาโท และอย่างน้อย ๕ คน
ในกรณีที่เป็นหลักสูตรระดับปริญญาเอก ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์
ที่เป็นอาจารย์ประจํามหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมกันสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์โดยมีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์ของสกอ.
เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เห็นว่านักศึกษาพร้อมที่จะเสนอวิทยานิพนธ์ ให้คณบดี
แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์จากบุคคลในวรรคก่อน
การแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ตามความ
ในวรรคก่อนจะกระทําได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุผลและความจําเป็น
ข้อ ๕๓ คุณสมบัติของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์
ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
ข้อ ๕๔[๑๑] การสอบวิทยานิพนธ์จะต้องมีกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ครบทุกคน
จึงจะถือว่าการสอบนั้นมีผลสมบูรณ์ ถ้ากรรมการไม่ครบให้เลื่อนการสอบออกไป ทั้งนี้ ถ้าข้อกําหนด
ของหลักสูตรมิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่น อาจดําเนินการสอบโดยใช้ระบบสื่อสารทางไกลก็ได้
ในกรณีที่มีเหตุผลความจําเป็นคณบดีอาจมีคําสั่งเปลี่ยนกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ใหม่
หรือแต่งตั้งเพิ่มเติมก็ได้
ข้อ ๕๕ การวัดผลวิทยานิพนธ์ให้แบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับ S (ใช้ได้)
และระดับ U (ใช้ไม่ได้) โดยวิทยานิพนธ์ที่ได้รับระดับ S จะต้องได้มติเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการ
สอบวิทยานิพนธ์
ข้อ ๕๖ นักศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาโท แผน ข ตามข้อ ๑๒ (ข) จะลงทะเบียน
ทําสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระได้เมื่อศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ภาคการศึกษา หรือมีหน่วยกิตสะสม
ไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต โดยได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ และมีคุณสมบัติครบ
ตามที่กําหนดไว้ในหลักสูตร
ข้อ ๕๗ การสอบสารนิพนธ์ หรือการสอบค้นคว้าอิสระ ให้คณบดีแต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษา
สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ เพื่อทําหน้าที่แนะนําการเขียนสารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ
ให้แก่นักศึกษา
อาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระและคณะกรรมการสอบสารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระ ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา
ของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
ข้อ ๕๘ เมื่อนักศึกษาจัดทําเค้าโครงสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระเสร็จแล้ว ให้คณบดี
แต่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงสารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ อย่างน้อย ๒ คน ซึ่งจะต้อง
ประกอบด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระที่เป็นอาจารย์ประจํามหาวิทยาลัย
หรือ ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก เพื่อร่วมกันสอบเค้าโครงสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระโดยมีคุณสมบัติ
เป็นไปตามเกณฑ์ของสกอ.
เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระเห็นว่านักศึกษาพร้อมที่จะเสนอ
สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ให้คณบดีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ
จากบุคคลในวรรคก่อน
การแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงกรรมการสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ
ตามความในวรรคก่อนจะกระทําได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุผลและความจําเป็น
ข้อ ๕๙[๑๒] การสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระจะต้องมีกรรมการสอบสารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระครบทุกคนจึงจะถือว่าการสอบนั้นมีผลสมบูรณ์ถ้ากรรมการไม่ครบ
ให้เลื่อนการสอบออกไป ทั้งนี้ ถ้าข้อกําหนดของหลักสูตรมิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่นอาจดําเนินการสอบ
โดยใช้ระบบสื่อสารทางไกลก็ได้
ในกรณีที่มีเหตุผลความจําเป็นคณบดีอาจมีคําสั่งเปลี่ยนกรรมการสอบสารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระใหม่หรือแต่งตั้งเพิ่มเติมก็ได้
ข้อ ๖๐ การวัดผลสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ให้เป็นไปตามข้อกําหนดหลักสูตร
ข้อ ๖๑ หลักเกณฑ์และวิธีการสอบ เค้าโครงวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ
ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๖๒[๑๓] การจัดทำวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ลิขสิทธิ์ผลงานวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระเป็นลิขสิทธิ์ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและนักศึกษา
ในกรณีนักศึกษามีข้อตกลงเกี่ยวกับการวิจัย ข้อตกลงความร่วมมือทางด้านวิชาการกับองค์กรหรือหน่วยงาน หรือข้อตกลงกับบุคคลอื่นใด ที่กำหนดเรื่องลิขสิทธิ์ไว้เป็นอย่างอื่น ให้ข้อตกลงนั้นมีผลเฉพาะ
ในส่วนลิขสิทธิ์ที่เป็นของนักศึกษา
ข้อ ๖๓ เมื่อนักศึกษาได้ลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ
ให้อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ ประเมินความก้าวหน้า
การทําวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ของนักศึกษาได้ตามที่เห็นสมควร
และเมื่อสิ้นภาคการศึกษาให้รายงานและส่งผลการประเมินความก้าวหน้าให้คณบดี เพื่อจัดส่ง
ให้สํานักงานทะเบียนนักศึกษาบันทึกผลไว้ในใบแสดงผลการศึกษาเป็นรายภาคการศึกษา
ในกรณีที่มีเหตุผลจําเป็นเพื่อประโยชน์ต่อการทําวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระของนักศึกษา คณบดีอาจแต่งตั้งผู้ทําหน้าที่ประเมินร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระด้วยก็ได้
หลักเกณฑ์การประเมินความก้าวหน้าในการทําวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ
ให้เป็นไปตามประกาศของแต่ละคณะหรือประกาศของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ต้องประกาศให้นักศึกษาทราบล่วงหน้า
ข้อ ๖๔ ผลการประเมินความก้าวหน้าการทําวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ
ให้ประเมินด้วยอักษรอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(๑) “NP” (No Progress) หมายถึง ไม่มีความก้าวหน้า จํานวนหน่วยกิตที่ได้มีค่าเป็น 0 (ศูนย์)
(๒) “U” (Unsatisfactory) หมายถึง นักศึกษาได้รับหน่วยกิตครบตามจํานวนหน่วยกิต
ที่กําหนดในหลักสูตร แต่ผลการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ คือ “ใช้ไม่ได้”
(๓) “F” (Failure) หมายถึง นักศึกษาได้รับหน่วยกิตครบตามจํานวนหน่วยกิตที่กําหนด
ในหลักสูตรที่มีเกณฑ์การประเมินเป็นค่าระดับคะแนน แต่ผลการสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ
คือ “สอบตก”
(๔) “SP” (Satisfactory and Progress) หมายถึง มีความก้าวหน้า โดยระบุจํานวนหน่วยกิต
ของนักศึกษาแต่ละคนตามความก้าวหน้าของผลงานในแต่ละภาคการศึกษา แต่ไม่เกินจํานวนหน่วยกิต
ที่ลงทะเบียน
(๕) “S” (Satisfactory) หมายถึง นักศึกษาได้รับหน่วยกิตครบตามจํานวนหน่วยกิตที่กําหนด
ในหลักสูตร และผลการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ คือ “ใช้ได้”
ข้อ ๖๕ นักศึกษาที่ได้รับผลการประเมินความก้าวหน้าเป็นอักษร NP ติดต่อกัน ๒ ครั้ง
ในการลงทะเบียนครั้งต่อไปจะต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการสอบ
ในกรณีที่มีการลาพักการศึกษาในภาคการศึกษาต่อจากภาคการศึกษาที่ได้อักษร NP
และในภาคการศึกษาถัดจากภาคการศึกษาที่ลาพักการศึกษายังได้อักษร NP อีก ให้ถือว่าเป็นการได้
อักษร NP ๒ ครั้งติดต่อกัน
ข้อ ๖๖ ในกรณีที่ผลการประเมินผลความก้าวหน้าของนักศึกษาที่ได้อักษร NP
ให้ดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(๑) ในกรณีที่ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระ หรือคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ให้อาจารย์ที่
ปรึกษาวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระพิจารณาตรวจสอบหาสาเหตุและแจ้งให้นักศึกษาทราบ
(๒) ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระแล้ว ให้คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาตรวจสอบหาสาเหตุและแจ้งให้นักศึกษาทราบ
(๓) ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้า
อิสระแล้ว ให้คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาตรวจสอบหาสาเหตุและแจ้งให้นักศึกษาทราบ
ในกรณีที่การได้อักษร NP เกิดจากความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในหัวข้อเรื่อง
ของนักศึกษาหรืออาจารย์ที่ปรึกษา หรือไม่ตรงกับประเด็นตามความสนใจหรือความถนัดของนักศึกษา
คณบดีโดยข้อเสนอของนักศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ คณะกรรมการสอบเค้าโครง วิทยานิพนธ์
สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ
หรือผู้อํานวยการบัณฑิตศึกษาอาจพิจารณาแก้ไขโดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) เปลี่ยนหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ
(๒) เปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ
(๓) ยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระ หรือคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ
ข้อ ๖๗ นักศึกษาที่ได้รับผลการสอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ
เป็นอักษร U หรือ F ต้องถูกถอนชื่อ (Dismissed) ออกจากทะเบียนนักศึกษา
ข้อ ๖๘ นักศึกษาที่สอบวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ ผ่าน ไม่ว่าจะมี
เงื่อนไขแก้ไขตามความเห็นของคณะกรรมการสอบหรือไม่ก็ตาม และเป็นนักศึกษาที่ได้หน่วยกิตครบ
ตามข้อกําหนดหลักสูตร ต้องส่งเล่มฉบับสมบูรณ์ให้คณะ ภายใน ๑ ภาคการศึกษาถัดไป โดยระยะเวลา การศึกษารวมต้องไม่เกินระยะเวลาตลอดหลักสูตรที่กําหนดไว้ในข้อบังคับ
หมวด ๑๑
อักษรแสดงผลการศึกษา
ข้อ ๖๙ ผลการศึกษาของแต่ละวิชา แบ่งออกเป็นสองประเภท ดังนี้
(๑) ผลการศึกษารายวิชาที่มีค่าระดับและนำมาคำนวณระดับคะแนนเฉลี่ย มีอักษร ความหมาย และค่าระดับดังนี้
อักษร ความหมาย ความหมายภาษาอังกฤษ ค่าระดับ
A ผลการประเมินขั้นชั้นเลิศ Excellent ๔.๐
A- ผลการประเมินค่อนช้างชั้นเลิศ Almost Excellent ๓.๖๗
B+ ผลการประเมินขั้นดีมาก Very Good ๓.๓๓
B ผลการประเมินขั้นดี Good ๓.๐๐
B- ผลการประเมินค่อนข้างขั้นดี Fairly Good ๒.๖๗
C+ ผลการประเมินขั้นดีพอใช้ Almost Good ๒.๓๓
C ผลการประเมินขั้นพอใช้ Fair ๒.๐๐
D ผลการประเมินขั้นอ่อน Poor ๑.๐๐
F ผลการประเมินขั้นตก Failed ๐
(๒) ผลการศึกษาที่ไม่มีค่าระดับและไม่นำมาคำนวณระดับคะแนนเฉลี่ย มีอักษร
และความหมาย ดังนี้
อักษร ความหมาย ความหมายภาษาอังกฤษ
P ผ่าน Pass
N ไม่ผ่าน Not Pass
S ใช้ได้ Satisfactory
U ใช้ไม่ได้ Unsatisfactory
ACC ได้รับยกเว้นรายวิชาโดยผ่านการทดสอบเทียบ Accreditation
ความรู้หรือใช้ผลการสอบในรายวิชาที่นับหน่วยกิต
หรือได้รับการเทียบโอนรายวิชา
และหน่วยกิต
I การวัดผลไม่สมบูรณ์ Incomplete
W การถอนรายวิชาโดยได้รับอนุมัติ Withdraw
AUD การศึกษาโดยไม่วัดผลการศึกษา Audit
ข้อ ๗๐ อักษร P หรือ N ให้ใช้ได้ในรายวิชาของหลักสูตรที่กําหนดให้มีผลการศึกษา
สําหรับรายวิชาที่ไม่นับหน่วยกิต
ผลการศึกษาระดับผ่าน ให้ใช้อักษร P และระดับไม่ผ่าน ให้ใช้อักษร N
ในกรณีที่นักศึกษาต้องศึกษาวิชาเสริมหลักสูตร ถ้านักศึกษาผู้นั้นสอบได้ตั้งแต่ระดับ C
ให้ถือว่าสอบได้ระดับ P ถ้าได้ต่ำกว่าระดับ C ให้ถือว่าได้ระดับ N ในวิชานั้น
ข้อ ๗๑ การวัดผลการศึกษาของนักศึกษาทุกรายวิชาทุกครั้งต้องบันทึกไว้ในระเบียน
เว้นแต่วิชาภาษาต่างประเทศซึ่งจะบันทึกเมื่อนักศึกษาสอบได้ระดับ P (ผ่าน) หรือเมื่อการสอบครั้งนั้น
เป็นการสอบครั้งสุดท้ายของนักศึกษาเท่านั้น
ข้อ ๗๒ อักษร S หรือ U ให้ใช้ได้ในรายวิชาของหลักสูตรที่นับหน่วยกิตและกําหนดให้มีผล การศึกษาเป็นระดับใช้ได้ หรือระดับใช้ไม่ได้
ผลการศึกษาระดับใช้ได้ ให้ใช้อักษร S และระดับใช้ไม่ได้ ให้ใช้อักษร U
ข้อ ๗๓ อักษร ACC ให้ใช้ในรายวิชาที่ให้นักศึกษาสามารถนําผลการทดสอบเทียบความรู้
หรือคะแนนการทดสอบอื่นมาใช้แทนการศึกษาในรายวิชานั้นได้ หรือได้รับการเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต
อักษร ACC ให้ใช้ในรายวิชาที่นํามานับหน่วยกิต
ข้อ ๗๔ อักษร I ให้ใช้กับรายวิชาที่การวัดผลการศึกษายังไม่สมบูรณ์ และเป็นการบันทึก
ไว้เป็นการชั่วคราว
นักศึกษาที่ได้อักษร I ในรายวิชาใด ให้อาจารย์ผู้สอนดําเนินการวัดผลในรายวิชานั้น
ให้แล้วเสร็จภายใน ๘๐ วัน นับแต่วันปิดภาคการศึกษา แต่หากไม่สามารถดําเนินการวัดผลได้ทันโดยที่ไม่ใช่
ความผิดของอาจารย์ผู้สอน ให้อาจารย์ผู้สอนกําหนดผลการศึกษาของนักศึกษาผู้นั้นจากคะแนนสอบ
หรือคะแนนการวัดผลการศึกษาโดยวิธีการอื่นเท่าที่นักศึกษาผู้นั้นมีอยู่
เมื่อพ้น ๙๐ วัน นับแต่วันปิดภาคการศึกษา หากยังไม่มีการดําเนินการตามวรรคสอง
ให้บันทึกอักษร W
ข้อ ๗๕ อักษร W ให้ใช้ได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ในรายวิชาที่นักศึกษาได้อักษร I และอาจารย์ผู้สอนยังไม่ได้กําหนดผลการศึกษา
ภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันปิดภาคการศึกษา
(๒) ในรายวิชาที่นักศึกษาขาดสอบโดยมีเหตุผลอันสมควร และได้รับอนุมัติจากคณบดี
หรืออธิการบดีแล้วแต่กรณี
(๓) ได้รับอนุมัติให้ถอนรายวิชาตามข้อ ๔๐ (๒) และ ๔๐ (๓)
(๔) ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษาตามข้อ ๘๘ (๒) และ ๘๘ (๓)
ในกรณีตาม (๒) นักศึกษาต้องยื่นคําร้องขออนุมัติเพื่อบันทึกอักษร W ต่อคณบดีผ่าน
อาจารย์ผู้สอนภายใน ๑๐ วัน นับแต่วันสอบ หากยื่นคําร้องเมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าวและคณบดี
เห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรให้รายงานเสนออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
ข้อ ๗๖ อักษร AUD กระทําได้ในรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนเพื่อการเสริมความรู้
โดยไม่ต้องมีการวัดผล และมีเวลาเรียนในรายวิชานั้นตามเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในข้อ ๘๑
หรือตามข้อกําหนดของหลักสูตรและรายวิชา
นักศึกษาที่ประสงค์จะลงทะเบียนเพื่อเสริมความรู้ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อํานวยการ
โครงการหรือผู้อํานวยการบัณฑิตศึกษาและอาจารย์ผู้สอน และชําระค่าธรรมเนียมตามประกาศ
มหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
เมื่อลงทะเบียนเรียนในรายวิชาเพื่อการเสริมความรู้โดยไม่ต้องมีการวัดผลแล้ว
จะขอเปลี่ยนแปลงเป็นการลงทะเบียนเรียนเพื่อวัดผลการศึกษาได้ภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันเปิดภาคการศึกษา
หรือ ๗ วัน นับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อนโดยต้องได้รับอนุมัติจากคณบดี เมื่อพ้นกําหนดเวลานี้แล้ว
จะกระทํามิได้
ห้ามมิให้ลงทะเบียนเรียนเพื่อวัดผลการศึกษาในรายวิชาที่ได้อักษร AUD แล้วซ้ำอีก
เว้นแต่กรณีการย้ายหลักสูตรและรายวิชานั้นเป็นรายวิชาที่กําหนดไว้ในหลักสูตรที่ย้ายเข้า
ข้อ ๗๗ การนับจํานวนหน่วยกิตสะสมสําหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับ
ประกาศนียบัตรบัณฑิต และระดับปริญญาโทให้นับเฉพาะหน่วยกิตของรายวิชาที่นักศึกษาได้ระดับ S
หรือระดับไม่ต่ำกว่า C เท่านั้น
รายวิชาที่นักศึกษาได้ระดับต่ำกว่า C ไม่ว่าจะเป็นรายวิชาบังคับหรือรายวิชาเลือก
ให้นํามาคํานวณค่าระดับเฉลี่ยสําหรับภาคการศึกษานั้นและระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมทุกครั้งไป
ข้อ ๗๘ การนับจํานวนหน่วยกิตสะสมสําหรับการศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาเอก
ให้นับเฉพาะหน่วยกิตของรายวิชาที่นักศึกษาได้ระดับ S หรือระดับไม่ต่ำกว่า B เท่านั้น
รายวิชาที่นักศึกษาได้ค่าระดับต่ำกว่า B ไม่ว่าจะเป็นรายวิชาบังคับหรือรายวิชาเลือกให้
นํามาคํานวณค่าระดับเฉลี่ยสําหรับภาคการศึกษานั้นและระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมทุกครั้งไป
ข้อ ๗๙ ในกรณีที่นักศึกษาต้องศึกษารายวิชาใดซ้ำหรือแทนกันตามข้อกําหนดหลักสูตรให้
นับจํานวนหน่วยกิตของรายวิชานั้นได้เพียงครั้งเดียว
หมวด ๑๒
การวัดผลการศึกษา
ข้อ ๘๐ มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการวัดผลการศึกษาสําหรับรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียน
เรียนไว้ในภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อน
การวัดผลการศึกษาอาจกระทําได้ระหว่างภาคด้วยวิธีรายงานจากหนังสือที่กําหนดให้อ่าน
งานที่แบ่งกันทําเป็นหมู่คณะ การทดสอบระหว่างภาค การเขียนรายงานประจํารายวิชาหรืออื่น ๆ
และเมื่อสิ้นภาคการศึกษาจะมีการสอบไล่สําหรับแต่ละรายวิชาที่ศึกษาในภาคนั้น หากไม่มีการสอบไล่
เมื่อสิ้นภาคการศึกษาจะต้องมีการวัดผลตามวิธีการที่อาจารย์ผู้สอนกําหนด
ในบางกรณี มหาวิทยาลัยอาจใช้วิธีทดสอบเทียบความรู้แทนการวัดผลการศึกษา
ตามความในวรรคหนึ่งก็ได้
ข้อ ๘๑ นักศึกษาที่มีเวลาเรียนตลอดภาคการศึกษาในรายวิชาใดไม่ถึงร้อยละ ๗๐
ของเวลาเรียนในรายวิชานั้นทั้งหมดหรือตามที่กําหนดไว้ในรายวิชาหรือข้อกําหนดหลักสูตร
ไม่มีสิทธิเข้าสอบไล่ในรายวิชานั้น เว้นแต่มีเหตุผลความจําเป็นอันมิใช่ความผิดของนักศึกษาผู้นั้น
คณบดีอาจอนุญาตให้เข้าสอบไล่ได้เป็นกรณีพิเศษ
การนับเวลาเรียนตามวรรคหนึ่งให้นับการเรียนในรายวิชานั้นทั้งการเรียนภาคทฤษฎี
ภาคปฏิบัติ การฝึกงาน การฝึกภาคสนาม และการทําโครงงาน
หมวด ๑๓
การคำนวณคะแนนเฉลี่ย
ข้อ ๘๒ ให้คํานวณระดับคะแนนเฉลี่ยสําหรับภาคการศึกษาและภาคฤดูร้อนเมื่อสิ้นภาค
โดยคํานวณตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้นําค่าระดับคะแนนของรายวิชาที่ได้คูณด้วยจํานวนหน่วยกิตของรายวิชานั้น
(๒) ให้นําผลการคํานวณตาม (๑) ของทุกรายวิชามารวมกัน
(๓) ให้นําผลการคํานวณตาม (๒) มาหารด้วยจํานวนหน่วยกิตทั้งหมดที่ลงทะเบียนเรียน
ในภาคนั้น
(๔) ผลการคํานวณตาม (๓) เป็นคะแนนเฉลี่ยสําหรับภาคนั้น
ข้อ ๘๓ การคํานวณระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมให้คํานวณตามวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ให้นําค่าระดับคะแนนของรายวิชาที่ได้คูณด้วยจํานวนหน่วยกิตของรายวิชาที่
ลงทะเบียนไว้ทั้งหมดทุกภาคการศึกษา
(๒) ให้นําผลการคํานวณตาม (๑) ของทุกรายวิชามารวมกัน
(๓) ให้นําผลการคํานวณตาม (๒) มาหารด้วยจํานวนหน่วยกิตทั้งหมดที่ลงทะเบียนเรียนไว้
ทุกภาคการศึกษาและภาคฤดูร้อน
(๔) ผลการคํานวณตาม (๓) เป็นคะแนนเฉลี่ยสะสม
ข้อ ๘๔ ในการคํานวณตามข้อ ๘๒ (๔) หรือ ข้อ ๘๓ (๔) หากได้ทศนิยมตําแหน่งที่ ๓
เป็นจํานวนตั้งแต่ ๕ ขึ้นไปให้ปัดเศษขึ้นไป
หมวด ๑๔
สถานภาพทางวิชาการ
ข้อ ๘๕ สถานภาพทางวิชาการของนักศึกษาให้พิจารณาจากผลการคํานวณ
คะแนนเฉลี่ยสะสมของนักศึกษา เมื่อสิ้นภาคการศึกษาและภาคฤดูร้อนที่เรียน ดังนี้
(๑) นักศึกษาที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสม ๓.๐๐ ขึ้นไปมีสถานภาพทางวิชาการปกติ (Normal)
(๒) นักศึกษาที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๓.๐๐ มีสถานภาพทางวิชาการเตือน (Warning)
(๓) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถานภาพทางวิชาการเตือน และมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๒.๗๐
ในภาคถัดมา ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา (Dismissed)
(๔) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถานภาพทางวิชาการเตือน และมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๓.๐๐
แต่สูงกว่า ๒.๗๐ ในภาคถัดมา ให้มีสถานภาพทางวิชาการภาวะรอพินิจ (Probation)
(๕) นักศึกษาซึ่งอยู่ในสถานภาพทางวิชาการภาวะรอพินิจ ตาม (๔) ในภาคที่ผ่านมา
และมีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า ๓.๐๐ ในภาคถัดมา ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา (Dismissed)
หมวด ๑๕
การลาพักการศึกษา
ข้อ ๘๖ นักศึกษาอาจขอลาพักการศึกษาได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ถูกเกณฑ์หรือระดมพลเข้ารับราชการทหารกองประจําการ
(๒) ได้รับทุนเพื่อไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติงานเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ
(๓) เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจนจําเป็นต้องพักการศึกษา
เพื่อการรักษาพยาบาลหรือฟื้นฟูร่างกายตามใบรับรองแพทย์
(๔) ในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควรอื่น
การลาพักการศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้นักศึกษายื่นคําร้องต่อคณบดีและให้คณบดี
เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ เว้นแต่การลาพักการศึกษาเกินกว่า ๒ ภาคการศึกษาติดต่อกันต้องได้รับการอนุมัติ
จากอธิการบดี
ข้อ ๘๗ กรณีนักศึกษาไม่ลงทะเบียนเรียนให้ยื่นคําร้องขอลาพักการศึกษาต่อคณบดี
ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันเปิดภาคการศึกษา
ข้อ ๘๘ ในกรณีที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไว้แล้ว ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษา
ให้ดําเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่นักศึกษาขอลาพักภายใน ๑๔ วันแรกของภาคการศึกษาหรือภายใน ๗ วันแรกของภาคฤดูร้อน ให้ลบรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้แล้วออก
(๒) ในกรณีที่นักศึกษาขอลาพักเมื่อพ้นกําหนดเวลาตาม (๑) แต่ยังไม่เกิน ๑๐ สัปดาห์แรก
ของภาคการศึกษาหรือ ๔ สัปดาห์แรกของภาคฤดูร้อน ให้บันทึกอักษร W สําหรับรายวิชาที่ได้
ลงทะเบียนเรียนไว้
(๓) ในกรณีที่นักศึกษาขอลาพักเมื่อพ้นกําหนดเวลาตาม (๒) แต่ก่อนวันปิดภาคการศึกษา
ไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน จะกระทําได้เมื่อมีเหตุผลอันสมควร และต้องได้รับอนุมัติจากอธิการบดี ให้บันทึก
อักษร W สําหรับรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้
ข้อ ๘๙ นักศึกษาที่ลาพักการศึกษาก่อนการลงทะเบียนเรียนหรือการลาพักการศึกษาก่อน
วันเปิดภาคการศึกษาจะต้องชําระค่าธรรมเนียมเพื่อรักษาสถานภาพ ตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วย
อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อ ๙๐ คณะจะต้องแจ้งรายชื่อนักศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักให้สํานักงานทะเบียนนักศึกษาทราบโดยเร็วที่สุด
ข้อ ๙๑ ให้นับรวมเวลาในระหว่างการลาพักการศึกษา เป็นระยะเวลาศึกษาตามข้อ ๑๗ ด้วย
หมวด ๑๖
การถูกลงโทษให้พักการศึกษา
ข้อ ๙๒ นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัยให้พักการศึกษาในระหว่างภาคการศึกษา ให้ลบรายวิชา
ที่นักศึกษาผู้นั้นลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาที่ถูกสั่งพักการศึกษาออก และให้บันทึกคําว่า
ถูกสั่งพักการศึกษา (Suspended) และเปลี่ยนเป็นลาพักการศึกษา (Leave) เมื่อสําเร็จการศึกษา
หากนักศึกษาถูกลงโทษให้พักการศึกษา ด้วยเหตุทุจริตในการสอบไล่ให้ถือว่าได้ค่าระดับ F
ในรายวิชาที่ทุจริตในการสอบไล่นั้น
นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัยให้พักการศึกษาในภาคการศึกษาถัดไปต้องชําระ
ค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพ ในภาคการศึกษาที่ถูกลงโทษนั้นด้วย
ข้อ ๙๓ คณะจะต้องแจ้งรายชื่อนักศึกษาที่ถูกสั่งให้พักการศึกษา
ให้สํานักงานทะเบียนนักศึกษาทราบโดยเร็วที่สุด
ข้อ ๙๔ ให้นับรวมเวลาในระหว่างที่ถูกลงโทษให้พักการศึกษาเป็นระยะเวลาศึกษา
ตามข้อ ๑๗ ด้วย
หมวด ๑๗
การลาออก
ข้อ ๙๕ นักศึกษาที่ประสงค์จะลาออกให้ยื่นคําร้องต่ออาจารย์ที่ปรึกษาประจําตัวนักศึกษา
หรือผู้อํานวยการบัณฑิตศึกษาแล้วเสนอต่อคณบดีแล้วแต่กรณี
เมื่อคณบดีอนุมัติแล้วให้มีผลนับแต่วันที่นักศึกษายื่นคําร้องตามวรรคหนึ่ง
ข้อ ๙๖ เมื่อการลาออกมีผลแล้ว ให้บันทึกอักษร W ในรายวิชาที่ยังไม่มีการประกาศผล การศึกษา
หมวด ๑๘
การสำเร็จการศึกษาและการอนุมัติปริญญา
ข้อ ๙๗ นักศึกษาจะสําเร็จการศึกษาและจะได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยต้อง
เป็นผู้มีความประพฤติดีเหมาะสมกับศักดิ์ศรีแห่งปริญญาของมหาวิทยาลัย และมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
ก. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต
(๑) ต้องศึกษาครบตามจํานวนหน่วยกิตที่กําหนดไว้ในหลักสูตร
(๒) ต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐
(๓) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกําหนด
(๔) ชําระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยครบถ้วนแล้ว
ข. หลักสูตรปริญญาโท แผน ก แบบ ก ๑
(๑) เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการ
ที่คณะแต่งตั้ง และต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้
(๒) ต้องได้ระดับ P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามเกณฑ์เดียวกับที่กําหนด
ในข้อ ๔๘ ทุกกรณี
(๓) ต้องได้ระดับ S ในการสอบวิทยานิพนธ์ และนําส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์
ตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ
(๔) ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์
หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศ คณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสําหรับการเผยแพร่
ผลงานทางวิชาการ
(๕) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกําหนด
(๖) ชําระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยครบถ้วนแล้ว
ค. หลักสูตรปริญญาโท แผน ก แบบ ก ๒
(๑) ต้องศึกษารายวิชาครบตามจํานวนหน่วยกิตที่กําหนดไว้ในหลักสูตร
(๒) ต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐
(๓) สอบผ่านการสอบประมวลความรู้ (Comprehensive Examination) (ถ้ามี)
(๔) เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการ
ที่คณะแต่งตั้ง และต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้
(๕) ต้องได้ระดับ P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามเกณฑ์เดียวกับที่กําหนดในข้อ ๔๘
ทุกกรณี
(๖) ต้องได้ระดับ S ในการสอบวิทยานิพนธ์ และนําส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์
ตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ
(๗) ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์
หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศ คณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสําหรับการเผยแพร่
ผลงานทางวิชาการ หรือนําเสนอต่อที่ประชุมวิชาการ โดยบทความที่นําเสนอฉบับสมบูรณ์ (Full Paper)
ได้รับการตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceedings) ดังกล่าว
(๘) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกําหนด
(๙) ชําระหนี้สินทั้งหมดต่อ มหาวิทยาลัยครบถ้วนแล้ว
ง. หลักสูตรปริญญาโท แผน ข
(๑) ต้องศึกษารายวิชาครบตามจํานวนหน่วยกิตที่กําหนดไว้ในหลักสูตร
(๒) ต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐
(๓) สอบผ่านการสอบประมวลความรู้ (Comprehensive Examination)
(๔) เสนอสารนิพนธ์หรือรายงานการค้นคว้าอิสระ และสอบผ่านการสอบปากเปล่า
ขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการที่คณะแต่งตั้ง และต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้
(๕) ต้องได้ระดับ P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามเกณฑ์เดียวกับที่กําหนด
ในข้อ ๔๘ ทุกกรณี
(๖) นําส่งสารนิพนธ์หรือรายงานการค้นคว้าอิสระฉบับสมบูรณ์ตามประกาศ
มหาวิทยาลัยว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ
(๗) สารนิพนธ์หรือรายงานการค้นคว้าอิสระหรือส่วนหนึ่งของสารนิพนธ์หรือรายงาน
การค้นคว้าอิสระต้องได้รับการเผยแพร่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่สืบค้นได้
(๘) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกําหนด
(๙) ชําระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยครบถ้วนแล้ว
จ. หลักสูตรปริญญาเอก แบบ ๑
(๑) สอบผ่านการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination)
(๒) เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการ
ที่คณะแต่งตั้ง และต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้
(๓) ต้องได้ระดับ P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามเกณฑ์เดียวกับที่กําหนด
ในข้อ ๔๘ ทุกกรณี
(๔) ต้องได้ระดับ S ในการสอบวิทยานิพนธ์ และนําส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์
ตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ
(๕) ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์
หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศ
คณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสําหรับการเผยแพร่ผลงาน
ทางวิชาการ อย่างน้อย ๒ เรื่อง
(๖) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกําหนด
(๗) ชําระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยครบถ้วนแล้ว
ฉ. หลักสูตรปริญญาเอก แบบ ๒
(๑) ต้องศึกษารายวิชาครบตามจํานวนหน่วยกิตที่กําหนดไว้ในหลักสูตร
(๒) ต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐
(๓) สอบผ่านการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination)
(๔) เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการ
ที่คณะแต่งตั้ง และต้องเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้
(๕) ต้องได้ระดับ P ในการสอบภาษาต่างประเทศตามเกณฑ์เดียวกับที่กําหนด
ในข้อ ๔๘ ทุกกรณี
(๖) ต้องได้ระดับ S ในการสอบวิทยานิพนธ์ และนําส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์
ตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ
(๗) ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์
หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศ
คณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสําหรับการเผยแพร่ผลงาน
ทางวิชาการ
(๘) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่คณะและหลักสูตรกําหนด
(๙) ชําระหนี้สินทั้งหมดต่อมหาวิทยาลัยครบถ้วนแล้ว
หมวด ๑๙
การเสนอชื่อและการอนุมัติปริญญา
ข้อ ๙๘ ให้นักศึกษาซึ่งคาดว่าจะสําเร็จการศึกษาเมื่อสิ้นภาคที่ลงทะเบียนเรียนทําหนังสือ
ยื่นต่อมหาวิทยาลัยภายใน ๑๔ วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือภายใน ๗ วันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน
เพื่อขอสําเร็จการศึกษาและให้มหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติปริญญาเมื่อสิ้นภาค
ข้อ ๙๙ ให้นายทะเบียนตรวจสอบและจัดทํารายชื่อนักศึกษาซึ่งศึกษาครบรายวิชา
ตามหลักสูตรและมีคุณสมบัติตามข้อ ๙๗ ที่ได้ยื่นหนังสือตามข้อ ๙๘ ไว้ ต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
อนุมัติปริญญาในสาขาวิชาที่ศึกษาสําเร็จตามหลักสูตร
หมวด ๒๐
ค่าธรรมเนียมและการขอคืนค่าธรรมเนียม
ข้อ ๑๐๐ นักศึกษาต้องชําระค่าธรรมเนียม ค่าบํารุง ค่าบริการ และเบี้ยปรับ ตามประกาศ มหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา
ข้อ ๑๐๑[๑๔] มหาวิทยาลัยอาจคืนค่าธรรมเนียมที่นักศึกษาชําระให้แก่มหาวิทยาลัยไว้แล้ว
ในกรณีและอัตราดังต่อไปนี้
(๑) นักศึกษาลาออกหรือลาพักการศึกษาก่อนวันเปิดภาคการศึกษาให้มีสิทธิขอคืนได้เต็ม
จํานวนที่ชําระไว้
(๒) นักศึกษาลาออกหรือลาพักการศึกษา ภายใน ๑๔ วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา
ให้มีสิทธิ์ขอคืนได้กึ่งหนึ่ง
(๓) นักศึกษาขอถอนรายวิชาเพราะมหาวิทยาลัยปิดรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไว้
ให้มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมรายวิชาและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษาในรายวิชานั้นได้เต็มจํานวน เว้นแต่กรณีเป็นการชําระค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่ายไม่อาจขอคืนค่าธรรมเนียมในรายวิชาที่ปิดได้
(๔) นักศึกษาขอถอนรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้ภายใน ๑๔ วันนับแต่วันเปิด
ภาคการศึกษา หรือ ๗ วันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน ให้มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมรายวิชาและค่าธรรมเนียม การใช้อุปกรณ์การศึกษาในรายวิชานั้นได้กึ่งหนึ่ง เว้นแต่กรณีเป็นการชําระค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่าย
ไม่อาจขอคืนค่าธรรมเนียมในรายวิชาที่ถอนได้
(๕) นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัยนักศึกษาให้พักการศึกษาในภาคการศึกษาถัดไป
แต่ได้ลงทะเบียนเรียนและชําระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในภาคการศึกษาที่ถูกลงโทษไว้แล้ว ให้มีสิทธิขอคืนได้
เต็มจํานวนที่ชําระไว้
นักศึกษาที่มีความประสงค์ขอคืนเงินค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งต้องยื่นคําร้องต่อคณะ
ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อน
การยกเว้นค่าปรับหรือลดค่าปรับให้อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณบดีมีอํานาจพิจารณา
ยกเว้นค่าปรับหรือลดค่าปรับได้
หมวด ๒๑
การพ้นสภาพนักศึกษาและการขอกลับเข้าศึกษา
ข้อ ๑๐๒ นักศึกษาต้องพ้นสภาพนักศึกษา ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) สําเร็จการศึกษาและได้รับปริญญา
(๒) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๒๒
(๓) ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา
(๔) พ้นกําหนดเวลาศึกษาตามข้อบังคับนี้หรือตามข้อกําหนดหลักสูตร
(๕) ลาออกจากการเป็นนักศึกษา
(๖) ถูกลงโทษทางวินัยนักศึกษาอย่างร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากการเป็นนักศึกษา
(๗) ตาย
ข้อ ๑๐๓ นักศึกษาซึ่งพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาเพราะถูกถอนชื่อตามข้อ ๓๕ ไปแล้ว
ไม่เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่มหาวิทยาลัยประกาศให้ถอนชื่อ อธิการบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาผู้นั้นกลับเข้า
ศึกษาในหลักสูตรเดิมได้
ในกรณีที่นักศึกษาได้รับอนุมัติให้กลับเข้าศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าในระหว่างที่ถูกถอน
ชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาเป็นช่วงเวลาลาพักการศึกษา เพื่อการนี้ ให้นักศึกษาดําเนินการชําระ ค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ค้างชําระ สําหรับภาคการศึกษาที่ถือเป็น
การลาพักการศึกษานั้นด้วย
ข้อ ๑๐๔ นักศึกษาซึ่งพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาเพราะลาออกจากการเป็นนักศึกษาไป
แล้วไม่เกิน ๑ ภาคการศึกษานับแต่วันลาออก อธิการบดีอาจอนุมัติให้นักศึกษาผู้นั้นกลับเข้าศึกษา
ในหลักสูตรเดิมได้
ให้นําความในข้อ ๑๐๓ วรรคสองมาใช้กับกรณีตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
ข้อ ๑๐๕ ให้นับรวมเวลาในช่วงเวลาลาพักการศึกษาตามข้อ ๑๐๓ และข้อ ๑๐๔
เป็นระยะเวลาศึกษาตามข้อ ๑๗ ด้วย
หมวด ๒๒
การยกเว้นใช้ข้อบังคับ
ข้อ ๑๐๖ ในกรณีการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ทําให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่นักศึกษาคนหนึ่ง
คนใด อันเนื่องมาจากเหตุที่มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ สภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของอธิการบดี
อาจกําหนดให้ปฏิบัติแตกต่างจากที่กําหนดไว้ในข้อบังคับนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามสมควรแก่
นักศึกษาผู้นั้นเป็นการเฉพาะรายก็ได้
ข้อ ๑๐๗ ในกรณีที่มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยหรือข้อกําหนดหลักสูตรกําหนดหลักเกณฑ์
เงื่อนไข และวิธีจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาไว้เป็นการเฉพาะของคณะหรือหลักสูตร ให้ใช้ข้อบังคับ มหาวิทยาลัยหรือข้อกําหนดหลักสูตรที่กําหนดไว้เป็นการเฉพาะนั้นก่อนแต่หากไม่มีกําหนดเรื่องใดไว้
ให้ใช้ข้อบังคับนี้
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๑๐๘ นักศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยก่อนปีการศึกษา ๒๕๖๑
ให้ใช้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๕๙ ต่อไปจนกว่าจะสําเร็จการศึกษา
ข้อ ๑๐๙ ให้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่ใช้อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ มีผลบังคับใช้
ต่อไปจนกว่าจะมีข้อบังคับมหาวิทยาลัยในเรื่องเดียวกันขึ้นมาใหม่ ดังต่อไปนี้
(๑) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาชั้นบัณฑิตศึกษา หลักสูตรนานาชาติ คณะเศรษฐศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๖
(๒) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
ทางกฎหมายมหาชน พ.ศ. ๒๕๕๖
(๓) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
(บัณฑิตอาสาสมัคร) พ.ศ. ๒๕๕๘
ประกาศ ณ วันที่ ๘ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
[๑] ข้อ ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๒] ข้อ ๓๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๓] ข้อ ๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๔]ข้อ ๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๕] ข้อ ๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๖] หมวด ๘/๑ การโอนรายวิชาและหน่วยกิต เพิ่มโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๗]หมวด ๘/๑ การโอนรายวิชาและหน่วยกิต ข้อ ๔๕/๑ เพิ่มโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๘]หมวด ๘/๑ การโอนรายวิชาและหน่วยกิต ข้อ ๔๕/๒ เพิ่มโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๙]หมวด ๘/๑ การโอนรายวิชาและหน่วยกิต ข้อ ๔๕/๓ เพิ่มโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๑๐] หมวด ๘/๑ การโอนรายวิชาและหน่วยกิต ข้อ ๔๖ เพิ่มโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๑๑] ข้อ ๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๑๒] ข้อ ๕๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
[๑๓] ข้อ ๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
[๑๔]ข้อ ๑๐๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔