ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์พิเศษ พ.ศ. ๒๕๖๔
……………………………………………….
โดยที่เป็นการสมควรให้มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ หลักเกณฑ์
และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์พิเศษ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) และมาตรา ๗๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ เมื่อวันที่
๒๕ มกราคม ๒๕๖๔ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์
และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์พิเศษ พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะ” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย และให้หมายความรวมถึงสถาบันที่จัดการศึกษา
หลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือบัณฑิตศึกษาด้วย
“คณบดี” หมายความรวมถึง ผู้อํานวยการสถาบัน หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น
ที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือระดับบัณฑิตศึกษาด้วย
“คณะกรรมการประจําคณะ” หมายความรวมถึง คณะกรรมการประจําสถาบันหรือส่วนงาน
ที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือระดับบัณฑิตศึกษาด้วย
“คณะกรรมการพิจารณาตําแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาตําแหน่ง ทางวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้และให้มีอำนาจออกประกาศของมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
คุณสมบัติ
ข้อ ๕ ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงาน ผลการสอน และผลงานทางวิชาการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) มีระยะเวลาการปฏิบัติงาน อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
(๑.๑) มีระยะเวลาการปฏิบัติงานในตําแหน่งรองศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยมาแล้ว
ไม่น้อยกว่า ๒ ปี
(๑.๒) มีระยะเวลาการปฏิบัติงานในตําแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี
(๑.๓) มีระยะเวลาการปฏิบัติงานในตําแหน่งอาจารย์พิเศษหรือในฐานะผู้บรรยายพิเศษ
ที่คณะรับรองมาแล้ว ดังนี้
(๑.๓.๑) ไม่ต่ำกว่า ๓ ปี สําหรับผู้ที่สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า
(๑.๓.๒) ไม่ต่ำกว่า ๕ ปี สําหรับผู้ที่สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่า
(๑.๓.๓) ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี สําหรับผู้ที่สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๒) มีชั่วโมงสอนประจํารายวิชาที่กําหนดไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและต้องผ่านเกณฑ์
การประเมินผลการสอนในระดับดีเด่นหรือเชี่ยวชาญตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการสอน
ที่คณะกําหนด
(๓) มีผลงานทางวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันและไม่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา
เพื่อรับปริญญา หรือประกาศนียบัตร ดังนี้
(๓.๑) ผลงานวิจัย ที่มีคุณภาพดีมาก หรือ
(๓.๒) ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นที่มีคุณภาพดีมาก หรือ
(๓.๓) ผลงานวิชาการรับใช้สังคมที่มีคุณภาพดีมาก หรือ
(๓.๔) ผลงานแต่งหรือเรียบเรียงตํารา หรือหนังสือที่มีคุณภาพดีมาก
ข้อ ๖ อาจารย์พิเศษที่เคยเป็นคณาจารย์ประจําของมหาวิทยาลัยตําแหน่งรองศาสตราจารย์
อาจนําระยะเวลาการปฏิบัติงานในตําแหน่งรองศาสตราจารย์มานับเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงานตาม
ข้อ ๕ รรคหนึ่ง (๑) (๑.๑) ก็ได้
อาจารย์พิเศษที่เคยเป็นคณาจารย์ประจําของมหาวิทยาลัยตําแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
อาจนําระยะเวลาการปฏิบัติงานในตําแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์มานับเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงาน
ตามข้อ ๕ วรรคหนึ่ง (๑) (๑.๒) ก็ได้
อาจารย์พิเศษที่เคยเป็นคณาจารย์ประจําของมหาวิทยาลัยตําแหน่งอาจารย์อาจนําระยะเวลา
การปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยมานับเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงานตามข้อ ๕ วรรคหนึ่ง (๑) (๑.๓) ก็ได้
ข้อ ๗ คําจํากัดความ รูปแบบ การเผยแพร่ และลักษณะคุณภาพผลงานทางวิชาการหรือผลงานตามข้อ ๕ (๓) ที่จะใช้ขอตําแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคําจํากัดความ รูปแบบ การเผยแพร่ ลักษณะคุณภาพผลงานทางวิชาการ
และลักษณะการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการโดยอนุโลม
ข้อ ๘ ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งตําแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ ต้องไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจริยธรรม
และจรรยาบรรณทางวิชาการ
จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการมีดังต่อไปนี้
(๑) มีความซื่อสัตย์ทางวิชาการ โดยต้องไม่กระทําการดังต่อไปนี้
(๑.๑) ไม่นําผลงานทางวิชาการของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตน
(๑.๒) ไม่ลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่น
(๑.๓) ต้องไม่นําผลงานทางวิชาการของตนเองในเรื่องเดียวกันไปเผยแพร่ในวารสารวิชาการมากกว่าหนึ่งฉบับ รวมถึงไม่คัดลอกข้อความใด ๆ จากผลงานเดิมของตนโดยไม่อ้างอิงผลงานเดิม
ตามหลักวิชาการอันจะทําให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผลงานใหม่
(๒) ต้องแสดงหลักฐานของการค้นคว้าโดยอ้างถึงหรืออ้างอิงถึงบุคคลและแหล่งที่มาของข้อมูล
ที่นํามาใช้ในผลงานทางวิชาการของตนเอง
(๓) ต้องไม่มุ่งถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิส่วนบุคคล
ของผู้อื่น
(๔) ต้องจัดทําผลงานทางวิชาการโดยใช้หลักวิชาการเป็นเกณฑ์และเสนอผลงานตามความเป็นจริง ปราศจากอคติ ไม่จงใจเบี่ยงเบนผลการศึกษาหรือวิจัยโดยมุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตัว หรือจงใจก่อให้เกิด
ความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือไม่ขยายข้อค้นพบโดยไม่ได้ตรวจสอบยืนยันในทางวิชาการ
(๕) ต้องนําผลงานไปใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง ชอบธรรม และชอบด้วยกฎหมาย
(๖) ต้องแสดงการได้รับอนุญาตหรือต้องปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของการวิจัยในคนหรือสัตว์เฉพาะในกรณีการทําผลงานทางวิชาการที่เป็นการทําวิจัยในคนหรือสัตว์
หมวด ๒
หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้ง
ข้อ ๙ ให้คณะเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๕ ต่อคณะกรรมการพิจารณาตําแหน่งทางวิชาการ
ตามแบบเสนอแต่งตั้งบุคคลให้ดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ พร้อมด้วยผลงานทางวิชาการ
ข้อ ๑๐ ให้คณะกรรมการพิจารณาตําแหน่งทางวิชาการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
เพื่อทําหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการ และจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
(๑) กรรมการพิจารณาตําแหน่งทางวิชาการในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับการเสนอชื่อคนหนึ่งเป็นประธาน
(๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องหรือสาขาวิชาใกล้เคียง
กับผู้ได้รับการเสนอชื่อ จํานวนสามคน
(๓) รองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีซึ่งรับผิดชอบงานด้านพิจารณาแต่งตั้งตําแหน่งทางวิชาการเป็นเลขานุการ
ให้นําหลักเกณฑ์การพิจารณา วิธีการดําเนินงาน และการประชุมของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตําแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจําซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย มาใช้กับการพิจารณาแต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษโดยอนุโลม
ข้อ ๑๑ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาตําแหน่งทางวิชาการพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามข้อ ๑๐ แล้ว ให้นําเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อมีมติอนุมัติการแต่งตั้งตําแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ ต่อไป
เมื่อสภามหาวิทยาลัยมีมติอนุมัติการแต่งตั้งตําแหน่งศาสตราจารย์พิเศษแล้ว ให้ดําเนินการเพื่อให้มีการนําความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
หมวด ๓
หลักเกณฑ์และวิธีการถอดถอน
ข้อ ๑๒ หากปรากฏภายหลังจากการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งว่า ผู้ดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์พิเศษผู้ใดได้จัดทําผลงานทางวิชาการที่นําเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งทางวิชาการ
โดยมีการประพฤติผิดจริยธรรมหรือจรรยาบรรณทางวิชาการ ให้สภามหาวิทยาลัยดําเนินการพิจารณาเพื่อมีมติถอดถอนตําแหน่งศาสตราจารย์พิเศษของผู้นั้น
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๑๓ การพิจารณาตําแหน่งทางวิชาการของศาสตราจารย์พิเศษที่ยังดําเนินการไม่แล้วเสร็จ
ในขณะที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้คงดําเนินการต่อไปตามข้อบังคับที่ใช้อยู่เดิมจนกว่าจะแล้วเสร็จ
ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย