ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๙
__________________________
โดยที่เป็นการสมควรกําหนดการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการกําหนด
ตําแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลอื่น การพัฒนาบุคลากร การบรรจุ การแต่งตั้ง การให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง การออกจากงาน วินัย การดําเนินการทางวินัย การอุทธรณ์หรือการร้องทุกข์ของพนักงานมหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๓ และมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ และโดยมติสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ชื่อข้อบังคับ
ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล
พนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๙”
ข้อ ๒ เวลามีผลใช้บังคับ
ข้อบังคับฉบับนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ นิยาม
ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการบริหารบุคคล” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารบุคคล
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย” หมายความว่า คณะกรรมการบริหาร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ส่วนงาน” หมายความว่า ส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“พนักงานมหาวิทยาลัย” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย ทั้งที่จ้างด้วยเงินงบประมาณ
แผ่นดิน และเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อ ๔ ผู้รักษาการ
ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอํานาจออกประกาศกําหนดหลักเกณฑ์
และวิธีการเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
คณะกรรมการบริหารบุคคล
ข้อ ๕ องค์ประกอบคณะกรรมการบริหารบุคคล
ให้มีคณะกรรมการบริหารบุคคล เรียกโดยย่อว่า ก.บ.ค. ที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑) กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้ทรงคุณวุฒิที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมายคนหนึ่ง
เป็นประธานกรรมการ
(๒) อธิการบดีเป็นรองประธานกรรมการ
(๓) รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายคนหนึ่งเป็นกรรมการ
(๔) กรรมการจํานวนสองคน ที่เป็นผู้ดํารงตําแหน่งคณบดี หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่อ
อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัยซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากคณบดีและหัวหน้าส่วนงาน
ที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัย
(๕) กรรมการจํานวนหนึ่งคน ที่เป็นผู้ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสถาบัน ผู้อํานวยการสํานัก หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบันหรือสํานักซึ่งได้รับการเลือกตั้ง
จากผู้อํานวยการสถาบันหรือสํานัก และหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบันหรือสํานัก
(๖)[๑] กรรมการจํานวนหนึ่งคน ที่เป็นผู้ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานที่มีหน้าที่หลัก
ด้านการให้บริการและสนับสนุนการศึกษาและที่มีหน้าที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยเพื่อความเป็นเลิศ หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสํานักงานที่อธิการบดีมอบหมาย
(๗) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์จํานวนไม่น้อยกว่าสองคน แต่ไม่เกินห้าคน ที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งโดยข้อเสนอของอธิการบดี
ให้รองอธิการบดีที่รับผิดชอบงานบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นกรรมการและเลขานุการ
ผู้ช่วยอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายคนหนึ่งและผู้อํานวยการกองทรัพยากรมนุษย์เป็นกรรมการ
และผู้ช่วยเลขานุการ และในกรณีที่เห็นสมควรอธิการบดีอาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยจํานวนหนึ่งคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้[๒]
ข้อ ๖ วาระการดํารงตําแหน่งและการพ้นจากตําแหน่ง
ให้คณะกรรมกรรมการบริหารบุคคลมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับ
แต่งตั้งอีกก็ได้
นอกจากการพ้นจากตําแหน่งตามวาระ กรรมการตามข้อ ๕ (๑) (๓) (๔) (๕) และ (๖) ต้องพ้นจากตําแหน่งเมื่อขาดจากคุณสมบัติของการเป็นกรรมการประเภทนั้น
ข้อ ๗ การแต่งตั้งกรรมการทดแทน
ในกรณีที่กรรมการในคณะกรรมการบริหารบุคคลว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังมิได้มี
การแต่งตั้งกรรมการแทนตําแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการบริหารบุคคลประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มี
ในกรณีที่กรรมการในคณะกรรมการบริหารบุคคล ตามข้อ ๕ (๑) (๔) (๕) (๖) และ (๗) พ้นจากตําแหน่งตามวาระและยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการที่พ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้น
ปฏิบัติหน้าที่กรรมการต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่
ข้อ ๘ อํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารบุคคล
ให้คณะกรรมการบริหารบุคคล มีอํานาจหน้าที่จัดทํานโยบายและแผนงานการบริหารบุคคล เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
รอบระยะเวลาการจัดทํานโยบายและแผนงานการบริหารบุคคลให้เป็นไปตามที่สภามหาวิทยาลัย
กําหนด
ข้อ ๙ อํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารบุคคล
ให้คณะกรรมการบริหารบุคคลมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล
ของพนักงานมหาวิทยาลัย ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนงานการบริหารบุคคลที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติ
อํานาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) กําหนดประเภทตําแหน่ง ชื่อตําแหน่ง มาตรฐานกําหนดตําแหน่ง คุณสมบัติเฉพาะ
ตําแหน่งของพนักงานมหาวิทยาลัย
(๒) กําหนดบัญชีอัตราเงินเดือน เงินประจําตําแหน่ง ค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาการ ค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาชีพ เงินเพิ่ม และค่าตอบแทนอื่นของพนักงานมหาวิทยาลัย
(๓) กําหนดกรอบอัตรากําลังผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของแต่ละส่วนงาน รวมทั้งการพิจารณา เกลี่ยอัตรากําลังผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยระหว่างส่วนงาน
(๔) พิจารณากําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรฐาน ที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล
ของมหาวิทยาลัย
(๕) พิจารณาเกี่ยวกับการดําเนินการทางวินัยและการสั่งให้ออกจากงานตามที่กําหนดไว้
ในข้อบังคับนี้หรือข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่ว่าด้วยการดําเนินการทางวินัยหรือการสั่งให้พนักงานมหาวิทยาลัย
ออกจากงาน รวมตลอดถึงการกํากับดูแลมาตรฐานการดําเนินการทางวินัย
(๖) กํากับ ติดตาม และประเมินผลการบริหารงานบุคคลให้เป็นไปตามนโยบายและแผนงาน
การบริหารงานบุคคลที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติ
(๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือมอบหมายให้บุคคลพิจารณาดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด (๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย
ข้อ ๑๐ ความสัมพันธ์กับคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย
ให้คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีอํานาจและหน้าที่อนุมัติ อนุญาต ให้ความเห็นชอบ สั่งการ เกี่ยวกับเรื่องการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัย ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรฐาน
การบริหารงานบุคคล ตลอดจนกรอบอัตรากําลังที่คณะกรรมการบริหารงานบุคคลกําหนด
หมวด ๒
คุณสมบัติพนักงานมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๑ คุณสมบัติทั่วไปและลักษณะต้องห้าม
ผู้ที่จะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะ
ต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(ก) คุณสมบัติทั่วไป
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์แต่ไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์
(๓) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(ข) ลักษณะต้องห้าม
(๑) เป็นผู้ดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมือง
(๒) เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(๓) เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกพักราชการหรือพักงานหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ
หรือออกจากงานตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบอื่น หรือตามข้อบังคับฉบับนี้
(๔) เป็นผู้เคยถูกสั่งลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง หรือถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก
จากราชการ หรือจากรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐเพราะกระทําผิดวินัยหรือจรรยาบรรณ
(๕) เป็นผู้เคยกระทําการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ
(๖) เป็นผู้เคยถูกจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิด
ที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๗) เป็นบุคคลที่ศาลมีคําสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย
(๘) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๙) เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๑๐) เป็นผู้มีพฤติกรรมเสื่อมเสียหรือบกพร่องในทางศีลธรรม
ข้อ ๑๒ คุณสมบัติเฉพาะตําแหน่ง
ผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในตําแหน่งใด ให้มีคุณสมบัติ
เฉพาะตําแหน่งตามที่กําหนดไว้ในมาตรฐานกําหนดตําแหน่งนั้น
ข้อ ๑๓ เหตุยกเว้นคุณสมบัติตามข้อ ๑๑ และ ข้อ ๑๒
คณะกรรมการบริหารบุคคล อาจพิจารณาอนุมัติให้บรรจุและแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติทั่วไป
ไม่เป็นไปตามข้อ ๑๑ ก. หรือมีคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่งไม่เป็นไปตาม ข้อ ๑๒ ก็ได้ หากผู้ที่จะได้รับการบรรจุ
และแต่งตั้งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ หรือมีประสบการณ์ชํานาญงานอันจะเป็นประโยชน์แก่การดําเนินงาน
ของมหาวิทยาลัย
หมวด ๓
ตําแหน่งและภาระงานของพนักงานมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๔ การแบ่งประเภทพนักงานมหาวิทยาลัย
พนักงานมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย
(ก) พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
(ข) พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ
ข้อ ๑๕[๓] ประเภทย่อยของพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ มีดังนี้
(ก) คณาจารย์ประจํา มีตําแหน่งทางวิชาการ ดังต่อไปนี้
(๑) ศาสตราจารย์
(๒) รองศาสตราจารย์
(๓) ผู้ช่วยศาสตราจารย์
(๔) อาจารย์
(ข)[๔] นักวิจัย มีตําแหน่งทางวิชาการ ดังต่อไปนี้
(๑) นักวิจัย ระดับเชี่ยวชาญพิเศษ
(๒) นักวิจัย ระดับเชี่ยวชาญ
(๓) นักวิจัย ระดับชํานาญการพิเศษ
(๔) นักวิจัย ระดับปฏิบัติการ
(ค) อาจารย์ช่วยสอน มีชื่อตําแหน่ง ดังต่อไปนี้
(๑) อาจารย์ช่วยสอน
(ง) ครูกระบวนการ ซึ่งเป็นตําแหน่งเฉพาะในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มีตําแหน่งทางวิชาการ ดังต่อไปนี้
(๑) ครูกระบวนการ ระดับเชี่ยวชาญพิเศษ
(๒) ครูกระบวนการ ระดับเชี่ยวชาญ
(๓) ครูกระบวนการ ระดับชํานาญการ
(๔) ครูกระบวนการ ระดับปฏิบัติการ
มาตรฐานกําหนดตําแหน่งและการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจํา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้ในข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยตําแหน่งทางวิชาการ
มาตรฐานกําหนดตําแหน่งและการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งทางวิชาการ
ของพนักงานมหาวิทยาลัยตาม (ข) (ค) และ (ง ) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยข้อเสนอ
ของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๕/๑[๕] การพ้นจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของอาจารย์ช่วยสอน
นอกจากการพ้นตามข้อ ๓๒ และข้อ ๕๓ ให้อาจารย์ช่วยสอนพ้นจากการเป็น
พนักงานมหาวิทยาลัยหากผู้นั้นไม่เข้ารับการพัฒนาโดยการไปศึกษาต่อในระดับชั้นปริญญาโท ปริญญาเอก หรือเทียบเท่าภายในระยะเวลาสองปีนับตั้งแต่ผ่านการประเมินทดลองงาน เว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลความจําเป็น
อย่างยิ่งมหาวิทยาลัยอาจขยายระยะเวลาให้ผู้นั้นออกไปอีกไม่เกินหนึ่งปีก็ได้
ข้อ ๑๕/๒[๖] การกําหนดตําแหน่งที่สูงขึ้นของอาจารย์ช่วยสอน
อาจารย์ช่วยสอนจะมีตําแหน่งที่สูงขึ้นได้ต่อเมื่อได้เปลี่ยนประเภทตําแหน่งเป็นประเภท คณาจารย์ประจํา
ผู้ซึ่งจะได้รับการกําหนดตําแหน่งที่สูงขึ้นโดยเปลี่ยนประเภทตําแหน่งเป็นประเภท
คณาจารย์ประจําตามวรรคหนึ่งจะต้องมีคุณวุฒิในระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า คุณสมบัติและหลักเกณฑ์
การพิจารณาการเปลี่ยนประเภทตําแหน่งให้นําคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การพิจารณาการคัดเลือกบุคคลเพื่อรับการบรรจุ แต่งตั้งและจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ประเภทคณาจารย์ประจํามาใช้โดยอนุโลม
ข้อ ๑๕/๓[๗] การเปลี่ยนสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการมาเป็น สายวิชาการที่มีชื่อตําแหน่งตามข้อ ๑๕ (ข) และ (ง)
หลักเกณฑ์และวิธีการ เงื่อนไขการต่อสัญญาจ้าง การสิ้นสุดสัญญาจ้าง การนับอายุงาน การเทียบเคียงตําแหน่งทางวิชาการ เพื่อเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
ของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการที่มีชื่อตําแหน่งตามข้อ ๑๕ (ข) และ (ง) ให้เป็นไปตามที่อธิการบดี
โดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
พนักงานมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพตามวรรคหนึ่ง ให้ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทน
ในอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนเปลี่ยนสถานภาพต่อไป จนกว่าอธิการบดีโดยข้อเสนอ
ของคณะกรรมการบริหารบุคคลมีมติให้เปลี่ยนแปลงอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนนั้น
นักวิจัย สายสนับสนุนวิชาการซึ่งดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้
ใช้บังคับ เมื่อได้รับการเปลี่ยนสถานภาพเป็นนักวิจัย สายวิชาการ แล้ว คงดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการ
ในสายวิชาการต่อไป จนกว่าจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งชำนาญการพิเศษตามข้อบังคับนี้[๘]
ข้อ ๑๖ ภาระงานคณาจารย์ประจํา
คณาจารย์ประจําตามข้อ ๑๕ (ก) มีภาระงานประกอบด้วย งานสอน งานวิจัย งานบริการวิชาการ งานทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรม งานพัฒนานักศึกษา รวมตลอดถึงภาระงานอื่น ๆ ที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
มาตรฐานภาระงาน และภาระงานขั้นต่ำของพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศ
มหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๗ ภาระงานของพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการประเภทอื่น
พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการตามข้อ ๑๕ (ข) และ (ค) ให้มีภาระงาน มาตรฐานภาระงาน และภาระงานขั้นต่ำตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคล
กําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๘ ประเภทย่อยของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ
พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ แบ่งออกเป็นสี่ประเภทประกอบด้วย
(ก) ประเภทอํานวยการ
(ข) ประเภทวิชาชีพเฉพาะ
(ค) ประเภทบริการวิชาการและสนับสนุนการบริหาร
(ง) ประเภทอื่นที่คณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนด
การกําหนดตําแหน่ง มาตรฐานกําหนดตําแหน่งและการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศ
มหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๙ ภาระงานของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ
พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการมีภาระงานเกี่ยวกับการสนับสนุนงานสอน งานวิจัย งานบริการทางวิชาการ งานบริการสังคม งานทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรม และงานพัฒนานักศึกษา รวมตลอดจนงานบริหารงานทั่วไปและงานธุรการ
มาตรฐานภาระงาน และภาระงานขั้นต่ำของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ
ในแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็น
ประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๐ ระดับตําแหน่งของพนักงานมหาวิทยาลัย
พนักงานมหาวิทยาลัยในแต่ละประเภท จะมีระดับตําแหน่งอย่างไร มีมาตรฐานกําหนด
ตําแหน่งอย่างไร มีหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตําแหน่งอย่างไร และพนักงานมหาวิทยาลัยแต่ละประเภท
จะได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งระดับใด ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคล
กําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
การเข้าสู่ตําแหน่งและการพ้นจากตําแหน่งของพนักงานมหาวิทยาลัยประเภทอํานวยการ ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยทําเป็นประกาศ
มหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๑ กรณีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย
การบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ หรือพนักงานมหาวิทยาลัย
สายสนับสนุนวิชาการที่ได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่มีวาระการดํารงตําแหน่ง
ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย
หมวด ๔
การบรรจุแต่งตั้ง และการนับอายุงาน
ข้อ ๒๒ การสรรหา การบรรจุ และการแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
การบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ ให้แต่งตั้งจากผู้ที่ผ่าน กระบวนการสรรหา และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย เว้นแต่กรณีการบรรจุ
และแต่งตั้งบุคคลที่ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๑๓ หรือเพื่อให้ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาการตามข้อ ๒๙ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารบุคคลหรือสภามหาวิทยาลัยแล้วแต่กรณี
การสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้วิธีการสอบแข่งขัน
หรือการคัดเลือกโดยพิจารณาจากคุณวุฒิ ผลการศึกษา ความรู้ความสามารถ ผลงานทางวิชาการ หรือประสบการณ์การทํางานตามหลักเกณฑและวิธีการที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคล
กําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๓ การสรรหา การบรรจุและการแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ
การบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการให้บรรจุ
และแต่งตั้งจากผู้ที่สอบแข่งขันได้หรือผู้ผ่านการคัดเลือก เว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลความจําเป็นเพื่อประโยชน์แก่
มหาวิทยาลัยอาจคัดเลือกโดยพิจารณาจากคุณวุฒิ ผลการศึกษา ความรู้ความสามารถ หรือประสบการณ์ การทํางานก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบุคคล กําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๔ หลักเกณฑ์วิธีการสรรหา วิธีการสอบแข่งขัน วิธีการคัดเลือก เกณฑ์การตัดสิน การขึ้นบัญชีและการยกเลิกบัญชี
หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา วิธีการสอบแข่งขัน วิธีการคัดเลือก เกณฑ์การตัดสิน การขึ้นบัญชี และการยกเลิกบัญชี ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนด
โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๕ ผู้มีอํานาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง
ให้อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเป็นผู้สั่งบรรจุและ
แต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัย
การบรรจุและแต่งตั้งบุคคลตามข้อ ๑๓ หรือการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็น
พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการโดยให้ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาการตามข้อ ๒๙ วรรคสอง ให้อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบุคคลเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง
กรณีการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการโดยให้ได้รับ
เงินเพิ่มพิเศษทางวิชาการตามข้อ ๒๙ วรรคสาม ให้อธิการบดีโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย
เป็นผู้สั่งแต่งตั้ง
ข้อ ๒๖ การเริ่มนับอายุงาน
การนับอายุงานของพนักงานมหาวิทยาลัยให้นับตั้งแต่วันบรรจุและแต่งตั้งเป็นต้นไป
หมวด ๕
เงินเดือน เงินประจําตําแหน่ง เงินเพิ่ม และค่าตอบแทนอื่น
ข้อ ๒๗ อํานาจกําหนดค่าตอบแทน
เงินเดือน เงินประจําตําแหน่ง เงินเพิ่ม รวมตลอดจนค่าตอบแทนอื่นของพนักงานมหาวิทยาลัย
ให้เป็นไปตามอัตราที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็น
ประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๘ การกําหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ
ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ให้ได้รับเงินเดือนแรกบรรจุตามอัตรา
เงินเดือนที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ในกรณีที่มีเหตุผลความจําเป็นคณะกรรมการบริหารบุคคลอาจพิจารณาอนุมัติให้แต่งตั้ง
พนักงานมหาวิทยาลัยโดยให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าอัตราเงินเดือนแรกบรรจุก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๖
ค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาการ
ข้อ ๒๙ กรณีเงินค่าตอบแทนพิเศษของพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
ในกรณีที่มีเหตุผลความจําเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แก่การสอนและการวิจัย
คณะกรรมการบริหารบุคคลอาจพิจารณาอนุมัติให้แต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติทางวิชาการหรือมีผลงานทางวิชาการดีเด่น เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการโดยให้ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาการ นอกเหนือจากเงินเดือน
ตามข้อ ๒๗ ก็ได้
ให้คณะกรรมการบริหารบุคคล พิจารณากําหนดเงินค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาการ
ให้แก่ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งได้ไม่เกินร้อยละสามสิบของอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดยพิจารณา
จากคุณสมบัติทางวิชาการ คุณวุฒิ ประสบการณ์ ความสามารถ ผลงาน หรือความขาดแคลนในสาขาวิชา
ในกรณีที่มีเหตุเพื่อประโยชน์ทางวิชาการของมหาวิทยาลัยอย่างสําคัญยิ่ง
อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคล อาจขอให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติให้แต่งตั้ง
ผู้ที่มีคุณสมบัติหรือผลงานทางวิชาการดีเด่นเป็นพิเศษเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
โดยได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาการในอัตราที่สูงกว่าร้อยละสามสิบของอัตราเงินเดือนแรกบรรจุก็ได้
ข้อ ๓๐ การประเมินเพื่อรับเงินค่าตอบแทนพิเศษ
คณะกรรมการบริหารบุคคลอาจกําหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการที่ได้รับ
การแต่งตั้งโดยให้ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาการ ตามข้อ ๒๙ เข้ารับการประเมินผลการปฏิบัติงาน
เพื่อนําผลการประเมินมาใช้ประกอบการพิจารณาสั่งให้เพิ่ม หรือลด หรืองด การจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ
ทางวิชาการได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหาร
บุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๗
ค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาชีพ
ข้อ ๓๑ กรณีเงินค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาชีพของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน
วิชาการ
พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ อาจได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาชีพ ตามบัญชีอัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาชีพ ที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคล
กําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
การกําหนดอัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษทางวิชาชีพตามวรรคหนึ่งให้พิจารณาจาก
วุฒิการศึกษาที่ใช้แต่งตั้ง มาตรฐานกําหนดตําแหน่ง ภาระงานขั้นต่ําของตําแหน่ง และความขาดแคลน
ของสาขาวิชาหรือวิชาชีพ
ให้คณะกรรมการบริหารบุคคลพิจารณาความเหมาะสมของอัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษ
ทางวิชาชีพทุกรอบห้าปี หากเห็นว่าสายงานในวิชาชีพใด ไม่มีความจําเป็นที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ
ทางวิชาชีพให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษสําหรับวิชาชีพนั้น
หมวด ๘
การทดลองปฏิบัติงาน
ข้อ ๓๒ กระบวนการทดลองปฏิบัติงาน
เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการต้องทดลองปฏิบัติงานเป็นเวลา
ไม่น้อยกว่าหนึ่งภาคการศึกษา แต่ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง และพนักงานมหาวิทยาลัย สายสนับสนุนวิชาการต้องทดลองปฏิบัติงานเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือน แต่ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับการ แต่งตั้ง
เมื่อได้มีการทดลองปฏิบัติงานมาแล้วเป็นเวลาสามเดือน ให้ผู้บังคับบัญชาจัดให้มี
การประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้ในหมวด ๑๒ และแจ้งผลการประเมินพร้อมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานให้พนักงานมหาวิทยาลัยทราบ
ก่อนที่จะครบกําหนดเวลาทดลองปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ให้ผู้บังคับบัญชา
จัดให้มีการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน หากปรากฏผลผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ที่กําหนดในข้อ ๔๑ ให้จัดให้พนักงานมหาวิทยาลยทำสัญญาการปฏิบัติงานในหมวด ๙ แต่หากไม่ผ่าน
การประเมินให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เว้นแต่กรณีผลการประเมินยังมีข้อที่สามารถ
ปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาได้ผู้บังคับบัญชาอาจพิจารณาสั่งขยายระยะเวลาการทดลองปฏิบัติงานออกไปอีก
เป็นเวลาไม่เกินสามเดือนก็ได้
ในกรณีที่มีการขยายระยะเวลาการทดลองปฏิบัติงานออกไปตามวรรคสาม ก่อนครบเวลา ที่ได้รับการขยายไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ให้ผู้บังคับบัญชาจัดให้มีการประเมินผลการทดลองการปฏิบัติงาน หากผ่านการประเมิน ให้จัดให้พนักงานมหาวิทยาลัยทําสัญญาการปฏิบัติงาน ตามหมวด ๙ แต่หากไม่ผ่านการ ประเมินให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
หมวด ๙
สัญญาการปฏิบัติงาน
ข้อ ๓๓[๙] ประเภทสัญญา
สัญญาการปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยมีดังต่อไปนี้
(๑) สัญญาการทดลองปฏิบัติงาน
(๒) สัญญาระยะที่หนึ่งมีกําหนดเวลาสองปีนับตั้งแต่วันบรรจุแต่งตั้ง โดยให้ถือสัญญาตาม (๑) เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระยะที่หนึ่งด้วย
(๓) สัญญาระยะที่สองมีกําหนดสามปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นสุดสัญญาระยะที่หนึ่ง
(๔) สัญญาระยะที่สามมีกําหนดห้าปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นสุดสัญญาระยะที่สอง
(๕) สัญญาระยะที่สี่นับตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นสุดสัญญาระยะที่สามจนถึงวันที่ต้องเกษียณอายุ
ข้อ ๓๔ การทําสัญญาและการต่อสัญญา
การทําสัญญาการปฏิบัติงานตามข้อ ๓๓ ให้ทําต่อเนื่องกันตามอายุสัญญา และพนักงานมหาวิทยาลัยที่จะได้รับการทําสัญญาในแต่ละระยะเวลาของสัญญาตามข้อ ๓๓ จะต้องมีคุณสมบัติและผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิการบดี
โดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๓๕ สัญญาการปฏิบัติงานชั่วคราว
นอกจากการทําสัญญาการปฏิบัติงานตามข้อ ๓๓ อธิการบดีโดยความเห็นชอบ
ของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย อาจทําสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีระยะเวลาทํางานตามสัญญา
คราวละไม่เกินห้าปีก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยข้อเสนอข้อของคณะกรรมการบริหาร
บุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๓๖ แบบของสัญญา
สัญญาการปฏิบัติงานตามข้อ ๓๓ และสัญญาจ้างตามข้อ ๓๕ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิการดี
โดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๐
การขึ้นเงินเดือนประจําปี
ข้อ ๓๗ รอบการขึ้นเงินเดือน
การขึ้นเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย ให้ขึ้นเงินเดือนได้ปีละหนึ่งครั้ง
ข้อ ๓๘ การประเมินเพื่อขึ้นเงินเดือน
การขึ้นเงินเดือนประจําปี ให้นําผลการประเมินการปฏิบัติงานตามข้อ ๔๒
การรักษาจรรยาบรรณ และวินัย ตลอดจนความสามารถและความอุตสาหะในการปฏิบัติงานเป็นองค์ประกอบ
การพิจารณา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนด
โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๓๙ อํานาจสั่งขึ้นเงินเดือน
ให้อธิการบดีเป็นผู้มีอํานาจสั่งขึ้นเงินเดือนประจําปีของพนักงานมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๑
สวัสดิการและสิทธิประโยชน์
ข้อ ๔๐ ประเภทของสวัสดิการและสิทธิประโยชน์
ให้พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ดังนี้
(๑) สวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
(๒) สิทธิประโยชน์จากการเป็นสมาชิกกองทุนสํารองเลี้ยงชีพที่มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้น
(๓) เงินช่วยเหลือกรณีที่เกิดการเจ็บป่วย ได้รับอุบัติเหตุ หรือถึงแก่ความตาย
อันเนื่องมาจากการทํางาน
(๔) สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นที่สภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของคณะกรรมการ
บริหารบุคคลกําหนด
การได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๒
การประเมินผลการปฏิบัติงาน
ส่วนที่ ๑
การประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน
ข้อ ๔๑ เกณฑ์การประเมินผลการทดลองการปฏิบัติงาน
การประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน ให้ประเมินโดยพิจารณาจากมาตรฐานความรู้
ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะที่จําเป็นสําหรับการปฏิบัติงานในตําแหน่งและคุณลักษณะส่วนบุคคล
ที่จําเป็นต่อการปฏิบัติงาน
หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามที่อธิการบดี
โดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ส่วนที่ ๒
การประเมินผลการปฏิบัติงานประจําปี
ข้อ ๔๒ รอบระยะเวลาการประเมินผลการปฏิบัติงานประจําปี
พนักงานมหาวิทยาลัยต้องเข้ารับการประเมินผลการปฏิบัติงานปีละหนึ่งครั้ง
ตามรอบระยะเวลาการประเมินที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็น
ประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๔๓ วัตถุประสงค์และเกณฑ์ในการประเมิน
การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นการประเมินเพื่อพัฒนา
และปรับปรุงการปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยให้ทํางานอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ตลอดจนเพื่อความก้าวหน้าในตําแหน่งหน้าที่ และเพื่อนําไปใช้ประกอบการพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับ
การบริหารบุคคล
หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๔๔ หน้าที่และระยะเวลาในการแจ้งเกณฑ์การประเมิน
ในการประเมินผลการปฏิบัติงานให้หัวหน้าส่วนงานกําหนดมาตรฐานและเป้าหมาย
การปฏิบัติงาน แจ้งให้พนักงานมหาวิทยาลัยทราบตั้งแต่วันเริ่มต้นของปีที่จะประเมิน ทั้งนี้ มาตรฐาน
และเป้าหมายการประเมินของแต่ละส่วนงานต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดทํามาตรฐานและเป้าหมาย
การปฏิบัติงานที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๔๕ หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน
พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดมีผลการประเมินประจําปีต่ํากว่ามาตรฐานและเป้าหมาย
การปฏิบัติงาน หรืออยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุง ให้ผู้บังคับบัญชาจัดให้พนักงานมหาวิทยาลัยผู้นั้นเข้ารับ
การพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติงานทุกรอบการประเมิน แต่หากครบสองปีหรือสองรอบการประเมิน
ภายหลังจากที่ได้เข้ารับการพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติงานแล้ว พนักงานมหาวิทยาลัยผู้นั้นยังได้รับ
ผลการประเมินต่ำกว่ามาตรฐานและเป้าหมายการปฏิบัติงาน ให้ผู้บังคับบัญชารายงานเสนอให้อธิการบดี
พิจารณาสั่งให้พนักงานมหาวิทยาลัยผู้นั้นออกจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดยถือว่าขาดประสิทธภาพ
ในการปฏิบัติงาน
หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน การพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติงาน
และการออกจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่ง ให้อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการ
บริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๔๖ การใช้ประโยชน์จากผลการประเมิน
ให้นําผลการประเมินผลการปฏิบัติงานประจําปีไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา
ดําเนินการในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ดังนี้
(๑) การพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
(๒) การพิจารณาความดีความชอบและการเลื่อนเงินเดือนประจําปี
(๓) การพิจารณาให้ค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานนอกเหนือจากเงินเดือน
หรือให้รางวัลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบุคคล
(๔) การพิจารณาแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งที่สูงขึ้น หรือความก้าวหน้าในตําแหน่งหน้าที่
(๕) การพิจารณาต่อหรือขยายอายุสัญญาการปฏิบัติงาน
หมวด ๑๓
การพัฒนาผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
ข้อ ๔๗ หน้าที่ในการพัฒนาบุคลากร
ผู้บังคับบัญชาต้องจัดให้พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ
และต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีความรู้ความสามารถ สมรรถนะ ทักษะ และทัศนคติ
ที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน ตลอดจนมีศักยภาพที่จะก้าวหน้าในตําแหน่งหน้าที่
ข้อ ๔๘ ประเภทของการพัฒนาบุคลากร
มหาวิทยาลัยอาจให้มีการดําเนินการเพื่อพัฒนาพนักงานมหาวิทยาลัยได้ดังนี้
(๑) การไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน
(๒) การไปปฏิบัติงานวิจัย
(๓) การไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ
(๔) การไปปฏิบัติงานบริการทางวิชาการ
(๕) การแลกเปลี่ยนอาจารย์หรือนักวิชาการ
(๖) การไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ
(๗) การไปปฏิบัติงานอื่นใดที่จําเป็นและเหมาะสมเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาพนักงานมหาวิทยาลัย
หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาพนักงานมหาวิทยาลัย การได้รับเงินเดือน ได้รับเงินเดือน
บางส่วน หรือไม่ได้รับเงินเดือนในระหว่างการพัฒนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอ
ของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๔
วันเวลาปฏิบัติงาน วันหยุด วันลา
ข้อ ๔๙ การกําหนดวันเวลาปฏิบัติงานและวันหยุด
วันเวลาปฏิบัติงาน วันหยุดประจําสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดตามประเพณี
หรือวันหยุดอื่น ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนดสําหรับข้าราชการโดยอนุโลม
อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคล อาจกําหนดวันเวลาปฏิบัติงานสําหรับ พนักงานมหาวิทยาลัยตําแหน่งหนึ่งตําแหน่งใด หรือที่สังกัดในส่วนงานหนึ่งส่วนงานใด ให้ต่างจากวันเวลา ปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่งเป็นการเฉพาะตําแหน่งหรือส่วนงานนั้นก็ได้โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ในกรณีที่มีเหตุผลความจําเป็น อธิการบดีอาจประกาศกําหนดให้มีวันหยุดเพิ่มเติมนอกเหนือ
จากวันหยุดตามปกติตามวรรคหนึ่งก็ได้
ข้อ ๕๐ ประเภทของการลา
ให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิลาในประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ลาป่วย
(๒) ลาคลอดบุตร
(๓) ลาเพื่อดูแลบุตร และภรรยาหลังคลอดบุตร
(๔) ลากิจส่วนตัว
(๕) ลาพักผ่อนประจําปี
(๖) ลาอุปสมบทหรือลาเพื่อประกอบพิธีฮัจย์
(๗) ลาไปปฏิบัติธรรมตามมติคณะรัฐมนตรี
(๘) ลาเข้ารับการตรวจเลือก หรือเข้ารับการเตรียมพล
(๙) ลาติดตามคู่สมรส
(๑๐) การลาเพื่อการพัฒนาพนักงานมหาวิทยาลัยตามข้อ ๔๘
(๑๑) ลาประเภทอื่นที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนด
โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
จํานวนวันลา หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และการพิจารณาการลาแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศ
มหาวิทยาลัย
หลักเกณฑ์และวิธีการให้ได้รับเงินเดือน ได้รับเงินเดือนบางส่วน หรือไม่ได้รับเงินเดือน ในระหว่างลาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนด
โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๕
วินัยและการดำเนินการทางวินัย
ข้อ ๕๑ ข้อกําหนดทางวินัย
วินัย โทษทางวินัย และการดําเนินการทางวินัยของพนักงานมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตาม
ข้อบังคับมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๖
การอุทธรณ์และการร้องทุกข์
ข้อ ๕๒ ข้อกําหนดในการอุทธรณ์และการร้องทุกข์
การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ของพนักงานมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๗
การออกจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ข้อ ๕๓ ประเภทของการออกทั่วไป
พนักงานมหาวิทยาลัย ออกจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ลาออกโดยความเห็นชอบของอธิการบดีตามนโยบายลดขนาดกําลังคน
(๔) ถูกสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย
(๕) ถูกสั่งให้ออกเพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามข้อ ๔๕
(๖) ถูกสั่งให้ออกตามข้อ ๕๕
(๗) สิ้นสุดสัญญาการปฏิบัติงาน หรือสัญญาจ้างและไม่ได้รับการต่อสัญญา
(๘) ครบเกษียณอายุงาน
ข้อ ๕๔ ข้อกําหนดเกี่ยวกับการออก
วิธีการลาออก การอนุญาตการลาออก และการยับยั้งการลาออก ให้เป็นไปตามที่อธิการบดี
โดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๕๕ การให้ออกกรณีพิเศษ
พนักงานมหาวิทยาลัยผู้ใดมีกรณีดังต่อไปนี้ ให้อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
บริหารมหาวิทยาลัยสั่งให้ออกจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
(๑) เจ็บป่วยจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ของตนได้โดยสม่ำเสมอ
(๒) ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๑๑ (ก) (๑) (๓) หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๑๑ (ข) (๑) (๒) (๗) (๙) และ (๑๐)
(๓) หย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติงานตามหน้าที่
(๔) บกพร่องในหน้าที่ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตําแหน่งหน้าที่
(๕) มีการเลิกหรือยุบเลิกส่วนงานหรือตําแหน่งที่พนักงานมหาวิทยาลัยผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่
หรือดํารงอยู่
(๖) ไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผลในระดับอันเป็นที่พอใจ (๗) ถูกจําคุกในความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๘) ถูกสอบสวนว่ากระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรงแต่ผลการสอบสวนไม่อาจลงโทษทางวินัย
อย่างร้ายแรงได้ แต่หากให้ปฏิบัติงานอยู่ต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง
การสั่งให้ออกจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
และวิธีการที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๘
การเกษียณอายุงานและการต่ออายุงาน
ข้อ ๕๖ หลักเกณฑ์การเกษียณอายุ
ให้พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้วออกจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ด้วยเหตุเกษียณอายุงาน เมื่อสิ้นปีงบประมาณของปีที่อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์
ข้อ ๕๗ หลักเกณฑ์การต่ออายุงาน
คณะกรรมการบริหารบุคคลอาจพิจารณาอนุมัติให้พนักงานมหาวิทยาลัยที่ต้องเกษียณ
อายุงานได้รับการต่ออายุงานต่อไปก็ได้
การต่ออายุงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอ
ของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๑๙
ค่าชดเชย
ข้อ ๕๘ ค่าชดเชยเพื่อการออกจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
พนักงานมหาวิทยาลัยที่ต้องออกจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามข้อ ๕๕ (๑) (๓) (๕) และ (๖) มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามหลักเกณฑ์ อัตรา และเงื่อนไขที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบ
ของคณะกรรมการบริหารบุคคลกําหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๕๙ การกําหนดตําแหน่งและมาตรฐานกําหนดตําแหน่ง
ในระหว่างที่ยังไม่ได้กําหนดตําแหน่ง และมาตรฐานกําหนดตําแหน่งของพนักงาน
มหาวิทยาลัย ให้ผู้ที่เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยคงดํารงตําแหน่งตามชื่อตําแหน่งเดิม
และปฏิบัติหน้าที่ตามตําแหน่งเดิมต่อไป จนกว่าจะได้มีการกําหนดมาตรฐานของตําแหน่งและให้ได้รับเงินเดือน
ตามประกาศของมหาวิทยาลัย
สําหรับเงินประจําตําแหน่ง เงินค่าตอบแทน หรือเงินอื่นใดที่ได้รับอยู่ก่อนเปลี่ยนสถานภาพ
เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ยังคงให้ได้รับเงินดังกล่าวในเงื่อนไขและอัตราเดิมต่อไปจนกว่าจะได้มีการกําหนด
เป็นอย่างอื่น
ข้อ ๖๐ การนับระยะเวลาการปฏิบัติงาน
ระยะเวลาการปฏิบัติงานของข้าราชการที่เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ให้เริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่บรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ข้อ ๖๑ การนับวันลา การสะสมวันลา
การนับวันลา การสะสมวันลาของพนักงานมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการ
รวมทั้งพนักงานมหาวิทยาลัยที่ปรับเปลี่ยนสถานภาพมาจากพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งจ้างจากเงินอุดหนุน และพนักงานมหาวิทยาลัยของส่วนงานที่เปลี่ยนมาจากพนักงานเงินรายได้ ให้นับต่อเนื่องจากสิทธิการลาเดิม
ก่อนเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานมหาวิทยาลัยของส่วนงานแล้วแต่กรณี
ข้อ ๖๒ สถานภาพและเงินเดือน
ให้พนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามข้อบังคับนี้ และให้ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนในอัตราเงินเดือน
และค่าตอบแทนที่มีอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับไปจนกว่าสภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอ
ของคณะกรรมการบริหารบุคคลมีมติให้เปลี่ยนแปลงอัตราเงินเดือนนั้น
ข้อ ๖๓ การเปลี่ยนพนักงานเงินรายได้เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
ส่วนงานใดประสงค์ปรับเปลี่ยนพนักงานเงินรายได้ไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของส่วนงาน ให้ส่วนงานจัดทำแผนอัตรากำลัง และทำการประเมินพนักงานรายได้เป็นรายบุคคล ทั้งนี้ การกำหนดจำนวนตำแหน่งในแต่ละประเภท ให้ขึ้นอยู่กับปริมาณงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ ความจำเป็น
และตามความเหมาะสมสอดคล้องกับงบประมาณแต่ละส่วนงาน
การจัดทำแผนอัตรากำลัง หลักเกณฑ์วิธีการประเมิน เพื่อปรับเปลี่ยนพนักงานเงินรายได้มาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของส่วนงาน ให้เป็นไปตามที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ประกาศ ณ วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย
[๑] ข้อ ๕ (๖) แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐
[๒] ข้อ ๕ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
[๓] ข้อ ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๓
[๔] ข้อ ๑๕ (ข) แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๗
[๕] ข้อ ๑๕/๑ เพิ่มโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๓
[๖] ข้อ ๑๕/๒ เพิ่มโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๓
[๗] ข้อ ๑๕/๓ เพิ่มโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๓
[๘] ข้อ ๑๕/๓ วรรคสาม เพิ่มโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๗
[๙] ข้อ ๓๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐