ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๔
——————————————–
โดยที่เป็นการสมควรให้มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการการเงินได้พิจารณาโดยอาศัยอำนาจตามข้อ ๕๒ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ และ การบัญชี พ.ศ. ๒๕๖๔
และให้ความเห็นชอบแล้ว ในคราวประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๙/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ จึงเห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ส่วนงาน” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนักงาน หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือสำนักงาน
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อเพิ่มความรู้ในต่างประเทศ
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อเพิ่มความรู้ในต่างประเทศ
“ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการ พนักงานเงินรายได้ และลูกจ้างชาวต่างประเทศที่มีสัญญาจ้าง
“ผลงานสร้างสรรค์” หมายความว่า ผลงานศิลปะและสิ่งประดิษฐ์ประเภทต่าง ๆ ที่มี
ความเป็นนวัตกรรมโดยมีการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบที่เหมาะสมตามประเภทของงานศิลปะซึ่งมี
แนวทางการทดลองหรือการพัฒนาจากแนวคิดสร้างสรรค์เดิมเพื่อเป็นต้นแบบหรือความสามารถใน
การบุกเบิกศาสตร์อันก่อให้เกิดคุณค่าทางสุนทรีย์และคุณประโยชน์ที่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาชีพ
ตามการจัดกลุ่มศิลปะของสากลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ ได้แก่ (๑) ทัศนศิลป์ (Visual Arts) ประกอบด้วย ผลงานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ สื่อประสม สถาปัตยกรรมและงานออกแบบประเภทอื่น ๆ (๒) ศิลปะการแสดง (Performing Arts) ประกอบด้วย ดุริยางคศิลป์ นาฏยศิลป์ รวมถึงการแสดงรูปแบบต่าง ๆ และ (๓) วรรณศิลป์ (Literature) ซึ่งประกอบด้วยบทประพันธ์และกวีนิพนธ์รูปแบบต่าง ๆ
“สิ่งประดิษฐ์” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธีการผลิตที่เกิดจากการคิดค้นหรือคิดทำขึ้นใหม่รวมตลอดถึงการออกแบบใหม่สำหรับสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ
“การเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์และสิ่งประดิษฐ์” หมายความว่า การเผยแพร่โดยการจัดนิทรรศการ (Exhibition) หรือการจัดแสดง (Performance) ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานหรือสิ่งประดิษฐ์ทางศิลปะ ดนตรี การแสดงที่เป็นผลงานวิชาการ (นอกเหนือจากงานวิจัย) สู่สาธารณะหรือกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการจัดการนำเสนอในระดับชาติหรือระดับนานาชาติอย่างเป็นระบบและวิธีการที่ยอมรับในวงวิชาชีพและมีการประเมินคุณค่าของผลงานที่เผยแพร่
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งมหาวิทยาลัย รวมตลอดถึงการวินิจฉัยตีความเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
กองทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศ
ข้อ ๕ ให้จัดตั้งกองทุน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) สนับสนุนการเสนอผลงานทางวิชาการในที่ประชุมหรือการสัมมนาทางวิชาการ
(๒) สนับสนุนการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์และสิ่งประดิษฐ์
(๓) สนับสนุนการเข้าร่วมประชุมหรือการสัมมนาทางวิชาการ
(๔) สนับสนุนการศึกษา การเข้าฝึกอบรม การฝึกปฏิบัติงาน หรือการดูงานในหลักสูตรที่
ไม่เกิน ๖ เดือน
(๕) สนับสนุนการเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศในลักษณะอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
ให้กองทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศ ตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกองทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกองทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕
เป็นกองทุนตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๖ เงินได้และทรัพย์สินของกองทุน มีดังนี้
- เงินรายได้ที่มหาวิทยาลัยจัดสรรให้ทุกปี
- เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้บริจาคให้
- ดอกเบี้ยของเงินทุนตาม (๑) – (๒)
- รายได้อื่น ๆ
ข้อ ๗ ค่าใช้จ่ายของกองทุน มีดังนี้
- เงินทุนสนับสนุนที่จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยตามข้อ ๕
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการบริหารกองทุน
ข้อ ๘ ให้มีคณะกรรมการที่อธิการบดีแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑)รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้อำนวยการกองคลังหรือผู้แทน เป็นกรรมการ
(๓) กรรมการที่แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาวิชาสังคมศาสตร์ สาขาวิชามนุษยศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชาละหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๔) กรรมการอื่นอีกไม่เกินสองคน
(๕) ผู้อำนวยการกองบริหารการวิจัย เป็นกรรมการและเลขานุการ
ประธานกรรมการอาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยในสังกัดกองบริหารการวิจัยผู้ช่วยเลขานุการได้อีกไม่เกินสองคน
ให้กรรมการตาม (๓) และ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี
ข้อ ๙ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่บริหารกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณากำหนดแนวทางและแผนการดำเนินการของกองทุน โดยคำนึงถึงเป้าหมาย
การพัฒนาของหน่วยงาน
(๒) พิจารณาการกำหนดหลักเกณฑ์และการจัดสรรทุน คุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอรับทุนสนับสนุนการกำหนดจำนวนเงินที่จะให้การสนับสนุน การกำหนดรายการค่าใช้จ่ายที่จะให้การสนับสนุน
ตามข้อ ๕
ในการพิจารณากำหนดจำนวนเงินสนับสนุน ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินที่ต่างกันได้ โดยให้คำนึงถึงความแตกต่าง ความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง
(๓) จัดทำประกาศคณะกรรมการเพื่อกำหนดการจัดสรรทุนเป็นการทั่วไปในแต่ละปีงบประมาณ โดยให้ระบุหลักเกณฑ์ทั้งหลายที่กำหนดขึ้นตาม (๒) รวมตลอดถึงกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องด้วย
(๔) พิจารณาจัดสรรทุนสนับสนุนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยในแต่ละปีงบประมาณ และจัดทำประกาศมหาวิทยาลัยแจ้งผลการจัดสรรทุน โดยให้อธิการบดีเป็นผู้ลงนามในประกาศ
(๕) ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงระเบียบนี้ หรือแนวทาง
การปฏิบัติงานตามระเบียบนี้ต่ออธิการบดี
(๖) ดำเนินการอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากสภามหาวิทยาลัย
หมวด ๒
การเก็บรักษาเงินและการควบคุมตรวจสอบ
ข้อ ๑๐ ให้กองคลังมีหน้าที่รับเงิน จ่ายเงิน และเก็บรักษาเงินกองทุน ตลอดจนการจัดทำบัญชี งบการเงิน และรายงานสถานะการเงินของกองทุน เสนอต่อคณะกรรมการทราบทุกรอบระยะเวลา ๖ เดือน
ข้อ ๑๑ ในกรณีที่ข้อบังคับนี้มิได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ ให้นำข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารการเงิน งบประมาณ และ การบัญชี พ.ศ. ๒๕๖๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๑๒ ให้กองทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศ ตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกองทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกองทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕
เป็นกองทุนตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๑๓ การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนที่มีอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับให้ดำเนินการตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกองทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๕๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกองทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕ ต่อไปจนกว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จ
ข้อ ๑๔ ให้คณะกรรมการซึ่งดำรงอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามข้อบังคับนี้ต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ เดือน สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย