ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัย
ในสังกัดสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร พ.ศ. ๒๕๖๒
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคลที่เกี่ยวกับ การสรรหา การบรรจุ การแต่งตั้ง การทำสัญญาปฏิบัติงาน การทดลองปฏิบัติงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน การลา วันเวลาปฏิบัติงาน และวันหยุดของสถาบัน การพ้นจากการเป็นพนักงานสถาบัน และการจ่ายเงินชดเชย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๙ (๑) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘ และข้อ ๓๑ แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการบริหารสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร พ.ศ. ๒๕๖๒ อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๒ เห็นชอบให้ออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการ บริหารงานบุคคลพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร พ.ศ. ๒๕๖๒”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สถาบัน” หมายความว่า สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร
“หน่วยงาน” หมายความว่า หน่วยงานของสถาบัน
“คณะกรรมการอำนวยการ” หมายความว่า คณะกรรมการอำนวยการสถาบัน
“คณะกรรมการวิชาการ” หมายความว่า คณะกรรมการวิชาการของสถาบัน
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสถาบัน
“พนักงานสถาบัน” หมายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัดสถาบัน
“ศูนย์” หมายความว่า ศูนย์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการวิจัยหรือเพื่อการบริการวิชาการ
ข้อ ๔ ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้
หมวด ๑
หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา
ส่วนที่ ๑
การสรรหาพนักงานสถาบัน สายวิชาการ
ข้อ ๕ เมื่อหน่วยงานมีอัตราพนักงานสถาบัน สายวิชาการใหม่ และมีงบประมาณสำหรับบรรจุอัตราใหม่นั้นแล้ว หรือได้รับจัดสรรอัตราทดแทนอัตราว่างเพราะเหตุเกษียณอายุ หรือมีอัตราว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากเหตุเกษียณอายุ ให้หน่วยงานเจ้าของอัตราขออนุมัติต่อผู้อำนวยการเพื่อดำเนินการสรรหา ตามวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กำหนดไว้ในข้อ ๖
ข้อ ๖ การสรรหาพนักงานสถาบัน สายวิชาการ ให้ใช้วิธีการคัดเลือก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) วิธีคัดเลือกโดยการประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไป
(๒) วิธีคัดเลือกโดยเรียกผู้มีความรู้ความสามารถดีเด่นเฉพาะรายมาเข้ารับการคัดเลือก
ข้อ ๗ การคัดเลือกตามข้อ ๖ หน่วยงานต้องจัดให้มีการดำเนินการตามวิธีการอย่างน้อย ๒ วิธี ดังนี้
(๑) การสัมภาษณ์ทางวิชาการ
(๒) การทดสอบสอน
(๓) การนำเสนอผลงานทางวิชาการ
ข้อ ๘ ในกรณีที่ใช้วิธีการคัดเลือกโดยการประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไป ให้ออกประกาศสถาบันรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเป็นพนักงานสถาบัน สายวิชาการ
ประกาศรับสมัครตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีข้อความดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อตำแหน่งที่รับสมัคร
(๒) ภาควิชา สาขาวิชา หรือศูนย์ที่จะบรรจุ แต่งตั้ง และจ้าง
(๓) ลักษณะหรือเงื่อนไขการปฏิบัติงานที่สำคัญ
(๔) คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก
(๕) เอกสารหลักฐานที่ใช้ในการสมัคร
(๖) วันเวลาสถานที่รับสมัคร
(๗) วิธีการคัดเลือก
(๘) เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและเกณฑ์การตัดสิน
(๙) กำหนดการประกาศผลการคัดเลือก
(๑๐) เงื่อนไขการได้รับการบรรจุ แต่งตั้ง และการจ้าง
ข้อ ๙ วิธีคัดเลือกโดยเรียกผู้มีความรู้ความสามารถดีเด่นเฉพาะรายมาเข้ารับการคัดเลือก
ให้ดำเนินการโดยพิจารณาคัดเลือกจากผู้มีคุณสมบัติ คุณวุฒิ ผลการศึกษา ความรู้ความสามารถ ผลงานทางวิชาการ หรือประสบการณ์การทำงานที่ดีเด่น และให้ผู้อำนวยการเชิญให้เข้ามารับการคัดเลือก
หัวหน้าภาควิชา ประธานสาขาวิชา หรือหัวหน้าศูนย์โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณาจารย์ประจำของภาควิชา สาขาวิชา หรือศูนย์ อาจเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติดีเด่นต่อผู้อำนวยการเพื่อพิจารณาดำเนินการตามวรรคหนึ่งก็ได้
ข้อ ๑๐ การดำเนินการคัดเลือกพนักงานสถาบัน สายวิชาการ มีดังนี้
(๑) คณาจารย์ประจำ
ในการดำเนินการคัดเลือกคณาจารย์ประจำแต่ละครั้ง ให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกคณาจารย์ประจำ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการเป็นประธาน และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสี่คน และให้รองผู้อำนวยการที่ผู้อำนวยการมอบหมายคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
ในกรณีการคัดเลือกของภาควิชา สาขาวิชา หรือศูนย์ใด ให้กรรมการอื่นตามวรรคหนึ่งมีหัวหน้าภาควิชา ประธานสาขาวิชา หรือหัวหน้าศูนย์นั้นเป็นกรรมการด้วย
ให้คณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ และดำเนินการคัดเลือก พิจารณาผลการคัดเลือก รายงานผลการคัดเลือกต่อคณะกรรมการวิชาการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
เมื่อคณะกรรมการวิชาการพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้สถาบันประกาศชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก หรือในกรณีผลการพิจารณาคัดเลือก ไม่มีผู้ได้รับการคัดเลือกหรือคณะกรรมการวิชาการไม่ให้ความเห็นชอบ ให้สถาบันประกาศผลการคัดเลือกว่าไม่มีผู้ได้รับการคัดเลือก เว้นแต่กรณีการคัดเลือกโดยเรียก
ผู้มีความรู้ความสามารถดีเด่นเฉพาะรายมาเข้ารับการคัดเลือกให้แจ้งผลการคัดเลือกต่อผู้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อทราบ
เมื่อคณะกรรมการวิชาการให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ผู้อำนวยการดำเนินการบรรจุ แต่งตั้ง และจัดให้ผู้ได้รับการคัดเลือกทำสัญญาจ้างปฏิบัติงานตามหมวด ๒
(๒) ผู้สอน ผู้ช่วยสอน นักวิจัย และผู้ช่วยวิจัย
ในการดำเนินการคัดเลือกผู้สอน ผู้ช่วยสอน นักวิจัย และผู้ช่วยวิจัย แต่ละครั้ง ให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกผู้สอน ผู้ช่วยสอน นักวิจัย และผู้ช่วยวิจัย ประกอบด้วย หัวหน้าหน่วยงานที่ประสงค์จะจ้างเป็นประธาน และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสี่คน และผู้อำนวยการอาจการมอบหมายคนหนึ่งเป็นเลขานุการก็ได้
ให้คณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ
และดำเนินการคัดเลือก พิจารณาผลการคัดเลือก รายงานผลการคัดเลือกต่อผู้อำนวยการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
เมื่อผู้อำนวยการพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้สถาบันประกาศชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก หรือในกรณีผลการพิจารณาคัดเลือก ไม่มีผู้ได้รับการคัดเลือกหรือผู้อำนวยการไม่ให้ความเห็นชอบ ให้สถาบันประกาศผลการคัดเลือกว่าไม่มีผู้ได้รับการคัดเลือก เว้นแต่กรณีการคัดเลือกโดยเรียกผู้มีความรู้ความสามารถดีเด่นเฉพาะรายมาเข้ารับการคัดเลือกให้แจ้งผลการคัดเลือกต่อผู้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อทราบ
เมื่อผู้อำนวยการให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ผู้อำนวยการดำเนินการบรรจุ แต่งตั้ง และจัดให้ผู้ได้รับการคัดเลือกทำสัญญาจ้างปฏิบัติงานตามหมวด ๒
ส่วนที่ ๒
การสรรหาพนักงานสถาบัน สายสนับสนุนวิชาการ
ข้อ ๑๑ เมื่อหน่วยงานมีอัตราพนักงานสถาบัน สายสนับสนุนวิชาการว่างลงหรือได้รับจัดสรรอัตราใหม่ ให้หน่วยงานเจ้าของอัตราขออนุมัติต่อผู้อำนวยการเพื่อดำเนินการสรรหา ตามวิธีการอย่างหนึ่ง
อย่างใดที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๒ และแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกตามข้อ ๑๓
ข้อ ๑๒ การสรรหาพนักงานสถาบัน สายสนับสนุนวิชาการ ให้ใช้วิธีการคัดเลือก
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) วิธีคัดเลือกโดยการประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไป
(๒) วิธีคัดเลือกจากบุคคลที่มีคุณสมบัติเฉพาะหรือผู้มีคุณสมบัติพิเศษ
ข้อ ๑๓ ในการดำเนินการคัดเลือกพนักงานสถาบัน สายสนับสนุนวิชาการแต่ละครั้ง ให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกพนักงานสถาบัน สายสนับสนุนวิชาการ ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอื่น ไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินห้าคน
ให้คณะกรรมการคัดเลือกพนักงานสถาบัน สายสนับสนุนวิชาการ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการคัดเลือก พิจารณาผลการคัดเลือก และรายงานผลการคัดเลือกรวมถึงบัญชีลำดับผู้ได้รับการคัดเลือกต่อผู้อำนวยการเพื่อพิจารณาอนุมัติบรรจุแต่งตั้งและจ้างผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นพนักงานสถาบัน สายสนับสนุนวิชาการ และบัญชีลำดับผู้ได้รับการคัดเลือก
ในกรณีที่เป็นการคัดเลือกโดยการประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไป เมื่อผู้อำนวยการพิจารณาอนุมัติแล้ว ให้สถาบันประกาศชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกรวมถึงบัญชีลำดับผู้ได้รับการคัดเลือก หรือในกรณีผลการพิจารณาคัดเลือก ไม่มีผู้ได้รับการคัดเลือกหรือผู้อำนวยการไม่อนุมัติ ให้สถาบันประกาศผลการคัดเลือกว่าไม่มีผู้ได้รับการคัดเลือก
ในกรณีที่เป็นการคัดเลือกจากบุคคลที่มีคุณสมบัติเฉพาะหรือผู้มีคุณสมบัติพิเศษ โดยเรียก
ผู้มีความรู้ความสามารถดีเด่นเฉพาะรายมาเข้ารับการคัดเลือก ให้แจ้งผลการคัดเลือกต่อผู้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อทราบ
หมวด ๒
การบรรจุ แต่งตั้ง และการทำสัญญาปฏิบัติงานของพนักงานสถาบัน
ข้อ ๑๔ เมื่อมีผู้ได้รับการคัดเลือกแล้ว ให้สถาบันแจ้งผลการคัดเลือกพร้อมวันลงนามสัญญาการปฏิบัติงานให้ผู้รับการคัดเลือก โดยอาจแจ้งให้ทราบทางโทรศัพท์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีอื่นได้
แบบและข้อความของสัญญาการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนด
ข้อ ๑๕ สัญญาการปฏิบัติงานของพนักงานสถาบัน สายวิชาการ มีดังต่อไปนี้
(ก) คณาจารย์ประจำ
(๑) ตำแหน่งอาจารย์ ให้มีสัญญาการปฏิบัติงาน ๒ ระยะ โดยมีระยะเวลาการจ้างและหลักเกณฑ์การทำสัญญา ดังนี้
(๑.๑) สัญญาการปฏิบัติงานระยะที่ ๑ มีระยะเวลาการจ้าง ๒ ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งและจ้างเป็นพนักงานสถาบัน
(๑.๒) สัญญาการปฏิบัติงานระยะที่ ๒ มีระยะเวลาการจ้าง ๓ ปี
เมื่อสิ้นสุดสัญญาการปฏิบัติงานระยะที่ ๒ หากอาจารย์ผู้ใดยังไม่ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์หรือสูงกว่า ให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นพนักงานสถาบัน สายวิชาการ เว้นแต่คณะกรรมการอำนวยการโดยข้อเสนอของคณะกรรมการวิชาการพิจารณาและเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรเพื่อประโยชน์ต่อสถาบัน อาจอนุมัติให้ทำสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างคราวละไม่เกิน ๒ ปี ต่อไปได้
(๒) ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ให้มีสัญญาการปฏิบัติงาน ๒ ระยะ โดยมีระยะเวลาการจ้างและหลักเกณฑ์การทำสัญญา ดังนี้
(๒.๑) สัญญาการปฏิบัติงานระยะที่ ๑ มีระยะเวลาการจ้าง ๓ ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งและจ้างเป็นพนักงานสถาบัน
(๒.๒) สัญญาการปฏิบัติงานระยะที่ ๒ มีระยะเวลาการจ้าง ๔ ปี
เมื่อสิ้นสุดสัญญาการปฏิบัติงานระยะที่ ๒ หากผู้ช่วยศาสตราจารย์ผู้ใดยังไม่ได้รับแต่งตั้ง ตำแหน่งรองศาสตราจารย์หรือสูงกว่า ให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นพนักงานสถาบัน สายวิชาการ เว้นแต่คณะกรรมการอำนวยการโดยข้อเสนอของคณะกรรมการวิชาการพิจารณาและเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรเพื่อประโยชน์ต่อสถาบัน อาจอนุมัติให้ทำสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างคราวละไม่เกิน ๒ ปี ต่อไปได้
(๓) ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ให้มีสัญญาการปฏิบัติงาน ที่มีระยะเวลาการจ้างคราวละ ๕ ปี
(๔) ตำแหน่งศาสตราจารย์ ให้มีสัญญาการปฏิบัติงาน ที่มีระยะเวลาการจ้างคราวละ ๖ ปี
(ข) ตำแหน่งผู้สอน ให้มีสัญญาการปฏิบัติงาน ๓ ระยะ โดยมีระยะเวลาการจ้างและหลักเกณฑ์การทำสัญญา ดังนี้
(๑) สัญญาการปฏิบัติงานระยะที่ ๑ มีระยะเวลาการจ้าง ๒ ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งและจ้างเป็นพนักงานสถาบัน
(๒) สัญญาการปฏิบัติงานระยะที่ ๒ มีระยะเวลาการจ้าง ๓ ปี
(๓) สัญญาการปฏิบัติงานระยะที่ ๓ มีระยะเวลาการจ้างคราวละ ๕ ปี
(ค) ตำแหน่งนักวิจัย ผู้ช่วยวิจัย และผู้ช่วยสอน ให้มีสัญญาการปฏิบัติงานที่มีระยะเวลาการจ้างคราวละไม่เกิน ๒ ปี
ในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควรผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวิชาการอาจทำสัญญาการปฏิบัติงานของคณาจารย์ประจำที่มีระยะเวลาปฏิบัติงานน้อยกว่าระยะเวลาการจ้างของสัญญาตาม (ก) ก็ได้
ในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควรผู้อำนวยการอาจทำสัญญาการปฏิบัติงานของพนักงานสถาบัน สายวิชาการ นอกจากคณาจารย์ประจำที่มีระยะเวลาปฏิบัติงานน้อยกว่าระยะเวลาการจ้างของสัญญาตาม (ข) หรือ (ค) ก็ได้
การทำสัญญาของผู้ที่ใกล้เกษียณอายุโดยมีอายุงานเหลืออยู่เกินกว่าระยะเวลาการจ้าง ของสัญญาตาม (ก) (ข) และ (ค) ไม่เกิน ๑ ปีก่อนการเกษียณอายุ หรือเหลือน้อยกว่าระยะเวลาการจ้าง ตาม (ก) (ข) และ (ค) ให้ทำสัญญาจ้างที่มีระยะเวลาการจ้างเท่ากับอายุงานที่เหลืออยู่
ข้อ ๑๖ สัญญาการปฏิบัติงานของพนักงานสถาบัน สายสนับสนุนวิชาการ ให้มีสัญญาการปฏิบัติงาน ๓ ระยะ โดยมีระยะเวลาการจ้างและหลักเกณฑ์การทำสัญญา ดังนี้
(๑) สัญญาการปฏิบัติงานระยะที่ ๑ มีระยะเวลาการจ้าง ๒ ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งและจ้างเป็นพนักงานสถาบัน
(๒) สัญญาการปฏิบัติงานระยะที่ ๒ มีระยะเวลาการจ้าง ๓ ปี
(๓) สัญญาการปฏิบัติงานระยะที่ ๓ มีระยะเวลาการจ้างคราวละ ๕ ปี
ในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควรผู้อำนวยการอาจทำสัญญาการปฏิบัติงานของพนักงานสถาบัน สายสนับสนุนวิชาการ ที่มีระยะเวลาปฏิบัติงานน้อยกว่าระยะเวลาการจ้างตามวรรคหนึ่งก็ได้
ในกรณีการทำสัญญาของผู้ที่ใกล้เกษียณอายุโดยมีอายุงานเหลืออยู่เกินกว่าระยะเวลาการจ้างของสัญญาตามวรรคหนึ่ง ไม่เกิน ๑ ปีก่อนการเกษียณอายุ หรือเหลือน้อยกว่าระยะเวลาการจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้ทำสัญญาจ้างที่มีระยะเวลาการจ้างเท่ากับอายุงานที่เหลืออยู่
ข้อ ๑๗ การทำสัญญาจ้างของพนักงานสถาบันประเภทชั่วคราวทุกตำแหน่ง ให้มีสัญญาการปฏิบัติงานที่มีระยะเวลาการจ้างไม่เกินครั้งละ ๑ ปี หรือระยะเวลาการจ้างตามที่ผู้อำนวยการกำหนดแต่
ไม่เกิน ๒ ปี
หมวด ๓
หลักเกณฑ์การทดลองปฏิบัติงาน และการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานสถาบัน
ข้อ ๑๘ เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เข้าปฏิบัติงานแล้ว ให้พนักงานสถาบัน สายวิชาการทดลองการปฏิบัติงานเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งภาคการศึกษาแต่ไม่เกินหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งหรือนับแต่วันที่ระบุในสัญญาการปฏิบัติงาน
เมื่อทดลองการปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งภาคการศึกษา ให้ประเมินผลการทดลองการปฏิบัติงานโดยพิจารณาจากมาตรฐานความรู้ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง และคุณลักษณะที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่
หากผลการประเมินการทดลองการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่งเห็นว่าพนักงานสถาบันไม่ผ่านการทดลองการปฏิบัติงาน ให้ผู้อำนวยการออกคำสั่งให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นพนักงานสถาบัน โดยแจ้งให้ผู้นั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนก่อนพ้นกำหนดเวลาทดลองการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง
การให้พ้นจากการเป็นพนักงานสถาบันด้วยเหตุไม่ผ่านการทดลองการปฏิบัติงานตามวรรคสาม
ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย
ข้อ ๑๙ ให้พนักงานสถาบัน สายสนับสนุนวิชาการทดลองการปฏิบัติงานเป็นเวลา ๑๒๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งหรือนับแต่วันที่ระบุในสัญญาการปฏิบัติงาน
เมื่อทดลองการปฏิบัติงานมาแล้ว ๙๐ วัน ให้ประเมินผลการทดลองการปฏิบัติงานโดยพิจารณาจากมาตรฐานความรู้ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในตำแหน่ง และคุณลักษณะส่วนบุคคลที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน
หากผลการประเมินการทดลองการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่งเห็นว่าพนักงานสถาบันไม่ผ่านการทดลองการปฏิบัติงาน ให้ผู้อำนวยการออกคำสั่งให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นพนักงานสถาบัน โดยแจ้งให้ผู้นั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์ก่อนพ้นกำหนดเวลาทดลองการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง
การให้พ้นจากการเป็นพนักงานสถาบันด้วยเหตุไม่ผ่านการทดลองการปฏิบัติงานตามวรรคสาม
ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย
ข้อ ๒๐ หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานสถาบัน สายวิชาการ
ให้ผู้อำนวยการออกเป็นประกาศสถาบันโดยข้อเสนอของคณะกรรมการวิชาการและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการ
หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานสถาบัน สายสนับสนุนวิชาการ
ให้ผู้อำนวยการออกเป็นประกาศสถาบันโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ
หมวด ๔
การลา วันเวลาปฏิบัติงานและวันหยุดของสถาบัน
ส่วนที่ ๑
การลา
ข้อ ๒๑ ให้พนักงานสถาบันมีสิทธิลาในประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ลาป่วย
(๒) ลากิจ
(๓) ลาพักผ่อนประจำปี
(๔) ลาคลอดบุตร
(๕) ลาเพื่อดูแลบุตร และภรรยาหลังคลอดบุตร
(๖) ลาอุปสมบท หรือลาเพื่อประกอบพิธีฮัจย์ หรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
(๗) ลาเพื่อระดมพลทางทหาร
(๘) ลาประเภทอื่นโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
จำนวนวันลา หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และการพิจารณาการลาแต่ละประเภทให้ผู้อำนวยการออกเป็นประกาศสถาบันโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ
หลักเกณฑ์และวิธีการได้รับเงินเดือน ได้รับเงินเดือนบางส่วน หรือไม่ได้รับเงินเดือนในระหว่างลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการออกเป็นประกาศสถาบันโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ
ส่วนที่ ๒
วัน เวลาและการมาปฏิบัติงานของสถาบัน
ข้อ ๒๒ ให้สถาบันกำหนดวันปฏิบัติงานปกติ คือ วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ โดยให้เริ่มเข้าปฏิบัติงานประจำวันตั้งแต่เวลา ๘.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป โดยให้มีเวลาพักกลางวันเวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา ถึง
๑๓.๐๐ นาฬิกา และให้เลิกปฏิบัติงานในเวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา
ข้อ ๒๓ กรณีที่มีการมอบหมายภาระงานปกติที่เป็นงานต้องปฏิบัติงานในวันหรือเวลาที่แตกต่างจากวันหรือเวลา ตามข้อ ๒๒ หรือมีเหตุผลความจำเป็นอื่น ผู้อำนวยการอาจอนุมัติให้พนักงานสถาบัน ผู้ใดผู้หนึ่งเปลี่ยนแปลงวันหรือเวลาปฏิบัติงานของสถาบันตามข้อ ๒๒ ได้ ทั้งนี้ พนักงานสถาบัน ผู้นั้นจะต้องมีวันปฏิบัติงานในแต่ละสัปดาห์ และเวลาการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าจำนวนวันและเวลาการปฏิบัติงานปกติตามข้อ ๒๒ หรือต้องมีระยะเวลาปฏิบัติงานปกติไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ ๔๐ ชั่วโมง
ข้อ ๒๔ พนักงานสถาบันจะต้องลงเวลาปฏิบัติงานโดยใช้เครื่องบันทึกเวลา ทั้งเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการปฏิบัติงานของทุกวัน แต่หากพนักงานสถาบันมาปฏิบัติงานแล้วแต่มิได้บันทึกเวลา ต้องให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นลงชื่อรับรองเวลาปฏิบัติงานในวันดังกล่าวด้วย
หลักเกณฑ์และวิธีการมาปฏิบัติงานสาย การขาดงาน การขออนุญาตเลิกงานก่อนเวลา และการออกไปนอกบริเวณสถาบันในเวลาปฏิบัติงานที่มิใช่เวลาพัก ให้ผู้อำนวยการออกเป็นประกาศสถาบันโดย
ความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ
ส่วนที่ ๓
วันหยุดของสถาบัน
ข้อ ๒๕ วันหยุดของสถาบัน ประกอบด้วย
(๑) วันหยุดประจำสัปดาห์ ได้แก่ วันเสาร์ – วันอาทิตย์
(๒) วันหยุดราชการประจำปี วันหยุดตามปฏิทินวันหยุดของมหาวิทยาลัยและวันหยุดที่สถาบันกำหนด ทั้งนี้ สถาบันจะประกาศให้ทราบล่วงหน้าเป็นรายปี
หมวด ๕
การพ้นจากการเป็นพนักงานสถาบัน
ข้อ ๒๖ พนักงานสถาบัน พ้นจากการเป็นพนักงานสถาบันเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ลาออกโดยความเห็นชอบของสถาบันตามนโยบายลดขนาดกำลังคน
(๔) ถูกสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
(๕) ถูกสั่งให้ออกเพราะขาดประสิทธิภาพในการทำงาน
(๖) สิ้นสุดสัญญาการปฏิบัติงานหรือสัญญาจ้างและไม่ได้รับการต่อสัญญา
(๗) เกษียณอายุ
ข้อ ๒๗ หลักเกณฑ์และวิธีการลาออกตามข้อ ๒๖ (๒) และ (๓) ให้ผู้อำนวยการออกเป็นประกาศสถาบันโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ
ข้อ ๒๘ ให้พนักงานสถาบันซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใด ออกจากการเป็นพนักงานสถาบันด้วยเหตุเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณนั้น
ข้อ ๒๙ คณะกรรมการอำนวยการอาจพิจารณาอนุมัติให้พนักงานสถาบันต่ออายุงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการออกเป็นประกาศสถาบันโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ
หมวด ๖
ค่าชดเชย
ข้อ ๓๐ พนักงานสถาบันซึ่งพ้นจากการเป็นพนักงานสถาบัน ด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ให้มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจากสถาบัน
- เสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่
- ลาออกโดยความเห็นชอบของสถาบันตามนโยบายลดขนาดกำลังคน หรือตามมาตรการของสถาบันหรือตามข้อตกลงกับสถาบัน
(๓) เลิกจ้างเนื่องจากปัญหาสุขภาพหรือเจ็บป่วยจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างสม่ำเสมอ
(๔) เลิกจ้างเนื่องจากมีการเลิกหรือยุบหน่วยงานหรือตำแหน่งที่พนักงานสถาบันนั้นปฏิบัติหน้าที่หรือดำรงอยู่
(๕) เกษียณอายุ
หลักเกณฑ์ วิธีการ อัตรา และเงื่อนไขการได้รับเงินชดเชยให้ผู้อำนวยการออกเป็นประกาศสถาบันโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ
ข้อ ๓๑ สถาบันไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
- เสียชีวิตที่มิใช่กรณีตามข้อ ๓๐ (๑)
- ลาออกที่มิใช่กรณีตามข้อ ๓๐ (๒)
- เลิกจ้างที่มิใช่กรณีตามข้อ ๓๐ (๓) และ (๔)
(๔) เลิกจ้างระหว่างการทดลองการปฏิบัติงานหรือไม่ผ่านการทดลองการปฏิบัติงาน
(๕) พนักงานสถาบันประเภทชั่วคราวที่สัญญาจ้างกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้ชัดเจน
(๖) เลิกจ้างเพราะถูกสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
(๗) เลิกจ้างเพราะขาดประสิทธิภาพในการทำงาน
ประกาศ ณ วันที่ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
(รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ)
อธิการบดี