ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
———————————–
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษา
ระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ และโดยมติสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๔ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษา
ระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แก่นักศึกษาซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
ในปีการศึกษา ๒๕๖๑ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๙ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๑๙ ในกรณีที่โครงสร้างหลักสูตรบังคับหรือกรณีที่มีเงื่อนไขให้นักศึกษา
ระดับปริญญาเอกต้องตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ โดยศึกษาครบตามโครงสร้าง
หลักสูตรและสอบผ่านวิทยานิพนธ์เรียบร้อยแล้ว แต่จําเป็นต้องรอการตอบรับการตีพิมพ์บทความวิจัย
ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ อาจขอขยายระยะเวลาการศึกษาตามข้อ ๑๗ เพื่อรอผลการตอบรับ
การตีพิมพ์ต่อไปได้คราวละสองภาคการศึกษาและต้องไม่เกินสี่ภาคการศึกษา
การขอขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นักศึกษายื่นคําร้องพร้อมส่งหลักฐาน
การส่งผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์หรือหนังสือตอบรับการตีพิมพ์ต่อคณบดีเพื่อพิจารณาและนําเสนอความเห็น
ต่ออธิการบดีล่วงหน้าก่อนครบกําหนดระยะเวลาศึกษา โดยนักศึกษาจะต้องรักษาสถานภาพการเป็นนักศึกษา
ในภาคการศึกษาที่ได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการศึกษาด้วย”
ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๓๙ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๓๙ การขอเพิ่มรายวิชาภายหลังจากที่ได้ลงทะเบียนเรียนแล้ว ให้กระทําได้
ภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันเปิดภาคการศึกษา หรือภายใน ๗ วัน นับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน เว้นแต่ในกรณี
ที่มีเหตุผลอันสมควร คณบดีอาจอนุมัติให้เพิ่มรายวิชาเมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่เกิน ๑๔ วันก่อนวันปิดภาคการศึกษา หรือภาคฤดูร้อน แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ต้องมีเวลาเรียนครบตามที่กําหนดไว้ในข้อ ๘๑
การขอเพิ่มรายวิชาตามวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุมัติจากอาจารย์ผู้สอนในรายวิชานั้นก่อน
และกรณีการลงทะเบียนเพิ่มรายวิชาเมื่อพ้นกําหนดเวลาต้องชําระค่าปรับการลงทะเบียนเพิ่มรายวิชาล่าช้า เป็นรายวันในอัตราตามประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา”
ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความในข้อ ๔๒ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๔๒ การเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต หมายถึง การเทียบโอนรายวิชา
ในกรณีที่นักศึกษาได้ศึกษารายวิชามาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น โดยนักศึกษาอาจขอเทียบโอนรายวิชา
และหน่วยกิตที่มีเนื้อหาของรายวิชาเทียบเท่า และมีเกณฑ์การประเมินผลหรือวัดผลได้มาตรฐานเทียบเท่า
กับรายวิชาในหลักสูตรที่ศึกษาอยู่ได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้เทียบโอนได้ไม่เกินหนึ่งในสามของจํานวนหน่วยกิตรวมทั้งหลักสูตร
และต้องมีเวลาศึกษาในหลักสูตรที่รับเทียบโอนไม่น้อยกว่าหนึ่งปีการศึกษาจึงจะมีสิทธิ์สําเร็จการศึกษา
(๒) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องมิใช่รายวิชาในหลักสูตรที่นักศึกษาผู้นั้นถูกถอนชื่อ
จากทะเบียนนักศึกษา
(๓) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องศึกษามาแล้วไม่เกินแปดปีนับจากปีที่ลงทะเบียนเรียน
จนถึงวันที่ขอเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิต
(๔) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องมีผลการศึกษาระดับ B ขึ้นไป หรือเทียบเท่า
หรือได้อักษร S (ใช้ได้) ยกเว้นกรณีของนักศึกษาซึ่งไปศึกษาที่มหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่น
ในโครงการความร่วมมือผลิตบัณฑิตร่วมกัน หรือโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการให้เทียบโอนรายวิชา
และหน่วยกิตตามผลการศึกษาที่ได้
(๕) รายวิชาที่จะขอเทียบโอนต้องเป็นรายวิชาที่เรียนในระดับบัณฑิตศึกษา และเทียบได้เฉพาะหน่วยกิตรายวิชา (course work) เท่านั้น
นอกจากหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะ อาจกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการเทียบโอนรายวิชาและหน่วยกิตเพิ่มเติมจากความ
ในวรรคหนึ่งก็ได้ โดยทําเป็นประกาศคณะและรายงานให้อธิการบดีเพื่อทราบ”
ข้อ ๖ ให้ยกเลิกความในข้อ ๔๓ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๔๓ ให้คณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะเป็นผู้มีอํานาจอนุมัติ การเทียบโอนและการโอนรายวิชาและหน่วยกิตตามหมวดนี้”
ข้อ ๗ ให้ยกเลิกความในข้อ ๔๕ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๔๕ การเทียบโอนความรู้และการให้หน่วยกิตจากการศึกษานอกระบบหรือการศึกษา ตามอัธยาศัย หรือการฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยให้เทียบ โอนได้รวมกันไม่เกินหนึ่งในสามของจํานวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่ขอเทียบ
และต้องมีเวลาศึกษาในหลักสูตรที่รับเทียบโอนไม่น้อยกว่าหนึ่งปีการศึกษาจึงจะมีสิทธิ์สําเร็จการศึกษา
อาจทําได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัยและให้บันทึกอักษร ACC ในรายวิชาที่ได้รับอนุมัติ
ให้เทียบโอนความรู้นั้น
คณะอาจดําเนินการตามวรรคหนึ่งโดยจัดให้มีการทดสอบข้อเขียนหรือสอบปฏิบัติ
เพื่อการเทียบโอน หรือพิจารณาโดยใช้ผลการประเมินของหน่วยงานฝึกปฏิบัติงานก็ได้
ข้อ ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๘/๑ การโอนรายวิชาและหน่วยกิต ข้อ ๔๕/๑
ข้อ ๔๕/๒ และข้อ ๔๕/๓ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
พ.ศ. ๒๕๖๑
“หมวด ๘/๑
การโอนรายวิชาและหน่วยกิต
——————————-
ข้อ ๔๕/๑ นักศึกษาอาจขอโอนรายวิชาและหน่วยกิตที่ได้จากการศึกษาในหลักสูตรดังต่อไปนี้ มาเป็นรายวิชาของหลักสูตรที่กำลังศึกษา
(๑) หลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดการศึกษา หรือจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงานอื่น
(๒) หลักสูตรปริญญาโทต่อยอดจากการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต
ของมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาเดียวกัน
ข้อ ๔๕/๒ การโอนรายวิชาและหน่วยกิตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) การโอนรายวิชาและหน่วยกิตที่ได้จากการศึกษาตามข้อ ๔๕/๑ (๑) ให้โอนได้
ไม่จํากัดจํานวน และโอนได้เฉพาะรายวิชา (course work)
(๒) การโอนรายวิชาและหน่วยกิตที่ได้จากการศึกษาตามข้อ ๔๕/๑ (๒) ให้โอนได้ไม่เกิน
ร้อยละสี่สิบของจํานวนหน่วยกิตในหลักสูตรที่กําลังศึกษา
(๓) กรณีการโอนมาเป็นรายวิชาบังคับและหน่วยกิต ของหลักสูตรต้องศึกษามาแล้วไม่เกิน แปดปี
(๔) กรณีการโอนมาเป็นรายวิชาเลือกและหน่วยกิตของหลักสูตรต้องศึกษามาแล้วไม่เกินสิบปี
(๕) กรณีการศึกษาระดับปริญญาโทและระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต รายวิชาและหน่วยกิต
ที่จะโอนต้องมีผลการศึกษาระดับ C ขึ้นไปหรือเทียบเท่า หรือ อักษร S
(๖) กรณีการศึกษาระดับปริญญาเอก รายวิชาและหน่วยกิตที่จะโอนต้องมีผลการศึกษา
ระดับ B ขึ้นไปหรือเทียบเท่า หรือ อักษร S
นอกจากหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งคณบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจําคณะ อาจกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการโอนรายวิชาและหน่วยกิตเพิ่มเติมจากความในวรรคหนึ่ง
ก็ได้ โดยทําเป็นประกาศคณะและรายงานให้อธิการบดีเพื่อทราบ
ข้อ ๔๕/๓ ให้บันทึกผลการศึกษาในรายวิชาที่ได้รับอนุมัติให้โอนรายวิชาและหน่วยกิต ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีการโอนรายวิชาตามข้อ ๔๕/๑ (๑) ให้บันทึกตามผลการศึกษาที่ได้
(๒) กรณีการโอนรายวิชาตามข้อ ๔๕/๑ (๒) ให้บันทึกด้วยอักษร ACC”
ข้อ ๙ ให้ยกเลิกความในข้อ ๔๖ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๔๖ การสอบประมวลความรู้ (Comprehensive Examination) สําหรับนักศึกษา
ระดับปริญญาโทให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) การสอบประมวลความรู้อาจทําได้โดยการสอบข้อเขียน หรือสอบปากเปล่า
หรือทั้งสองอย่าง ทั้งนี้ ตามที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดหลักสูตร
(๒) นักศึกษาต้องมีคุณสมบัติที่จะเข้าสอบประมวลความรู้ตามข้อกําหนดหลักสูตร
และยื่นความจํานงต่อคณะเพื่อขอสอบ
(๓) การจัดสอบประมวลความรู้ให้กระทําได้ไม่เกินปีการศึกษาละ ๓ ครั้ง
(๔) ให้มีคณะกรรมการสอบประมวลความรู้ที่คณบดีแต่งตั้ง มีหน้าที่ดําเนินการสอบ
ประมวลความรู้และกําหนดผลการสอบประมวลความรู้
(๕) ผลการสอบให้ได้อักษร P (ผ่าน) หรือ N (ไม่ผ่าน)
(๖) นักศึกษาต้องสอบประมวลความรู้ให้ได้ระดับ P (ผ่าน) ภายในจํานวนไม่เกิน ๓ ครั้ง
เว้นแต่ข้อกําหนดหลักสูตรกําหนดไว้น้อยกว่า ๓ ครั้ง ให้เป็นไปตามข้อกําหนดของหลักสูตรนั้น
ทั้งนี้ หากไม่สามารถสอบผ่านได้ต้องถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาและผลการสอบทุกครั้งต้องบันทึกไว้ในใบแสดงผลการศึกษา
ข้อ ๑๐ ให้ยกเลิกความในข้อ ๕๔ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๕๔ การสอบวิทยานิพนธ์ จะต้องมีกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ครบทุกคนจึงจะถือว่า
การสอบนั้นมีผลสมบูรณ์ ถ้ากรรมการไม่ครบให้เลื่อนการสอบออกไป ทั้งนี้ ถ้าข้อกําหนดของหลักสูตร
มิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่น อาจดําเนินการสอบโดยใช้ระบบสื่อสารทางไกลก็ได้
ในกรณีที่มีเหตุผลความจําเป็น คณบดีอาจมีคําสั่งเปลี่ยนกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ใหม่
หรือแต่งตั้งเพิ่มเติมก็ได้”
ข้อ ๑๑ ให้ยกเลิกความในข้อ ๕๙ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วย การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๕๙ การสอบสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ จะต้องมีกรรมการสอบสารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระครบทุกคนจึงจะถือว่าการสอบนั้นมีผลสมบูรณ์ ถ้ากรรมการไม่ครบให้เลื่อนการสอบออกไป ทั้งนี้ ถ้าข้อกําหนดของหลักสูตรมิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่นอาจดําเนินการสอบ
โดยใช้ระบบสื่อสารทางไกลก็ได้
ในกรณีที่มีเหตุผลความจําเป็น คณบดีอาจมีคําสั่งเปลี่ยนกรรมการสอบสารนิพนธ์
หรือการค้นคว้าอิสระใหม่หรือแต่งตั้งเพิ่มเติมก็ได้”
ข้อ ๑๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๐๑ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๑๐๑ มหาวิทยาลัยอาจคืนค่าธรรมเนียมที่นักศึกษาชําระให้แก่มหาวิทยาลัยไว้แล้ว
ในกรณีและอัตราดังต่อไปนี้
(๑) นักศึกษาลาออกหรือลาพักการศึกษาก่อนวันเปิดภาคการศึกษาให้มีสิทธิขอคืน
ได้เต็มจํานวนที่ชําระไว้
(๒) นักศึกษาลาออกหรือลาพักการศึกษา ภายใน ๑๔ วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษา
ให้มีสิทธิ์ขอคืนได้กึ่งหนึ่ง
(๓) นักศึกษาขอถอนรายวิชาเพราะมหาวิทยาลัยปิดรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนไว้
ให้มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมรายวิชาและค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์การศึกษาในรายวิชานั้นได้เต็มจํานวน เว้นแต่กรณีเป็นการชําระค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่ายไม่อาจขอคืนค่าธรรมเนียมในรายวิชาที่ปิดได้
(๔) นักศึกษาขอถอนรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนเรียนไว้ภายใน ๑๔ วันนับแต่วันเปิด
ภาคการศึกษา หรือ ๗ วันนับแต่วันเปิดภาคฤดูร้อน ให้มีสิทธิขอคืนค่าธรรมเนียมรายวิชาและค่าธรรมเนียม การใช้อุปกรณ์การศึกษาในรายวิชานั้นได้กึ่งหนึ่ง เว้นแต่กรณีเป็นการชําระค่าธรรมเนียมแบบเหมาจ่าย
ไม่อาจขอคืนค่าธรรมเนียมในรายวิชาที่ถอนได้
(๕) นักศึกษาที่ถูกลงโทษทางวินัยนักศึกษาให้พักการศึกษาในภาคการศึกษาถัดไป
แต่ได้ลงทะเบียนเรียนและชําระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในภาคการศึกษาที่ถูกลงโทษไว้แล้ว ให้มีสิทธิขอคืนได้
เต็มจํานวนที่ชําระไว้
นักศึกษาที่มีความประสงค์ขอคืนเงินค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งต้องยื่นคําร้องต่อคณะ ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันเปิดภาคการศึกษาหรือภาคฤดูร้อน
การยกเว้นค่าปรับหรือลดค่าปรับให้อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณบดีมีอํานาจพิจารณา ยกเว้นค่าปรับหรือลดค่าปรับได้”
ประกาศ ณ วันที่ ๖ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔