ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน พ.ศ. ๒๕๕๙
——————————————–
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานภายในส่วนงานของมหาวิทยาลัย
ที่เกี่ยวกับหัวหน้าส่วนงาน คณะกรรมการประจำส่วนงาน หัวหน้าภาควิชา การแบ่งส่วนงานภายใน
และการบริหารงานของส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ ประกอบมาตรา ๑๐ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๖
มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘
และโดยมติสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
เห็นชอบให้ออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ชื่อข้อบังคับ
ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน พ.ศ. ๒๕๕๙”
ข้อ ๒ เวลาที่มีผลใช้บังคับ
ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ นิยาม
ในข้อบังคับนี้
“คณะหรือวิทยาลัย” ให้หมายความรวมถึงสถาบันภาษา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร
และส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัยด้วย
“คณบดี” ให้หมายความรวมถึง ผู้อำนวยการสถาบันภาษา ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะหรือวิทยาลัยด้วย
“สถาบันหรือสำนัก”[๑] ให้หมายความรวมถึงส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบันหรือสำนัก แต่ไม่รวมถึงสถาบันภาษา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย
“ผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก”[๒] ให้หมายความรวมถึงหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบันหรือสำนัก แต่ไม่รวมถึงผู้อำนวยการสถาบันภาษา ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย
“สำนักงาน”[๓] ให้หมายความรวมถึง สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย
ข้อ ๔ ผู้รักษาการ
ให้อธิการบดีเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
ลักษณะ ๑
การดำเนินงานภายในคณะหรือวิทยาลัย
หมวด ๑
คณบดี
——————————————–
ข้อ ๕ คุณสมบัติของคณบดี
คณบดีต้องมีคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๒ และต้องสามารถปฏิบัติงานในคณะ
หรือวิทยาลัยได้เต็มเวลา
ข้อ ๖ อำนาจหน้าที่คณบดี
คณบดีเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของคณะและวิทยาลัย และโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของคณะหรือวิทยาลัยให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ
ของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
(๒) บริหารงานบุคคล การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
ที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของคณะหรือวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
(๓) จัดทำแผนพัฒนาคณะหรือวิทยาลัยเพื่อเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาและนำเสนอ
สภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๔) ดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานของคณะหรือวิทยาลัยที่ได้รับการพิจารณา
ให้ความเห็นชอบหรือได้รับการอนุมัติจากอธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยแล้ว
(๕) ดำเนินการเพื่อจัดหาราบได้และทรัพยากรอื่นจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจของคณะหรือวิทยาลัยให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
(๖) จัดทำงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณา
ให้ความเห็นชอบ และนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๗) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของคณะหรือวิทยาลัยเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาและนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่ง
หรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
ข้อ ๗ การพ้นจากตำแหน่งของคณบดี
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๑ คณบดีพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๔๒
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๖) สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ถอดถอนเพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ หรือมีการกระทำอันขัดต่อปณิธาน
ของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗ วรรคสอง หรือบริหารงานในทางที่ขัดกับหลักการบริหารมหาวิทยาลัย
ตามมาตรา ๘ อย่างร้ายแรง
หมวด ๒
การสรรหาคณบดี
——————————————–
ข้อ ๘[๔] องค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาคณบดี
ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณบดีที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมายคนหนึ่ง
เป็นประธานกรรมการ
(๒) อธิการบดี เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) ประธานสภาอาจารย์ เป็นกรรมการ
(๔) ผู้แทนคณาจารย์ประจำคณะหรือวิทยาลัย จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๕) ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่มิใช่คณาจารย์ประจำของคณะหรือวิทยาลัย
จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๖) ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๗)[๕] เลขานุการสภามหาวิทยาลัยหรือผู้ช่วยเลขานุการสภามหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย เป็นเลขานุการ
ให้ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ช่วยเลขานุการ และอาจให้มีผู้ช่วยเลขานุการที่แต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขานุการสภามหาวิทยาลัยอีกหนึ่งคนก็ได้
ในกรณีประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามวาระ ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมการต่อไปจนกว่าการดำเนินการสรรหาคณบดีจะเสร็จสิ้น แต่หากผู้นั้นไม่ประสงค์
จะเป็นประธานกรรมการ ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิคนอื่น
เป็นประธานกรรมการแทน
ในกรณีที่กรรมการตาม (๔) พ้นจากการเป็นคณาจารย์ประจำของคณะหรือวิทยาลัย
หรือกรรมการตาม (๕) พ้นจากการเป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่มิใช่คณาจารย์ประจำของคณะ
หรือวิทยาลัยให้ผู้นั้นพ้นจากการตำแหน่งกรรมการ
ในกรณีที่ไม่มีกรรมการตาม (๓) หรือมีการพ้นจากตำแหน่งกรรมการตามวรรคสี่
ให้คณะกรรมการสรรหาคณบดีประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มี
ข้อ ๙ การได้มาซึ่งกรรมการจากสรรหาตามข้อ ๘ (๔) (๕) และ (๖)
เมื่อคณะหรือวิทยาลัยใดไม่มีคณบดี หรือคณบดีในปัจจุบันเหลือเวลาการปฏิบัติหน้าที่อีก
ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน ให้คณะหรือวิทยาลัยดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) เรียกประชุมคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อเสนอชื่อต่อสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหา
(๒) จัดให้คณาจารย์ประจำและผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่มิใช่คณาจารย์ประจำของคณะ
หรือวิทยาลัยนั้น เสนอชื่อคณาจารย์ประจำหรือผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่มิใช่คณาจารย์ประจำของคณะหรือวิทยาลัยนั้น ให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหา
คณาจารย์ประจำที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหาต้องปฏิบัติงาน
ในคณะหรือวิทยาลัยนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และต้องได้รับการเสนอชื่อด้วยคะแนนสูงที่สุด
ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยที่มิใช่คณาจารย์ประจำที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ
ในคณะกรรมการสรรหา ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าชำนาญการ และต้องปฏิบัติงานในคณะหรือวิทยาลัยนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี และต้องได้รับการเสนอชื่อด้วยคะแนนสูงที่สุด
ในกรณีที่ไม่มีผู้มีคุณสมบัติตามวรรคสองหรือวรรคสาม ให้อธิการบดีกำหนดให้เสนอชื่อผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของคณะหรือวิทยาลัยนั้นที่มีคุณสมบัติอื่นที่เหมาะสมเป็นกรรมการ
ในคณะกรรมการสรรหา โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัยแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานของคณะหรือวิทยาลัยได้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนการเสนอชื่อ
ในกรณีที่การเสนอชื่อตาม (๒) มีผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุดเท่ากันสองคนขึ้นไป ให้ใช้วิธีการตัดสินโดยการจับสลากในระหว่างผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุด และให้ผู้จับสลากได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหา
ข้อ ๑๐ กรอบเวลาการได้มาซึ่งกรรมการตามข้อ ๘ (๔) (๕) และ (๖)
คณะหรือวิทยาลัยต้องดำเนินการตามข้อ ๙ ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ไม่มีคณบดีหรือวันที่คณบดีมีกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน
ข้อ ๑๑ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาคณบดี
ให้คณะกรรมการสรรหาคณดีดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณบดี เพื่อการนี้ให้มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ และกำหนดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาคณบดี
(๒) จัดให้มีการเปิดรับสมัคร การเสนอชื่อ การคัดสรร หรือการดำเนินการอื่นที่เหมาะสม
เพื่อแสวงหาผู้ที่คุณสมบัติเหมาะสมกับการได้รับการแต่งตั้งเป็นคณบดี
(๓) จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานและนักศึกษาของคณะ
หรือวิทยาลัยถึงแนวทางการบริหารงานคณะหรือวิทยาลัย และให้ผู้ที่สมัครเข้ารับการสรรหา หรือผู้ที่ได้รับ
การทาบทามจากคณะกรรมการสรรหาคณบดีได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะหรือวิทยาลัย
และแนวทางหรือนโยบายการบริหารงานต่อผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยและนักศึกษาของคณะหรือวิทยาลัยด้วย
(๔) กลั่นกรอง เฟ้นหา และทาบทาม ผู้ที่มีคุณสมบัติ ความรู้ ประสบการณ์
และความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ เพื่อเสนอชื่อต่อสภามหาวิทยาลัยให้พิจารณาแต่งตั้งเป็นคณบดี
(๕) ดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาคณบดี ตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
ข้อ ๑๒ การจำกัดสิทธิคณะกรรมการสรรหาคณบดี
ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหาคณบดีต้องถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้
(๑) ไม่มีสิทธิสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณบดีในคราวการสรรหาครั้งที่ตนเองเป็นกรรมการ
(๒) ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งรองคณบดีหรือผู้ช่วยคณบดีของคณบดีที่ตนสรรหา
ข้อ ๑๓ องค์ประชุมคณะกรรมการสรรหาคณบดี
การประชุมของคณะกรรมการสรรหาคณบดี ต้องมีกรรมการเข้าร่วมการประชุมไม่น้อยกว่า
กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ ๑๔ การเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อ
ในการประชุมของคณะกรรมการสรรหาคณบดีเพื่อลงมติเลือกผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อ
ต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นคณบดี ให้ดำเนินการดังนี้
(๑) การลงมติของคณะกรรมการสรรหาคณบดีให้ใช้วิธีลงคะแนนลับและให้กรรมการหนึ่งคนเลือกผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อได้เพียงคนเดียว
(๒) ให้คณะกรรมการสรรหาคณบดี เสนอชื่อผู้ที่ได้คะแนนเสียงข้างมากสองอันดับแรก
ต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นคณบดี
(๓) ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนเสียงในอันดับหนึ่งเท่ากันสองคน ให้คณะกรรมการสรรหาคณบดี
เสนอชื่อผู้ได้คะแนนอันดับหนึ่งสองคนนั้นต่อสภามหาวิทยาลัย ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนเสียงในอันดับหนึ่ง
หลายคนให้คณะกรรมการจัดให้มีการลงมติโดยใช้วิธีการลงคะแนนลับอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ได้ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงในสองอันดับแรก
(๔) คณะกรรมการสรรหาคณบดีอาจมีมติด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์เสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นคณบดีต่อสภามหาวิทยาลัยเพียงชื่อเดียวก็ได้
ข้อ ๑๕ รายงานกระบวนการสรรหา
ให้คณะกรรมการสรรหาคณบดีจัดทำรายงานกระบวนการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้ง
เป็นคณบดี และผลการรับฟังความคิดเห็นตามข้อ ๑๑ (๓) ถ้ามี โดยละเอียด และเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับ
การพิจารณาแต่งตั้งเป็นคณบดี จำนวนสองชื่อ หรือหนึ่งชื่อ แล้วแต่กรณี ต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้นเป็นคณบดี
ในกรณีที่มีการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณบดีมากกว่าหนึ่งชื่อ
ให้คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อโดยเรียงลำดับตามตัวอักษร
สภามหาวิทยาลัยอาจขอให้คณะกรรมการสรรหาคณบดีดำเนินการจัดให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อ
ตามวรรคแรกแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะหรือวิทยาลัยและแนวทางหรือนโยบาย
การบริหารงานคณะหรือวิทยาลัยต่อสภามหาวิทยาลัยด้วยก็ได้
ข้อ ๑๕/๑[๖] การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย
การลงมติเพื่อเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นคณบดีให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ และต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด
ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดรับคะแนนเสียงคามวรรคหนึ่งให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยลงมติอีกครั้ง
โดยในการลงมติครั้งนี้ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นคณบดีต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการ
สภามหาวิทยาลัยที่มาประชุม
ในการลงมติมติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หากมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุม
สภามหาวิทยาลัยออกเสียงชี้ขาด
ข้อ ๑๖ การสรรหาคณบดีของคณะหรือวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นใหม่
ในการสรรหาคณบดีในคณะหรือวิทยาลัยที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่ ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาคณบดี ประกอบด้วย อธิการบดีเป็นประธานกรรมการ กรรมการสภามหาวิทยาลัย
ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย และประธานสภาอาจารย์ เป็นกรรมการ และให้มีกรรมการอื่นที่อธิการบดีเสนอชื่ออีกจำนวนสามคน
ให้รองอธิการบดีที่รับผิดชอบกำกับดูแลสำนักงานสภามหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ
และเลขานุการผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ช่วยเลขานุการ และอาจมีผู้ช่วยเลขานุการที่แต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขานุการสภามหาวิทยาลัยอีกหนึ่งคนก็ได้
ให้คณะกรรมการสรรหาคณบดีตามวรรคแรก ดำเนินการเฟ้นหา กลั่นกรอง และทาบทาม
ผู้ที่มีคุณสมบัติ ความรู้ ประสบการณ์ และความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ เพื่อเสนอชื่อต่อสภามหาวิทยาลัย
ให้พิจารณาแต่งตั้งเป็นคณบดี
หมวด ๓
รองคณบดี
——————————————–
ข้อ ๑๗ การแต่งตั้งและจำนวนรองคณบดี
ให้อธิการบดีแต่งตั้งรองคณบดีจากคำแนะนำของคณบดี เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบ
ตามที่คณบดีมอบหมาย
คณะหรือวิทยาลัยใดจะมีรองคณบีจำนวนเท่าใด ให้เป็นไปตามจำนวนที่อธิการบดี
โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกำหนด โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๑๘ คุณสมบัติรองคณบดี
รองคณบดีจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๔๓ และต้องสามารถปฏิบัติงานในคณะ
หรือวิทยาลัยได้เต็มเวลา
หมวด ๔
คณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
ส่วนที่ ๑
องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา
วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง
ของกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
——————————————–
ข้อ ๑๙ องค์ประกอบคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
ในคณะหรือวิทยาลัยให้มีคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยที่อธิการบดีแต่งตั้ง
จำนวนไม่น้อยกว่าสิบเอ็ดคน แต่ไม่เกินสิบห้าคน ประกอบด้วย
(๑) คณบดีเป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการจากรองคณบดี หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าสาขาวิชา หรือคณาจารย์ประจำ
ของคณะหรือวิทยาลัยที่คณบดีเสนอชื่อ
(๓) กรรมการจากผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
กรรมการตาม (๓) ให้อธิการบดีพิจารณาแต่งตั้งจากผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย โดยอาจขอความเห็นจากคณะหรือวิทยาลัยเพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งก็ได้ และต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าสองคน
การแต่งตั้งกรรมการตาม (๔) ให้อธิการบดีพิจารณาแต่งตั้งจากผู้ที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๒๐
โดยอาจขอความเห็นจากคณะหรือวิทยาลัยเพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งก็ได้ และต้องมีจำนวนมากกว่าประธานกรรมการ และกรรมการตาม (๒) และ (๓) รวมกัน
ให้เลขานุการคณะหรือวิทยาลัยเป็นเลขานุการคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
และอาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของคณะหรือวิทยาลัยนั้นเป็นผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกินสองคนก็ได้ เว้นแต่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะหรือวิทยาลัย ให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของคณะ
หรือวิทยาลัยคนหนึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
ข้อ ๒๐ คุณสมบัติผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
ผู้ทรงคุณวุฒิที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยตามข้อ ๑๙ (๔)
ต้องเป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
(๑) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมเป็นที่ยอมรับในสังคม
(๒) เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการศึกษา ด้านวิจัย ด้านการบริการทางวิชาการ
หรือด้านการบริหารงาน หรือประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ
(๓) เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในการบริหารการศึกษาหรือบริหารงานองค์กร
(๔) เป็นผู้อุทิศตนให้กับมหาวิทยาลัย หรือคณะ หรือวิทยาลัย
ข้อ ๒๑ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประจำคณะ
หรือวิทยาลัย
คณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นคนล้มละลาย
(๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๖) สภามหาวิทยาลัยมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
ข้อ ๒๒ องค์ประกอบกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยกรณีตำแหน่งว่าง
ในกรณีที่กรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดและยังไม่มีการดำเนินการ
ให้ได้มาซึ่งกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยประกอบด้วยกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยเท่าที่มีอยู่
ข้อ ๒๓ การแต่งตั้งกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยสืบแทน
ในกรณีที่กรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ ให้อธิการบดีพิจารณาแต่งตั้งกรรมการสืบแทน เว้นแต่ในกรณีที่วาระของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยเหลืออยู่
ไม่ถึงหกสิบวันจะไม่มีการแต่งตั้งกรรมการสืบแทนก็ได้
ข้อ ๒๔ วาระของกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยที่แต่งตั้งสืบแทน
ในกรณีที่กรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ และได้มี
การดำเนินการให้มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยดำรงตำแหน่งแทนแล้ว ให้ผู้นั้น
อยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน
ส่วนที่ ๒
อำนาจหน้าที่ของประธานและเลขานุการ
คณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
——————————————–
ข้อ ๒๕ หน้าที่ของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
ให้ประธานกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยปฏิบัติหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบการดำเนินงานของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
(๒) ควบคุมและดำเนินการประชุมคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
(๓) เป็นผู้แทนของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
ข้อ ๒๖ หน้าที่เลขานุการคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
ให้เลขานุการคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยปฏิบัติหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เชิญประชุมคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ในข้อบังคับนี้
(๒) แจ้งระเบียบวาระการประชุม เตรียมเอกสารและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับวาระ
การประชุมให้คณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยตามที่ประธานกรรมการมอบหมาย
(๓) จัดทำรายงานการประชุม เว้นแต่รายงานการประชุมลับที่มีมติให้เปิดเผย
(๔) แจ้งมติของที่ประชุมไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง
(๕) เก็บและรักษาเอกสารของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
(๖) ปฏิบัติการตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้หรือตามที่คณะกรรมการประจำคณะ
หรือวิทยาลัยมอบหมาย
ส่วนที่ ๓
การประชุมและการลงมติของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
——————————————–
ข้อ ๒๗ การเสนอเรื่องในการประชุม
ให้คณบดีเป็นผู้เสนอเรื่องเข้าระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการประจำคณะ
หรือวิทยาลัย
ข้อ ๒๘ การจัดให้มีการประชุม
ให้ประธานกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการประจำคณะ
หรือวิทยาลัยอย่างน้อยสองเดือนครั้ง
หากกรรมการตั้งแต่หนึ่งในสามของจำนวนกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยทั้งหมด
ร้องขอให้มีการประชุม ให้ประธานกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยจัดให้มีการประชุม
ข้อ ๒๙ การนัดประชุม
การนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือและให้นัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน หากมีกรณีเร่งด่วน
ให้นัดล่วงหน้าน้อยกว่าสามวันได้ โดยแจ้งความจำเป็นเร่งด่วนนั้นในหนังสือเชิญประชุม
ข้อ ๓๐ องค์ประชุม
การประชุมคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า
กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม
เมื่อพ้นกำหนดการประชุมไปแล้วครึ่งชั่วโมง ถ้ากรรมการยังไม่ครบองค์ประชุม
ประธานที่ประชุมอาจสั่งให้มีการเลื่อนการประชุมไปก็ได้
ประธานกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย อาจอนุญาตให้ผู้ที่มิได้เป็นกรรมการเข้าร่วมประชุมในวาระใดวาระหนึ่งหรือตลอดการประชุมก็ได้
ข้อ ๓๑ ประธานในที่ประชุม
ให้ประธานกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการ
ประจำคณะหรือวิทยาลัย หากประธานกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการคนหนึ่งที่ประธานกรรมการมอบหมายเป็นประธานที่ประชุมแทน
ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่และไม่ได้มอบหมายให้กรรมการคนใดเป็นประธานที่ประชุม
ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุมแทน
ข้อ ๓๒ ระเบียบวาระและการดำเนินการประชุม
การประชุมคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย ให้ที่ประชุมพิจารณาเฉพาะเรื่องที่มีอยู่
ในระเบียบวาระการประชุม เว้นแต่ที่ประชุมมีมติเป็นอย่างอื่น ประธานที่ประชุมต้องดำเนินการพิจารณาตามลำดับระเบียบวาระการประชุมที่จัดไว้ ดังนี้
(๑) เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
(๒) รับรองรายงานการประชุม
(๓) เรื่องสืบเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน
(๔) เรื่องเสนอเรื่องพิจารณา
(๕) เรื่องอื่นๆ
ในกรณีที่มีเรื่องด่วน ประธานที่ประชุมอาจให้พิจารณาเรื่องเร่งด่วนดังกล่าวก่อนก็ได้
ข้อ ๓๓ การประชุมลับ
ที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย อาจมีมติให้มีการประชุมลับเพื่อพิจารณาเรื่องในระเบียบวาระการประชุมเรื่องใดก็ได้
ผู้ที่อยู่ในที่ประชุมลับ ได้แก่ คณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย และผู้ที่ได้รับอนุญาตจากที่ประชุมเท่านั้น
ข้อ ๓๔ ส่วนได้เสียของกรรมการ
กรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้
การพิจารณาของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยในเรื่องใดไม่เป็นกลาง กรรมการประจำคณะ
หรือวิทยาลัยผู้นั้นไม่สามารถประชุมเพื่อพิจารณในระเบียบวาระเรื่องนั้นได้
ในกรณีที่กรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยคนใดเห็นว่าตนมีกรณีตามวรรคหนึ่ง
ให้แจ้งแก่ประธานที่ประชุมทราบ และออกจากการประชุมในระเบียบวาระเรื่องนั้น เพื่อการนี้ให้เลขานุการคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยบันทึกเหตุการณ์ไว้ในรายงานการประชุม
ในกรณีที่มีคู่กรณีหรือกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยคนใดทักท้วงในการประชุม หรือแจ้งเป็นหนังสือต่อประธานกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยก่อนการประชุมว่า กรรมการประจำคณะ
หรือวิทยาลัยคนใด้มีกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยพิจารณาว่ามีกรณี
ตามวรรคหนึ่งหรือไม่ หากพบว่ามีกรณีตามที่ถูกทักท้วงจริงให้กรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยผู้นั้นออกจากการประชุมในระเบียบวาระเรื่องนั้น เพื่อการนี้ให้เลขานุการคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยบันทึกเหตุการณ์ไว้ในรายงานการประชุม
ข้อ ๓๕ การดำเนินการประชุม
ในการประชุมคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย ประธานที่ประชุมจะต้องเปิดโอกาสให้กรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระและทั่วถึง
ในการแสดงความเห็นของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยต้องกระชับ อยู่ในประเด็น
ใช้ถ้อยคำสุภาพ และต้องคำนึงถึงมารยาทของการประชุม
ข้อ ๓๖ การลงมติการประชุม
นอกจากจะมีกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัยกำหนดไว้
เป็นอย่างอื่น การลงมติของกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุม
ในกรณีการลงมติได้คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมมีอำนาจชี้ขาด
ข้อ ๓๗ การลงมติกรณีที่ไม่มีการทักท้วง
ในการพิจารณาในเรื่องใด หากที่ประชุมไม่มีกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
แสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่น หรือไม่ทักท้วง ประธานที่ประชุมอาจสรุปการประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องนั้น
ว่าที่ประชุมพิจารณาแล้วมีความเห็นอย่างไรและมีมติอย่างไร ในการนี้ให้ถือว่าการสรุปของประธานที่ประชุมนั้นเป็นมติของที่ประชุม
ข้อ ๓๘ วิธีการลงมติ
การลงมติในการประชุมคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยให้กระทำโดยเปิดเผย
เว้นแต่ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้ลงมติแบบลับ
การลงมติแบบลับให้กระทำการโดยใช้วิธีการที่เหมาะสมตามสมควรและเพียงพอแก่การทำให้
การลงความเห็นของกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยแต่ละคนเป็นความลับเฉพาะตัวผู้ออกเสียงเท่านั้น
ข้อ ๓๙ รายงานการประชุม
รายงานการประชุมคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย ให้เป็นไปตามรูปแบบ
ที่คณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๔๐ การรับรองรายงานการประชุม
ในการพิจารณารับรองรายงานการประชุม กรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยจะขอแก้ไขรายงานการประชุมให้มีข้อความที่ถูกต้องตามความเป็นจริงและเหมาะสมก็ได้ แต่การจะแก้ไขรายงาน
การประชุมตามที่กรรมการผู้นั้นเสนอหรือไม่ ให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
ในการพิจารณารายงานการประชุม หากมีกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยเสนอให้มี
การแก้ไขรายงานการประชุมในส่วนใดแล้ว แต่ที่ประชุมไม่เห็นชอบด้วย กรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัย
ที่เสนอขอแก้ไขรายงานการประชุมนั้นอาจขอให้บันทึกความเห็นของตนไว้เป็นหลักฐานก็ได้
การขอแก้ไขรายงานการประชุมในส่วนที่เป็นมติและเหตุผลของมติที่ประชุม ไม่สามารถทำได้
เว้นแต่การขอให้แก้ไขถ้อยคำให้ถูกต้องตามมติที่ประชุม
หมวด ๕
คณะกรรมการบริหารคณะหรือวิทยาลัย
——————————————–
ข้อ ๔๑ องค์ประกอบคณะกรรมการบริหารคณะหรือวิทยาลัย
ในคณะหรือวิทยาลัยให้มีคณะกรรมการบริหารคณะหรือวิทยาลัยประกอบด้วย คณบดีเป็นประธานกรรมการ รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี หัวหน้าภาควิชา กรรมการสภาอาจารย์ และกรรมการสภาพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ และให้รองคณบดีที่คณบดีมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้เลขานุการคณะหรือวิทยาลัยเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และอาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของคณะหรือวิทยาลัยเป็นผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกินสองคนก็ได้
ข้อ ๔๒ หน้าที่ของคณะกรรมการบริหารคณะหรือวิทยาลัย
ให้คณะกรรมการบริหารคณะหรือวิทยาลัย มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่คณบดี
ในการบริหารคณะ และหน้าที่อื่นที่คณบดีมอบหมาย
หมวด ๖
ที่ประชุมคณาจารย์ประจำของคณะหรือวิทยาลัย
——————————————–
ข้อ ๔๓ การจัดการประชุม
ให้คณะหรือวิทยาลัยจัดให้มีการประชุมคณาจารย์ประจำของคณะหรือวิทยาลัย
เพื่อปรึกษาหารือ เกี่ยวกับการบริหารงานของคณะเป็นประจำอย่างน้อยปีละสองครั้ง
ข้อ ๔๔ องค์ประชุมที่ประชุมคณาจารย์ประจำ
คณะหรือวิทยาลัยจะต้องดำเนินการเพื่อให้คณาจารย์ประจำของคณะหรือวิทยาลัยเข้าร่วมการประชุมให้ได้มากที่สุดโดยไม่ต้องมีการนับองค์ประชุม
ข้อ ๔๕ การเรียกประชุม
ให้คณบดีออกประกาศคณะหรือวิทยาลัย แจ้งวันเวลา สถานที่ ระเบียบวาระการประชุม
รวมถึงกำหนด
การแจ้งให้คณาจารย์ประจำของคณะหรือวิทยาลัยทราบเป็นการทั่วไปก่อนถึงวันประชุม
ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
ข้อ ๔๖ สิทธิในการเข้าประชุม
คณาจารย์ประจำของคณะหรือวิทยาลัยมีสิทธิเข้าร่วมการประชุมคณาจารย์ประจำของคณะ
หรือวิทยาลัยโดยเท่าเทียมกัน
ข้อ ๔๗ มติที่ประขุม
มติหรือความเห็นร่วมกันของที่ประชุมคณาจารย์ประจำคณะหรือวิทยาลัย ให้เสนอต่อคณบดี
เพื่อประกอบการพิจารณาในการบริหารคณะ
หมวด ๗
หน่วยงานภายในคณะหรือวิทยาลัย
ส่วนที่ ๑
ภาควิชา
——————————————–
ข้อ ๔๘ การกำหนดจำนวนภาควิชา
คณะหรือวิทยาลัย อาจมีภาควิชาได้ไม่เกินห้าภาควิชา เว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น
เพื่อประโยชน์ในการบริหารวิชาการ สภามหาวิทยาลัยอาจอนุมัติให้คณะหรือวิทยาลัยมีภาควิชาการ
มากกว่าห้าภาควิชา แต่ไม่เกินเจ็ดภาควิชาก็ได้
ข้อ ๔๙ คุณสมบัติหัวหน้าภาควิชา
หัวหน้าภาควิชาต้องมีคุณสมบัติสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่า
จากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนในมหาวิทยาลัย
หรือสถานศึกษาชั้นสูงที่สภามหาวิทยาลัยรับรองมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
ข้อ ๕๐ การสรรหาและการแต่งตั้งหัวหน้าภาควิชา
ให้อธิการบดีพิจารณาแต่งตั้งหัวหน้าภาควิชาจากผู้ที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๔๙ ที่ได้รับการสรรหาจากคณะหรือวิทยาลัย
การสรรหาหัวหน้าภาควิชาให้เป็นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณบดีโดยความเห็นชอบ
ของคณะกรรมการประจำคณะหรือวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๕๑ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง
หัวหน้าภาควิชามีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้
แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระมิได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ หัวหน้าภาควิชาพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณบดีถอดถอนจากการดำรงตำแหน่ง เพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ
หรือมีการกระทำอันขัดต่อปณิธานของมหาวิทยาลัยตามาตรา ๗ วรรคสอง หรือบริหารงานในทางที่ขัดกับหลักการบริหารของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๘ อย่างร้ายแรง
ข้อ ๕๑/๑[๗] รองหัวหน้าภาควิขา
อธิการบดีโดยข้อเสนอของคณบดีที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำคณะ
หรือวิทยาลัยอาจพิจารณาแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติเช่นเดียวกันหัวหน้าภาควิชาเป็นรองหัวหน้าภาควิชา
เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบงานตามที่หัวหน้าภาควิชามอบหมายก็ได้
ภาควิชาใดจะมีรองหัวหน้าภาควิชาได้จำนวนเท่าใดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนดตามความจำเป็นและเหมาะสม
ส่วนที่ ๒
สำนักงานเลขานุการคณะหรือวิทยาลัย
——————————————–
ข้อ ๕๒ หน้าที่สำนักงานเลขานุการคณะหรือวิทยาลัย
ในคณะหรือวิทยาลัยให้มีสำนักงานเลขานุการคณะหรือวิทยาลัย ที่มีหน้าที่สนับสนุน
การดำเนินงานของคณะหรือวิทยาลัย
การแบ่งส่วนงานภายในสำนักงานเลขานุการคณะหรือวิทยาลัย ให้เป็นไปตามที่อธิการบดี
โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๕๓ เลขานุการคณะหรือวิทยาลัย
ในสำนักงานเลขานุการคณะหรือวิทยาลัยให้มีเลขานุการคณะหรือวิทยาลัยที่แต่งตั้ง
จากพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ เป็นผู้รับผิดชอบงานของสำนักงาน
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา การแต่งตั้ง การให้พ้นจากตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่
ของเลขานุการคณะหรือวิทยาลัย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบ
ของคณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๘
การบังคับบัญชาและกำกับดูแลคณะหรือวิทยาลัย
——————————————–
ข้อ ๕๔ ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับคณะหรือวิทยาลัย
ให้อธิการบดีมีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาและกำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของคณะ
หรือวิทยาลัย ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย และให้สอดคล้องกับเป้าหมาย นโยบาย
แนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด
ในกรณีที่อธิการบดีเห็นว่าการดำเนินงานของคณะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ
หรือระเบียบของมหาวิทยาลัย ให้อธิการบดีมีอำนาจสั่งการให้คณะหรือวิทยาลัยนั้นดำเนินการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบของมหาวิทยาลัย
ในกรณีที่อธิการบดีเห็นว่าการดำเนินงานของคณะหรือวิทยาลัย ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
ของมหาวิทยาลัย หรือไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย นโยบาย แนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด หรือมีปัญหาขัดแย้งในการดำเนินกิจการของคณะหรือวิทยาลัยซึ่งอาจเกิดความเสียหาย
ต่อมหาวิทยาลัยหรือคณะหรือวิทยาลัย ให้อธิการบดีเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
ลักษณะ ๒
การดำเนินงานภายในสถาบันหรือสำนัก
หมวด ๑
ผู้อำนวยการ
——————————————–
ข้อ ๕๕ คุณสมบัติผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก
ผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่า
จากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง และต้องสามารถปฏิบัติงานในสถาบันหรือสำนักได้เต็มเวลา
ข้อ ๕๖ อำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก
ผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสถาบันหรือสำนัก
และโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของสถาบันหรือสำนักให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ
ของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
(๒) บริหารงานบุคคล การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
ที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของสถาบันหรือสำนัก ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัยตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
(๓) จัดทำแผนพัฒนาสถาบันหรือสำนักเพื่อเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาและนำเสนอ
สภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๔) ดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานของสถาบันหรือสำนักที่ได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือได้รับการอนุมัติจากอธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยแล้ว
(๕) ดำเนินการเพื่อจัดหารายได้และทรัพยากรอื่นจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันหรือสำนักให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
(๖) จัดทำงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายของสถาบันหรือสำนักเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๗) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของสถาบันหรือสำนักเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาและนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่ง
หรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
ข้อ ๕๗ วาระการดำรงตำแหน่ง
ผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้ง
อีกก็ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
ข้อ ๕๘ การพ้นจากตำแหน่ง
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๕๕
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๖) สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ถอดถอนเพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ หรือมีการกระทำอันขัดต่อปณิธาน
ของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗ วรรคสอง หรือบริหารงานคณะหรือวิทยาลัยไปในทางที่ขัดกับหลักการบริหารงานของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๘ อย่างร้ายแรง
หมวด ๒
การสรรหาผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก
——————————————–
ข้อ ๕๙[๘] องค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก
ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งประกอบด้วย
(๑) อธิการบดี เป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมายคนหนึ่ง
เป็นกรรมการ
(๓) ประธานสภาอาจารย์ และประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ
(๔) ผู้แทนปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของสถาบันหรือสำนัก จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๕) ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่คณะกรรมการประจำสถาบันหรือสำนักเสนอชื่อ จำนวนสองคน
เป็นกรรมการ
(๖)[๙] เลขานุการสภามหาวิทยาลัยหรือผู้ช่วยเลขานุการสภามหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย เป็นกรรมการ
ให้ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ช่วยเลขานุการ และอาจให้มีผู้ช่วยเลขานุการ
ที่แต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่เลขานุการสภามหาวิทยาลัยอีกหนึ่งคนก็ได้
ในกรณีกรรมการตาม (๒) พ้นจากตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามวาระ
ให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่กรรมการต่อไปจนกว่าการดำเนินการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักจะเสร็จสิ้น
แต่หากผู้นั้นไม่ประสงค์จะเป็นกรรมการ ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิอื่น
เป็นกรรมการแทน
ในกรณีกรรมการตาม (๔) พ้นจากการเป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของสถาบันหรือสำนัก
ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ
ในกรณีที่ไม่มีกรรมการตาม (๓) หรือมีการพ้นจากตำแหน่งกรรมการตามวรรคสี่ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มี
ข้อ ๖๐ การได้มาซึ่งกรรมการสรรหาตามข้อ ๕๙ (๔) และ (๕)
เมื่อสถาบันหรือสำนักไม่มีผู้อำนวยการ หรือผู้อำนวยการในปัจจุบันเหลือเวลาการปฏิบัติหน้าที่อีกไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน ให้สถาบันหรือสำนักนั้นดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) เรียกประชุมคณะกรรมการประจำสถาบันหรือสำนัก ให้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกส่วนงานเพื่อเสนอชื่อต่อสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหา
(๒) จัดให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของสถาบันหรือสำนัก เสนอชื่อผู้ปฏิบัติงาน
ในมหาวิทยาลัยของสถาบันหรือสำนักให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหา
ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของสถาบันหรือสำนักที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ
ในคณะกรรมการสรรหา ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าชำนาญการ และต้องปฏิบัติงานในส่วนงานนั้นมาแล้ว
ไม่น้อยกว่าห้าปี และต้องได้รับการเสนอชื่อจากผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยในส่วนงานนั้นด้วยคะแนนสูงที่สุด
ในกรณีที่ไม่มีผู้มีคุณสมบัติตามวรรคสอง ให้อธิการบดีออกประกาศกำหนดคุณสมบัติอื่น
ที่เหมาะสมสำหรับการเป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหาแทนคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในวรรคสอง
ในกรณีที่การเสนอชื่อตาม (๒) มีผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุดเท่ากันสองคนขึ้นไป ให้ใช้วิธีการตัดสินโดยการจับสลากในระหว่างผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุด และให้ผู้จับสลากได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหา
ข้อ ๖๑ กรอบเวลาการได้มาซึ่งกรรมการสรรหาตามข้อ ๕๙ (๔) และ (๕)
สถาบันหรือสำนักต้องดำเนินการตามข้อ ๖๐ ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ไม่มีผู้อำนวยการหรือวันที่ผู้อำนวยการมีกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน
ข้อ ๖๒ อำนาจหน้าที่และการดำเนินงานของคณะกรรมการสรรหา
ให้นำความในลักษณะ ๑ หมวด ๒ ข้อ ๑๑ ข้อ ๑๒ และข้อ ๑๓ มาใช้กับการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักโดยอนุโลม
ข้อ ๖๓[๑๐] การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย
เมื่อดำเนินการสรรหาแล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก
จัดทำรายงานกระบวนการสรรหาและผลการรับฟังความคิดเห็นโดยละเอียด พร้อมกับเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
สภามหาวิทยาลัยอาจขอให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก
จัดให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งแสดงวิสัยทัศน์ นโยบาย แผนงาน หรือแนวทางการบริหารสถาบันหรือสำนักต่อสภามหาวิทยาลัยด้วยก็ได้
การลงมติเพื่อเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักให้ใช้วิธีลงคะแนนลับและต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด
ในกรณีที่ไม่มีผู้ได้รับคะแนนตามวรรคสามให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยลงมติอีกครั้ง
โดยในการลงมติครั้งนี้ ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก ต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า
กึ่งหนึ่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาประชุม
ในการลงมติตามวรรคสามหรือวรรคสี่ หากมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุม
สภามหาวิทยาลัยออกเสียงชี้ขาด
ข้อ ๖๔ การสรรหาผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักที่ตั้งขึ้นใหม่
ในการสรรหาผู้อำนวยการของสถาบัน สำนัก หรือส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบันหรือสำนัก ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก ประกอบด้วย อธิการบดีเป็นประธานกรรมการ กรรมการสภามหาวิทยาลัย
ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย ประธานสภาอาจารย์ ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัย
เป็นกรรมการ และกรรมการอื่นที่อธิการบดีเสนอชื่ออีกจำนวนสองคน
ให้รองอธิการบดีที่รับผิดชอบกำกับดูแลสำนักงานสภามหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ
และเลขานุการ ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก ดำเนินการสรรหาตามหลักเกณฑ์
และวิธีการที่กำหนดไว้ในหมวดนี้
หมวด ๓
รองผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก
——————————————–
ข้อ ๖๕ รองผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก
ให้อธิการบดีแต่งตั้งรองผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักจากคำแนะนำของผู้อำนวยการสถาบัน
หรือสำนัก เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่ผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักมอบหมาย
สถาบันหรือสำนักใดจะมีรองผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักจำนวนเท่าใด ให้เป็นไปตาม
ที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๖๖ คุณสมบัติรองผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก
รองผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก
หมวด ๔
คณะกรรมการประจำสถาบันหรือสำนัก
——————————————–
ข้อ ๖๗ องค์ประกอบคณะกรรมการประจำสถาบันหรือสำนัก
ในสถาบันหรือสำนักให้มีคณะกรรมการประจำสถาบันหรือสำนักที่อธิการบดีแต่งตั้ง ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นที่อธิการบดีแต่งตั้งอีกจำนวนไม่เกินสิบสี่คน
ให้เลขานุการสถาบันหรือสำนักเป็นเลขานุการคณะกรรมการประจำสถาบันหรือสำนัก
และอาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของสถาบันหรือสำนักเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้อีกไม่เกินสองคน
ข้อ ๖๘ วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการประจำสถาบันหรือสำนัก
คณะกรรมการประจำสถาบันหรือสำนักมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้
ข้อ ๖๙ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการประจำสถาบันหรือสำนัก
คณะกรรมการประจำสถาบันหรือสำนักมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) วางนโยบายและแผนงานของสถาบันหรือสำนัก ให้สอดคล้องกับนโยบาย
ของมหาวิทยาลัย เสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
(๒) พิจารณางบประมาณของสถาบันหรือสำนัก เสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
(๓) พิจารณาและเสนอแนะต่อผู้อำนวยการ ให้วางระเบียบและออกประกาศเกี่ยวกับ
การบริหารงานของสถาบัน หรือสำนัก เท่าที่ไม่ขัดต่อระเบียบ หรือข้อบังคับมหาวิทยาลัย
(๔) กำกับดูแลการบริหาร การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของสถาบัน
หรือสำนัก ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศมหาวิทยาลัย
(๕) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นแก่ผู้อำนวยการสถานหรือสำนัก
(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย
ข้อ ๗๐ การดำเนินงานและการประชุมกรรมการ
ให้นำความในลักษณะ ๑ หมวด ๔ ส่วนที่ ๒ และส่วนที่ ๓ มาใช้กับการดำเนินงาน
และการประชุมของคณะกรรมการประจำสถาบันหรือสำนักโดยอนุโลม
หมวด ๕
หน่วยงานภายในสถาบันหรือสำนัก
——————————————–
ข้อ ๗๑[๑๑] การบริหารและผู้บริหารงานภายใน
ในสถาบันหรือสำนักอาจแบ่งหน่วยงานออกเป็นศูนย์
ในศูนย์ให้มีผู้อำนวยการศูนย์ที่อธิการบดีโดยข้อเสนอของผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนักแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบงานของศูนย์ และอาจให้มีรองผู้อำนวยการศูนย์ที่อธิการบดีแต่งตั้งโดยข้อเสนอ
ของผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบงานตามที่ผู้อำนวยการศูนย์มอบหมายก็ได้
ผู้อำนวยการศูนย์มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันมิได้ และให้นำความในข้อ ๕๘ มาใช้บังคับกับผู้อำนวยการศูนย์โดยอนุโลม
ศูนย์ใดจะมีรองผู้อำนวยการศูนย์ได้จำนวนเท่าใดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนดตามความจำเป็นและเหมาะสม
ในสถาบันหรือสำนักให้มีสำนักงานเลขานุการสถาบันหรือสำนัก รับผิดชอบงานบริหารทั่วไป ธุรการ และงานสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันหรือสำนักและศูนย์ของสถาบันหรือสำนัก
ข้อ ๗๒ สำนักงานเลขานุการสถาบันหรือสำนัก
ในสำนักงานเลขานุการสถาบันหรือสำนัก ให้มีเลขานุการสถาบันหรือสำนัก เป็นผู้รับผิดชอบงานของสำนักงาน
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา การแต่งตั้ง การให้พ้นจากตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่
ของเลขานุการสถาบันหรือสำนัก ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบ
ของคณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๖
การบังคับบัญชาและกำกับดูแลสถาบันหรือสำนัก
——————————————–
ข้อ ๗๓ ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถาบันหรือสำนัก
ให้อธิการบดีมีอำนาจบังคับบัญชาและกำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสถาบันหรือสำนัก
ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย และให้สอดคล้องกับเป้าหมาย นโยบาย แนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด
ในกรณีที่อธิการบดีเห็นว่าการดำเนินงานของสถาบันหรือสำนักไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบของมหาวิทยาลัย ให้อธิการบดีมีอำนาจสั่งการให้สถาบันหรือสำนักนั้นดำเนินการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบของมหาวิทยาลัย
ในกรณีที่อธิการบดีเห็นว่าการดำเนินงานของสถาบันหรือสำนักไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
ของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันหรือสำนัก หรือไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย นโยบาย แนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด หรือมีปัญหาขัดแย้งในการดำเนินกิจการของสถาบันหรือสำนัก
ซึ่งอาจเกิดความเสียหายต่อสภามหาวิทยาลัยหรือสถาบันหรือสำนัก ให้อธิการบดีเสนอสภามหาวิทยาลัย
เพื่อพิจารณา
ลักษณะ ๓[๑๒]
การดำเนินงานภายในสำนักงาน
หมวด ๑
การดำเนินงานภายในสำนักงานสภามหาวิทยาลัย
และสำนักงานตรวจสอบภายใน
——————————————–
ข้อ ๗๔ คุณสมบัติของผู้อำนวยการ การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่ง
ในสำนักงานสภามหาวิทยาลัยและสำนักงานตรวจสอบภายใน ให้มีผู้อำนวยการคนหนึ่ง
เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสำนักงาน
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ การแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๒
การดำเนินงานภายใน
สำนักงานที่มีหน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุนการบริหารมหาวิทยาลัย
——————————————–
ข้อ ๗๕ คุณสมบัติ การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการสำนักงาน
ในสำนักงานที่มีหน้าที่หลักด้านการให้บริหารและสนับสนุนการบริหารมหาวิทยาลัย
ให้มีผู้อำนวยการสำนักงานคนหนึ่งรับผิดชอบงานของสำนักงาน และปฏิบัติงานตามที่อธิการบดีมอบหมาย
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ การแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการสำนักงาน
ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๗๖ คุณสมบัติ การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการกอง
ในกองที่เป็นส่วนงานในสำนักงานที่มีหน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุนการบริหารมหาวิทยาลัยให้มีผู้อำนวยการกองคนหนึ่ง เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของกอง
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ การแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการกอง
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนด
โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
หมวด ๓
การดำเนินงานภายในสำนักงานและส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงาน
ที่หน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุนการศึกษา
ส่วนที่ ๑
ผู้อำนวยการสำนักงาน
——————————————–
ข้อ ๗๗ คุณสมบัติของผู้อำนวยการและการแต่งตั้ง
ในสำนักงานให้มีผู้อำนวยการคนหนึ่งที่อธิการบดีแต่งตั้ง เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสำนักงาน
ผู้อำนวยการต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัย
หรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง
(๒) มีความรู้ความสามารถในด้านที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของสำนักงาน หรือด้านการบริหารงาน
(๓) สามารถปฏิบัติงานในสำนักงานได้เต็มเวลา
ข้อ ๗๘ อำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ
ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือนโยบาย
ของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
(๒) บริหารงานบุคคล การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
ที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของสำนักงาน ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ
หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
(๓) จัดทำแผนพัฒนาสำนักงานเพื่อเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาและนำเสนอ
สภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๔) ดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานของสำนักงานที่ได้รับการพิจารณา
ให้ความเห็นชอบหรือได้รับการอนุมัติจากอธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยแล้ว
(๕) ดำเนินการเพื่อจัดหารายได้และทรัพยากรอื่นจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุน
การดำเนินงานของสำนักงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
(๖) จัดทำงบประมาณรายรับและรายจ่ายของสำนักงานเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณา
ให้ความเห็นชอบ และนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๗) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของสำนักงานเสนอต่ออธิการบดี
เพื่อพิจารณาและนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่ง
หรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
ข้อ ๗๙ วาระการดำรงตำแหน่ง
ผู้อำนวยการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
ข้อ ๘๐ การพ้นจากตำแหน่ง
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยสั่งให้ออกเพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ
หรือมีการกระทำอันขัดต่อปณิธานของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗ วรรคสอง หรือบริหารงานในทางที่ขัดกับหลักการบริหารมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๘ อย่างร้ายแรง
ข้อ ๘๐/๑[๑๓] รองผู้อำนวยการสำนักงาน
อธิการบดีโดยข้อเสนอของผู้อำนวยการสำนักงานที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน อาจพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้อำนวยการสำนักงานเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบงานตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานมอบหมายก็ได้
สำนักงานใดจะมีรองผู้อำนวยการสำนักงานได้จำนวนเท่าใดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนดตามความจำเป็นและเหมาะสม
ส่วนที่ ๒
คณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน
——————————————–
ข้อ ๘๑ องค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน
ในสำนักงานให้มีคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน ประกอบด้วย
(๑) อธิการบดีเป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่อธิการบดีแต่งตั้งจากผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
และบุคคลภายนอกอีกไม่น้อยกว่าสิบคน แต่ไม่เกินสิบสี่คน
ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และอาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
ของสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้อีกไม่เกินสองคน
ข้อ ๘๒ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน
คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) วางนโยบายและแผนงานของสำนักงานให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย
เสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
(๒) พิจารณางบประมาณของสำนักงานเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
(๓) กำกับดูแลการบริหาร การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของสำนักงาน
ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศมหาวิทยาลัย
(๔) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นแก่ผู้อำนวยการสำนักงาน
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย
ข้อ ๘๓ การดำเนินงานของสำนักงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
ในการดำเนินงานของสำนักงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน หรือมีความจำเป็นที่จะต้องประสานหรือบูรณาการให้การดำเนินงานสอดคล้องตามนโยบายของมหาวิทยาลัย หรือต้องใช้ทรัพยากรร่วมกัน
อาจให้มีคณะกรรมการที่ประกอบด้วย อธิการบดีเป็นประธานกรรมการ รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมาย ผู้อำนวยการสำนักงานที่เกี่ยวข้อง และกรรมการอื่นที่อธิการบดีแต่งตั้ง เพื่อทำหน้าที่พิจารณากำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแผนการดำเนินงานของสำนักงานร่วมกันหรือหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
จากสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีก็ได้
ข้อ ๘๓/๑[๑๔] ให้นำความในหมวด ๓ การดำเนินงานภายในสำนักงานและส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงานที่มีหน้าที่หลักด้านการให้บริการและสนับสนุนการศึกษาของข้อบังคับนี้มาใช้บังคับกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความในหมวดนี้
หมวด ๔
สำนักงานที่มีหน้าที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยเพื่อความเป็นเลิศ
ส่วนที่ ๑
ผู้อำนวยการสำนักงาน
——————————————–
ข้อ ๘๔ คุณสมบัติของผู้อำนวยการและการแต่งตั้ง
ในสำนักงานให้มีผู้อำนวยการคนหนึ่งที่อธิการบดีแต่งตั้ง เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของสำนักงาน
ผู้อำนวยการต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัย
หรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง
(๒) มีความรู้ความสามารถในด้านที่เกี่ยวกับข้องกับหน้าที่ของสำนักงาน
หรือด้านการบริหารงาน
(๓) สามารถปฏิบัติงานในสำนักงานได้เต็มเวลา
ข้อ ๘๕ อำนาจหน้าที่ผู้อำนวยการ
ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบบริหารงานสำนักงาน และสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ที่จัดตั้งขึ้น
ในสำนักงาน
(๒) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของสำนักงานเสนอต่ออธิการบดี
เพื่อพิจารณาและนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๓) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่ง
หรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
ข้อ ๘๖ วาระการดำรงตำแหน่ง
ผู้อำนวยการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
ข้อ ๘๗ การพ้นจากตำแหน่ง
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการสำนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยสั่งให้ออกเพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ
หรือมีการกระทำอันขัดต่อปณิธานของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗ วรรคสอง หรือบริหารงานในทางที่ขัดกับหลักการบริหารมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๘ อย่างร้ายแรง
ข้อ ๘๗/๑[๑๕] รองผู้อำนวยการสำนักงาน
อธิการบดีโดยข้อเสนอของผู้อำนวยการสำนักงานที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน อาจพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้อำนวยการสำนักงาน
เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบงานตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานมอบหมายก็ได้
ส่วนที่ ๒
คณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน
——————————————–
ข้อ ๘๘ องค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน
ในสำนักงานให้มีคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน ประกอบด้วย
(๑)[๑๖] อธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้อำนวยการศูนย์ซึ่งเป็นหน่วยงานในสำนักงาน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่อธิการบดีแต่งตั้งอีกไม่เกิน ๕ คน
ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเป็นกรรมการและเลขานุการ และอาจแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงาน
ในมหาวิทยาลัยของสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้อีกไม่เกินสองคน
ข้อ ๘๙ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน
คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) วางนโยบายและแผนงานของสำนักงานและศูนย์ให้สอดคล้องกับนโยบาย
ของมหาวิทยาลัยเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
(๒) พิจารณางบประมาณของสำนักงานและศูนย์เสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
(๓) กำกับดูแลการบริหาร การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของสำนักงาน
และศูนย์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาวิทยาลัย
(๔) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นแก่ผู้อำนวยการสำนักงานและผู้อำนวยการศูนย์
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย
ส่วนที่ ๓
หน่วยงานภายในสำนักงาน
——————————————–
ข้อ ๙๐ การแบ่งหน่วยงานในสำนักงาน
ในสำนักงานอาจแบ่งหน่วยงานเป็นศูนย์
การจัดตั้ง การรวม การเปลี่ยนแปลง การยุบเลิก และอำนาจหน้าที่ของศูนย์ ให้เป็นไปตาม
ที่อธิการบดีโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
ข้อ ๙๑ คุณสมบัติของผู้อำนวยการศูนย์และการแต่งตั้ง
ในศูนย์ให้มีผู้อำนวยการศูนย์ที่อธิการบดีแต่งตั้งคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงาน
ของศูนย์
ผู้อำนวยการศูนย์ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัย
หรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง
(๒) มีความรู้ความสามารถในด้านที่เกี่ยวกับข้องกับหน้าที่ของศูนย์
(๓) สามารถปฏิบัติงานในศูนย์ได้เต็มเวลา
ข้อ ๙๒ อำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการศูนย์
ผู้อำนวยการศูนย์ เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของศูนย์และโดยเฉพาะให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของศูนย์ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย
ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
(๒) บริหารงานบุคคล การเงิน การคลัง การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
ที่สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของศูนย์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ
หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่งหรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
(๓) จัดทำแผนพัฒนาศูนย์เพื่อเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาและนำเสนอสภามหาวิทยาลัย
เพื่อพิจารณา
(๔) ดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานของศูนย์ที่ได้รับการพิจารณา
ให้ความเห็นชอบหรือได้รับการอนุมัติจากอธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยแล้ว
(๕) ดำเนินการเพื่อจัดหารายได้และทรัพยากรอื่นจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุน
การดำเนินงานของศูนย์ให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
(๖) จัดทำงบประมาณรายรับและรายจ่ายของศูนย์เสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณา
ให้ความเห็นชอบ และนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๗) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของศูนย์เสนอต่ออธิการบดี
เพื่อพิจารณาและนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
(๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ตลอดจนคำสั่ง
หรือการมอบหมายของสภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดี
ข้อ ๙๓ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง
ผู้อำนวยการศูนย์มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้
แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระผู้อำนวยการศูนย์พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) อธิการบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยสั่งให้ออกเพราะขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน บกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ
หรือมีการกระทำอันขัดต่อปณิธานของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗ วรรคสอง หรือบริหารงานในทางที่ขัดกับหลักการบริหารมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๘ อย่างร้ายแรง
ข้อ ๙๓/๑[๑๗] รองผู้อำนวยการศูนย์
อธิการบดีโดยข้อเสนอของผู้อำนวยการสำนักงานที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการสำนักงาน อาจพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้อำนวยการศูนย์เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบงานตามที่ผู้อำนวยการศูนย์มอบหมายก็ได้
ศูนย์ใดจะมีรองผู้อำนวยการศูนย์ได้จำนวนเท่าใดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารบุคคลกำหนดตามความจำเป็นและเหมาะสม
ข้อ ๙๔ คณะกรรมการบริหารศูนย์
ในศูนย์ให้มีคณะกรรมการบริหารศูนย์ที่อธิการบดีแต่งตั้ง ประกอบด้วยผู้อำนวยการศูนย์
เป็นประธาน และกรรมการอื่นอีกไม่เกินแปดคน
ให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกิน
๒ คน
ข้อ ๙๕ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารศูนย์
คณะกรรมการบริหารศูนย์ มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่ผู้อำนวยการศูนย์
ในการบริหารศูนย์ และหน้าที่อื่นที่อธิการบดีหรือผู้อำนวยการศูนย์มอบหมาย
ข้อ ๙๕/๑[๑๘] ให้นำความในหมวด ๔ สำนักงานที่มีหน้าที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยเพื่อความเป็นเลิศของข้อบังคับนี้มาใช้บังคับกับสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตยเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความในหมวดนี้
หมวด ๕
ส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงาน ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการหรือจัดหารายได้
ซึ่งมีการบริหารแบบวิสาหกิจ
——————————————–
ข้อ ๙๖ โครงสร้างและการบริหารภายในส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงานที่มีหน้าที่ให้บริหารหรือจัดหารายได้ซึ่งมีการบริหารงานแบบวิสาหกิจ
โครงสร้างและการบริหารภายในส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสำนักงาน
ที่มีหน้าที่ให้บริการหรือจัดหารายได้ซึ่งมีการบริหารงานแบบวิสาหกิจ ให้เป็นไปตามที่อธิการบดี
โดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยกำหนดโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๙๗ การปฏิบัติกรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย
เพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงาน
สภามหาวิทยาลัย ให้หัวหน้างานประชุมปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัยตามข้อบังคับนี้
ไปพลางก่อน
ข้อ ๙๘ การสรรหาผู้บริหารที่กำลังดำเนินการอยู่ก่อนข้อบังคับฉบับนี้
การดำเนินการสรรหาคณบดี ผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก หรือหัวหน้าภาควิชาที่ได้ดำเนินการก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับและยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับที่ว่าด้วยการสรรหาคณบดี ผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก หรือหัวหน้าภาควิชาที่มีอยู่เดิม
ไปจนกว่าสรรหาเสร็จสิ้น
[๑] นิยามคำว่า “สถาบันหรือสำนัก” แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๕
[๒] นิยามคำว่า “ผู้อำนวยการสถาบันหรือสำนัก” แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๕
[๓] นิยามคำว่า “สำนักงาน” เพิ่มโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๕
[๔] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงาน
ภายในส่วนงาน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๕] ข้อ ๘ (๗) แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๖๓
[๖] ข้อ ๑๕/๑ เพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายใน
ส่วนงาน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๙
[๗] ข้อ ๕๑/๑ เพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายใน
ส่วนงาน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
[๘] ข้อ ๕๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายใน
ส่วนงาน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒
[๙] ข้อ ๕๙ (๖) แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๖๓
[๑๐] ข้อ ๖๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายใน
ส่วนงาน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๙
[๑๑] ข้อ ๗๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายใน
ส่วนงาน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
[๑๒] ลักษณะ ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙
[๑๓] ข้อ ๘๐/๑ เพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายใน
ส่วนงาน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
[๑๔] ข้อ ๘๓/๑ เพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๕
[๑๕] ข้อ ๘๗/๑ เพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงาน
ภายในส่วนงาน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
[๑๖] ข้อ ๘๘ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๑
[๑๗] ข้อ ๙๓/๑ เพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายใน
ส่วนงาน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
ประกาศ ณ วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙
(ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร)
นายกสภามหาวิทยาลัย
[๑๘] ข้อ ๙๕/๑ เพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างและการบริหารงานภายในส่วนงาน (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๕