ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๓
………..……………………………………..
ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทําให้ผู้ร่วมประชุมสามารถปรึกษาหารือกันผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยสะดวก แม้จะไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกันก็ตาม ทั้งยังเป็นการประหยัดต้นทุนและระยะเวลา
ในการจัดการประชุมและการเดินทางไปกลับเพื่อร่วมประชุมด้วย นอกจากนั้นในสถานการณ์
ที่เกิดความไม่สะดวก หรือไม่ปลอดภัยในการเข้าร่วมประชุม การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการจัดการปรึกษาหารือเพื่อให้การใช้อํานาจทางปกครองหรือการจัดทําบริการสาธารณะสามารถเกิดขึ้นได้ต่อไปจนสําเร็จลุล่วง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีฐานะเป็นหน่วยงานในกํากับของรัฐตามพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งบัญญัติให้มีองค์กรกลุ่มทั้งที่จัดตั้งโดยตรงตามพระราชบัญญัติ ดังกล่าว และที่อาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจัดตั้งขึ้น เพื่อประชุมหรือปรึกษาหารือร่วมกัน
อันนําไปสู่การมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการประชุมขององค์กรกลุ่มของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถกําหนดไว้โดยข้อบังคับของมหาวิทยาลัยได้โดยอาศัยอํานาจ
จากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ฉะนั้น เพื่อให้การดําเนินงานของมหาวิทยาลัยเป็นไป
ได้ด้วยความสะดวก เรียบร้อย และต่อเนื่อง จึงจําเป็นต้องออกข้อบังคับนี้
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๓ (๒) มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ วรรคสอง มาตรา ๓๐ วรรคสาม มาตรา ๓๑ วรรคสอง มาตรา ๓๓ วรรคสอง มาตรา ๔๔ วรรคสอง
มาตรา ๔๘ วรรคสอง มาตรา ๖๐ วรรคสาม มาตรา ๗๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ และโดยมติสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการประชุม
ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๓ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการประชุมผ่าน
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๓”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า การประชุมที่แม้ผู้ร่วมประชุมทั้งหมด มิได้อยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่สามารถปรึกษาหารือและแสดงความเห็นระหว่างกันได้อย่างทันที
ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
“ผู้ร่วมประชุม” หมายความว่า กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ
หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่มีหน้าที่ในการประชุม
ข้อ ๔ สภามหาวิทยาลัย สภาธรรมศาสตร์สัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย คณะกรรมการพิจารณาตําแหน่งทางวิชาการ คณะกรรมการนโยบายวิชาการ สภาอาจารย์
สภาพนักงานมหาวิทยาลัย คณะกรรมการประจําคณะหรือวิทยาลัย คณะกรรมการประจําสถาบัน สํานัก
หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการที่ทําหน้าที่พิจารณาเรื่องอุทธรณ์ และเรื่องร้องทุกข์ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการอื่นใดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาจดําเนินการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เว้นแต่เป็นการประชุมเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ข้อ ๕ ผู้ร่วมประชุมอาจอยู่ต่างสถานที่หรืออยู่นอกราชอาณาจักรในเวลาที่มีการประชุม
ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
ข้อ ๖ การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกําหนด
ข้อ ๗ การส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุม จะส่งโดยจดหมาย อิเล็กทรอนิกส์หรือข้อความทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ในการนี้ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้องจัดเก็บสําเนาหนังสือ เชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมไว้เป็นหลักฐาน โดยจะจัดเก็บในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ข้อ ๘ ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้อง
(๑) จัดให้ผู้ร่วมประชุมแสดงตนเพื่อร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนร่วมการประชุม
(๒) จัดทํารายงานการประชุมเป็นหนังสือ
(๓) จัดให้มีการบันทึกเสียงหรือทั้งเสียงและภาพ แล้วแต่กรณีของผู้ร่วมประชุมทุกคน
ตลอดระยะเวลาที่มีการประชุมในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่เป็นการประชุมลับ และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประชุม
(๔) จัดให้ผู้ร่วมประชุมสามารถลงคะแนนได้ทั้งการลงคะแนนโดยเปิดเผยและการลงคะแนนลับ
ข้อ ๙ ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หากมีกรณีที่ต้องจ่ายเบี้ยประชุมให้แก่
ผู้ร่วมประชุมให้จ่ายเบี้ยประชุมแก่ผู้ร่วมประชุมซึ่งได้แสดงตนเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
ข้อ ๑๐ การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์นอกเหนือจากที่กําหนดไว้ในข้อบังคับนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ประกาศ ณ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย