ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๒
—————————–
โดยที่เป็นการสมควรให้มีการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ที่เป็นคณาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยที่มีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ในสาขาวิชา ซึ่งปฏิบัติงานและอุทิศตนให้แก่มหาวิทยาลัย
และสังคมอย่างเต็มความสามารถอย่างต่อเนื่องเป็นกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ อธิการบดีจึงออกระเบียบไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยกีรตยาจารย์
แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๒”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
“กีรตยาจารย์” หมายความว่า กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะหรือวิทยาลัย” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น
ที่มีหน้าที่จัดการศึกษา
“คณบดี” หมายความว่า คณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานที่มีหน้าที่จัดการศึกษา
และให้หมายความรวมถึง ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และผู้อำนวยการสถาบันภาษาด้วย
ข้อ ๔ กีรตยาจารย์ มีได้ ๔ สาขา ดังต่อไปนี้
(๑) สาขาสังคมศาสตร์
(๒) สาขามนุษยศาสตร์
(๓) สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(๔) สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ข้อ ๕ บุคคลที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นกีรตยาจารย์ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) เป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยและยังไม่เกษียณอายุราชการในวันที่เสนอชื่อ
(๒) ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี
(๓) เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับระดับชาติหรือนานาชาติ ในสาขาวิชาที่ได้รับการยกย่องเป็นกีรตยาจารย์
(๔) มีความเชี่ยวชาญอย่างสูงในการสอนและวิจัย
(๕) เป็นผู้อุทิศตนเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและบริการสังคม
(๖) เป็นผู้มีจริยธรรม ดำรงอยู่ในศีลธรรมอันดี ไม่เคยกระทำผิดวินัยและจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์
(๗) ปฏิบัติงานหรือให้ความร่วมมือช่วยเหลือการบริหารงานของมหาวิทยาลัยหรือคณะอย่างต่อเนื่อง
ข้อ ๖ ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ ได้รับการเสนอชื่อหรือได้รับการยกย่องเป็นกีรตยาจารย์
(๑) นายกสภามหาวิทยาลัย หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัย
(๒) อธิการบดี รองอธิการบดี หรือผู้ช่วยอธิการบดี
(๓) คณบดี รองคณบดี หรือผู้ช่วยคณบดี
ข้อ ๗ ให้อธิการบดีแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย
(๑) รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน ๕ คนเป็นกรรมการ
(๓) ผู้ช่วยอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายคนหนึ่ง เป็นกรรมการและเลขานุการ
กรรมการตาม (๒) อาจเป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยหรือบุคคลภายนอกก็ได้ แต่ต้องแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา ตามข้อ ๔ อย่างน้อยสาขาละ ๑ คน
คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้และให้กองบริการวิชาการมอบหมายให้หัวหน้างานของกองบริการวิชาการคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
และอาจมอบหมายพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดของกองบริการวิชาการอีกหนึ่งคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการด้วยก็ได้
ข้อ ๘ คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอำนาจ
และหน้าที่พิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๕ และมิได้ดำรงตำแหน่งตามข้อ ๖ เสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณายกย่องเป็นกีรตยาจารย์และในการนี้ให้มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกด้วย
ข้อ ๙ การพิจารณายกย่องกีรตยาจารย์ในแต่ละสาขา ให้พิจารณาจากการเสนอชื่อโดยคณะ
หรือวิทยาลัย หรือโดยผู้ที่เป็นกีรตยาจารย์ในสาขาเดียวกัน
ข้อ ๑๐ คณะหรือวิทยาลัยใดมีความประสงค์ที่จะเสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๕ และมิได้ดำรงตำแหน่งตามข้อ ๖ ให้ได้รับการพิจารณายกย่องเป็นกีรตยาจารย์ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ให้คณบดีจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติ ประวัติ ผลงานสอน ผลงานทางวิชาการ ตลอดจนความประพฤติ ชื่อเสียง
และเกียรติคุณของผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อยกย่องเป็นกีรตยาจารย์ เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก
กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพิจารณาต่อไป
ข้อ ๑๑ การเสนอชื่อโดยผู้ที่เป็นกีรตยาจารย์ในสาขาวิชาเดียวกัน ให้ผู้ที่ประสงค์จะเสนอชื่อดำเนินการทาบทามผู้ที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๕ และมิได้ดำรงตำแหน่งตามข้อ ๖ เพื่อขอความยินยอมก่อน หากได้รับการยินยอมแล้ว ให้เสนอชื่อพร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติ ประวัติ ผลงานสอน ผลงานทางวิชาการตลอดจนความประพฤติ ชื่อเสียง และเกียรติคุณของผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อยกย่องเป็นกีรตยาจารย์ เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพิจารณาต่อไป
ข้อ ๑๒ ผู้ได้รับการยกย่องเป็นกีรตยาจารย์มีหน้าที่แสดงปาฐกถาทางวิชาการในหัวข้อเรื่องที่มีความเชี่ยวชาญต่อสาธารณะในรายการที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
ข้อ ๑๓ ผู้ได้รับการยกย่องเป็นกีรตยาจารย์ให้ได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ พร้อมรางวัลอื่นตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ประกาศ ณ วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
(รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี