ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ. ๒๕๕๘
………………………………………………..
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่งนายกสภา มหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๕๘
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๐ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ และโดยมติสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๘
เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ชื่อข้อบังคับ
ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการสรรหานายก
สภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ. ๒๕๕๘”
ข้อ ๒ เวลาที่มีผลใช้บังคับ
ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ องค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา
ก่อนครบวาระไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน ให้นายกสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วย อธิการบดี เป็นประธาน ประธานสภาอาจารย์ ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ตามมาตรา ๒๐ (๓) หนึ่งคน กรรมการ
สภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี ตามมาตรา ๒๐ (๔) สองคน กรรมการสภามหาวิทยาลัยจาก
ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ตามมาตรา ๒๐ (๕) หนึ่งคน กรรมการ
สภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ ตามมาตรา ๒๐ (๖) สองคน กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ ตามมาตรา ๒๐ (๗) หนึ่งคน เป็นกรรมการ
ให้คณะกรรมการสรรหาแต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่เลขานุการ ให้ผู้อำนวยการ สำนักงานสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ ๔ คุณสมบัติกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
การสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิให้สรรหา
จากบุคคลผู้มีคุณสมบัติ ดังนี้
(๑) เป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นที่ยอมรับในสังคม
(๒) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือมีความสามารถในทางวิชาการ
(๓) เป็นผู้ที่สามารถอุทิศตนให้แก่งานของมหาวิทยาลัย
(๔) เป็นหรือเคยเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือบริหารงานที่เป็นประโยชน์แก่สังคมหรือประเทศชาติ (๕) เป็นผู้ที่มีความสนใจและเห็นความสำคัญของการศึกษาในมหาวิทยาลัย
ข้อ ๕ การดำเนินการของกรรมการสรรหา
ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นนายกสภา มหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของส่วนงานต่าง ๆ
ในมหาวิทยาลัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนด พร้อมทั้งประมวลประวัติ ผลงาน
และรวบรวมรายชื่อนำเสนอเพื่อพิจารณาตามจำนวนและหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย ให้รวบรวมรายชื่อจำนวนไม่เกินสามรายชื่อ เรียงลำดับตามตัวอักษรเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๒) กรณีการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิให้รวบรวมรายชื่อจำนวนไม่เกิน ยี่สิบแปดรายชื่อ เรียงลำดับตามตัวอักษร เสนอต่อนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๒๐ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) เพื่อพิจารณาเลือกเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยตาม
มาตรา ๒๐ (๘)
(๓) ให้คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิหนึ่งคนจาก บัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนดและมีคุณสมบัติตามข้อ ๔ เสนอต่อนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๒๐ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) เพื่อพิจารณาเลือกเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา ๒๐ (๘)
ทั้งนี้ การสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิให้ดำเนินการสรรหาเพื่อให้ได้มาซึ่ง ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญทั้งจากด้านสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ข้อ ๖ มติในการเลือกนายกสภามหาวิทยาลัย
บุคคลที่จะได้รับเลือกเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง
ของจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด
ในกรณีที่ไม่มีผู้ได้รับคะแนนเสียงตามวรรคหนึ่ง ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยลงมติ
ในครั้งที่สองในระหว่างผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรก โดยต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง
ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาประชุม
ข้อ ๗ มติในการเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
การเลือกเพื่อให้ได้กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสิบสี่คน ตามข้อ ๕ (๒)
ให้อธิการบดีเรียกประชุมเพื่อให้นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย
ตามมาตรา ๒๐ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) และ (๗) ลงมติเลือก โดยต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาประชุม หากผลการลงมติเลือกได้กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
ไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด ให้ดำเนินการเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอจนกว่า
จะได้ครบตามจำนวน ในกรณีผู้ได้รับเลือกในลำดับสุดท้ายมีคะแนนเท่ากันมากกว่าหนึ่งคน ให้ใช้วิธีตัดสิน
โดยการจับสลาก
เมื่อได้ดำเนินการเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ ๕ (๒) แล้ว
ให้อธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย ดำเนินการทาบทามเพื่อขอความยินยอม หากไม่สามารถดำเนินการได้ครบตามจำนวนที่กำหนด ให้ทาบทามบุคคลที่ได้คะแนนลำดับถัดไปมาแทน
การให้ความเห็นชอบการเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ตามข้อ ๕ (๓) ต้อง ได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาประชุม
ข้อ ๘ การสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยเพิ่มเติม
ในกรณีจำเป็นต้องดำเนินการสรรหาบุคคลเพื่อเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภา มหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมให้ครบ ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาเฉพาะตำแหน่งที่
ต้องสรรหาเพิ่มเติมนั้น
ข้อ ๙ การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย
เมื่อการสรรหาแล้วเสร็จ ให้มหาวิทยาลัยดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งต่อไป
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๑๐ การสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
ซึ่งกระทำเป็นครั้งแรก ให้นายกสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยอธิการบดี
เป็นประธาน ประธานสภาอาจารย์ ประธานสภาข้าราชการ กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาจากผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีหนึ่งคน คณบดีหนึ่งคน ผู้อำนวยการสถาบัน หรือผู้อำนวยการสำนักหนึ่งคน เป็นกรรมการ
และให้รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายเป็นเลขานุการ
ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็น
นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิเสนอต่อนายกสภามหาวิทยาลัย
และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๑๔ (๒) (๓) (๔) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อพิจารณาคัดเลือก
ให้นำหลักเกณฑ์การสรรหาและการเลือกนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการ
สภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อบังคับนี้มาใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน
หกสิบวัน นับแต่วันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ ๑๑ ผู้รักษาการ
ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้