ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการแต่งตั้งธรรมศาสตราภิชาน พ.ศ. ๒๕๕๒
______________________
โดยที่เป็นการสมควรให้มีข้อบังคับว่าด้วยการแต่งตั้งธรรมศาสตราภิชาน เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้มีความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้มี
การพัฒนาทางวิชาการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ (๒) และ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงตราข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ชื่อข้อบังคับ
ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการแต่งตั้งธรรมศาสตราภิชาน พ.ศ. ๒๕๕๒”
ข้อ ๒ เวลามีผลใช้บังคับ
ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ บทนิยาม
ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“หน่วยงาน” หมายความว่า มหาวิทยาลัย คณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนัก หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
ข้อ ๔ คุณสมบัติของธรรมศาสตราภิชาน
ผู้ที่จะได้รับการเสนอแต่งตั้งเป็นธรรมศาสตราภิชาน จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ในสาขาวิชาหนึ่งสาขาวิชาใดโดยเฉพาะ และมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทางวิชาการของมหาวิทยาลัย
หรือหน่วยงาน
(๒) เป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นที่ยอมรับในสังคม
ข้อ ๕ ภารกิจของธรรมศาสตราภิชาน
ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นธรรมศาสตราภิชาน จะต้องมีภารกิจดังนี้
(๑) เป็นที่ปรึกษาในการผลักดัน และเผยแพร่การวิจัยต่อเนื่องระยะยาวในเรื่องที่สอดคล้อง
กับวิสัยทัศน์ของคณะ โดยการพัฒนาทีมคณาจารย์ การสร้างเครือข่าย กับองค์กรภายนอก รวมทั้งการช่วยระดมทุน เพื่อการวิจัยต่อเนื่องระยะยาว หรือ
(๒) เป็นที่ปรึกษาหลักในการผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของคณาจารย์ในการร่วมกันผลิตตำรากรณีศึกษา และงานวิชาการรูปแบบอื่น ๆ ที่มีคุณภาพ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนของคณะ และเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนการเรียนการสอนกับสถาบันการศึกษาอื่นทั้งในและต่างประเทศ หรือ
(๓) เป็นที่ปรึกษาหลักในการยกระดับคุณภาพ และผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาสาธารณชนในการพัฒนา และบริหารหลักสูตรที่ให้ปริญญาหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งของคณะ
ข้อ ๖ การดำเนินการแต่งตั้งธรรมศาสตราภิชาน
ในการเสนอแต่งตั้งผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นธรรมศาสตราภิชาน ให้ดำเนินการดังนี้
(๑) ให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการประจำหน่วยงาน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย เสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นธรรมศาสตราภิชานต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาเป็นรายกรณี ทั้งนี้ให้จัดทำรายละเอียดประวัติของผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นธรรมศาสตราภิชาน และเหตุผลในการเสนอแต่งตั้ง รวมทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเสนอประกอบการพิจารณาด้วย
(๒) ในการลงมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัย ให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ และให้ถือคะแนนเสียงข้างมากของที่ประชุม
ข้อ ๗ การแต่งตั้งธรรมศาสตราภิชาน
การแต่งตั้งธรรมศาสตราภิชาน ให้จัดทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๘ วาระการดำรงตำแหน่ง
ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นธรรมศาสตราภิชานมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๒ ปี หรือตามที่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๙ เงินประจำตำแหน่งและหรือค่าสมนาคุณอื่นสำหรับธรรมศาสตราภิชาน
ให้คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณากำหนดเงินประจำตำแหน่งและหรือ
ค่าสมนาคุณอื่นให้กับผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นธรรมศาสตราภิชานตามความเหมาะสม
ในกรณีที่หน่วยงานใดเสนอแต่งตั้งธรรมศาสตราภิชาน ให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้รับผิดชอบเงินประจำตำแหน่งและหรือค่าสมนาคุณอื่นสำหรับธรรมศาสตราภิชาน
ข้อ ๑๐ หน่วยงานที่รับผิดชอบการแต่งตั้งธรรมศาสตราภิชาน
ให้กองบริการการศึกษา สำนักงานอธิการบดี เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการแต่งตั้งธรรมศาสตราภิชาน
ข้อ ๑๑ การรักษาการตามข้อบังคับ
ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกประกาศ คำสั่งหรือการอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติการตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
(ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล)
นายกสภามหาวิทยาลัย