ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการจ่ายเงินเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร พ.ศ. ๒๕๕๔
—————————–
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเป็นพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือนหรือค่าจ้าง ให้แก่บุคลากรเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ
และแรงจูงใจการปฏิบัติงาน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ (๒) และ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ สภามหาวิทยาลัยจึงตราระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ชื่อระเบียบ
ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจ่ายเงินเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร พ.ศ. ๒๕๕๔”
ข้อ ๒ การมีผลบังคับใช้
ระเบียบนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ความสัมพันธ์กับกฎอื่น
ให้ยกเลิก ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร พ.ศ. ๒๕๔๙
ข้อ ๔ บทนิยาม
ในระเบียบนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“หน่วยงาน” หมายความว่า กอง สำนักงาน หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออื่นที่มีฐานะเทียบเท่าที่สังกัดสำนักงานอธิการบดี ทั้งที่เป็นส่วนราชการและที่จัดตั้งโดยมติสภามหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ไม่รวมถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
“บุคลากร” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พนักงานเงินรายได้หรือลูกจ้างซึ่งจ้างจากเงินงบประมาณรายจ่ายจากรายได้ของมหาวิทยาลัย ในตำแหน่งสายงานที่เทียบได้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และสายงานที่เทียบได้กับลูกจ้างประจำของส่วนราชการที่สังกัดสำนักงานอธิการบดี และปฏิบัติงานในสำนักงานอธิการบดี และให้หมายความรวมถึงผู้ที่มีตำแหน่งสังกัดหน่วยงานอื่นของมหาวิทยาลัย ซึ่งถูกยืมตัวมาปฏิบัติงานประจำในสำนักงานอธิการบดีเป็นเวลาตั้งแต่ ๖ เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ไม่รวมถึงบุคลากรของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
“รอบการประเมินประสิทธิภาพ” หมายความว่า รอบการประเมินประสิทธิภาพ
และประสิทธิผลการปฏิบัติงานเพื่อพิจารณาความดีความชอบ ปีละสองครั้ง
– ครั้งที่หนึ่ง ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน – ๓๐ พฤศจิกายน
– ครั้งที่สอง ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม – ๓๑ พฤษภาคม ของปีถัดไป
“เงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ” หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่บุคลากร
เพื่อตอบแทนการปฏิบัติงาน นอกเหนือจากเงินเดือนหรือค่าจ้างเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน
“เงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มเติมพิเศษ” หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่บุคลากรเพิ่มเติมพิเศษนอกเหนือจากเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพที่บุคลากรได้รับ
ข้อ ๕ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ
บุคลากรผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพตามระเบียบนี้ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(๑) เป็นผู้ปฏิบัติงานประจำในหน่วยงาน และพ้นจากการทดลองปฏิบัติราชการแล้ว และมีผลการประเมินการปฏิบัติงานในแต่ละรอบการประเมินความดีความชอบเพื่อเลื่อนเงินเดือน/ค่าจ้าง
ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) เห็นชอบ ตั้งแต่ระดับดีขึ้นไป โดยได้ค่าคะแนนไม่ต่ำกว่า ๗๐ คะแนน หรือมีผลการประเมินความดีความชอบตามรอบการประเมินไม่ต่ำกว่าครึ่งขั้นสำหรับการประเมิน ๖ เดือน หรือไม่ต่ำกว่า ๑ ขั้น สำหรับรอบการประเมิน ๑ ปี
(๒) เป็นผู้ที่หน่วยงาน ได้มอบหมายภารกิจให้รับผิดชอบอย่างชัดเจน และต้องมีผลประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในระดับดีขึ้นไปทั้งด้านคุณภาพและปริมาณงาน โดยให้มีการประเมินฯ ปีละ ๒ ครั้ง ๆ ละ ๖ เดือน ตามรอบการประเมินความดีความชอบเพื่อเลื่อนเงินเดือน/ค่าจ้าง ทั้งนี้ ตามแบบประเมินฯ ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
(๓) เป็นผู้ที่ไม่ถูกลงโทษทางวินัย หรืออยู่ระหว่างการถูกสอบสวนทางวินัย
ข้อ ๖ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ
การจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพแก่บุคลากร ให้จ่ายได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานหรือรักษาการในตำแหน่งหัวหน้างานตามโครงสร้างหน่วยงาน
ที่แบ่งส่วนราชการตามกฎหมาย หรือที่ได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย ในอัตราคาเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท
(๒) ผู้ปฏิบัติงานที่มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานเงินรายได้ หรือลูกจ้างซึ่งจ้างจากเงินงบประมาณรายจ่ายจากรายได้ของมหาวิทยาลัย ในตำแหน่งสายงานที่เทียบได้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ในอัตราเดือนละ ๑,๒๐๐ บาท
(๓) ผู้ปฏิบัติงานที่มีสถานะลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พนักงานเงินรายได้ หรือลูกจ้างซึ่งจ้างจากเงินงบประมาณรายจ่ายจากรายได้ของมหาวิทยาลัยในตำแหน่งสายงานที่เทียบได้กับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ในอัตราเดือนละ ๘๐๐ บาท
ข้อ ๗ การงดการจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ
การงดการจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพแก่บุคลากร ให้งดการจ่ายในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ที่มีระดับผลการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายต่ำกว่า ระดับดี โดยมีค่าคะแนนต่ำกว่า ๗๐ คะแนน ให้งดการจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นเวลา ๖ เดือน นับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม หรือ ๑ เมษายน แล้วแต่กรณี
(๒) ผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัย หรืออยู่ระหว่างการถูกสอบสวนทางวินัย ในรอบการประเมินใด ให้งดการจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพเป็นเวลา ๖ เดือน ในรอบถัดไป นับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม หรือ ๑ เมษายน แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ หากภายหลังปรากฏว่ามิได้ถูกลงโทษทางวินัยในเรื่องที่ถูกสอบสวนนั้น ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพย้อนหลังตั้งแต่รอบที่ถูกงดการจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ นับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม หรือ ๑ เมษายน แล้วแต่กรณี
(๓) ในรอบระยะเวลาการประเมินมีจำนวนวันลากิจและลาป่วยเกินกว่า ๑๒ วันทำการ หรือมีวันมาปฏิบัติงานสายเกินกว่า ๑๘ วันทำการ ยกเว้นเฉพาะกรณีการลากิจและลาป่วยจำเป็นที่ต้องรักษาตัวเป็นเวลานานไม่ว่าคราวเดียวหรือหลายคราวรวมกันไม่เกินหกสิบวันทำการ หรือลาป่วยเพราะประสบอันตรายในขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือในขณะเดินทางไปหรือกลับจากปฏิบัติราชการตามหน้าที่ โดยมีใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน
ในกรณีที่มีความจำเป็น อาจกำหนดจำนวนวันลากิจและลาป่วย หรือวันมาปฏิบัติงานสาย
อาจกำหนดเป็นอย่างอื่นได้ โดยจัดทำเป็นประกาศ
ข้อ ๘ การจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มเติมพิเศษ
ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มเติมพิเศษแก่บุคลากรนอกเหนือจากที่ได้รับตามนัยข้อ ๖ สำหรับบุคลากรที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
(๑) ในรอบการประเมินประสิทธิภาพที่แล้วมาเป็นผู้มีคุณสมบัติครบตามข้อ ๕ และเป็นผู้ได้รับเงินค่าตอบแทนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตามข้อ ๖
(๒) ในรอบการประเมินประสิทธิภาพที่แล้วมา ได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่และที่ได้รับมอบหมายด้วยความสามารถ ความอุตสาหะและอุทิศเวลาให้แก่ราชการ โดยมีวันลากิจ ลาป่วย และลาพักผ่อน รวมกันไม่เกิน ๑๐ วันทำการหรือมีวันมาปฏิบัติงานสายไม่เกิน ๑๐ วันทำการ ในแต่ละรอบการประเมิน ยกเว้นเฉพาะกรณีการลากิจและลาป่วยจำเป็นที่ต้องรักษาตัวเป็นเวลานานไม่ว่าคราวเดียวหรือหลายคราวรวมกันไม่เกินหกสิบวันทำการ หรือลาป่วยเพราะประสบอันตรายในขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือในขณะเดินทางไปหรือกลับจากปฏิบัติราชการตามหน้าที่ โดยมีใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน
ในกรณีที่มีความจำเป็น อาจกำหนดจำนวนวันลาป่วย ลากิจและลาพักผ่อน รวมกัน หรือวันมาปฏิบัติงานสายเป็นอย่างอื่นได้ โดยจัดทำเป็นประกาศ
(๓) มีผลการประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในระดับดีมากขึ้นไปทั้งด้านคุณภาพและปริมาณงานโดยได้คะแนนไม่ต่ำกว่า ๘๕ คะแนนในแต่ละรอบการประเมิน
(๔) ไม่ถูกงดการจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ ในแต่ละรอบการจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ ในรอบการประเมินฯครั้งนั้น
ข้อ ๙ กำหนดจำนวนบุคลากรที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มเติมพิเศษ
กำหนดจำนวนบุคลากรที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มเติมพิเศษ ในแต่ละรอบต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนบุคลากรของหน่วยงาน ทั้งนี้ หากมีจำนวนบุคลากรที่สมควรได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มเติมพิเศษเกินกว่าจำนวนที่กำหนด ให้จัดลำดับการจ่ายเงินเพิ่มเติมพิเศษแก่บุคลากร ดังนี้
(๑) ผู้ที่ได้คะแนนการประเมินสูงกว่าเป็นผู้มีสิทธิก่อน
(๒) กรณีที่มีคะแนนการประเมินเท่ากัน ให้ถือจำนวนวันลากิจ ลาป่วย และลาพักผ่อนรวมกันที่น้อยกว่าเป็นผู้มีสิทธิลำดับถัดไป
(๓) กรณีที่จำนวนวันลากิจ ลาป่วย และลาพักผ่อนรวมกันเท่ากัน ให้ถือจำนวนวันมาปฏิบัติงานสายน้อยกว่าเป็นผู้มีสิทธิลำดับถัดไป
ข้อ ๑๐ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มเติมพิเศษ
การจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มเติมพิเศษ ให้จ่ายได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างาน หรือรักษาการในตำแหน่งหัวหน้างานตามโครงสร้างหน่วยงาน
ที่แบ่งส่วนราชการตามกฎหมาย หรือที่ได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย ให้ได้รับเงินเพิ่มเติมพิเศษอีก
ในอัตราเดือนละ ๕๐๐ บาท
(๒) ผู้ปฏิบัติงานที่มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานเงินรายได้ หรือลูกจ้างซึ่งจ้างจากเงินงบประมาณราชจ่ายจากรายได้ของมหาวิทยาลัย ในตำแหน่งสายงานที่เทียบได้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ให้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษอีกในอัตราเดือนละ ๓๐๐ บาท
(๓) ผู้ปฏิบัติงานที่มีสถานะลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พนักงานเงินรายได้หรือลูกจ้างซึ่งจ้างจากเงินงบประมาณรายจ่ายจากรายได้ของมหาวิทยาลัย ในตำแหน่งสายงานที่เทียบได้กับลูกจ้างประจำ
ของส่วนราชการ ให้ได้รับเงินเพิ่มเติมพิเศษอีก ในอัตราเดือนละ ๒๐๐ บาท
ข้อ ๑๑ ข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณา
การจ่ายเงินค่าตอบแทนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มเติมพิเศษ ให้แก่บุคลากรตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ ให้ใช้ข้อมูลการลาและมาสาย รวมถึงผลการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ – ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ หลักจากนั้นให้เป็นไปตามรอบการประเมินประสิทธิภาพตามระเบียบนี้
ข้อ ๑๒ การนำระเบียบนี้ไปใช้
ในกรณีที่คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ไม่มีการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนในลักษณะนี้ หรือกำหนดจ่ายในอัตราที่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ จะนำระเบียบนี้มาอนุโลมใช้โดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายจากรายได้ของหน่วยงานนั้นก็ได้ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
ข้อ ๑๓ การรักษาการ
ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตีความหรือการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้อธิการบดีเป็นผู้วินิจฉัย
ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
(ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย