ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยสภาอาจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๓
—————————————-
โดยที่สมควรกําหนดจํานวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการเลือก วาระการดํารงตําแหน่ง
และการพ้นจากตําแหน่งของประธานและกรรมการ ตลอดจนการประชุมและวิธีดําเนินงานของสภาอาจารย์
ตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๓ และมาตรา ๓๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ และโดยมติสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๓
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยสภาอาจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๓”
ข้อ ๒ ข้อบังคับฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยสภาอาจารย์ พ.ศ. ๒๕๕๙
ข้อ ๔ ในบังคับนี้
“ พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานเงินรายได้ที่เป็นคณาจารย์ประจําของมหาวิทยาลัย และพนักงานมหาวิทยาลัย
สายวิชาการ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
“ส่วนงาน” หมายความว่า ส่วนงานของมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่จัดการศึกษาซึ่งมีคณาจารย์ประจําของมหาวิทยาลัยสังกัดอยู่
“ผู้ดํารงตําแหน่งบริหารมหาวิทยาลัยหรือส่วนงาน” หมายความว่า อธิการบดี รองอธิการบดี
ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี ผู้อํานวยการส่วนงาน รองผู้อํานวยการส่วนงาน
ผู้ช่วยผู้อํานวยการส่วนงาน หัวหน้าภาควิชา รองหัวหน้าภาควิชา หรือตําแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า
“คณะกรรมการดําเนินการเลือกตั้ง” หมายความว่า คณะกรรมการดําเนินการเลือกตั้ง
สภาอาจารย์
ข้อ ๕ ให้อธิการบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอํานาจออกประกาศกําหนดวิธีการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
อํานาจหน้าที่
ข้อ ๖ ให้สภาอาจารย์มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอแนะและให้คําปรึกษาแก่สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีในการบริหารกิจการทั้งปวงของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องต่อไปนี้
(ก) นโยบายและมาตรฐานทางวิชาการของมหาวิทยาลัย
(ข) มาตรฐานทางจริยธรรม สวัสดิภาพและสวัสดิการ
(ค) นโยบายและแผนพัฒนามหาวิทยาลัย
(๒) ส่งเสริมจริยธรรมของพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
(๓) ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
และระหว่างพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการด้วยกัน
(๔) ส่งเสริมการพัฒนาพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
(๕) ดําเนินการเพื่อให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง
และเป็นธรรมจากมหาวิทยาลัย ส่วนงาน หรือผู้บังคับบัญชา
(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย
หมวด ๒
องค์ประกอบ คุณสมบัติ และวาระ
ข้อ ๗ ให้สภาอาจารย์ประกอบด้วยกรรมการสองประเภท ได้แก่
(๑) กรรมการสภาอาจารย์ประเภทผู้แทนส่วนงานส่วนงานละหนึ่งคน
(๒) กรรมการสภาอาจารย์ประเภททั่วไปจํานวนหนึ่งในสามของจํานวนกรรมการสภาอาจารย์ประเภทผู้แทนส่วนงาน หรือจำนวนใกล้ที่สุดของหนึ่งในสาม
ข้อ ๘ กรรมการสภาอาจารย์ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้ดํารงตําแหน่งบริหารมหาวิทยาลัย หรือส่วนงาน
(๒) เป็นผู้อยู่ระหว่างได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย หรือปฏิบัติการ
หรือปฏิบัติงานในส่วนราชการ หน่วยงาน หรือองค์กรอื่น เป็นเวลาตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป
(๓) เป็นผู้ต้องถูกดําเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง
โดยมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง หรือคณะกรรมการสอบสวนทางจรรยาบรรณ
อย่างร้ายแรงตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยของพนักงานมหาวิทยาลัย หรือข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณของพนักงานมหาวิทยาลัย แล้วแต่กรณี และยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของมหาวิทยาลัย
ข้อ ๙ กรรมการสภาอาจารย์มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละสองปี
กรรมการสภาอาจารย์ที่มาจากการเลือกตั้งแทนตําแหน่งที่ว่างลง ให้มีวาระการดํารงตําแหน่งเท่ากับวาระการดํารงตําแหน่งของผู้ซึ่งตนแทน
ข้อ ๑๐ นอกจากการพ้นตําแหน่งตามวาระ กรรมการสภาอาจารย์พ้นจากตําแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) พ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
(๔) มีลักษณะต้องห้ามของการเป็นกรรมการสภาอาจารย์ ตามข้อ ๘
(๕) กรรมการสภาอาจารย์ประเภทผู้แทนส่วนงานโอนย้ายไปอยู่ในสังกัดส่วนงานอื่น เว้นแต่กรณี
การโอนย้ายให้ไปช่วยปฏิบัติงานในส่วนงานอื่น หรือหน่วยงานอื่นเป็นระยะเวลาไม่เกิน ๖ เดือน
(๖) สภาอาจารย์มีมติให้พ้นจากตําแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม
ของจํานวนกรรมการสภาอาจารย์ที่มีอยู่ เนื่องจากกระทําการอันนํามาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตําแหน่งกรรมการสภาอาจารย์ หรือแก่กิจการของสภาอาจารย์ หรือแก่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย
(๗) ขาดประชุมสามครั้งติดต่อกันโดยไม่แจ้งเหตุผลอันสมควรเป็นลายลักษณ์อักษร
ให้ประธานสภาอาจารย์ทราบก่อนการประชุม หรือภายในสิบห้าวันนับแต่วันประชุม
(๘) ยุบเลิกส่วนงานที่ตนสังกัดอยู่ในเวลาที่ได้รับเลือกตั้ง
หมวด ๓
การเลือกตั้ง
ข้อ ๑๑ การเลือกตั้งกรรมการสภาอาจารย์ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้
ในข้อบังคับนี้ และตามประกาศของคณะกรรมการดําเนินการเลือกตั้ง
ข้อ ๑๒ ให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการในส่วนงานมีสิทธิเลือกตั้งกรรมการสภาอาจารย์ ประเภทผู้แทนส่วนงานของส่วนงานที่ตนสังกัด
ให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการของมหาวิทยาลัยทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งกรรมการสภาอาจารย์ประเภททั่วไป
ข้อ ๑๓ ให้คณาจารย์ประจําของมหาวิทยาลัยในส่วนงานมีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง
เป็นกรรมการสภาอาจารย์ประเภทผู้แทนส่วนงานของส่วนงานที่ตนสังกัด
ให้คณาจารย์ประจําของมหาวิทยาลัยมีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการสภาอาจารย์ประเภททั่วไป
คณาจารย์ประจําของมหาวิทยาลัยมีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการสภาอาจารย์
ได้เพียงประเภทเดียว
ข้อ ๑๔ ก่อนกรรมการสภาอาจารย์พ้นวาระการดํารงตําแหน่งไม่น้อยกว่า ๑๒๐ วัน ให้อธิการบดีแต่งตั้งคณะกรรมการดําเนินการเลือกตั้ง ประกอบด้วย
(๑) รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้อํานวยการกองหรือหัวหน้างานของส่วนงานที่รับผิดชอบงานด้านการเจ้าหน้าที่
เป็นกรรมการ
(๓) ผู้อํานวยการกองหรือหัวหน้างานของส่วนที่รับผิดชอบด้านกฎหมาย เป็นกรรมการ
(๔) ผู้อํานวยการกองหรือหัวหน้างานของส่วนงานที่รับผิดชอบด้านอาคารสถานที่
ของมหาวิทยาลัยทุกศูนย์ เป็นกรรมการ
(๕) หัวหน้างานหรือตําแหน่งอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของสภาอาจารย์คนหนึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ และอาจแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการจากผู้ปฏิบัติงาน
ในมหาวิทยาลัยอีกไม่เกิน ๒ คนก็ได้
ข้อ ๑๕ ให้คณะกรรมการดําเนินการเลือกตั้งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรม และให้มีอํานาจหน้าที่ดังนี้
(๑) พิจารณากําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกําหนดการที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการเลือกตั้ง
โดยออกเป็นประกาศคณะกรรมการดําเนินการเลือกตั้ง
(๒) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
(๓) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประจําหน่วยเลือกตั้ง หรือคณะอนุกรรมการอื่น
เพื่อทําหน้าที่ช่วยเหลือคณะกรรมการในการจัดการเลือกตั้ง
(๔) ดําเนินการรับสมัครรับเลือกตั้ง ตรวจสอบคุณสมบัติ และออกประกาศรายชื่อ
ผู้สมัครรับเลือกตั้ง พร้อมหมายเลขประจําตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง
(๕) ควบคุม และดําเนินการเลือกตั้ง
(๖) ตรวจนับคะแนนการเลือกตั้ง
(๗) รายงานผลการเลือกตั้งต่ออธิการบดีเพื่อออกเป็นประกาศให้ผู้ได้รับการเลือกตั้ง
เป็นกรรมการสภาอาจารย์
(๘) จัดการเลือกตั้งเพิ่มเติม
ข้อ ๑๖ ให้คณะกรรมการดําเนินการเลือกตั้งจัดการเลือกตั้งกรรมการสภาอาจารย์
ทั้งสองประเภท ให้แล้วเสร็จก่อนวาระการดํารงตําแหน่งของกรรมการสภาอาจารย์เดิมจะสิ้นสุดลง
ไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน
ข้อ ๑๗ ในกรณีที่ยังได้ผู้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการสภาอาจารย์ไม่ครบจํานวน
ให้คณะกรรมการดําเนินการเลือกตั้งจัดการเลือกตั้งกรรมการสภาอาจารย์เพิ่มเติมภายใน ๖๐ วัน
นับแต่วันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรก
ให้นําหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งที่กําหนดไว้ในหมวดนี้มาใช้กับการเลือกตั้งเพิ่มเติม
ตามวรรคหนึ่ง โดยอนุโลม
ข้อ ๑๘ ในกรณีที่ผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการสภาอาจารย์
ได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเท่ากัน ให้คณะกรรมการดําเนินการเลือกตั้งจัดให้ผู้ที่ได้คะแนนเสียงเท่ากันนั้น
จับสลากตัดสิน
ข้อ ๑๙ เมื่อกรรมการสภาอาจารย์พ้นจากตําแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตําแหน่ง
ตามวาระ ให้จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการสภาอาจารย์แทนตําแหน่งที่ว่างภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้นั้น
พ้นจากตําแหน่ง เว้นแต่วาระของผู้ที่พ้นจากตําแหน่งเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยยี่สิบวันจะไม่จัดการเลือกตั้ง
แทนตําแหน่งที่ว่างก็ได้ และให้สภาอาจารย์ประกอบด้วย ประธานสภาอาจารย์และกรรมการสภาอาจารย์เท่าที่มี
ให้นําหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งที่กําหนดไว้ในหมวดนี้มาใช้กับการเลือกตั้ง
แทนตามวรรคหนึ่ง โดยอนุโลม
ข้อ ๒๐ ในกรณีมีปัญหากับการจัดการเลือกตั้งตามข้อบังคับนี้ ให้อธิการบดีโดยข้อเสนอ
ของคณะกรรมการดําเนินการเลือกตั้งเป็นผู้มีอํานาจวินิจฉัยสั่งการให้ปฏิบัติตามจารีตประเพณี
ของการเลือกตั้งทั่วไปในระบอบประชาธิปไตย
หมวด ๔
การประชุมและการดําเนินงาน
ข้อ ๒๑ ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่มีประกาศให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง หรือผู้ตอบรับการเสนอชื่อเป็นกรรมการสภาอาจารย์ครบทุกประเภท และมีจํานวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจํานวนกรรมการสภาอาจารย์
ทั้งหมดแล้ว ให้อธิการบดีเรียกประชุมสภาอาจารย์ครั้งแรก
ในการประชุมสภาอาจารย์ตามวรรคหนึ่ง ให้สภาอาจารย์ประกอบด้วยกรรมการสภาอาจารย์
เท่าที่มีอยู่
ในการประชุมสภาอาจารย์ครั้งแรก ให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมาย
เป็นประธานที่ประชุม และให้มีอํานาจหน้าที่ควบคุมดูแลและจัดให้ที่ประชุมสภาอาจารย์ดําเนินการตามข้อ ๒๑
จนเมื่อที่ประชุมสภาอาจารย์ได้ดําเนินการตามข้อ ๒๑ แล้ว ให้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภาอาจารย์
เป็นประธานที่ประชุมในการประชุมตามระเบียบวาระการประชุมเหลืออยู่ต่อไป
ข้อ ๒๒ ในการประชุมสภาอาจารย์ครั้งแรก ให้สภาอาจารย์เลือกกรรมการสภาอาจารย์
ให้ปฏิบัติหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ประธานสภาอาจารย์
(๒) รองประธานสภาอาจารย์ คนที่ ๑
(๓) รองประธานสภาอาจารย์ คนที่ ๒
(๔) เลขานุการสภาอาจารย์
(๕) รองเลขานุการสภาอาจารย์
ประธานสภาอาจารย์ หรือรองประธานสภาอาจารย์ แล้วแต่กรณี จะดํารงตําแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
ข้อ ๒๓ ประธานสภาอาจารย์เป็นผู้แทนของสภาอาจารย์มีหน้าที่ควบคุม และดูแลการดําเนินงานของสภาอาจารย์ตามพันธกิจ วิสัยทัศน์ นโยบาย และแผนงานที่สภาอาจารย์กําหนด และปฏิบัติหน้าที่
ตามที่มีกําหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับมหาวิทยาลัย
ในกรณีที่ประธานอาจารย์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งประธานสภาอาจารย์
ให้รองประธานสภาอาจารย์คนที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่แทน หากประธานสภาอาจารย์และรองประธานสภาอาจารย์
คนที่ ๑ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาอาจารย์คนที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่แทน
ในกรณีที่ประธานสภาอาจารย์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ และไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามวรรคสอง
ให้กรรมการสภาอาจารย์ที่มีอายุงานในมหาวิทยาลัยมากที่สุดปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาอาจารย์
ข้อ ๒๔ อํานาจหน้าที่อื่นของรองประธานสภาอาจารย์ เลขานุการและรองเลขานุการสภาอาจารย์ ให้เป็นไปตามที่ประธานสภาอาจารย์มอบหมายและแจ้งให้สภาอาจารย์ทราบ
ข้อ ๒๕ นอกจากการประชุมสภาอาจารย์ครั้งแรกตามข้อบังคับนี้ให้ประธานสภาอาจารย์
เรียกประชุมสภาอาจารย์เพื่อพิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ของสภาอาจารย์เป็นประจํา
กรรมการสภาอาจารย์จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนกรรมการสภาอาจารย์ทั้งหมด
อาจเข้าชื่อกันขอให้ประธานสภาอาจารย์จัดให้มีการประชุมสภาอาจารย์เพื่อพิจารณาเรื่องที่อยู่ในอํานาจหน้าที่
ของสภาอาจารย์ก็ได้
การเรียกประชุมสภาอาจารย์ และการประชุมสภาอาจารย์ให้เป็นไปตามระเบียบการประชุม
ของสภาอาจารย์
ข้อ ๒๖ การประชุมสภาอาจารย์ต้องมีกรรมการสภาอาจารย์เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการสภาอาจารย์ทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
หากการประชุมครั้งใดมีกรรมการสภาอาจารย์เข้าร่วมประชุมไม่ครบเป็นองค์ประชุม
ตามวรรคหนึ่ง และมีเรื่องเร่งด่วนต้องพิจารณาและขอมติ ให้ประธานสภาอาจารย์หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน
จัดให้มีการประชุมใหม่ภายใน ๗ วัน ในการประชุมใหม่ต้องมีกรรมการสภาอาจารย์เข้าร่วมประชุม
ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนกรรมการสภาอาจารย์ทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ ๒๗ ในกรณีที่สภามหาวิทยาลัยบรรจุเรื่องที่มีผลกระทบต่อสถานะหรือสิทธิประโยชน์
ของพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ ให้ประธานสภาอาจารย์เรียกประชุมสภาอาจารย์เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวก่อนการประชุมสภามหาวิทยาลัย และให้ประธานสภาอาจารย์นําผลการประชุมของสภาอาจารย์ไปแจ้ง
แก่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อประกอบการพิจารณาในระเบียบวาระนั้น
การปฏิบัติตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการตัดสิทธิประธานสภาอาจารย์ในฐานะ
เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในการแสดงความคิดเห็นหรือลงมติ
ข้อ ๒๘ การดําเนินงานและการประชุมสภาอาจารย์นอกเหนือจากที่กําหนดไว้ในหมวดนี้
ให้เป็นไปตามระเบียบการประชุมของสภาอาจารย์
ข้อ ๒๙ สภาอาจารย์อาจเชิญหรือแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย หรือผู้ทรงคุณวุฒิ
ให้มาเข้าร่วมการประชุม หรือร่วมเป็นกรรมการ หรืออนุกรรมการ หรือมอบหมายให้ดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่อยู่ในอํานาจหน้าที่ของสภาอาจารย์ก็ได้
ข้อ ๓๐ สภาอาจารย์อาจร่วมกับสภาพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ
ของมหาวิทยาลัย จัดให้มีการประชุมร่วมหรือเข้าร่วมการประชุมเพื่อปรึกษาหารือหรือมีมติร่วมกัน
หรือร่วมกันทําข้อเสนอแนะ หรือให้คําปรึกษายื่นต่อสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
กับการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ของสภาอาจารย์ หรือสภาพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการก็ได้
สภาอาจารย์อาจร่วมกับสภาพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการทํากิจกรรม
ที่เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยก็ได้
หมวด ๕
สิทธิประโยชน์ของประธานสภาอาจารย์ และกรรมการสภาอาจารย์
ข้อ ๓๑ การปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาอาจารย์และกรรมการสภาอาจารย์ ถือเป็นภาระงาน
ของพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องนําไปประกอบการพิจารณาประเมินผล
การปฏิบัติงานเพื่อการดังต่อไปนี้
(๑) การพิจารณาต่อสัญญาปฏิบัติงาน
(๒) การเลื่อนหรือขึ้นเงินเดือนประจําปี
(๓) การพิจารณาให้ความดีความชอบหรือผลประโยชน์อื่นที่ผู้บังคับบัญชาพิจารณาให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาโดยอาศัยการประเมินผลการปฏิบัติงาน
ข้อ ๓๒ การปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ
ของประธานสภาอาจารย์และกรรมการสภาอาจารย์ย่อมได้รับการคุ้มครอง ผู้บังคับบัญชาจะลงโทษทางวินัย จรรยาบรรณ หรือกระทําการใด ๆ ในทางที่จะส่งผลกระทบเสียหายต่อสถานะหรือตําแหน่งหน้าที่
ของผู้นั้นโดยอาศัยเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นมิได้
หมวด ๖
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๓๓ ให้ประธานสภาอาจารย์และกรรมการสภาอาจารย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน
วันที่ข้อบังคับฉบับนี้มีผลใช้บังคับ คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยสภาอาจารย์ พ.ศ. ๒๕๕๙
ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)น
ายกสภามหาวิทยาลัย