ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการร่วมลงทุนเพื่อประโยชน์แก่กิจการของมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๓
______________________
ด้วยพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชชน พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๗ วรรคหนึ่ง (๙) และวรรคสอง ได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐซึ่งจะร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนในกิจการการศึกษา
และกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการการศึกษาอันเป็นภารกิจ
ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง (๕) และวรรคสองแห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการร่วมลงทุน
เพื่อประโยชน์แก่กิจการของมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๓”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อธิการบดี” หมายความว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“หัวหน้าส่วนงาน” หมายความว่า คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน สำนักงาน หรือส่วนงาน
ที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สถาบัน หรือสำนักงาน
“ส่วนงาน” หมายความว่า ส่วนงานของมหาวิทยาลัยที่เป็นคณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนักงาน
หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า คณะ วิทยาลัย สถาบัน หรือสำนักงาน
“โครงการ” หมายความว่า โครงการลงทุนของรัฐในกิจการที่หน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือหลายหน่วยงานรวมกันมีหน้าที่และอำนาจต้องทำตามกฎหมายหรือกฎ หรือที่มีหน้าที่
และอำนาจต้องทำตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง
“ร่วมลงทุน” หมายความว่า ร่วมลงทุนกับเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใดโดยวิธีการอนุญาต
หรือให้สัมปทานหรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด เพื่อดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการ
ของมหาวิทยาลัยหรือนำผลการค้นคว้าวิจัยไปเผยแพร่หรือหาประโยชน์เพื่อเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย
“โครงการร่วมลงทุน” หมายความว่า โครงการที่มีการร่วมลงทุน
ข้อ ๔ การร่วมลงทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับนี้
เว้นแต่ในกรณีที่ข้อบังคับใดกำหนดเกี่ยวกับการร่วมลงทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไว้โดยเฉพาะ
และมีหลักเกณฑ์ที่มีมาตรฐานในการร่วมลงทุนเป็นไปตามเป้าประสงค์ตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
กรณีการร่วมลงทุนที่เป็นการใช้และจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ
ข้อ ๕ ภายใต้วัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ในการร่วมลงทุนของมหาวิทยาลัยกับเอกชน
ต้องคำนึงถึงเป้าประสงค์และต้องดำเนินการตามหลักการ ดังต่อไปนี้
(๑) ความสอดคล้องกับแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน
(๒) ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งต้องมีการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์
ตอบแทนให้แก่เอกชนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงความสำเร็จของโครงการร่วมลงทุนและความคุ้มค่า
ในการดำเนินโครงการร่วมลงทุน
(๓) การรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ
(๔) การใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของเอกชนในการให้บริการสาธารณะของโครงการร่วมลงทุน และการถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญไปยังหน่วยงานและบุคลากรของภาครัฐ
(๕) ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุน
รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง
(๖) สิทธิและประโยชน์ของผู้รับบริการจากโครงการร่วมลงทุน
ข้อ ๖ เพื่อความชัดเจน ความเป็นไปได้และความโปร่งใส ก่อนการดำเนินการโครงการ
ร่วมลงทุนต้องมีการระบุมูลค่าของโครงการร่วมลงทุน
โครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
ข้อ ๗ ในการเสนอโครงการที่จะให้มีการร่วมลงทุน มหาวิทยาลัยหรือส่วนงานที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดทำเอกสารการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเสนอต่อคณะกรรมการโครงการร่วมลงทุนเพื่อพิจารณาให้ความเห็น
เอกสารตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(๑) ความเป็นมาของโครงการ หลักการและเหตุผลในการจัดทำโครงการ
รวมถึงความสอดคล้องกับกิจการ กลยุทธ์ หรือทิศทางของมหาวิทยาลัยในแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน
(๒) สาระสำคัญของโครงการ
(๓) ความพร้อมในการจัดทำและดำเนินโครงการที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อความสำเร็จ
ของโครงการ
(๔) ความเป็นไปได้ของโครงการ
(๕) ความเสี่ยงของโครงการ
(๖) ทางเลือกและรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างมหาวิทยาลัยและเอกชน ทั้งนี้ ให้ระบุเหตุผล
และความจำเป็น ข้อดีและข้อเสีย และประโยชน์ที่มหาวิทยาลัยหรือส่วนงานจะได้รับ
(๗) การจัดสรรหาหน้าที่และความรับผิดชอบ การจัดสรรความเสี่ยง และการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชนโดยคำนึงถึงการให้เอกชนใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ
และนวัตกรรมในโครงการร่วมลงทุน
(๘) ความพร้อมของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ข้อ ๘ ให้คณะกรรมการโครงการร่วมลงทุนพิจารณาเสนอความเห็นโดยเร็ว
แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน ๖๐ วัน เว้นแต่กรณีจำเป็นอาจให้นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาขยายระยะเวลาดำเนินการได้อีกครั้งละไม่เกิน ๓๐ วัน
ข้อ ๙ ให้มหาวิทยาลัยหรือส่วนงานที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุนนำเสนอโครงการร่วมลงทุนต่อคณะกรรมการโครงการร่วมลงทุนก่อน เมื่อคณะกรรมการโครงการร่วมลงทุนพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีเป็นผู้พิจารณาตามมูลค่าในโครงการร่วมลงทุนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
ข้อ ๑๐ ให้อธิการบดีมีอำนาจพิจารณาอนุมัติโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน
สองร้อยล้านบาท
กรณีโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าเกินกว่าที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้สภามหาวิทยาลัย
เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ
ข้อ ๑๑ เมื่อสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีผู้อนุมัติโครงการพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ของโครงการร่วมลงทุนแล้ว ให้มหาวิทยาลัยหรือส่วนงานที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการ
เพื่อจัดให้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกขนที่ได้รับความเห็นชอบ
ให้อธิการบดีหรือผู้ได้รับมอบอำนาจเป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยในการลงนามในสัญญาร่วมลงทุน
ข้อ ๑๒ ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการร่วมลงทุนขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย
(๑) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหาร เป็นกรรมการ
(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินหรือการลงทุน เป็นกรรมการ
(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา เป็นกรรมการ
(๕) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เป็นกรรมการ
(๖) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นกรรมการ
(๗) รองอธิการบดีที่ดูแลกองแผนงาน เป็นกรรมการ
(๘) รองอธิการบดีที่ดูแลกองคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้ผู้อำนวยการกองคลังและเจ้าหน้าที่กองคลังอีกคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปี
นับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๓ ให้คณะกรรมการโครงการร่วมลงทุนมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของโครงการร่วมลงทุนทั้งหมด
ของมหาวิทยาลัย
(๒) พิจารณาและให้ความเห็นชอบโครงการร่วมลงทุนก่อนนำเสนออธิการบดี
หรือสภามหาวิทยาลัย
(๓) กำกับดูแลและติดตามโครงการร่วมลงทุนทั้งหมดของมหาวิทยาลัย
(๔) ตีความหรือวินิจฉัยกรณีมีปัญหาว่าการใดเป็นโครงการร่วมลงทุน
(๕) พิจารณาให้ความเห็นประกอบการเข้าดำเนินโครงการร่วมลงทุนหรือมอบให้ผู้อื่น
เข้าดำเนินโครงการร่วมลงทุนเป็นระยะเวลาชั่วคราว แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน หรือบอกเลิกสัญญาร่วมลงทุน
(๖) ดำเนินการเกี่ยวกับโครงการร่วมทุนตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
(๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบ
หรือให้ความเห็นในการร่วมลงทุนแต่ละโครงการ
ข้อ ๑๔ เมื่อได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ให้สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีผู้อนุมัติโครงการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับติดตามการดำเนินรายโครงการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ดังนี้
(๑) กำกับดูและติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญาร่วมทุน
(๒) ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ เอกชนคู่สัญญา หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการชี้แจ้ง แสดงความเห็น หรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง
(๓) รายงานผลการดำเนินงาน ความคืบหน้า ปัญหา และแนวทางการแก้ไขในการดำเนินงาน
รายโครงการร่วมลงทุนต่อสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีผู้อนุมัติโครงการ
(๔) รายงานผลการดำเนินงาน ความคืบหน้า ปัญหา และแนวทางการแก้ไขในการดำเนินโครงการร่วมลงทุนตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนต่อสภามหาวิทยาลัย อย่างน้อยหกเดือนต่อหนึ่งครั้ง
(๕) พิจารณาเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ
ร่วมลงทุนตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนต่อหน่วยงานเจ้าของโครงการ
ข้อ ๑๕ ในกรณีที่ปรากฏว่าหน่วยงานเจ้าของโครงการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข
ข้อผูกพันของสัญญาร่วมลงทุนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้คณะกรรมการกำกับติดตามการดำเนินงาน
รายโครงการทำรายงานพร้อมด้วยความเห็นเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีผู้อนุมัติโครงการ
เพื่อสั่งการให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุน
ข้อ ๑๖ ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย ให้อธิการบดี
โดยความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีผู้อนุมัติโครงการมีอำนาจพิจารณาดำเนินการ
อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
(๑) เข้าดำเนินโครงการร่วมลงทุนหรือมอบให้ผู้อื่นเข้าดำเนินโครงการร่วมลงทุน
เป็นระยะเวลาชั่วคราว
(๒) แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน
(๓) บอกเลิกสัญญาร่วมลงทุน
ในกรณีที่เหตุเกิดจากการใช้อำนาจตามวรรคหนึ่งไม่ได้มาจากความผิดของเอกชนคู่สัญญา
ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจ่ายค่าชดเชยแก่เอกชนคู่สัญญาอย่างเป็นธรรม
ข้อ ๑๗ ให้คณะกรรมการโครงการร่วมลงทุน คณะกรรมการกำกับติดตามการดำเนินงาน
รายโครงการ หรือคณะอนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมตามที่อธิการบดีกำหนดโดยความเห็นชอบ
ของสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๘ โครงการร่วมลงทุนใดที่ดำเนินการได้อยู่ก่อนข้อบังคับนี้จะมีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
ข้อ ๑๙ ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย