ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
พ.ศ. ๒๕๖๑
……………………………………………..
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และ การพ้นจากตำแหน่งของประธานและกรรมการ ตลอดจนการประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) และ (๘) และมาตรา ๒๙ วรรคสอง
แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ และโดยมติสภามหาวิทยาลัย ในการประชุม
ครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. ๒๕๖๑”
ข้อ ๒ ข้อบังคับฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้อธิการบดีรักษาการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๔ ให้ยกเลิก
(๑) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. ๒๕๕๙
(๒) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙
ข้อ ๕ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สภามหาวิทยาลัย หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ” หมายความว่า คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
หมวด ๑
องค์ประกอบ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง
ข้อ ๖ ให้สภามหาวิทยาลัยโดยข้อเสนอของอธิการบดี แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ประกอบด้วย
(๑) ประธานกรรมการจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์
(๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นบุคคลที่มิใช่บุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยคัดสรรจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการที่ ก.พ.อ. กำหนด จำนวน
ไม่น้อยกว่าห้าคน
กรรมการตามวรรคหนึ่งต้องมาจากสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ อย่างน้อยสาขาวิชาละหนึ่งคน และให้มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
อีกไม่เกินหนึ่งคน
(๓) ให้รองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
และให้มีผู้ช่วยเลขานุการได้อีกไม่เกินสองคน
ข้อ ๗ ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ
สองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว ประธานกรรมการและกรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติของการเป็นกรรมการ
(๔) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๕) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๖) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
ในกรณีประธานกรรมการหรือกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ และได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการแทนแล้ว ให้ผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน
ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานหรือกรรมการที่ว่าง ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
หมวด ๒
การประชุม และวิธีดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
ข้อ ๘ การประชุมของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) การประชุมคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการต้องมีกรรมการมาประชุม
ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม
(๒) ให้ประธานกรรมการเป็นประธานที่ประชุม หากประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการซึ่งที่ประชุมเลือก เป็นประธานที่ประชุมแทน
(๓) การลงมติของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการให้ถือเสียงข้างมาก ของที่ประชุม
ในกรณีการลงมติได้คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมมีอำนาจชี้ขาด
(๔) ในการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการในระเบียบวาระ เพื่อพิจารณาในเรื่องใด หากไม่มีกรรมการแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ทักท้วง ประธานที่ประชุมอาจสรุปการประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องนั้นว่าที่ประชุมพิจารณาแล้วมีความเห็นอย่างไรและมีมติอย่างไร ในการนี้
ให้ถือว่าการสรุปของประธานที่ประชุมนั้นเป็นมติของที่ประชุม
(๕) การลงมติในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการให้ลงมติแบบลับ
เว้นแต่ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้เปิดเผย
หมวด ๓
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
ข้อ ๙ ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณากลั่นกรองการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการหรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง ทางวิชาการ และเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๒) พิจารณาการขอทบทวนผลการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
(๓) พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
(๔) ให้ข้อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย เพื่อออกประกาศหรือคำสั่งมหาวิทยาลัย
(๕) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับ
การพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการมอบหมาย
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๑๐ ในระหว่างที่สภามหาวิทยาลัยยังมิได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่ง
ทางวิชาการซึ่งทำหน้าที่อยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ยังคงทำหน้าที่คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่ง
ทางวิชาการตามข้อบังคับนี้ต่อไปจนกว่าสภามหาวิทยาลัยจะแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่ง
ทางวิชาการตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย