ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยสำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๑
………………………………………………….
โดยที่เป็นการสมควรมีข้อบังคับว่าด้วยสำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๓ (๒) (๖) และ (๑๒)
แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ อธิการบดีโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย
ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๑ จึงออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
หมวด ๑ ข้อความทั่วไป
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยสํานักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๑”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยสํานักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๙
ข้อ ๔ บรรดา ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคําสั่งใดของมหาวิทยาลัยที่ได้กําหนดไว้แล้วในข้อบังคับนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน
ข้อ ๕ ในข้อบังคับนี้
“ทรัพย์สิน” หมายความว่า ทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค ทั้งที่เป็นที่ราชพัสดุซึ่งมหาวิทยาลัยปกครองดูแลใช้ประโยชน์ และที่เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย และให้หมายความรวมถึงวัสดุและครุภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยที่ใช้อยู่ใน หรือบนทรัพย์สินนั้น
“สํานักงาน” หมายความว่า สํานักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสํานักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา
“ผู้อํานวยการ” หมายความว่า ผู้อํานวยการสํานักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา
ข้อ ๖ ให้อธิการบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอํานาจออกประกาศมหาวิทยาลัย
โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ เพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ได้
ในกรณีที่มีปัญหาการตีความเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ ให้อธิการบดีเป็นผู้วินิจฉัย
หมวด ๒ สํานักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา
ข้อ ๗ ให้จัดตั้งสํานักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีฐานะเป็น หน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่มิใช่ส่วนราชการ ทําหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการทรัพย์สินและกีฬาของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๘ ให้สํานักงานเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินและกีฬาของมหาวิทยาลัย ดังต่อไปนี้
(๑) ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่เป็นอาคารและสิ่งปลูกสร้างและที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ ภายหลังการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ ๑๓ ตามมติคณะรัฐมนตรี
(๒) ทรัพย์สินอื่นที่อธิการบดีมอบหมาย
ข้อ ๙ การบริหารจัดการทรัพย์สินและกีฬา จะต้องคํานึงถึงการตอบสนองวัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยและงานอื่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก่อน และต้องคํานึงถึงชื่อเสียง เกียรติคุณ ผลประโยชน์โดยส่วนรวมของมหาวิทยาลัย ตลอดจนการจัดหารายได้ที่พอเพียงสําหรับการบริหาร จัดการทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ทั้งที่อยู่และไม่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสํานักงานในระยะยาวอีกด้วย
ข้อ ๑๐ ให้สํานักงานจัดให้มีทะเบียนทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการของสํานักงาน
ซึ่งแสดงภาพที่ตั้งและลักษณะตลอดจนรายละเอียดอื่นตามสมควรของทรัพย์สินดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๑๑ ในการบริหารจัดการทรัพย์สิน สํานักงานอาจหาประโยชน์โดยการให้เช่า ให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง ให้อาศัย หรือให้สิทธิอย่างอื่นในทํานองเดียวกันโดยมีค่าตอบแทนได้
ให้ผู้อํานวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอํานาจกําหนดค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่ใช้เพื่อการพาณิชย์หรือเพื่อให้บริการแก่บุคคลหรือหน่วยงานอื่นเฉพาะการใช้ประโยชน์
หรือการเช่าซึ่งมีระยะเวลาคราวหนึ่งไม่เกินกว่า ๓ ปี ในกรณีที่มีระยะเวลาเกินกว่า ๓ ปี ให้เสนอต่ออธิการบดี
การกําหนดค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่ใช้เพื่อเป็นสวัสดิการที่พักอาศัย
หรือสวัสดิการอื่นสําหรับบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ให้เป็นอํานาจของคณะกรรมการ
การขายทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง จะกระทํามิได้
หมวด ๓ คณะกรรมการ
ข้อ ๑๒ ให้มีคณะกรรมการสํานักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา ประกอบด้วยประธานคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน ๑๓ คน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนของประชาคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีผู้อํานวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ข้อ ๑๓ ให้อธิการบดีเป็นผู้มีอํานาจแต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อ ๑๒ โดยจะแต่งตั้งบุคคลภายนอกเป็นกรรมการด้วยก็ได้
ข้อ ๑๔ ให้คณะกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบ ควบคุม และกํากับดูแลการดําเนินงานของสํานักงานให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ ในการนี้ให้คณะกรรมการมีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กําหนดนโยบายของสํานักงาน โดยให้สอดคล้องกับแนวนโยบายและวัตถุประสงค์
ในการบริหารจัดการทรัพย์สินและการบริหารกิจกรรมกีฬาของมหาวิทยาลัย
(๒) วางระเบียบและออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สิน วิธีการ งบประมาณ การเงิน การบัญชี การพัสดุ และการบริหารงานบุคคล หรือการดําเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพย์สิน และการบริหารสํานักงาน
(๓) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับวิธีการจัดการทรัพย์สิน การกําหนดหลักเกณฑ์การจัดหา ผลประโยชน์
(๔) การกําหนดอัตราค่าตอบแทนที่จะได้รับจากการจัดการทรัพย์สินตามข้อ ๑๑
(๕) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการดําเนินงาน และงบประมาณประจําปีของสํานักงาน
เพื่อนําเสนอสภามหาวิทยาลัยอนุมัติ
(๖) เสนอความเห็นต่ออธิการบดีในการแต่งตั้ง ถอดถอน และการกําหนดค่าตอบแทน
ของผู้อํานวยการ
(๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทํางาน หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดเพื่อปฏิบัติงาน
ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
(๘) จัดทํารายงานผลการดําเนินงาน และรายงานฐานะทางการเงินประจําปี
ของสํานักงาน เพื่อนําเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
(๙) ดําเนินการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสํานักงาน
ข้อ ๑๕ ให้คณะกรรมการมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้ง
อีกก็ได้
ข้อ ๑๖ ให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทํางาน หรือบุคคลที่คณะกรรมการแต่งตั้ง
ให้ปฏิบัติงานให้แก่สํานักงาน มีสิทธิได้ค่าตอบแทน เบี้ยประชุม หรือประโยชน์ตอบแทนอื่นใดตามที่อธิการบดีกําหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการโดยทําเป็นประกาศของมหาวิทยาลัย
หมวด ๔ บุคลากร
ข้อ ๑๗ ให้มีผู้อํานวยการสํานักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬาคนหนึ่ง เป็นผู้รับผิดชอบ
ในการบริหารงานสํานักงาน
ข้อ ๑๘ ให้ผู้อํานวยการมีอํานาจหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาพนักงานของสํานักงาน
รวมทั้งจัดการบริหารงานของสํานักงานให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ และตามนโยบายและคําสั่งของคณะกรรมการ
ข้อ ๑๙ ให้อธิการบดีเป็นผู้ลงนามในสัญญาว่าจ้างบุคคลที่มีคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถ
และสามารถปฏิบัติงานเต็มเวลาให้แก่สํานักงานเป็นผู้อํานวยการ โดยมีกําหนดเวลาจ้างคราวละไม่เกิน ๔ ปี
ข้อ ๒๐ ผู้อํานวยการ และพนักงานของสํานักงาน มีฐานะเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัย
ที่ปฏิบัติงานให้แก่สํานักงาน
พนักงานของสํานักงาน ประกอบด้วย
(๑) พนักงานบริหาร หมายถึง พนักงานซึ่งมีอํานาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารนโยบายและวัตถุประสงค์ของสํานักงาน ได้แก่ รองผู้อํานวยการ ผู้จัดการ หัวหน้าฝ่าย หรือตําแหน่งอื่นตามที่กําหนด
(๒) พนักงานปฏิบัติการ หมายถึง พนักงานซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติ
ตามคําสั่งของพนักงานบริหาร เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของสํานักงาน
(๓) พนักงานบริการ หมายถึง พนักงานซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานบริหารและพนักงานปฏิบัติการ การจ้างพนักงานบริการ ให้กําหนดระยะเวลาจ้าง
คราวละไม่เกิน ๑ ปี และให้ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง หรือตามงานที่ทํา
ผู้อํานวยการและพนักงานของสํานักงานจะมีสิทธิ หน้าที่ และค่าตอบแทน หรือสวัสดิการอย่างใด ให้เป็นไปตามที่กําหนดในข้อบังคับว่าด้วยการบริหารบุคคล
ข้อ ๒๑ หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา การบรรจุ การแต่งตั้งพนักงานของสํานักงาน
ให้เป็นไปตามที่ผู้อํานวยการกําหนด
ข้อ ๒๒ หลักเกณฑ์การลา การสอบสวน การรักษาวินัย การออกจากงานของผู้อํานวยการ
และพนักงานของสํานักงาน ให้เป็นไปตามที่ข้อบังคับที่อธิการบดีกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ข้อ ๒๓ ให้สํานักงานดําเนินการให้ผู้อํานวยการ และพนักงานของสํานักงานเป็นผู้ประกันตน
ในฐานะพนักงานของสํานักงานตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
ข้อ ๒๔ เพื่อประโยชน์แก่การบริหารงานของสํานักงาน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
อาจจัดให้มีกองทุนสํารองเลี้ยงชีพของพนักงาน หรือจัดให้มีการประกันอุบัติเหตุ หรือการประกันชีวิต
หรือจัดให้มีสวัสดิการอื่น ๆ แก่พนักงานของสํานักงานก็ได้
หมวด ๕ งบประมาณและการเงิน
ข้อ ๒๕ ปีงบประมาณของสํานักงานให้ใช้ตามปีงบประมาณรายจ่ายจากรายได้ของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๖ ให้สํานักงานจัดทํางบประมาณประจําปีเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
ก่อนเริ่มต้นปีงบประมาณโดยให้แยกเป็นงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่าย สําหรับงบประมาณรายจ่ายให้แยกออกเป็นงบดําเนินการและงบลงทุน ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณางบประมาณประจําปี
ไม่ทัน ให้ใช้งบประมาณรายจ่ายของปีที่ผ่านมาไปพลางก่อน โดยให้ใช้เฉพาะในส่วนของงบดําเนินการเท่านั้น
เมื่อคณะกรรมการให้ความเห็นชอบงบประมาณประจําปีแล้ว ให้เสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติ
ข้อ ๒๗ งบดําเนินการของสํานักงาน ได้แก่ งบประมาณที่จัดไว้สําหรับการจัดจ้างบุคลากร
ของสํานักงานการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับวัสดุ หรือการซ่อมแซมบํารุงรักษาทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการของสํานักงาน การจ่ายค่าตอบแทน สวัสดิการ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สําหรับการบริหารงานโดยปกติ
ของสํานักงาน
งบลงทุนของสํานักงาน ได้แก่ งบประมาณที่จัดไว้สําหรับการลงทุน ซื้อ จัดหา สร้าง ดัดแปลง ปรับปรุง หรือพัฒนาทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการของสํานักงาน
ข้อ ๒๘ การจัดทํางบประมาณของสํานักงานให้จําแนกหมวดและรายการงบประมาณ
ตามที่คณะกรรมการกําหนด กําหนดระยะเวลาการเสนองบประมาณต่อคณะกรรมการ วิธีการพิจารณา
และรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทํางบประมาณ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกําหนด
ข้อ ๒๙ สํานักงานอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
(๑) รายได้จากการจัดการทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการของสํานักงาน
(๒) รายได้หรือผลประโยชน์จากการลงทุน
(๓) เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นซึ่งมีผู้มอบให้
(๔) เงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัย
(๕) รายได้หรือผลประโยชน์อื่น
ให้สํานักงานเก็บรายได้ไว้ใช้จ่ายได้ตามข้อบังคับนี้ และไม่ต้องนําส่งเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย ตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๓๐ สํานักงานอาจมีรายจ่ายดังต่อไปนี้
(๑) รายจ่ายเพื่อการดําเนินงานของสํานักงาน
(๒) รายจ่ายเพื่อการลงทุนของสํานักงาน
(๓) เงินนําส่งเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยในจํานวนหรืออัตราตามที่อธิการบดีกําหนด
ข้อ ๓๑ ให้สํานักงานจัดทําใบเสร็จรับเงินของสํานักงานไว้เป็นหลักฐานการรับเงิน
โดยมอบ ต้นฉบับให้แก่ผู้ชําระเงิน และมีสําเนาเก็บไว้กับต้นขั้ว โดยจะต้องมีทะเบียนใบเสร็จรับเงิน
และหลักฐานการเบิกใบเสร็จรับเงินไว้เพื่อการตรวจสอบด้วย
ข้อ ๓๒ บรรดาเงินที่สํานักงานได้รับให้นําฝากสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จํากัด หรือธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการในวันนั้น หรืออย่างช้าในวันทําการถัดไป
ทั้งนี้จะหักไว้ใช้จ่ายเพื่อการใดก่อนนําฝากมิได้
ข้อ ๓๓ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานสํานักงาน ให้สํานักงานเก็บรักษาเงินสดไว้ทดรองจ่ายได้ตามจํานวนที่คณะกรรมการกําหนด
ข้อ ๓๔ ให้ประธานคณะกรรมการ หรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมาย เป็นผู้มีอํานาจอนุมัติ
ก่อหนี้ผูกพัน และอนุมัติการจ่ายเงินของสํานักงาน ภายในวงเงินงบประมาณประจําปีที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติ
ข้อ ๓๕ การจ่ายเงินของสํานักงานทุกรายการให้จ่ายเป็นเช็คหรือโอนผ่านธนาคาร เว้นแต่
ในกรณีที่มีความจําเป็นต้องจ่ายเป็นเงินสดหรือเป็นการจ่ายจากเงินทดรองจ่าย การเขียนเช็คสั่งจ่าย
ให้จ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมระบุชื่อผู้รับเงิน และขีดฆ่าคําว่า “หรือตามคําสั่ง” หรือ “หรือผู้ถือ” ออก
ข้อ ๓๖ ให้คณะกรรมการเป็นผู้กําหนดตัวบุคคลผู้มีอํานาจลงลายมือชื่อในเช็คสั่งจ่ายเงิน
ของสํานักงานตามความเหมาะสม โดยคํานึงถึงความคล่องตัวในการบริหารงาน และขอบเขตความรับผิดชอบของผู้มี อํานาจลงนามประกอบกัน
หมวด ๖ บัญชีและตรวจสอบ
ข้อ ๓๗ ให้สํานักงานจัดให้มีบุคลากรผู้รับผิดชอบทางบัญชีแยกต่างหากจากบุคลากร
ทางด้านงบประมาณ และการเงิน
ข้อ ๓๘ ให้สํานักงานจัดทําบัญชีเกี่ยวกับทรัพย์สิน และการจัดประโยชน์ในทรัพย์สินของสํานักงาน ตามมาตรฐานทางการบัญชีที่รับรองทั่วไป เพื่อแสดงฐานะการเงิน และผลการดําเนินงานของสํานักงาน
ให้เป็นปัจจุบัน
ข้อ ๓๙ ให้สํานักงานจัดให้มีการตรวจสอบการดําเนินกิจการและการเงินของสํานักงาน
ให้ผู้ตรวจสอบตามวรรคหนึ่งจัดทํารายงานผลการตรวจสอบเสนอต่อคณะกรรมการ
ตามรอบระยะเวลาที่คณะกรรมการเห็นสมควร
ข้อ ๔๐ ให้สํานักงานปิดบัญชี และจัดทํางบการเงินประจําปี ส่งให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
ที่คณะกรรมการแต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของอธิการบดี ภายใน ๖๐ วัน นับจากวันสิ้นปีงบประมาณ
ให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและทํารายงานการสอบบัญชีเสนอคณะกรรมการ ภายใน ๑๒๐ วัน
นับจากวันสิ้นปีงบประมาณ
หมวด ๗ การบริหารสํานักงาน
ข้อ ๔๑ ให้แบ่งส่วนงานภายในออกเป็นฝ่ายหรือศูนย์ มีผู้จัดการเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของฝ่ายหรือศูนย์
ฝ่ายหรือศูนย์ที่ไม่มีผู้จัดการเป็นผู้บังคับบัญชา ให้ผู้อํานวยการแต่งตั้งให้รองผู้อํานวยการ
หรือผู้จัดการคนหนึ่งคนใดเป็นผู้รักษาการแทนผู้จัดการฝ่ายนั้นก็ได้ หรือจะมอบหมายให้บุคคลใด
เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของฝ่ายหรือศูนย์โดยไม่แต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนผู้จัดการฝ่าย
ก็ให้สามารถทําได้เช่นกัน
ในฝ่ายหรือศูนย์อาจแบ่งออกเป็นแผนก มีหัวหน้าแผนกเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงาน
ของแผนก ทั้งนี้ ไม่ถือว่าหัวหน้าแผนกเป็นพนักงานระดับบริหารของสํานักงาน
ให้จัดกลุ่มฝ่ายหรือศูนย์ที่มีขอบเขตความรับผิดชอบเกี่ยวเนื่องหรือคล้ายคลึงกันรวมเป็นสายงาน
มีรองผู้อํานวยการเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสายงาน
สายงานที่ไม่มีรองผู้อํานวยการเป็นผู้บังคับบัญชา ให้ผู้อํานวยการเป็นผู้บังคับบัญชาสายงานนั้นโดยตรง หรือผู้อํานวยการอาจมอบหมายให้รองผู้อํานวยการหรือผู้จัดการคนหนึ่งคนใดเป็นผู้บังคับบัญชา
และรับผิดชอบงานของสายงานนั้นทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้
การแต่งตั้งหรือโอนย้ายพนักงานภายในสํานักงานทุกตําแหน่ง ให้เป็นอํานาจของผู้อํานวยการ
ข้อ ๔๒ ให้ผู้อํานวยการเป็นผู้บังคับบัญชา ควบคุม ดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานของสํานักงาน และเป็นผู้พิจารณาอนุญาต อนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบต่าง ๆ เกี่ยวกับพนักงานของสํานักงาน
เว้นแต่คณะกรรมการจะได้กําหนดเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๔๓ ให้ประธานคณะกรรมการ หรือกรรมการที่คณะกรรมการมอบหมายเป็นผู้มีอํานาจ
สั่งการ อนุญาต อนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบต่าง ๆ เกี่ยวกับบุคคลผู้ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการ
ข้อ ๔๔ ให้ผู้อํานวยการเป็นผู้มีอํานาจในการลงนามในเอกสารสัญญา หรือการทําความตกลง
ใด ๆ ที่เป็นการดําเนินงานภายในขอบเขตอํานาจหน้าที่ของสํานักงาน และที่ได้รับอนุมัติก่อหนี้ผูกพันแล้ว
ในกรณีที่สํานักงานเป็นผู้เสนอราคาหรือผู้รับจ้าง ให้ผู้อํานวยการเป็นผู้มีอํานาจลงนามในเอกสาร ใบเสนอราคา สัญญา ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงใด ๆ ด้วย
ข้อ ๔๕ ให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณากําหนดหลักเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพ
การปฏิบัติงานของผู้อํานวยการ เพื่อนําผลการประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานนั้นมาประกอบการพิจารณาต่ออายุการจ้าง การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ พิจารณาการปรับค่าจ้าง หรือดําเนินการอื่นใดแล้วแต่กรณี
ข้อ ๔๖ ให้ผู้อํานวยการเป็นผู้ประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของพนักงาน เพื่อพิจารณา
การปรับค่าจ้างประจําปี การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ การต่ออายุการจ้าง หรือดําเนินการอื่นใดในด้านการบริหารบุคคล แล้วแต่กรณี
หมวด ๘ การควบคุม
ข้อ ๔๗ ให้สํานักงานเสนอแผนการดําเนินงานและงบประมาณประจําปีของสํานักงานที่ได้รับ ความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้ว ต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ ภายใน ๑๕ วัน นับจากวันที่ คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
ข้อ ๔๘ ให้สํานักงานจัดทํารายงานการเงินซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้วเสนอต่อ
สภามหาวิทยาลัย ภายใน ๑๕๐ วัน นับจากวันสิ้นปีงบประมาณ
ข้อ ๔๙ สภามหาวิทยาลัย หรืออธิการบดีอาจสั่งให้สํานักงานชี้แจงการดําเนินงานในเรื่องหนึ่ง
เรื่องใด หรือให้รายงานผลการดําเนินงานสําหรับการจัดการทรัพย์สินในกรณีหนึ่งกรณีใดก็ได้
ในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย หรืออธิการบดี อาจสั่งให้สํานักงานดําเนินการ หรือระงับการดําเนินการใด ๆ ตามที่เห็นสมควรได้
หมวด ๙ บทเฉพาะกาล
ข้อ ๕๐ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ สัญญา หรือข้อตกลงใด ของสํานักงานบริหาร ทรัพย์สินและกีฬา สํานักงานจัดการทรัพย์สิน และศูนย์บริการการกีฬา ที่ยังมีผลบังคับใช้หรือมีผลผูกพัน
อยู่ในวันที่ข้อบังคับนี้มีผลบังคับใช้ ให้คงมีผลต่อไปจนกว่าสิ้นสุดระยะเวลาตามที่กําหนดไว้ หรือจนกว่าจะมี
การเปลี่ยนแปลง
ประกาศ ณ วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
(รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี