ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๓
…………………………………………………
โดยที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๒๘ กำหนดให้
การประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) และมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๔ และโดยมติสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๓
เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ สภามหาวิทยาลัยจึงเห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการประชุมและ
วิธีดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๓”
ข้อ ๒[๑] ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย
“ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย
“เลขานุการคณะกรรมการ” หมายความว่า เลขานุการคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย
ข้อ ๔ ในการดำเนินการประชุมคณะกรรมการ ให้ประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ควบคุมและดำเนินการประชุมคณะกรรมการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและ
มีประสิทธิภาพ
(๒) ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะบุคคล หรือบุคคล
เพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการบริหารมอบหมาย
ข้อ ๕ ก่อนการประชุมคณะกรรมการ ประธานกรรมการอาจมอบหมายรองอธิการบดีคนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมได้
ในการประชุมคณะกรรมการ หากประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
ให้คณะกรรมการแต่งตั้งรองอธิการบดีคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม
ข้อ ๖ ให้เลขานุการคณะกรรมการดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดังต่อไปนี้
(๑) จัดระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการเสนอต่ออธิการบดี
(๒) นัดประชุมคณะกรรมการตามปฏิทินการประชุมคณะกรรมการ
______________________
[๑] ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
(๓) สนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ประธานกรรมการ ในการดูแลควบคุมการประชุม คณะกรรมการให้เป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย
(๔) จัดทำรายงานการประชุมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการในระเบียบวาระรับรองรายงาน
การประชุม และดำเนินการแก้ไขรายงานการประชุมตามความเห็นของที่ประชุม ในกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติให้แก้ไขรายงานการประชุม
(๕) แจ้งมติหรือความเห็นของที่ประชุมให้อธิการบดี หัวหน้าส่วนงาน หรือผู้ที่จะต้องปฏิบัติ ตามมติหรือความเห็นของคณะกรรมการนั้นได้ทราบและปฏิบัติให้เป็นไปตามมติหรือความเห็นนั้น รวมทั้งให้ รายงานผลการปฏิบัติการนั้นให้คณะกรรมการทราบด้วย
(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ประธานกรรมการและคณะกรรมการมอบหมาย
ข้อ ๗ ผู้มีสิทธิ์เสนอเรื่องเข้าระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการ ได้แก่
(๑) ประธานกรรมการ
(๒) กรรมการ
(๓) หัวหน้าส่วนงานในมหาวิทยาลัย
ข้อ ๘ การเสนอเรื่องเข้าระเบียบวาระการประชุม ให้ทำเป็นหนังสือเสนออธิการบดีเพื่อ พิจารณาสั่งการให้บรรจุเข้าระเบียบวาระของการประชุมคณะกรรมการ ภายในห้าวันทำการก่อนการประชุม เว้นแต่กรณีจำเป็นเร่งด่วนอาจแจ้งน้อยกว่าห้าวันทำการก็ได้ โดยต้องได้รับอนุมัติจากประธานกรรมการก่อน
ข้อ ๙ ให้ประธานกรรมการเรียกประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยเดือนละสองครั้ง แต่หาก เห็นว่าในกรณีที่ไม่มีเรื่องที่จะบรรจุเข้าเป็นระเบียบวาระการประชุม หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความไม่สะดวก ในการประชุมและไม่มีเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องประชุม ประธานกรรมการอาจสั่งให้งดการประชุมก็ได้
การเรียกประชุมคณะกรรมการ ต้องแจ้งให้กรรมการทุกคนได้ทราบก่อนวันประชุม
ไม่น้อยกว่าสามวัน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็น อาจแจ้งน้อยกว่าสามวันก็ได้
ข้อ ๑๐ ให้เลขานุการคณะกรรมการออกหนังสือแจ้งกำหนดเวลาและสถานที่ประชุมพร้อม กับจัดส่งระเบียบวาระการประชุม และเอกสารประกอบการประชุมให้กรรมการทุกคนทราบก่อนการประชุม โดยทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และระบบการประชุมไร้กระดาษ
ในกรณีที่เป็นเรื่องลับ หรือมีเหตุผลความจำเป็น หรือเป็นกรณีเร่งด่วน ประธานกรรมการอาจ สั่งให้บรรจุระเบียบวาระการประชุมเพิ่มเติมในขณะที่มีการประชุมแล้ว ในกรณีนี้ให้แจ้งระเบียบวาระนั้น
และจัดส่งเอกสารประกอบการประชุมให้ที่ประชุมทราบก่อนการพิจารณาระเบียบวาระนั้นก็ได้
ข้อ ๑๑ ในการประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน คณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มี จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมคณะกรรมการทุกครั้ง ให้เลขานุการคณะกรรมการจัดให้กรรมการและผู้เข้าร่วม การประชุมทุกคนลงลายมือชื่อเข้าร่วมการประชุมเก็บไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๑๒ ในการประชุมคณะกรรมการ กรรมการที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีสภาพอันอาจ ทำให้การพิจารณาของคณะกรรมการในเรื่องใดไม่เป็นกลาง กรรมการผู้นั้นไม่สามารถประชุมเพื่อพิจารณาใน ระเบียบวาระเรื่องนั้นได้
ในกรณีที่กรรมการคนใดเห็นว่า ตนมีกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งประธานกรรมการทราบ และ ออกจากการประชุมในระเบียบวาระเรื่องนั้น
ในกรณีที่มีคู่กรณีหรือกรรมการคนใดทักท้วงในการประชุม หรือแจ้งเป็นหนังสือต่อประธาน กรรมการก่อนการประชุมว่า กรรมการคนหนึ่งคนใดมีกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาว่า กรรมการผู้ที่ถูกทักท้วงนั้นมีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือไม่ หากพบว่ามีกรณีตามที่ถูกทักท้วงจริง ให้กรรมการผู้นั้น ออกจากการประชุมในระเบียบวาระเรื่องนั้น
ข้อ ๑๓ ในการประชุมคณะกรรมการ ประธานกรรมการต้องเปิดโอกาสให้กรรมการทุกคนได้ แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระและทั่วถึง
ในการแสดงความเห็นของกรรมการต้องกระชับ อยู่ในประเด็น ใช้ถ้อยคำสุภาพ และ
ต้องคำนึงถึงมารยาทของการประชุม
ข้อ ๑๔ การลงมติของคณะกรรมการ นอกจากจะมีกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศ ของมหาวิทยาลัยกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การลงมติของคณะกรรมการ ให้ถือเสียงข้างมากของผู้เข้าร่วมประชุม
ในกรณีการลงมติได้คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานกรรมการมีอำนาจชี้ขาด
การลงมติในการประชุมคณะกรรมการ ให้กระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่ที่ประชุมพิจารณาแล้ว
มีมติให้ลงมติแบบลับ
การลงมติแบบลับ ให้กระทำการโดยใช้วิธีการที่เหมาะสมตามสมควรและเพียงพอ
แก่การทำให้การลงความเห็นของกรรมการแต่ละคนเป็นความลับเฉพาะตัวผู้ออกเสียงเท่านั้น
ข้อ ๑๕ ในการพิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใด หากไม่มีกรรมการแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่น หรือไม่ทักท้วง ประธานกรรมการอาจสรุปการประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องนั้นว่า ที่ประชุมพิจารณาแล้ว
มีความเห็นอย่างไรและมีมติอย่างไร ในการนี้ให้ถือว่าการสรุปของประธานกรรมการนั้นเป็นมติของที่ประชุม
ข้อ ๑๖ รายงานการประชุมคณะกรรมการ ให้เป็นไปตามรูปแบบที่เลขานุการคณะกรรมการ โดยความเห็นชอบของประธานกรรมการกำหนด
ข้อ ๑๗ ในการพิจารณารับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการ กรรมการจะขอแก้ไข รายงานการประชุมให้มีข้อความที่ถูกต้องตามความเป็นจริงและเหมาะสมก็ได้ แต่การจะแก้ไขรายงาน
การ ประชุมตามที่กรรมการผู้นั้นเสนอหรือไม่ ให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการ
ในการพิจารณารายงานการประชุม หากมีกรรมการเสนอให้มีการแก้ไขรายงานการประชุมใน ส่วนใดแล้ว แต่ที่ประชุมไม่เห็นชอบด้วย กรรมการที่เสนอขอแก้ไขรายงานการประชุมนั้น อาจขอให้บันทึก ความเห็นของตนไว้เป็นหลักฐานก็ได้
การขอให้แก้ไขรายงานการประชุมในส่วนที่เป็นมติและเหตุผลของมติที่ประชุม
ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่การขอให้แก้ไขถ้อยคำให้ถูกต้องตามมติที่ประชุม
ข้อ ๑๘ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศ หรือคำสั่ง เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย