ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
———————————————–
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยประมวลจริยธรรม
ของมหาวิทยาลัย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘
ประกอบมาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ และมาตรา ๖
แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ สภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๕
เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๕ ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๕”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๔ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๑๔ ให้คณะกรรมการธรรมาภิบาลและจริยธรรมมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการตรวจสอบกรณี
มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมในข้อบังคับนี้
หากมีความจำเป็นในกรณีการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการธรรมาภิบาลและจริยธรรม
อาจเสนอสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการแทนได้”
ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๕ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๑๕ การตรวจสอบโดยคณะกรรมการธรรมาภิบาลและจริยธรรม ตามข้อ ๑๔ ให้ดำเนินการ ดังนี้
(๑) กรณีตรวจสอบจริยธรรมสำหรับนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ให้ตรวจสอบและรายงานผลต่อสภามหาวิทยาลัย
(๒) กรณีตรวจสอบจริยธรรมสำหรับผู้บริหาร ให้ตรวจสอบและรายงานผลต่ออธิการบดี ในกรณีเป็น
การตรวจสอบอธิการบดี ให้รายงานผลต่อสภามหาวิทยาลัย
(๓) กรณีตรวจสอบจริยธรรมสำหรับผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย ให้ตรวจสอบและรายงานผลต่อผู้บังคับบัญชาของผู้ปฏิบัติงานนั้น
(๔) กรณีตรวจสอบจริยธรรมสำหรับนักศึกษา ให้ตรวจสอบและรายงานผลต่อคณบดีหรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณบดีที่นักศึกษาสังกัด
เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (๑) (๒) (๓) และ (๔) แล้วให้รายงานสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ
บุคคลใดละเมิดจริยธรรมตามข้อบังคับนี้ ให้คณะกรรมการธรรมาภิบาลและจริยธรรมเสนอต่อ
ผู้รับรายงานตามวรรคหนึ่ง (๑) (๒) (๓) และ (๔) เพื่อตักเตือน
กรณีการละเมิดจริยธรรมที่เป็นความผิดทางวินัยด้วย ให้คณะกรรมการธรรมาภิบาลและจริยธรรมเสนอเรื่องให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการทางวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวินัย หรือข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยวินัยนักศึกษาต่อไป
การละเมิดจริยธรรมของนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัย ให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
ข้อ ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๑๕/๑ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๓
“ข้อ ๑๕/๑ ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมธรรมาภิบาลและจริยธรรมที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑) อธิการบดี เป็นประธานกรรมการ
(๒) ประธานสภาอาจารย์ เป็นกรรมการ
(๓) ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจำนวนสองคน
ให้ผู้อำนวยการกองทรัพยากรมนุษย์เป็นเลขานุการ
ให้ผู้อำนวยการกองทรัพยากรมนุษย์มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กองทรัพยากรมนุษย์ไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ให้กรรมการตามวรรคหนึ่ง (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี”
ข้อ ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๑๕/๒ ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๓
“ข้อ ๑๕/๒ ให้คณะกรรมการส่งเสริมธรรมาภิบาลและจริยธรรมมีหน้าที่ส่งเสริมให้
นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย และนักศึกษา รับทราบ
รักษาและปฏิบัติตนตามจริยธรรมที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับนี้”
ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย