ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง ทุนสนับสนุนการวิจัย Bualuang ASEAN Chair Professor
พ.ศ. ๒๕๖๔
………………………………………………………
ด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม
ของมหาวิทยาลัยให้มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านการวิจัย โดยการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการผลิตผลงานวิจัยทั้งปริมาณและคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มหาวิทยาลัยจึงเห็นควรให้มีทุนสนับสนุนการวิจัย Bualuang ASEAN Chair Professor
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบกับข้อ ๑๖ วรรคสอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย พ.ศ. ๒๕๖๑ อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัยในคราวประชุม
ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ จึงออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ทุนสนับสนุนการวิจัย Bualuang ASEAN Chair Professor พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ทุน” หมายความว่า ทุนสนับสนุนการวิจัย Bualuang ASEAN Chair Professor
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารงานวิจัยและกองทุนวิจัย
หมวด ๑
ทุนสนับสนุนการวิจัย Bualuang ASEAN Chair Professor
ข้อ ๔ ทุนสนับสนุนการวิจัย Bualuang ASEAN Chair Professor มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(๑) ส่งเสริมและพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยให้มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัย
(๒) เสริมสร้างความแข็งแกร่งของอาจารย์หรือนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการทำงานวิจัยร่วมกับ Bualuang AESAN Chair Professor เพื่อทำงานวิจัย ทำกิจกรรมด้านวิชาการและวิจัยให้มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากล และผลักดันให้งานด้านวิจัยของมหาวิทยาลัยสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้สูงขึ้น
(๓) เพิ่มผลงานวิจัยคุณภาพสูงที่เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล ISI หรือ SCOPUS ในอันดับสูงสุดร้อยละ ๒๕ (หรือ Q1) เป็นอย่างน้อย
ข้อ ๕ ให้จ่ายเงินสนับสนุน ผู้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย Bualuang ASEAN Chair Professor
แก่ผู้รับทุนจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยแบ่งจ่ายเป็นรายงวด ตามหลักเกณฑ์และอัตราดังนี้
(๑) งวดที่ ๑ เป็นเงินจำนวนร้อยละยี่สิบของเงินทุนที่ได้รับอนุมัติ จ่ายเมื่อผู้รับทุนลงนามในสัญญา
รับทุนกับมหาวิทยาลัยและได้มาปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยในวันแรก
(๒) งวดที่ ๒ เป็นเงินจำนวนร้อยละยี่สิบของเงินทุนที่ได้รับอนุมัติ จ่ายเมื่อได้ดำเนินการดังนี้
(๒.๑) ผู้รับทุนจัดส่งรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านวิจัยตามที่กำหนด โดยมีสัดส่วนการดำเนินงานร้อยละห้าสิบของผลงานวิจัย และ
(๒.๒) ทำกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัย หรือคณะ หรือส่วนงาน ภายใต้หัวข้อโครงการวิจัยที่กำหนดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลารับทุนตามสัญญา
(๓) งวดที่ ๓ เป็นเงินจำนวนร้อยละหกสิบของเงินทุนที่ได้รับอนุมัติ จ่ายเมื่อผู้รับทุนส่งรายงานผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ และผลงานวิจัยได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์หรือตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus หรือ ISI แล้ว
หมวด ๒
ผู้รับทุน
ข้อ ๖ ผู้รับทุนต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(๑) เป็นนักวิชาการที่มีสังกัดในต่างประเทศที่มีตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่าศาสตราจารย์และ
มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการระดับโลก หรือมีผลงานทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างท้าทาย หรือเป็น
ผู้ค้นพบทฤษฎีใหม่
(๒) มีผลงานทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus หรือ ISI ในอันดับสูงสุดร้อยละ ๒๕ (หรือ Q1) เป็นอย่างน้อย หรือผลงานวิชาการอื่น อาทิ International book chapter หรือผลงานที่เป็นประโยชน์ และมีผลกระทบสูงต่อสังคมที่สามารถแสดงให้เห็นได้อย่างประจักษ์ และต้องเป็นผลงานที่มีระยะเวลาไม่เกินสามปีนับถัดจากวันที่ได้ลงเผยแพร่
ข้อ ๗ ผู้รับทุนต้องมีการรับรองจากอาจารย์หรือนักวิจัยผู้เสนอชื่อซึ่งเป็นคณาจารย์ประจำหรือนักวิจัยว่าผู้รับทุนสามารถปฏิบัติงานได้เต็มเวลาตลอดช่วงเวลาการรับทุนและมีผลงานวิจัยที่ได้มีการเผยแพร่และมีศักยภาพทำงานวิจัยให้แล้วเสร็จส่งมอบงานได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
หมวด ๓
การขอรับทุน หน้าที่ของผู้รับทุน การระงับทุน
ข้อ ๘ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการยื่นขอรับทุนประจำปี ให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการ
ข้อ ๙ ผู้รับทุนต้องทำสัญญาให้ไว้ต่อมหาวิทยาลัยตามสัญญาแนบท้ายประกาศนี้
เมื่อผู้รับทุนลงนามในสัญญารับทุนแล้วต้องปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย
หกเดือนภายในระยะเวลาไม่เกินสองปี
ในระหว่างการรับทุนสามารถลาไปปฏิบัติงานในต่างประเทศได้ แต่ระหว่างการลามิให้นำระยะเวลาระหว่างลาไปปฏิบัติงานในต่างประเทศมาคำนวณนับเป็นระยะเวลาปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
การนับระยะเวลาการปฏิบัติงานตามวรรคสอง ให้นับเฉพาะวันที่ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยจริง
ข้อ ๑๐ ผู้รับทุนต้องดำเนินการจัดส่งรายงานความก้าวหน้าการทำกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยหรือคณะ หรือส่วนงานภายใต้หัวข้อโครงการวิจัยที่กำหนด และผลงานวิจัยที่ได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ หรือตีพิมพ์แล้วในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus หรือ ISI โดยมีชื่ออาจารย์หรือนักวิจัยผู้เสนอชื่อ ระบุสังกัดเป็น Thammasat University อยู่ในรายชื่อผู้แต่ง อย่างน้อยสามบทความ โดยมีอย่างน้อยหนึ่งบทความที่อยู่ในอันดับสูงสุดร้อยละยี่สิบห้า (หรือ Q1) และระบุในกิตติกรรมประกาศว่า “This study was supported by Bualuang ASEAN Chair Professor Fund”
การทำงานวิจัยร่วมกับผู้รับทุนตามวรรคหนึ่ง ให้อาจารย์หรือนักวิจัยผู้เสนอชื่อดำเนินการสรรหา Bualuang ASEAN Chair Professor กำกับดูแลผู้รับทุน รวมถึงติดตามการวิจัยที่มุ่งเป้าให้ได้ผลงานตามเกณฑ์ภาระงานตามที่กำหนดและส่งมอบงานภายในระยะเวลาที่ขอรับทุน
ผู้รับทุนต้องรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการทุกรอบหกเดือน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๑๑ คณะกรรมการอาจพิจารณาระงับการให้ทุนได้ในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้ขาดคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใดตามข้อ ๖
(๒) ผู้รับทุนไม่รายงานความก้าวหน้าภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(๓) มีเหตุอื่นอันเชื่อได้ว่า ผู้รับทุนไม่สามารถทำงานวิจัยให้แล้วเสร็จได้ หรือไม่สามารถจัดส่งรายงานความก้าวหน้าการทำกิจกรรมตามที่กำหนดได้ หรือผลงานวิจัยไม่สามารถได้รับการตอบรับการตีพิมพ์หรือตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus หรือ ISI ตามข้อ ๑๐
ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี