ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอน
อาจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และรองศาสตราจารย์พิเศษ พ.ศ. ๒๕๖๔
………..……………………………………..
โดยที่เป็นการสมควรให้มีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนอาจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และรองศาสตราจารย์พิเศษ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) และมาตรา ๗๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ ๔/๒๕๖๔ เมื่อวันที่
๒๖ เมษายน ๒๕๖๔ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนอาจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และรองศาสตราจารย์พิเศษ
พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ข้อบังคับฉบับนี้ให้ใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“คณะ” หมายความว่า คณะ วิทยาลัย และให้หมายความรวมถึงสถาบันที่จัดการศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือบัณฑิตศึกษาด้วย
“คณะบดี” หมายความร่วมถึง ผู้อำนวยการสถาบัน หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือระดับบัณฑิตศึกษาด้วย
“คณะกรรมการประจำคณะ” หมายความรวมถึง คณะกรรมการประจำสถาบันหรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือระดับบัณฑิตศึกษาด้วย
“คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อ ๔ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้และให้มีอำนาจออกประกาศ ของมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
อาจารย์พิเศษ
ข้อ ๕ อาจารย์พิเศษให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมิได้เป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ ความชำนาญ หรือความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาหรือรายวิชาที่จะได้รับมอบหมายให้ทำการสอน
ให้คณบดีโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำคณะพิจารณาเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นอาจารย์พิเศษ
อธิการบดีอาจมอบอำนาจแต่งตั้งอาจารย์พิเศษให้เป็นอำนาจของคณบดีก็ได้
หมวด ๒
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ
ข้อ ๖ ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงาน
ผลการสอน และผลงานทางวิชาการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) มีระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์พิเศษหรือในฐานะผู้บรรยายพิเศษ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี
(๒) มีชั่วโมงสอนประจำรายวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและต้องผ่านเกณฑ์การประเมินผลการสอนไม่ต่ำกว่าระดับดีหรือชำนาญตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการสอน ที่คณะกำหนด
(๓) มีผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นที่มีคุณภาพดี และแสดงถึงความเชี่ยวชาญ ที่เป็นที่ประจักษ์
อาจารย์พิเศษที่เคยเป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์อาจนำระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์มานับเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง (๑) ก็ได้
หมวด ๓
รองศาสตราจารย์พิเศษ
ข้อ ๗ ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์พิเศษต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงาน
ผลการสอน และผลงานทางวิชาการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) มีระยะเวลาการปฏิบัติงาน อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
(๑.๑) มีระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี
(๑.๒) มีระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยหรือในฐานะผู้บรรยายพิเศษที่คณะรับรองมาแล้วเป็นเวลา ดังนี้
(๑.๒.๑) ไม่ต่ำกว่า ๓ ปี สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า
(๑.๒.๒) ไม่ต่ำกว่า ๖ ปี สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่า
(๑.๒.๓) ไม่ต่ำกว่า ๘ ปี สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๒) มีชั่วโมงสอนประจำรายวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและต้องผ่านเกณฑ์การประเมินผลการสอนไม่ต่ำกว่าระดับดีมากหรือชำนาญพิเศษตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการสอน ที่คณะกำหนด
(๓) มีผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นที่มีคุณภาพดี และแสดงถึงความเชี่ยวชาญ ที่เป็นที่ประจักษ์
อาจารย์พิเศษที่เคยเป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
อาจนำระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์มานับเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงานตาม
วรรคหนึ่ง (๑) (๑.๑) ก็ได้
อาจารย์พิเศษที่เคยเป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์อาจนำระยะเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์มานับเป็นระยะเวลาการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง (๑) (๑.๒) ก็ได้
ผลงานทางวิชาการตาม (๓) ต้องไม่เป็นผลงานที่ถูกใช้ในการขอตำแหน่งทางวิชาการมาแล้ว
หมวด ๔
ผลงานทางวิชาการ
ข้อ ๘ คำจำกัดความ รูปแบบ การเผยแพร่ และคุณลักษณะคุณภาพผลงานทางวิชาการ ที่จะใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการตามข้อบังคับนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคำจำกัดความ รูปแบบ การเผยแพร่ ลักษณะคุณภาพผลงานทางวิชาการ และลักษณะการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการโดยอนุโลม
หมวด ๕
จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ
ข้อ ๙ ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการตามข้อบังคับนี้ ต้องไม่เป็นผู้ประพฤติ
ผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ และต้องไม่เป็นผู้ประพฤติผิดตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยจรรยาบรรณของบุคลากรและอาจารย์
จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการมีดังต่อไปนี้
(๑) มีความซื่อสัตย์ทางวิชาการ โดยต้องไม่กระทำการดังต่อไปนี้
(๑.๑) ไม่นำผลงานทางวิชาการของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตน
(๑.๒) ไม่ลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่น
(๑.๓) ต้องไม่นำผลงานทางวิชาการของตนเองในเรื่องเดียวกันไปเผยแพร่ ในวารสารวิชาการมากกว่าหนึ่งฉบับ
(๒) ต้องแสดงหลักฐานของการค้นคว้าโดยอ้างถึงหรืออ้างอิงถึงบุคคลและแหล่งที่มา ของข้อมูลที่นำมาใช้ในผลงานทางวิชาการของตนเอง
(๓) ต้องไม่มุ่งถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น
(๔) ต้องจัดทำผลงานทางวิชาการโดยใช้หลักวิชาการเป็นเกณฑ์และเสนอผลงาน ตามความเป็นจริง ปราศจากอคติ ไม่จงใจเบี่ยงเบนผลการศึกษาหรือวิจัยโดยมุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตัว หรือจงใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือไม่ขยายข้อค้นพบโดยไม่ได้ตรวจสอบยืนยันในทางวิชาการ
(๕) ต้องนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง ชอบธรรม และชอบด้วยกฎหมาย
(๖) ต้องแสดงการได้รับอนุญาตหรือต้องปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของการวิจัยในคนหรือสัตว์ เฉพาะกรณีการทำผลงานทางวิชาการที่เป็นการทำวิจัยในคนหรือสัตว์
หมวด ๖
การดำเนินการแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์พิเศษ
ข้อ ๑๐ เมื่อคณะเห็นสมควรแต่งตั้งตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และรองศาสตราจารย์พิเศษให้แก่ผู้ใด ให้คณะดำเนินการตรวจสอบระยะเวลาการปฏิบัติงาน ผลการสอน และผลงานทางวิชาการ ของผู้นั้น หากเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้คณะดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย
(๑) คณบดี เป็นประธาน
(๒) กรรมการที่แต่งตั้งจากกรรมการประจำคณะประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนสามคน
(๓) รองคณบดีที่รับผิดชอบงานด้านวิชาการ เป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบระยะเวลาการปฏิบัติงาน ภาระงานสอน
ผลการสอน ผลงานทางวิชาการ และจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้ที่จะเสนอแต่งตั้ง และพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาประเมินผลงานทางวิชาการ และจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
ให้นำจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย มาใช้กับการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์พิเศษตามข้อบังคับนี้ด้วย
ข้อ ๑๑ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ หรือ
รองศาสตราจารย์พิเศษให้มีองค์ประกอบเช่นเดียวกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการแต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แล้วแต่กรณี
ให้นำหลักเกณฑ์การพิจารณา วิธีการดำเนินงาน และการประชุมของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและ ถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย มาใช้กับการพิจารณาแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษและรองศาสตราจารย์พิเศษ โดยอนุโลม
ข้อ ๑๒ เมื่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามข้อ ๑๑ พิจารณาประเมินผลงานทางวิชาการ และจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการแล้ว ให้แจ้งผลการประเมินต่อคณะกรรมการตามข้อ ๑๐
เพื่อพิจารณาเสนอคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการตรวจสอบและรายงานสภามหาวิทยาลัย
เพื่อมีมติอนุมัติการแต่งตั้งตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์พิเศษ หรือศาสตราจารย์พิเศษ ต่อไป
ข้อ ๑๓ การแต่งตั้งตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษและรองศาสตราจารย์พิเศษ
ให้ทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๗
การถอดถอน
ข้อ ๑๔ หากปรากฏภายหลังจากการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์พิเศษผู้ใดได้จัดทำผลงานทางวิชาการที่นำเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการโดยมีการประพฤติผิดจริยธรรมหรือจรรยาบรรณทางวิชาการ ให้ถอดถอนผู้นั้นจากตำแหน่ง
ทางวิชาการที่ได้แต่งตั้งโดยใช้ผลงานทางวิชาการที่มีการประพฤติผิดนั้น
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๑๕ การพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์พิเศษที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ในขณะที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้คงดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับที่ใช้อยู่เดิมจนกว่าจะแล้วเสร็จ
ประกาศ ณ วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย