ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๓
……..………………………………………..
โดยที่เป็นการสมควรให้มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ และโดยมติสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๓”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย และให้หมายความรวมถึงสถาบันหรือส่วนงาน ที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีการจัดการเรียนการสอนและมีนักศึกษาระดับปริญญาตรี
“ศูนย์ท่าพระจันทร์” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์
“ศูนย์รังสิต” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
“ศูนย์ลำปาง” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
“ศูนย์” หมายความว่า ศูนย์ท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์ลำปาง หรือศูนย์การศึกษาอื่น ที่มหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้น
“นักศึกษา” หมายความว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรี หรือนักศึกษาที่ศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องปริญญาโท แต่ไม่รวมถึงนักศึกษาที่ศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรีภาคบัณฑิตหรือหลักสูตรที่รับนักศึกษาจากผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาแล้ว
“สภานักศึกษา” หมายความว่า สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภานักศึกษาระดับศูนย์” หมายความว่า สภานักศึกษา ศูนย์ท่าพระจันทร์ หรือ
สภานักศึกษา ศูนย์รังสิต สภานักศึกษา ศูนย์ลำปาง หรือสภานักศึกษาศูนย์การศึกษาที่มหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้น
“องค์การนักศึกษา” หมายความว่า องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ศูนย์ท่าพระจันทร์ คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ศูนย์รังสิต คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ศูนย์ลำปาง หรือคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาศูนย์การศึกษาที่มหาวิทยาลัย
จัดตั้งขึ้น
“คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ” หมายความว่า คณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ คณะกรรมการนักศึกษาประจำวิทยาลัย หรือคณะกรรมการนักศึกษาประจำสถาบัน ซึ่งมีการจัดการเรียน
การสอนในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการหอพักนักศึกษา” หมายความว่า คณะกรรมการหอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ชุมนุมกิจกรรมนักศึกษา” หมายความว่า ชุมนุมกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการกิจการนักศึกษา” หมายความว่า คณะกรรมการกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้
ลักษณะ ๑
สิทธิและหน้าที่ของนักศึกษาในการทำกิจกรรมนักศึกษา
ข้อ ๕ ในการทำกิจกรรมนักศึกษานักศึกษาย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความเป็นสุภาพชน
ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
ข้อ ๖ นักศึกษามีสิทธิในการทำกิจกรรมนักศึกษาภายใต้วัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจกรรม ดังต่อไปนี้
(๑) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกฝนตนเองให้เป็นพลเมืองดีที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
(๒) เพื่อส่งเสริมความมีคุณธรรมและจริยธรรม
(๓) เพื่อส่งเสริมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
(๔) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในวิชาการและวิชาชีพ
(๕) เพื่อส่งเสริมความสามัคคีของนักศึกษา
(๖) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้มีบุคลิกภาพที่ดี มีพลานามัยสมบูรณ์ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
(๗) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
(๘) เพื่อส่งเสริมให้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ปลอดภัย ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม
ลักษณะ ๒
สภานักศึกษา
หมวด ๑
องค์ประกอบของสภานักศึกษา
ข้อ ๗ ให้มีสภานักศึกษาประกอบด้วยสมาชิกสภานักศึกษาระดับศูนย์ของแต่ละศูนย์ ดังนี้
(๑) สภานักศึกษา ศูนย์ท่าพระจันทร์ ประกอบด้วยสมาชิกสภานักศึกษาที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีและศึกษาอยู่ในศูนย์ท่าพระจันทร์ ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ศึกษา อยู่ในศูนย์ท่าพระจันทร์ จำนวนสามสิบคน
(๒) สภานักศึกษา ศูนย์รังสิต ประกอบด้วยสมาชิกสภานักศึกษาซึ่งเป็นนักศึกษาระดับ
ปริญญาตรีและศึกษาอยู่ในศูนย์รังสิต ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ศึกษาอยู่ในศูนย์รังสิต จำนวนห้าสิบคน
(๓) สภานักศึกษา ศูนย์ลำปาง ประกอบด้วยสมาชิกสภานักศึกษาซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีและศึกษาอยู่ในศูนย์ลำปางที่ได้รับการเลือกตั้งโดยนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ศึกษา
อยู่ในศูนย์ลำปาง จำนวนยี่สิบคน
ในกรณีที่มีศูนย์การศึกษาอื่นที่มหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นให้สภานักศึกษาศูนย์การศึกษานั้นประกอบด้วยสมาชิกสภานักศึกษาซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีและศึกษาอยู่ในศูนย์การศึกษานั้นที่ได้รับการเลือกตั้งโดยนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ศึกษาอยู่ในศูนย์การศึกษานั้น จำนวนยี่สิบคน
ข้อ ๘ ในสภานักศึกษาให้มีคณะกรรมการบริหารสภานักศึกษาที่อธิการบดีแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑) ประธานสภานักศึกษา
(๒) รองประธานสภานักศึกษา คนที่ ๑
(๓) รองประธานสภานักศึกษา คนที่ ๒
(๔) เลขาธิการสภานักศึกษา
(๕) รองเลขาธิการสภานักศึกษา คนที่ ๑
(๖) รองเลขาธิการสภานักศึกษา คนที่ ๒
(๗) ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภานักศึกษา
สมาชิกสภานักศึกษาสามารถดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ได้เพียงตำแหน่งเดียว
ให้คณะกรรมการบริหารสภานักศึกษา มีอำนาจและหน้าที่รวมถึงความรับผิดชอบ
ในการบริหารกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับสภานักศึกษาโดยไม่ขัดต่อข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง ของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๙ ในสภานักศึกษาระดับศูนย์ให้มีคณะกรรมการบริหารสภานักศึกษาระดับศูนย์ ประกอบด้วย
(๑) ประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์
(๒) รองประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์ คนที่ ๑
(๓) รองประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์ คนที่ ๒
(๔) เลขาธิการสภานักศึกษาระดับศูนย์
(๕) รองเลขาธิการสภานักศึกษาระดับศูนย์ คนที่ ๑
(๖) รองเลขาธิการสภานักศึกษาระดับศูนย์ คนที่ ๒
(๗) ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภานักศึกษาระดับศูนย์
สมาชิกสภานักศึกษาระดับศูนย์สามารถดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ได้เพียงตำแหน่งเดียว
ให้คณะกรรมการบริหารสภานักศึกษาระดับศูนย์ มีอำนาจและหน้าที่รวมถึงความรับผิดชอบในการบริหารกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับสภานักศึกษาระดับศูนย์ โดยไม่ขัดต่อข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัย
หมวด ๒
อำนาจหน้าที่ของสภานักศึกษาและสภานักศึกษาระดับศูนย์
ข้อ ๑๐ สภานักศึกษามีอำนาจและหน้าที่รวมถึงความรับผิดชอบดังต่อไปนี้
(๑) เสนอความคิดเห็นต่ออธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยในเรื่องที่มีผลกระทบต่อนักศึกษา
(๒) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่องค์การนักศึกษาในการบริหารกิจกรรมนักศึกษาหรือ
เรื่องที่มีผลกระทบต่อนักศึกษา
(๓) พิจารณาและให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อ แผนงาน โครงการ งบประมาณและระเบียบกิจกรรมนักศึกษาตามที่คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาเสนอ
(๔) ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการบริหารงาน การดำเนินงาน และการใช้จ่ายงบประมาณของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา คณะกรรมการการเลือกตั้งและชุมนุม
ทั้งจากที่สภานักศึกษาอนุมัติหรือการได้รับการสนับสนุนมา และให้มีอำนาจกำหนดระเบียบหรือขอเอกสารหรือ
เชิญนายกองค์การนักศึกษาหรือผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหรือชี้แจงในประเด็นที่เกี่ยวข้องได้
เมื่อสภานักศึกษาพิจารณารายงานตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สภานักศึกษาดำเนินการสรุปรายงานดังกล่าวเสนอมหาวิทยาลัยพิจารณาต่อไป
(๕) กำหนดหรืออนุมัติระเบียบกิจกรรมนักศึกษาที่เกี่ยวกับการจัดตั้งและดำเนินงานชุมนุมตามข้อบังคับนี้
(๖) พิจารณารับรองผลการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(๗) เสนอให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ออกระเบียบหรือประกาศมหาวิทยาลัยตามข้อ ๘๘ หรือเสนอแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับนี้ด้วยมติไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิก
สภานักศึกษาทั้งหมด
ข้อ ๑๑ สภานักศึกษาระดับศูนย์มีอำนาจและหน้าที่รวมถึงความรับผิดชอบดังต่อไปนี้
(๑) เสนอความคิดเห็นต่อสภานักศึกษาในเรื่องที่มีผลกระทบต่อนักศึกษาที่ศึกษาในศูนย์
(๒) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่องค์การนักศึกษาในเรื่องที่มีผลกระทบต่อนักศึกษาในศูนย์
(๔) ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการบริหารงาน การดำเนินงาน การใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งจากที่สภานักศึกษาอนุมัติหรือการได้รับการสนับสนุนอื่นใดของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา
ระดับศูนย์และชุมนุมกิจกรรมของนักศึกษาภายในศูนย์ และให้มีอำนาจขอเอกสารหรือเรียกอุปนายก
องค์การนักศึกษาหรือผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหรือชี้แจงในประเด็นที่เกี่ยวข้องได้
(๔) อำนาจอื่นตามที่สภานักศึกษามอบหมาย
หมวด ๓
การเลือกตั้งสภานักศึกษาและสภานักศึกษาระดับศูนย์
ข้อ ๑๒ การเลือกตั้งสภานักศึกษาและสภานักศึกษาระดับศูนย์ให้เป็นแบบระบบบัญชีรายชื่อโดยแบ่งเป็นบัญชีรายชื่อตามศูนย์การศึกษา โดยผู้สมัครในบัญชีรายชื่อใด ต้องเป็นนักศึกษาที่ศึกษา
อยู่ในศูนย์การศึกษานั้น
กรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภานักศึกษาและสภานักศึกษาระดับศูนย์ว่างลง เพราะเหตุอื่นนอกจากกรณีถึงคราวออกตามอายุของสภานักศึกษา ให้ประธานสภานักศึกษาเสนอชื่อผู้ที่อยุ่ในลำดับถัดไป ในบัญชีรายชื่อของพรรคนักศึกษาแทนตำแหน่งที่ว่างลงต่ออธิการบดีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ทราบว่า ตำแหน่งนั้นว่างลง
สมาชิกภาพของสมาชิกสภานักศึกษาผู้เข้าแทนที่ตำแหน่งที่ว่างลง ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภานักศึกษาที่เหลืออยู่
ข้อ ๑๓ หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีกำหนด ตามข้อเสนอของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๔ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษาต้องมีสภาพเป็นนักศึกษาอยู่ในวันที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ข้อ ๑๕ ผู้มีสิทธิสมัครรับการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษา ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
ก.คุณสมบัติ
(๑) เป็นนักศึกษา
(๒) มีผลการศึกษาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐
(๓) ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยไม่เกินกว่าสี่ปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาสี่ปีการศึกษา หรือไม่เกินห้าปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาห้าปีการศึกษา หรือไม่เกินหกปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาหกปีการศึกษา
ข. ลักษณะต้องห้าม
(๑) เคยเป็นผู้ถูกลงโทษวินัยนักศึกษาในระยะหนึ่งปีก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
(๒) เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์
(๓) เป็นกรรมการในคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ หรือเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการหอพักนักศึกษา หรือเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารชุมนุม
(๔) เป็นกรรมการหรือเคยเป็นกรรมการการเลือกตั้งในระยะหนึ่งปีก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
ข้อ ๑๖ เมื่ออายุสภานักศึกษาและสภานักศึกษาระดับศูนย์เหลืออยู่ไม่ถึงหกสิบวัน
ให้อธิการบดีออกประกาศมหาวิทยาลัยกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษาเป็นการทั่วไป
หมวด ๔
การดำเนินงานและการประชุมสภานักศึกษาและสภานักศึกษาระดับศูนย์
ข้อ ๑๗ ให้ประธานสภานักศึกษามาจากการเลือกตั้งของสภานักศึกษา และหากประธาน
สภานักศึกษามาจากสภานักศึกษาระดับศูนย์จากศูนย์ใดก็ให้เป็นประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์นั้น
โดยตำแหน่ง และให้สมาชิกสภานักศึกษาของศูนย์การศึกษาที่เหลือ เลือกสมาชิกสภานักศึกษาคนหนึ่ง เป็นประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์
ประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์ ที่มิได้เป็นประธานสภานักศึกษา ให้เป็นรองประธาน
สภานักศึกษาโดยตำแหน่ง
เลขาธิการและรองเลขาธิการสภานักศึกษาระดับศูนย์ที่ประธานสภานักศึกษาสังกัดอยู่ ให้เป็นเลขาธิการและรองเลขาธิการสภานักศึกษาโดยตำแหน่ง
ข้อ ๑๘ ให้ประธานสภานักศึกษามีหน้าที่ควบคุมและดูแลการดำเนินงานของสภานักศึกษาและเป็นประธานที่ประชุมสภานักศึกษา
ทั้งนี้ให้ประธานสภานักศึกษามีอำนาจออกคำสั่งหรือประกาศเพื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่ง
ข้อ ๑๙ ให้ประธานสภานักศึกษาจัดให้มีการประชุมสภานักศึกษาเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสภานักศึกษาอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง เว้นแต่มีกรณีที่เหตุอันจำเป็นที่ไม่สามารถจัดการประชุมได้
ข้อ ๒๐ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีประกาศผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานักศึกษาและมีจำนวนสมาชิกสภานักศึกษาไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามอบหมายเรียกประชุมสภานักศึกษาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
การประชุมสภานักศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้สภานักศึกษาประกอบด้วยสมาชิกสภานักศึกษาเท่าที่มีอยู่ และให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาเป็นประธานในที่ประชุม โดยให้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมและจัดให้มีการดำเนินการเลือกประธานสภานักศึกษา
ข้อ ๒๑ การเสนอชื่อสมาชิกสภานักศึกษาคนใดเป็นประธานสภานักศึกษา ต้องมีเสียงรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภานักศึกษา และหากมีการเสนอชื่อเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้นั้น
เป็นผู้ได้รับเลือก เมื่อที่ประชุมมีมติรับรองด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภานักศึกษาเท่าที่มีอยู่
ข้อ ๒๒ ภายในสามวันนับแต่วันที่มีการประชุมสมาชิกสภานักศึกษาครั้งแรก และมีจำนวนสมาชิกสภานักศึกษาระดับศูนย์ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาระดับศูนย์ทั้งหมด ให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาเรียกประชุมสภานักศึกษาระดับศูนย์ เพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
การประชุมสภานักศึกษาระดับศูนย์ตามวรรคหนึ่ง ให้สภานักศึกษาระดับศูนย์ประกอบด้วยสมาชิกสภานักศึกษาเท่าที่มีอยู่ และให้จัดให้มีการดำเนินการเลือกสมาชิกสภานักศึกษาระดับศูนย์เพื่อให้ดำรงตำแหน่งตามข้อ ๙
ข้อ ๒๓ ประธานสภานักศึกษาและประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์ มีอำนาจและหน้าที่รวมถึงความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นประธานของที่ประชุมสภานักศึกษาหรือสภานักศึกษาระดับศูนย์ แล้วแต่กรณี
(๒) ควบคุมการประชุมและการดำเนินกิจการของสภานักศึกษาหรือสภานักศึกษาระดับศูนย์ แล้วแต่กรณี
(๓) เป็นผู้แทนในกิจการภายนอกของสภานักศึกษาหรือสภานักศึกษาระดับศูนย์ แล้วแต่กรณี
(๔) แต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินกิจการใด ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการ
สภานักศึกษาหรือสภานักศึกษาระดับศูนย์ แล้วแต่กรณี
(๕) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่อธิการบดีหรือรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามอบหมาย
ข้อ ๒๔ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภานักศึกษาหรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานสภานักศึกษาคนที่ ๑ ทำหน้าที่แทน หากประธานสภานักศึกษาและรองประธานสภานักศึกษาคนที่ ๑ ไม่อาจทำหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภานักศึกษาคนที่ ๒ ทำหน้าที่แทน
ในกรณีที่ประธานสภานักศึกษาไม่อาจทำหน้าที่ได้ และไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการบริหารสภานักศึกษาตามข้อ ๘ เลือกกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่ประธาน สภานักศึกษา
ข้อ ๒๕ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์ หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์คนที่ ๑ ทำหน้าที่แทน หากประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์และรองประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์คนที่ ๑ ไม่อาจทำหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์ คนที่ ๒ ทำหน้าที่แทน
ในกรณีที่ประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์ไม่อาจทำหน้าที่ได้ และไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการบริหารสภานักศึกษาระดับศูนย์ตามข้อ ๙ เลือกกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่ประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์
ข้อ ๒๖ อำนาจและหน้าที่รวมถึงความรับผิดชอบของรองประธานสภานักศึกษาและ
รองประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์ ให้เป็นไปตามที่ประธานสภานักศึกษาหรือประธานสภานักศึกษา ระดับศูนย์ แล้วแต่กรณีกำหนด
ข้อ ๒๗ เลขาธิการสภานักศึกษาและเลขาธิการสภานักศึกษาระดับศูนย์ มีอำนาจและหน้าที่รวมถึงความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบงานธุรการทั่วไปของสภานักศึกษา
(๒) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ประธานสภานักศึกษาหรือประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์ แล้วแต่กรณีมอบหมาย
ให้รองเลขาธิการสภานักศึกษาและรองเลขาธิการสภานักศึกษาระดับศูนย์ ช่วยเหลืองาน ด้านต่าง ๆ ตามที่เลขาธิการสภานักศึกษาหรือเลขาธิการสภานักศึกษาระดับศูนย์ แล้วแต่กรณีมอบหมาย
ข้อ ๒๘ ให้เลขาธิการสภานักศึกษาและเลขาธิการสภานักศึกษาระดับศูนย์ เสนอแต่งตั้งนักศึกษาเป็นผู้ช่วยในฝ่ายตนได้
การแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้ประธานสภานักศึกษาหรือประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์ แล้วแต่กรณี เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง
ช้อ ๒๙ การดำเนินงานและการประชุมของสภานักศึกษา นอกจากที่กำหนดไว้ในหมวดนี้
ให้เป็นไปตามระเบียบกิจกรรมนักศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานและการประชุมสภานักศึกษาที่สภานักศึกษากำหนด
การดำเนินงานและการประชุมของสภานักศึกษาระดับศูนย์ให้ใช้ระเบียบตามวรรคหนึ่ง โดยอนุโลม
ข้อ ๓๐ ให้สภานักศึกษามีคณะกรรมาธิการสามัญหรือคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำ
สภานักศึกษา เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสภานักศึกษา โดยมีวาระตามที่สภานักศึกษากำหนด
แต่ไม่เกินวาระของสภานักศึกษา
ให้คณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่งสามารถเสนอแต่งตั้งอนุกรรมาธิการ เพื่อช่วยเหลืองาน ตามอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ
การแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้ประธานสภานักศึกษาเป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง
ข้อ ๓๑ ให้สภานักศึกษาระดับศูนย์มีคณะกรรมาธิการสามัญหรือคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภานักศึกษาระดับศูนย์ อย่างน้อยสามคณะ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสภานักศึกษา ระดับศูนย์ โดยมีวาระตามที่สภานักศึกษาระดับศูนย์กำหนด แต่ไม่เกินวาระของสภานักศึกษาระดับศูนย์
ให้คณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่งสามารถเสนอแต่งตั้งอนุกรรมาธิการ เพื่อช่วยเหลืองาน ตามอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมาธิการได้
การแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้ประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง
ข้อ ๓๒ สภานักศึกษาอาจเชิญผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย คณาจารย์ประจำ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เข้าร่วมการประชุม เพื่อให้ข้อคิดเห็นหรือคำแนะนำในกิจการตามอำนาจหน้าที่ ของสภานักศึกษาด้วยก็ได้
ข้อ ๓๓ สมาชิกสภานักศึกษาต้องเข้าร่วมการประชุมสภานักศึกษาและสภานักศึกษาระดับศูนย์อย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่ไม่อาจเข้าร่วมการประชุมได้ให้มีหนังสือถึงประธานสภานักศึกษาหรือประธานสภานักศึกษาระดับศูนย์แล้วแต่กรณี เพื่อขอลาการประชุม
ให้สมาชิกสภานักศึกษาที่ขาดประชุมสภานักศึกษาและสภานักศึกษาระดับศูนย์รวมกัน
เกินกว่าสามครั้งติดต่อกัน ให้พ้นจากสมาชิกภาพ และให้ประธานสภานักศึกษาเสนอชื่อผู้ที่อยู่ในลำดับถัดไป ในบัญชีรายชื่อของพรรคนักศึกษาแทนตำแหน่งที่ว่างลงต่ออธิการบดีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ทราบว่า
ตำแหน่งนั้นว่างลง
หมวด ๕
วาระและการพ้นตำแหน่งของสมาชิกสภานักศึกษา
ข้อ ๓๔ ให้สมาชิกสภานักศึกษา มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละหนึ่งปี นับแต่วันที่
ได้มีการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานักศึกษา
นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระในวรรคหนึ่ง สมาชิกสภานักศึกษาพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ถูกลงโทษวินัยนักศึกษาอย่างร้ายแรง
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
(๕) พ้นจากสภาพการเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย
(๖) ขาดประชุมติดต่อกันเกินกว่าสามครั้ง ตามข้อ ๓๓
ลักษณะ ๓
องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๓๕ องค์การนักศึกษา ประกอบด้วย
(๑) คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา
(๒) คณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ
(๓) ชุมนุมกิจกรรมนักศึกษา
(๔) คณะกรรมการหอพักนักศึกษา
หมวด ๒
คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา
ส่วนที่ ๑
องค์ประกอบ
ข้อ ๓๖ ให้มีคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ ดังต่อไปนี้
(๑) คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ศูนย์ท่าพระจันทร์
(๒) คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ศูนย์รังสิต
(๓) คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ศูนย์ลำปาง
ในกรณีที่มีศูนย์การศึกษาอื่นที่มหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นให้มีคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาศูนย์การศึกษานั้นขึ้นด้วย
ข้อ ๓๗ ในองค์การนักศึกษาให้มีคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ประกอบด้วย
(๑) นายกองค์การนักศึกษา
(๒) อุปนายกองค์การนักศึกษา ศูนย์ท่าพระจันทร์
(๓) อุปนายกองค์การนักศึกษา ศูนย์รังสิต
(๔) อุปนายกองค์การนักศึกษา ศูนย์ลำปาง
(๕) เลขาธิการองค์การนักศึกษา
(๖) กรรมการองค์การนักศึกษาฝ่ายกิจการภายนอก
(๗) กรรมการองค์การนักศึกษาฝ่ายแผนงานและงบประมาณ
(๘) กรรมการองค์การนักศึกษาฝ่ายพิทักษ์สิทธิและส่งเสริมสวัสดิการนักศึกษา
(๙) กรรมการองค์การนักศึกษาฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา
(๑๐) กรรมการองค์การนักศึกษาฝ่ายกฎระเบียบ
(๑๑) กรรมการองค์การนักศึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์
นายกองค์การนักศึกษาตาม (๑) ต้องเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยนักศึกษา
ในกรณีที่มีคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาเพิ่มขึ้นตามข้อ ๓๖ วรรคสอง ให้มีอุปนายกองค์การนักศึกษาศูนย์การศึกษานั้น เป็นกรรมการตามวรรคหนึ่งด้วย
อุปนายกองค์การนักศึกษา ตามวรรคหนึ่งต้องเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ศึกษา อยู่ในศูนย์การศึกษาซึ่งได้รับการเลือกตั้งนั้น
เลขาธิการและกรรมการอื่น ตาม (๕) ถึง (๑๑) ต้องเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี
โดยอธิการบดีเป็นผู้แต่งตั้งตามข้อเสนอของนายกองค์การนักศึกษา
ข้อ ๓๘ ในคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ ประกอบด้วย
(๑) อุปนายกองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์
(๒) เลขาธิการองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์
(๓) กรรมการองค์การนักศึกษาฝ่ายแผนงานและงบประมาณ
(๔) กรรมการองค์การนักศึกษาฝ่ายกีฬาและสร้างเสริมสุขภาพ
(๕) กรรมการองค์การนักศึกษาฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม
(๖) กรรมการองค์การนักศึกษาฝ่ายบำเพ็ญประโยชน์
(๗) กรรมการองค์การนักศึกษาฝ่ายศาสนาและจริยธรรม
(๘) กรรมการองค์การนักศึกษาอื่น อีกจำนวนไม่เกินสี่คน
ส่วนที่ ๒
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา
ข้อ ๓๙ คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา มีอำนาจและหน้าที่รวมถึงความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับองค์การนักศึกษาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัย
(๒) กำหนด แผนงาน โครงการ และงบประมาณกิจกรรมนักศึกษาประจำปีของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา สภานักศึกษา คณะกรรมการการเลือกตั้งและชุมนุม โดยเสนอ
ต่อสภานักศึกษาเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๓) เสนอระเบียบกิจกรรมนักศึกษา เพื่อบริหารกิจกรรมนักศึกษาตามข้อบังคับนี้
ต่อสภานักศึกษาเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๔) ร่วมมือ ประสานงาน และส่งเสริมการดำเนินงานของคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะและคณะกรรมการหอพักนักศึกษา
(๕) กำกับดูแลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์และชุมนุม
(๖) จัดทำและรายงานผลการดำเนินโครงการ การดำเนินงานประจำปี บัญชีรายรับ รายจ่าย ตลอดจนทรัพย์สินของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาและคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ต่อสภานักศึกษา ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันก่อนสิ้นปีงบประมาณ
(๗) เสนอความคิดเห็นต่อสภานักศึกษา อธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยในเรื่องที่มีผลกระทบต่อนักศึกษา
ข้อ ๔๐ คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ มีอำนาจและหน้าที่รวมถึง
ความรับผิดชอบดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับองค์การนักศึกษาระดับศูนย์โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัย
(๒) กำหนดนโยบาย แผนงาน และงบประมาณการทำกิจกรรมนักศึกษา ของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์เสนอต่อคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาพิจารณา
(๓) ร่วมมือ ประสานงาน และส่งเสริมการดำเนินงานของคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะและชุมนุมในศูนย์การศึกษานั้น
(๔) เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาในเรื่องที่มีผลกระทบ ต่อนักศึกษาที่ศึกษาในศูนย์
(๕) อำนาจอื่นตามที่คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามอบหมาย
ส่วนที่ ๓
วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของ
คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาและคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์
ข้อ ๔๑ คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาและคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละหนึ่งปี
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระในวรรคหนึ่ง กรรมการบริหารองค์การนักศึกษาและกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ถูกลงโทษวินัยนักศึกษาอย่างร้ายแรง
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
(๕) พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย
(๖) กรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาที่ศึกษา
ในศูนย์การศึกษาที่เป็นกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์นั้น
ในกรณีที่นายกองค์การนักศึกษาหมดวาระหรือพ้นจากตำแหน่ง ให้คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาตามข้อ ๓๗ (๕) ถึง (๑๑) พ้นจากตำแหน่งด้วย
ในกรณีที่อุปนายกองค์การนักศึกษาระดับศูนย์หมดวาระหรือพ้นจากตำแหน่ง
ให้คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ พ้นจากตำแหน่งด้วย
ส่วนที่ ๔
การเลือกตั้งนายกองค์การนักศึกษาและอุปนายกองค์การนักศึกษา
ข้อ ๔๒ หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเลือกตั้งนายกองค์การนักศึกษา และอุปนายกองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ หรือตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการที่อธิการบดีกำหนด ตามข้อเสนอของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๔๓ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การนักศึกษาต้องมีสภาพเป็นนักศึกษาและศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย
นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ศึกษาอยู่ในศูนย์การศึกษาใด ก็ให้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอุปนายกองค์การนักศึกษาของศูนย์ที่ศึกษาอยู่นั้น
ข้อ ๔๔ ผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การนักศึกษาหรืออุปนายกองค์การนักศึกษาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
ก.คุณลักษณะ
(๑) เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี
(๒) มีผลการศึกษาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐
(๓) ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่เกินสี่ปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาสี่ปีการศึกษา หรือไม่เกินห้าปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาห้าปีการศึกษา หรือไม่เกิน หกปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาหกปีการศึกษา
ข.ลักษณะต้องห้าม
(๑) เคยเป็นผู้ถูกลงโทษวินัยนักศึกษาในระยะหนึ่งปีก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
(๒) เป็นสมาชิกสภานักศึกษา
(๓) เป็นกรรมการในคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ หรือเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการหอพักนักศึกษา หรือเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารชุมนุม
(๔) เป็นกรรมการหรือเคยเป็นกรรมการการเลือกตั้งในระยะหนึ่งปีก่อนวันสมัคร รับเลือกตั้ง
(๕) มีลักษณะต้องห้ามตามที่อธิการบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๔๕ เมื่อวาระการดำรงตำแหน่งของนายกองค์การนักศึกษาหรืออุปนายก องค์การนักศึกษาระดับศูนย์เหลืออยู่ไม่ถึงหกสิบวัน ให้อธิการบดีออกประกาศมหาวิทยาลัยกำหนดให้มี การเลือกตั้งนายกองค์การนักศึกษาหรืออุปนายกองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ขึ้นใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป
ส่วนที่ ๕
การดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา
และคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์
ข้อ ๔๖ ให้นายกองค์การนักศึกษาเป็นผู้แทนขององค์การนักศึกษา และให้มีอำนาจและหน้าที่รวมถึงความรับผิดชอบต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบการบริหารงานและกำกับดูแลการดำเนินงานขององค์การนักศึกษา
(๒) เป็นประธานของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา
(๓) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ตามข้อ ๓๗ (๕) ถึง (๑๑) โดยออกเป็นประกาศองค์การนักศึกษา
(๔) อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่อธิการบดีหรือรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามอบหมาย
ข้อ ๔๗ ให้อุปนายกองค์การนักศึกษาระดับศูนย์เป็นผู้แทนของคณะกรรมการบริหาร องค์การนักศึกษาระดับศูนย์ และให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบการบริหารงานและกำกับดูแลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์
(๒) เป็นประธานของที่ประชุมองค์การนักศึกษาระดับศูนย์
(๓) ช่วยเหลืองานนายกองค์การนักศึกษาในการบริหารงานองค์การนักศึกษา
(๔) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์ ตามข้อ ๓๘ (๒) ถึง (๘) โดยออกเป็นประกาศองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์
(๕) อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่อธิการบดีหรือรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามอบหมาย
ข้อ ๔๘ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การนักศึกษาหรือมีแต่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ให้อุปนายกองค์การนักศึกษา ศูนย์รังสิต ทำหน้าที่แทน หากนายกองค์การนักศึกษาและอุปนายก องค์การนักศึกษา ศูนย์รังสิต ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งหรือไม่อาจทำหน้าที่ได้ ให้อุปนายกองค์การนักศึกษา
ศูนย์ท่าพระจันทร์ทำหน้าที่นายกองค์การนักศึกษาแทน หากนายกองค์การนักศึกษา อุปนายกองค์การนักศึกษา
ศูนย์รังสิตและอุปนายกองค์การนักศึกษา ศูนย์ท่าพระจันทร์ ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งหรือไม่อาจทำหน้าที่ได้
ให้อุปนายกองค์การนักศึกษา ศูนย์ลำปางทำหน้าที่นายกองค์การนักศึกษาแทน
ข้อ ๔๙ ให้คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาและคณะกรรมการบริหาร องค์การนักศึกษาระดับศูนย์มีอำนาจเสนอแต่งตั้งผู้ช่วยหรืออนุกรรมการเพื่อช่วยเหลืองานอันอยู่ในอำนาจและหน้าที่รวมถึงความรับผิดชอบได้
การแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้นายกองค์การนักศึกษาหรืออุปนายกองค์การนักศึกษาระดับศูนย์เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง โดยออกเป็นประกาศองค์การนักศึกษาหรือประกาศองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ แล้วแต่กรณี
ส่วนที่ ๖
การประชุมของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา
และคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์
ข้อ ๕๐ ให้นายกองค์การนักศึกษาหรืออุปนายกองค์การนักศึกษาเป็นผู้กำหนดระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์ แล้วแต่กรณี
กรรมการบริหารองค์การนักศึกษาหรือกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์
อาจเสนอเรื่องเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเพื่อพิจารณาบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมก็ได้ โดยให้ทำเป็นหนังสือถึงนายกองค์การนักศึกษาหรืออุปนายกองค์การนักศึกษา แล้วแต่กรณี
ข้อ ๕๑ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ ในคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จึงจะถือว่าเป็นองค์ประชุม
การดำเนินงานและการประชุมของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา นอกจากที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบกิจกรรมนักศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานและการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา โดยความเห็นชอบของสภานักศึกษา
การดำเนินงานและการประชุมของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์ ให้ใช้ระเบียบตามวรรคสองโดยอนุโลม
ข้อ ๕๒ ให้นายกองค์การนักศึกษาหรืออุปนายกองค์การนักศึกษาเป็นประธานที่ประชุ คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์ แล้วแต่กรณีและให้มีหน้าที่ดำเนินการประชุมให้เป็นไปด้วยความเป็นเรียบร้อย
การลงมติของคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาหรือคณะกรรมการบริหาร องค์การนักศึกษา ระดับศูนย์ ให้ถือเสียงข้างมากของกรรมการที่เข้าร่วมการประชุม ในกรณีการลงมติ ได้คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาด
หมวด ๓
คณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ
ส่วนที่ ๑
องค์ประกอบของคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ
ข้อ ๕๓ ให้คณบดีจัดให้มีคณะกรรมการนักศึกษาอย่างน้อยหนึ่งคณะ โดยมีองค์ประกอบ ของคณะกรรมการนักศึกษาตามที่คณบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศส่วนงาน
ในกรณีคณะใดที่มีคณะกรรมการนักศึกษามากกว่าหนึ่งคณะ ให้คณบดีกำหนดให้มีการเลือกกรรมการนักศึกษาหนึ่งคน เป็นตัวแทนคณะกรรมการนักศึกษาในระดับคณะ เพื่อเข้าร่วมประชุมกับ องค์การนักศึกษา สภานักศึกษาหรือมหาวิทยาลัย โดยออกเป็นประกาศส่วนงาน
ส่วนที่ ๒
คุณสมบัติของประธานและกรรมการประจำคณะ
ข้อ ๕๔ กรรมการในคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
ก.คุณลักษณะ
(๑) เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตตรี
(๒) มีผลการศึกษาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ เว้นแต่คณะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ที่ไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐
(๓) ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่เกินสี่ปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษา สี่ปีการศึกษา หรือไม่เกินห้าปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาห้าปีการศึกษา หรือไม่เกินหกปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาหกปีการศึกษา
ข.ลักษณะต้องห้าม
(๑) เคยเป็นผู้ถูกลงโทษวินัยนักศึกษาในระยะหนึ่งปีก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
(๒) เป็นสมาชิกสภานักศึกษา หรือกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา หรือกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ หรือกรรมการในคณะกรรมการหอพักนักศึกษา หรือกรรมการ ในคณะกรรมการบริหารชุมนุม
(๓) เป็นกรรมการหรือเคยเป็นกรรมการการเลือกตั้งระดับคณะ ในระยะหนึ่งปี ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
(๔) มีลักษณะต้องห้ามตามที่คณบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศส่วนงาน
ส่วนที่ ๓
การเลือกตั้งประธานกรรมการนักศึกษาประจำคณะ
ข้อ ๕๕ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกประธานกรรมการนักศึกษาประจำคณะต้องมีสภาพเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในคณะนั้น ๆ
ข้อ ๕๖ หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเลือกประธานกรรมการประจำคณะ ให้เป็นไปตามที่คณบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศส่วนงาน
ส่วนที่ ๔
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ
ข้อ ๕๗ คณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ มีหน้าที่รับผิดชอบดังนี้
(๑) เสนอความคิดเห็นต่อองค์การนักศึกษา สภานักศึกษา คณบดี ในเรื่องที่มีผลกระทบ ต่อนักศึกษาของคณะ
(๒) บริหารกิจกรรมทั้งปวงเกี่ยวกับกิจกรรมของนักศึกษาในคณะ
(๓) กำกับดูแล ติดตาม และตรวจสอบการทำงานของชมรมกิจกรรมนักศึกษาระดับคณะ
(๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณบดีมอบหมาย
ส่วนที่ ๕
วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง
ชองคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ
ข้อ ๕๘ ประธานกรรมการนักศึกษาประจำคณะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละหนึ่งปี
เมื่อประธานกรรมการนักศึกษาหมดวาระหรือพ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการนักศึกษาประจำคณะพ้นจากตำแหน่งด้วย
ข้อ ๕๙ กรรมการในคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ถูกลงโทษวินัยนักศึกษาอย่างร้ายแรง
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
(๕) พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาของคณะ
ส่วนที่ ๖
การกำกับและดูแล
ข้อ ๖๐ ให้คณบดีกำกับและดูแลการดำเนินงานของคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศของคณะหรือมหาวิทยาลัย ในกรณีที่มีปัญหาขัดแย้ง
ในการดำเนินงานซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่อส่วนรวมให้คณบดีเป็นผู้พิจารณา และเมื่อวินิจฉัยเป็นประการใดแล้วให้คณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะและผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้น
หมวด ๔
ชุมนุมกิจกรรมนักศึกษา
ข้อ ๖๑ ชุมนุมกิจกรรมนักศึกษา เป็นการรวมตัวของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ของมหาวิทยาลัยเพื่อทำกิจกรรมนักศึกษาด้านใดด้านหนึ่งตามข้อบังคับนี้ โดยแบ่งประเภทชุมนุมออกเป็น
(๑) ชุมนุมกิจกรรมกีฬาและสร้างเสริมสุขภาพ
(๒) ชุมนุมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์
(๓) ชุมนุมกิจกรรมวิชาการ
(๔) ชุมนุมกิจกรรมศาสนาและจริยธรรม
(๕) ชุมนุมกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม
ข้อ ๖๒ การก่อตั้งขุมนุมต้องมีนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย จำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคน ที่มาจากคณะต่าง ๆ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาพร้อมเอกสารการก่อตั้งชุมนุมกิจกรรม ดังต่อไปนี้
(๑) ระเบียบชุมนุม
(๒) รายชื่อของนักศึกษาที่เข้าชื่อกันก่อตั้งชุมนุม
(๓) รายชื่อของคณะกรรมการบริหารชุมนุมชุดแรก
(๔) รายงานการประชุมก่อตั้งชุมนุม
ข้อ ๖๓ ระเบียบชุมนุมอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(๑) ชื่อชุมนุมกิจกรรมนักศึกษา ซึ่งจะต้องมีคำว่าชุมนุมประกอบชื่อด้วย
(๒) ประเภทของชุมนุมและวัตตุประสงค์
(๓) สมาชิกและการขาดจากสมาชิก
(๔) รายได้ของชุมนุม
(๕) คณะกรรมการบริหารชุมนุม
ข้อ ๖๔ เมื่อคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ได้รับคำร้องของก่อตั้งชุมนุมกิจกรรมนักศึกษา ให้คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาพิจารณา หากเห็นชอบให้ก่อตั้งเป็นชุมนุม ให้เสนอ
สภานักศึกษาเพื่อพิจารณาอนุมัติ
เมื่อสภานักศึกษาพิจารณาอนุมัติแล้ว ให้สภานักศึกษาดำเนินรายงานผล เสนออธิการบดี เพื่อจัดตั้งชุมนุมต่อไป
ให้คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาและสภานักศึกษาขอเอกสารหรือเรียกประธานชุมนุมหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจง เพื่อประกอบการพิจารณาตามวรรคหนึ่งได้
ข้อ ๖๕ นักศึกษามีสิทธิเป็นสมาชิกชุมนุมกิจกรรมนักศึกษาได้ไม่เกินห้าชุมนุม
เมื่อพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ลาออก หรือขาดจากสมาชิกภาพ ตามข้อบังคับชุมนุม ให้ถือเป็นการสิ้นสุดการเป็นสมาชิกชุมนุมกิจกรรมนักศึกษา
ข้อ ๖๖ คณะกรรมการบริหารชุมนุมต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ของชุมนุมภายในหกสิบวันก่อนปิดภาคการศึกษาที่สองของปีการศึกษาเพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานของชุมนุม และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุมนุม
การประชุมใหญ่ของชุมนุมต้องมีสมาชิกชุมนุมมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ภายในสามสิบวัน นับแต่วันประชุมใหญ่ของชุมนุม ให้คณะกรรมการบริหารชุมนุมรายงานผลดำเนินงานประจำปีของชุมนุม และผลการประชุมใหญ่ของชุมนุมให้นายกองค์การนักศึกษา พร้อมทั้งเสนอชื่อ
ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานชุมนุม และกรรมการบริหารชุมนุมต่อนายกองค์การนักศึกษาเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารชุมนุม
ข้อ ๖๗ กรรมการในคณะกรรมการบริหารชุมนุมต้องเป็นสมาชิกของชุมนุมนั้น โดยมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
ก.คุณลักษณะ
(๑) เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี
(๒) มีผลการศึกษาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐
(๓) ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่เกินสี่ปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษา สี่ปีการศึกษา หรือไม่เกินห้าปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาห้าปีการศึกษา หรือ
ไม่เกินหกปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาหกปีการศึกษา
ข.ลักษณะต้องห้าม
(๑) เคยเป็นผู้ถูกลงโทษวินัยนักศึกษาในระยะหนึ่งปีก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
(๒) เป็นสมาชิกสภานักศึกษา หรือกรรมการในคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา หรือกรรมการในคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ หรือกรรมการในคณะกรรมการหอพักนักศึกษา หรือกรรมการในคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ
ข้อ ๖๘ ให้คณะกรรมการบริหารชุมนุม มีวาระการดำรงตำแหน่งหนึ่งปี ซึ่งประกอบด้วย
(๑) ประธานชุมนุม
(๒) รองประธานชุมนุม
(๓) เลขานุการชุมนุม
(๔) กรรมการอื่นอีกไม่เกินสี่คน
ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารชุมนุมหมดวาระ ให้ประธานชุมนุมและกรรมการ ในคณะกรรมการบริหารชุมนุมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุมนุมชุดใหม่
ข้อ ๖๙ คณะกรรมการบริหารชุมนุมจะต้องจัดทำและรายงานผลการดำเนินโครงการ
การดำเนินงานประจำปี บัญชีรายรับ รายจ่าย ตลอดจนทรัพย์สินของชุมนุมต่อสภานักศึกษา ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันก่อนสิ้นปีงบประมาณ
เมื่อสภานักศึกษาพิจารณารายงานตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สภานักศึกษาดำเนินการสรุปรายงานดังกล่าวเสนอมหาวิทยาลัยพิจารณาต่อไป
ข้อ ๗๐ ให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาชุมนุมตามประเภทชุมนุมกิจกรรม ตามที่ฝ่ายการนักศึกษาเสนอ
คณะกรรมการที่ปรึกษาชุมนุมตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือ แก่คณะกรรมการบริหารชุมนุม เพื่อให้การดำเนินงานของชุมนุมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งชุมนุม
ข้อ ๗๑ ชุมนุมกิจกรรมนักศึกษาให้ยุบเลิกด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
(๑) มีจำนวนสมาชิกไม่ถึงห้าสิบคน
(๒) สมาชิกชุมนุมลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ให้ยุบเลิกชุมนุม
(๓) คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาเสนอความเห็นต่อสภานักศึกษาพิจารณา ยุบเลิกชุมนุม
(๔) สภานักศึกษามีมติให้ยกเลิกชุมนุม ด้วยเหตุเพราะชุมนุมไม่ได้จัดทำกิจกรรม ตามวัตถุประสงค์หรือไม่มีการดำเนินการตามข้อบังคับชุมนุมมาเป็นเวลาหนึ่งปี
เมื่อมีการพิจารณายุบเลิกตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สภานักศึกษาเสนออธิการบดีพิจารณา สั่งยุบเลิกชุมนุมนั้น
หมวด ๕
คณะกรรมการหอพักนักศึกษา
ส่วนที่ ๑
องค์ประกอบของคณะกรรมการหอพักนักศึกษา
ข้อ ๗๒ ให้มีคณะกรรมการหอพักนักศึกษา ประกอบด้วยประธานกรรมการที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีและได้รับการเลือกจากนักศึกษาหอพัก และกรรมการอื่นที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีอีกไม่เกินสิบสี่คน
ส่วนที่ ๒
คุณสมบัติของคณะกรรมการหอพักนักศึกษา
ข้อ ๗๓ กรรมการในคณะกรรมการหอพักนักศึกษา จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
ก.คุณลักษณะ
(๑) เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี
(๒) มีผลการศึกษาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐
(๓) เป็นนักศึกษาซึ่งอาศัยอยู่ในหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัย
(๔) ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่เกินสี่ปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษา สี่ปีการศึกษา หรือไม่เกินห้าปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาห้าปีการศึกษา หรือไม่เกินหกปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาหกปีการศึกษา
ข.ลักษณะต้องห้าม
(๑) เคยเป็นผู้ถูกลงโทษวินัยนักศึกษาในระยะหนึ่งปีก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
(๒) เป็นสมาชิกสภานักศึกษา หรือกรรมการในคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา หรือกรรมการในคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ หรือกรรมการในคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ หรือกรรมการในคณะกรรมการบริหารชุมนุม
(๓) เป็นกรรมการหรือเคยเป็นกรรมการการเลือกตั้งระดับคณะ ในระยะหนึ่งปี ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
(๔) มีลักษณะต้องห้ามตามที่รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษากำหนดโดยออกเป็นประกาศฝ่ายการนักศึกษา
ส่วนที่ ๓
การเลือกตั้งประธานคณะกรรมการหอพักนักศึกษา
ข้อ ๗๔ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกประธานคณะกรรมการหอพักนักศึกษาต้องมีสภาพ เป็นนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๗๕ หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการหอพักนักศึกษา
ให้เป็นไปตามที่รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษากำหนดโดยออกเป็นประกาศฝ่ายการนักศึกษา
ข้อ ๗๖ เมื่อวาระการดำรงตำแหน่งของประธานคณะกรรมการหอพักนักศึกษาเหลืออยู่ ไม่ถึงหกสิบวัน ให้รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษากำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการหอพัก
นักศึกษาขึ้นใหม่
ส่วนที่ ๔
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหอพักนักศึกษา
ข้อ ๗๗ คณะกรรมการหอพักนักศึกษา มีหน้าที่และอำนาจรวมถึงความรับผิดชอบดังนี้
(๑) เสนอความคิดเห็นต่อองค์การนักศึกษา สภานักศึกษา อธิการบดี หรือสภามหาวิทยาลัยในเรื่องที่มีผลกระทบต่อนักศึกษาหอพัก
(๒) บริหารกิจกรรมทั้งปวงเกี่ยวกับกิจกรรมของนักศึกษาหอพัก
(๓) กำกับดูแล ติดตาม และตรวจสอบการทำงานของชมรมกิจกรรมนักศึกษาหอพัก
(๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการที่ปรึกษาคณะกรรมการหอพักนักศึกษาหรือ คณะกรรมการบริหารหอพักนักศึกษามอบหมาย
ประธานคณะกรรมการหอพักนักศึกษามีหน้าที่เป็นผู้แทนของนักศึกษาหอพัก และรับผิดชอบดำเนินงานคณะกรรมการหอพักนักศึกษา
ส่วนที่ ๕
วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง
ของคณะกรรมการหอพักนักศึกษา
ข้อ ๗๘ ประธานกรรมการหอพักนักศึกษามีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๑ ปี
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ประธานกรรมการหอพักนักศึกษาพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ถูกลงโทษวินัยนักศึกษาอย่างร้ายแรง
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
(๕) พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาหอพัก
เมื่อประธานกรรมการนักศึกษาหมดวาระหรือพ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการหอพักนักศึกษาพ้นจากตำแหน่งด้วย
ส่วนที่ ๖
การกำกับและดูแล
ข้อ ๗๙ ให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาคณะกรรมการหอพักนักศึกษา ซึ่งอธิการบดีหรือ
รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาแต่งตั้ง
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่กำกับและดูแลการดำเนินงานของคณะกรรมการหอพักนักศึกษาให้เป็นไปโดยถูกต้องตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ในกรณีที่มีปัญหาขัดแย้งในการดำเนินงานซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่อส่วนรวมให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา และเมื่อวินิจฉัย เป็นประการใดแล้ว ให้คณะกรรมการหอพักนักศึกษาและผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้น
ลักษณะ ๔
คณะกรรมการการเลือกตั้ง
ข้อ ๘๐ คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วย นักศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งได้รับ
การสรรหาและเสนอชื่อตามข้อบังคับนี้ จำนวนเก้าคน เป็นกรรมการ
ข้อ ๘๑ คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง และดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกินสองวาระ
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระกรรมการการเลือกตั้ง พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ถูกลงโทษวินัยนักศึกษาอย่างร้ายแรง
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
(๕) พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย
กรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับการแต่งตั้งแทนกรรมการที่ต้องพ้นจากตำแหน่งให้มีวาระ
การดำรงตำแหน่งเท่าที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน
ข้อ ๘๒ กรรมการการเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
ก.คุณสมบัติ
(๑) เป็นนักศึกษา
(๒) มีผลการศึกษาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐
ข.ลักษณะต้องห้าม
(๑) ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยไม่เกินกว่าสี่ปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษา
สี่ปีการศึกษา หรือไม่เกินห้าปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาห้าปีการศึกษา หรือไม่เกินหกปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรที่มีระยะเวลาศึกษาหกปีการศึกษา
(๒) เคยเป็นผู้ถูกลงโทษวินัยนักศึกษาในระยะหนึ่งปีก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
(๓) อยู่ระหว่างถูกดำเนินการทางวินัยนักศึกษา
(๔) เป็นสมาชิกสภานักศึกษา คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาระดับศูนย์ ประธานหรือกรรมการในคณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ ประธานหรือกรรมการในคณะกรรมการหอพักนักศึกษา หรือประธานหรือกรรมการในชุมนุมกิจกรรมนักศึกษา
(๕) มีลักษณะต้องห้ามตามที่อธิการบดีกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๘๓ การสรรหากรรมการการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษากำหนด ทั้งนี้ภายใต้การหารือกับนายกองค์การนักศึกษาและประธานสภานักศึกษา
ข้อ ๘๔ ผู้ได้รับการสรรหาและคัดเลือกเป็นกรรมการการเลือกตั้ง ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานักศึกษาด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งก่อนที่จะนำเสนออธิการบดีเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง
ในกรณีที่ไม่ได้รับความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง หากคณะกรรมการกิจการนักศึกษาเห็นชอบ ให้บุคคลเดิมดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงสองในสามของคณะกรรมการกิจการนักศึกษา และให้เสนออธิการบดีแต่งตั้งโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสภานักศึกษาอีก
ข้อ ๘๕ เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และเลือกกรรมการอีกคนหนึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการ
ประธานคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนของคณะกรรมการการเลือกตั้งและเป็นประธานที่ประชุมด้วย
เลขานุการคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ การเลือกตั้ง ตลอดจนงานอื่น ๆ ตามที่ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย
ข้อ ๘๖ คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหน้าที่และอำนาจรวมถึงความรับผิดชอบดังต่อไปนี้
(๑) เสนอระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานและการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่อสภานักศึกษาเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๒) เสนอหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษา นายกองค์การนักศึกษา และ
อุปนายกองค์การนักศึกษาต่ออธิการบดีหรือรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา เพื่อออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ภายใต้การหารือกับประธานสภานักศึกษาและนายกองค์การนักศึกษา
(๓) จัดหรือดำเนินการให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษา นายกองค์การนักศึกษา และ
อุปนายกองค์การนักศึกษา ตามข้อบังคับนี้
(๔) ควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษา นายกองค์การนักศึกษา และอุปนายก
องค์การนักศึกษา และการออกเสียงประชามติตามข้อบังคับให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
การออกเสียงประชามติให้คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา โดยความเห็นชอบ
ของสภานักศึกษาเป็นผู้เสนอ
(๕) ควบคุม ตรวจสอบและจัดทำข้อมูลทะเบียนสมาชิกพรรคนักศึกษาที่ลงสมัครรับเลือก
สภานักศึกษา นายกองค์การนักศึกษา อุปนายกองค์การนักศึกษา ตามข้อบังคับนี้
(๖) กำกับ ควบคุม ดูแลการทำงาน การอนุมัติ อนุญาตตามอำนาจหน้าที่ ทั้งในส่วน ของงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สรรพเอกสาร ห้องปฏิบัติงาน สื่อประชาสัมพันธ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใด
ของสภานักศึกษาหรือองค์การนักศึกษา ในช่วงระหว่างที่มีการเลือกตั้งไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งสภานักศึกษาหรือองค์การนักศึกษาชุดใหม่แล้วแต่กรณี เข้ารับหน้าที่
(๗) หน้าที่อื่นตามที่อธิการบดีหรือรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามอบหมาย
ทั้งนี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดระเบียบ เพื่อดำเนินการตามความใน (๔) (๕) (๖) โดยเสนอต่อสภานักศึกษาเพื่อพิจารณาอนุมัติ
ข้อ ๘๗ นักศึกษาที่ลงสมัครรับเลือกตั้งสภานักศึกษา นายกองค์การนักศึกษา อุปนายกองค์การนักศึกษา ตามข้อบังคับนี้ ต้องสังกัดพรรค โดยพรรคนักศึกษาต้องมีสมาชิกพรรคเป็นนักศึกษาจำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคน และดำเนินการจดจัดตั้งพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว
หลักเกณฑ์ วิธีการและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรคนักศึกษาตามข้อบังคับนี้ ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีกำหนดตามข้อเสนอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ลักษณะ ๕
การกำกับดูแลการทำกิจกรรมนักศึกษา
ข้อ ๘๘ ให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาควบคุมดูแลการทำกิจกรรมนักศึกษาให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามีอำนาจ ออกประกาศมหาวิทยาลัยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการควบคุม กำกับ หรือ ดูแลการทำกิจกรรม ตามข้อบังคับนี้ให้เป็นไปโดยถูกต้อง รัดกุม และสามารถตรวจสอบได้
ข้อ ๘๙ ในกรณีที่นักศึกษาผู้ดำรงตำแหน่งตามข้อบังคับนี้ ถูกกล่าวหาว่ามีความผิด ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วย วินัยนักศึกษา และถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน รองอธิการบดี ฝ่ายการนักศึกษาอาจมีคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหายุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวได้ หากปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จะส่งผลเสียร้ายแรงต่อมหาวิทยาลัยจากข้อกล่าวหานั้น จนกว่าผลการพิจารณาจะแล้วเสร็จ โดยออกเป็นประกาศฝ่ายการนักศึกษา
ข้อ ๙๐ ให้มีคณะกรรมการกิจการนักศึกษาประกอบด้วยรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี
รองคณบดีหรือผู้ช่วยคณบดี ซึ่งมีหน้าที่ดูแลงานด้านฝ่ายการนักศึกษาของมหาวิทยาลัย คณะหรือวิทยาลัย ผู้อำนวยการกองกิจการนักศึกษา และกรรมการอื่น ๆ ซึ่งอธิการบดีแต่งตั้งตามคำแนะนำของรองอธิการบดี
ฝ่ายนักศึกษา
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่และอำนาจรวมถึงความรับผิดชอบในการกำกับ
ดูแล สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษา การบริการด้านต่าง ๆ ให้เกิดความคล่องัว รวดเร็ว ถูกต้อง และบรรลุเป้าหมายสูงสุดตามนโยบายมหาวิทยาลัย รวมถึงหน้าที่อื่น ๆ ตามข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ของมหาวิทยาลัย
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๙๑ ให้สภานักศึกษาที่มีอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่
เป็นสภานักศึกษา สภานักศึกษา ศูนย์ท่าพระจันทร์ สภานักศึกษา ศูนย์รังสิต หรือสภานักศึกษา ศูนย์ลำปางตามข้อบังคับนี้แล้วแต่กรณี
และให้ประธานสภานักศึกษา รองประธานสภานักศึกษา เลขาธิการสภานักศึกษา และสมาชิกสภานักศึกษา ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับนี้ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งสมาชิกสภานักศึกษาชุดใหม่
ข้อ ๙๒ ให้องค์การนักศึกษาที่มีอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ เป็นองค์การนักศึกษา องค์การนักศึกษา ศูนย์ท่าพระจันทร์ องค์การนักศึกษา ศูนย์รังสิต หรือองค์การนักศึกษา ศูนย์ลำปางตามข้อบังคับนี้ แล้วแต่กรณี
และให้นายกองค์การนักศึกษา อุปนายกองค์การนักศึกษา กรรมการบริหารองค์การนักศึกษา และตำแหน่งอื่นในคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับนี้ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาชุดใหม่
ข้อ ๙๓ ให้คณะกรรมการนักศึกษาคณะที่มีอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการนักศึกษาคณะตามข้อบังคับนี้
และให้ประธานและกรรมการในคณะกรรมการนักศึกษาคณะ และตำแหน่งอื่น ในคณะกรรมการนักศึกษาคณะ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับให้ปฏิบัติหน้าที่ ตามข้อบังคับนี้ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนักศึกษาคณะชุดใหม่
ข้อ ๙๔ ให้ชุมนุมชมรมกิจกรรมนักศึกษาที่จัดตั้งขึ้นตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศ ของมหาวิทยาลัยเดิม ดำเนินการตามข้อ ๖๓ เพื่อจัดทำร่างระเบียบชุมนุมตามข้อบังคับนี้ให้แล้วเสร็จภายใน
สี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อเสนอต่อนายกองค์การนักศึกษาเพื่อให้คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาพิจารณาตรวจสอบและเสนอขออนุมัติต่อสภานักศึกษาต่อไป
กรณีที่ชุมนุมกิจกรรมนักศึกษาไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง
ให้ชุมนุมกิจกรรมนักศึกษานั้นเป็นอันยุบเลิกไป
ข้อ ๙๕ ให้รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาดำเนินการจัดการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการหอพักนักศึกษาตามข้อบังคับนี้ ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ ๙๖ ให้รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาดำเนินการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามข้อบังคับนี้ ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อให้สภานักศึกษาพิจารณารับรองต่อไป
ประกาศ ณ วันที่ ๘ เดือน ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย