ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการประชุมและวิธีดําเนินงานสภามหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๘
__________________________
โดยที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๒๔ กําหนดให้การประชุม
และวิธีการดําเนินงานของสภามหาวิทยาลัยเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ และโดยมติสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๘/๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการประชุม
และวิธีดําเนินงานสภามหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๘”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอํานาจออกประกาศ หรือคําสั่งเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
ลักษณะ ๑
การดําเนินงานสภามหาวิทยาลัย
——————
หมวด ๑
การปฏิบัติหน้าที่ของนายกสภามหาวิทยาลัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๔ ให้นายกสภามหาวิทยาลัย ปฏิบัติหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ควบคุมและดําเนินกิจการของสภามหาวิทยาลัย
(๒) เป็นผู้แทนของสภามหาวิทยาลัยในกิจการของสภามหาวิทยาลัย
(๓) เป็นผู้ลงนามในหนังสือ หรือเอกสารสําคัญของมหาวิทยาลัยที่ออกโดยสภามหาวิทยาลัย
(๔) เป็นผู้ลงนามในคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะบุคคล
เพื่อปฏิบัติงานตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย หรือมอบอํานาจให้อธิการบดี หรือผู้ดํารงตําแหน่งอื่น
ในมหาวิทยาลัยปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติการแทนตามมติสภามหาวิทยาลัย
(๕) อํานาจหน้าที่อื่นที่กําหนดไว้ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย
ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ให้นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธานของการประชุม
และให้มีหน้าที่ดําเนินการประชุมให้เป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อการนี้
ให้นายกสภามหาวิทยาลัยมีอํานาจออกคําสั่งใด ๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของการประชุม
ได้ตามความเหมาะสม
ข้อ ๕ ให้อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่ช่วยนายกสภามหาวิทยาลัย
ในกิจการของสภามหาวิทยาลัยตามที่นายกสภามหาวิทยาลัยมอบหมาย และในกรณีที่นายกสภามหาวิทยาลัย
ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ให้อุปนายกสภามหาวิทยาลัยทําหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย
ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย หากนายกสภามหาวิทยาลัยไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
ให้อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธานที่ประชุมแทน และให้มีอํานาจและหน้าที่เช่นเดียวกับ
นายกสภามหาวิทยาลัยตามที่กําหนดไว้ในข้อ ๔ วรรคสอง
หมวด ๒
การปฏิบัติหน้าที่ของเลขานุการสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๖ ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยให้เป็นไป ด้วยความเรียบร้อยดังต่อไปนี้
(๑) จัดระเบียบวาระเสนอต่อนายกสภามหาวิทยาลัย
(๒) นัดประชุมสภามหาวิทยาลัยตามมติสภามหาวิทยาลัยหรือตามที่นายกสภามหาวิทยาลัยกําหนด
(๓) สนับสนุนและอํานวยความสะดวกแก่ประธานที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ในการดูแลควบคุมการประชุมสภามหาวิทยาลัยให้เป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย
(๔) จัดทํารายงานการประชุมเพื่อนําเสนอสภามหาวิทยาลัยในระเบียบวาระรับรองรายงาน
การประชุม และดําเนินการแก้ไขรายงานการประชุมตามความเห็นของที่ประชุม ในกรณีที่ที่ประชุม
สภามหาวิทยาลัยมีมติให้แก้ไขรายงานการประชุม
(๕) แจ้งมติหรือความเห็นของที่ประชุมให้อธิการบดี หัวหน้าส่วนงาน หรือผู้ที่จะต้องปฏิบัติ
ตามมติหรือความเห็นของสภามหาวิทยาลัยนั้นได้ทราบและปฏิบัติให้เป็นไปตามมติหรือความเห็นนั้น
รวมทั้งให้รายงานผลการปฏิบัติการนั้นให้มหาวิทยาลัยทราบด้วย
(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่นายกสภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
(๗) ควบคุม ดูแล และสั่งการปฏิบัติงานของสำนักงานสภามหาวิทยาลัยตามที่อธิการบดีมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทน
หมวด ๓
สำนักงานสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๗ สำนักงานสภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัย
รับผิดชอบการบริหารงานธุรการทั่วไป และอำนาจหน้าที่อื่นที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย
ที่ว่าด้วยส่วนงานของมหาวิทยาลัย
การแบ่งส่วนงานภายในสำนักงานสภามหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามช้อบังคับมหาวิทยาลัย
ที่ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานภายใน
ในสำนักงานสภามหาวิทยาลัย ให้มีผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัยคนหนึ่ง
เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสำนักงานสภามหาวิทยาลัย
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้ง และอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงาน
สภามหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย
ลักษณะ ๒
การประชุมสภามหาวิทยาลัย
—————-
หมวด ๑
การเสนอเรื่องเข้าระเบียบวาระการประชุม
ข้อ ๘ ผู้มีสิทธิเสนอเรื่องเข้าระเบียบวาระการประชุมสภามหาวิทยาลัย ได้แก่
(๑) นายกสภามหาวิทยาลัย
(๒) อธิการบดี
(๓) กรรมการสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๙ การเสนอเรื่องเข้าระเบียบวาระการประชุม ให้ทำเป็นหนังสือถึงนายกสภามหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาสั่งการให้บรรจุเข้าระเบียบวาระของการประชุมสภามหาวิทยาลัย
หมวด ๒
การเรียกประชุม
ข้อ ๑๐ ให้นายกสภามหาวิทยาลัยเรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง
แต่หากเห็นว่าในเดือนใดไม่มีเรื่องที่จะบรรจุเข้าเป็นระเบียบวาระการประชุม หรือมีเหตุการณ์ร้ายแรงที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการประชุมและไม่มีเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องประชุมในเดือนนั้น นายกสภามหาวิทยาลัยอาจสั่งให้งดการประชุมในเดือนนั้นก็ได้
กรรมการสภามหาวิทยาลัยตั้งแต่สามคนขึ้นไปร้องขอให้จัดการประชุมเร่งด่วน
เพื่อพิจารณาระเบียบวาระซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์สำคัญของมหาวิทยาลัย หรือหากไม่มีการประชุมเพื่อพิจารณา
ในเรื่องนั้นแล้วจะทำให้มหาวิทยาลัยเสียหายอย่างร้ายแรง นายกสภามหาวิทยาลัยอาจเรียกประชุม
สภามหาวิทยาลัยเป็นการเร่งด่วนได้
การเรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยต้องแจ้งให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกคนได้ทราบ
ก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสามวัน เว้นแต่กรณีการประชุมตามวรรคสอง อาจแจ้งน้อยกว่าสามวันก็ได้
ข้อ ๑๑ ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยออกหนังสือแจ้งกำหนดเวลาและสถานที่ประชุม
พร้อมกับจัดส่งระเบียบวาระการประชุมพร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาให้กรรมการสภามหาวิทยาลัย
ทุกคนทราบก่อนการประชุม
ในกรณีที่เป็นเรื่องลับ หรือมีเหตุผลความจำเป็น หรือเป็นกรณีเร่งด่วน นายกสภามหาวิทยาลัยอาจสั่งให้บรรจุระเบียบวาระการประชุมเพิ่มเติมในขณะที่มีการประชุมแล้ว ในกรณีนี้ให้แจ้งระเบียบวาระนั้น
และจัดส่งเอกสารประกอบการพิจารณาให้ที่ประชุมทราบก่อนการพิจารณาระเบียบวาระนั้นก็ได้
หมวด ๓
การพิจารณา
ข้อ ๑๒ การประชุมสภามหาวิทยาลัยให้พิจารณาเรียงลำดับระเบียบวาระการประชุม ดังนี้
(๑) เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
(๒) เรื่องรับรองรายงานการประชุม
(๓) เรื่องสืบเนื่องหรือเรื่องค้างการประชุมจากการประชุมคราวก่อน
(๔) เรื่องเพื่อพิจารณา
(๕) เรื่องอื่น ๆ
ในกรณีที่มีเหตุผลเพื่อประโยชน์หรือความสะดวกแก่การประชุม หรือเป็นเรื่องเร่งด่วน
หรือสืบเนื่องกัน นายกสภามหาวิทยาลัยอาจสั่งให้พิจารณาระเบียบวาระการประชุมเรื่องหนึ่งเรื่องใด
เป็นลำดับก่อนหรือหลังแตกต่างจากการเรียงลำดับตามวรรคหนึ่งก็ได้
ข้อ ๑๓ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยต้องมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาประชุม
ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมดเท่าที่มี จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยทุกครั้ง ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยจัดให้
กรรมการสภามหาวิทยาลัยและผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคนลงลายมือชื่อเข้าร่วมการประชุมเก็บไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๑๔ กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีสภาพร้ายแรงอันอาจทําให้การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยในเรื่องใดไม่เป็นกลาง กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้นั้นไม่สามารถประชุม
เพื่อพิจารณาในระเบียบวาระเรื่องนั้นได้
ในกรณีที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยคนใดเห็นว่าตนมีกรณีตามวรรคหนึ่ง
ให้แจ้งแก่ประธานที่ประชุมทราบ และออกจากการประชุมในระเบียบวาระเรื่องนั้น เพื่อการนี้
ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยบันทึกเหตุการณ์ไว้ในรายงานการประชุม
ในกรณีที่มีคู่กรณีหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยคนใดทักท้วงในการประชุม
หรือแจ้งเป็นหนังสือต่อสภามหาวิทยาลัยก่อนการประชุมว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยคนหนึ่งคนใด
มีกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยคนที่ถูกทักท้วงนั้น
มีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือไม่ หากพบว่ามีกรณีตามที่ถูกทักท้วงจริงให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้นั้น
ออกจากการประชุมในระเบียบวาระเรื่องนั้น เพื่อการนี้ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยบันทึกเหตุการณ์
ไว้ในรายงานการประชุม
ข้อ ๑๕ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ประธานที่ประชุมจะต้องเปิดโอกาสให้
กรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระและทั่วถึง
ในการแสดงความเห็นของกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องกระชับ อยู่ในประเด็น ใช้ถ้อยคําสุภาพ และต้องคํานึงถึงมารยาทของการประชุม
หมวด ๔
การลงมติ
ข้อ ๑๖ นอกจากจะมีกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัยกําหนดไว้
เป็นอย่างอื่น การลงมติของสภามหาวิทยาลัยให้ถือเสียงข้างมากของผู้เข้าร่วมประชุม
ในกรณีการลงมติได้คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมมีอํานาจชี้ขาด
ข้อ ๑๗ ในการพิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใด ถ้าหากไม่มีกรรมการสภามหาวิทยาลัย
แสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่น หรือไม่ทักท้วง ประธานที่ประชุมอาจสรุปการประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องนั้นว่า
ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีความเห็นอย่างไรและมีมติอย่างไร ในการนี้ให้ถือว่าการสรุปของประธานนั้น
เป็นมติของที่ประชุม
ข้อ ๑๘ การลงมติในการประชุมสภามหาวิทยาลัยให้กระทําโดยเปิดเผย เว้นแต่
ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้ลงมติแบบลับ
การลงมติแบบลับให้กระทําการ โดยใช้วิธีการที่เหมาะสมตามสมควรและเพียงพอ
แก่การทําให้การลงความเห็นของกรรมการสภามหาวิทยาลัยแต่ละคนเป็นความลับเฉพาะตัวผู้ออกเสียงเท่านั้น
หมวด ๕
การเลือกอุปนายกสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๙ เมื่อมีกรณีที่ต้องเลือกอุปนายกสภามหาวิทยาลัย ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยบรรจุ ระเบียบวาระดังกล่าวในการประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณา
การเลือกอุปนายกสภามหาวิทยาลัยตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามวิธีการที่สภามหาวิทยาลัยกําหนด
หมวด ๖
รายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๐ รายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามรูปแบบที่เลขานุการ
สภามหาวิทยาลัยโดยความเห็นชอบของนายกสภามหาวิทยาลัยกําหนด
ข้อ ๒๑ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัย ก่อนการพิจารณา รับรองรายงานการประชุม สภามหาวิทยาลัยอาจแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจพิจารณาความถูกต้องของรายงาน
การประชุมสภามหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย เลขานุการสภามหาวิทยาลัยเป็นประธาน
และกรรมการจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมายอีกจํานวนไม่เกินสามคนก็ได้
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและความเหมาะสม
ของรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยก่อนการรับรองรายงานการประชุม และอํานาจหน้าที่อื่น
ที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมายก็ได้
ข้อ ๒๒ ในการพิจารณารับรองรายงานการประชุม กรรมการสภามหาวิทยาลัยจะขอแก้ไขรายงานการประชุมให้มีข้อความที่ถูกต้องตามความเป็นจริงและเหมาะสมก็ได้ แต่การจะแก้ไขรายงานการประชุมตามที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้นั้นเสนอหรือไม่ ให้เป็นไปตามมติสภามหาวิทยาลัย
ในการพิจารณารายงานการประชุม หากมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยเสนอให้มีการแก้ไข
รายงานการประชุมในส่วนใดแล้ว แต่ที่ประชุมไม่เห็นชอบด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เสนอขอแก้ไข
รายงานการประชุมนั้นอาจขอให้บันทึกความเห็นของตนไว้เป็นหลักฐานก็ได้
การขอให้แก้ไขรายงานการประชุมในส่วนที่เป็นมติและเหตุผลของมติที่ประชุม ไม่สามารถทําได้
เว้นแต่การขอให้แก้ไขถ้อยคําให้ถูกต้องตามมติที่ประชุม
หมวด ๗
การปฏิบัติตามมติสภามหาวิทยาลัยและรายงานผลการปฏิบัติการตามมติสภามหาวิทยาลัย
ข้อ ๒๓ เมื่อสภามหาวิทยาลัยมีมติในเรื่องใดแล้ว ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยทําหนังสือ
แจ้งมติสภามหาวิทยาลัยนั้นให้แก่ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบและปฏิบัติการให้เป็นไปตามมตินั้น
และให้รายงานผลการปฏิบัติการนั้นให้สภามหาวิทยาลัยทราบ
ข้อ ๒๔ เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้ออกข้อบังคับมหาวิทยาลัยในเรื่องใด
ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัย มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านนิติการของมหาวิทยาลัยดําเนินการประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไปในมหาวิทยาลัย
ในกรณีที่สภามหาวิทยาลัยออกข้อบังคับที่กฎหมายกําหนดให้ต้องนําไปประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษา ให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านนิติการ ดําเนินการส่งข้อบังคับนั้นไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านนิติการ รายงานแจ้งให้สภามหาวิทยาลัยทราบ
ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘